ทุกสิ่งในโลกล้วนมีจุดเริ่มต้น จุดรุ่งเรือง และจุดเปลี่ยน เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ (Berkshire Hathaway) ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะถึงเวลานี้เร็วขนาดนี้ แม้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) จะมีอายุถึง 94 ปี และเกร็ก เอเบล (Greg Abel) ก็ถูกวางตัวเป็นผู้สืบทอดมาตั้งแต่ปี 2021

แต่ข่าวการวางมือจากบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์นี้ก็ยังสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ถือหุ้นนับหมื่นคนที่เดินทางมาร่วมประชุมประจำปี สัญญาณชัดเจนว่าเขาพร้อมจะส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่ออาณาจักรการลงทุนระดับล้านล้านเหรียญของเขาแล้ว

นักลงทุนสายหุ้นคุณค่าต่างรู้จักและนับถือปู่บัฟเฟตต์เป็นดั่งตำนานที่ยังมีลมหายใจ ด้วยหลักการลงทุนที่หนักแน่น ประยุกต์ใช้ได้ในทุก ๆ สภาวะตลาด มองหาหุ้นที่ดีเปรียบกับการลงทุนในธุรกิจ หาจังหวะเข้าซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง สร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว และยังติดอันดับเศรษฐีระดับโลกมานับทศวรรษ ปู่ไม่เชื่อเรื่องการเกษียณตัวเองจากการทำงาน แต่ภายในสิ้นปีนี้กลับพร้อมวางมือในการบริหารบริษัท ซึ่งยิ่งทำให้มีคำถามสำคัญตามมา ทำไมเขาจึงเลือกวางใจในตัวเกร็ก เอเบล ?

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักชายผู้นี้ให้ลึกขึ้น พร้อมส่องวิธีคิดของปู่บัฟเฟตต์ในการคัดเลือกผู้บริหาร ว่าคนที่ได้ขึ้นนั่งตำแหน่งสำคัญที่สุดในบริษัทระดับโลกนี้ ต้องมีคุณสมบัติแบบไหนกันแน่

ทำไมบัฟเฟตต์เลือก ‘เกร็ก เอเบล’

เกร็ก เอเบล ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับผู้ถือหุ้นของเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ ปัจจุบันเขาอายุ 62 ปี ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ ดูแลธุรกิจที่ไม่ใช่ประกันภัยทั้งหมด เช่น กลุ่มพลังงาน การขนส่ง และสินค้าอุปโภคบริโภค (Vice chairman of non-insurance operations) เขาได้รับความไว้ใจจากบัฟเฟตต์มาโดยตลอดการทำงาน 25 ปี ภายใต้เครือเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์

เอเบล เป็นชาวแคนาดาที่จบการศึกษาในระดับปริญญาจาก University of Alberta ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ส่วนประวัติการทำงานของเอเบล เขาเริ่มต้นการทำงานแรกที่ PwC บริษัทบิ๊กโฟร์ระดับโลก ในบ้านเกิด ก่อนย้ายเข้ามาทำงานที่บริษัท CalEnergy ในสหรัฐฯ และบริษัทเข้าซื้อกิจการ MidAmerican Energy ซึ่งต่อมาเอเบลทำงานดีจนถูกเลื่อนขั้นเป็นซีอีโอของบริษัทดังกล่าว

ก่อนที่ภายหลังบริษัท MidAmerican จะถูกควบรวมกับบริษัทโฮลดิงขนาดใหญ่ของบัฟเฟตต์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Berkshire Hathaway Energy ในปี 1999 เอเบลก็ยังคงได้รับตำแหน่งซีอีโอต่อเนื่องเรื่อยมา กระทั่งเอเบลถูกเสนอเข้ามาในตำแหน่งกรรมการบริษัทเบิร์กเชียร์ ในปี 2008 และกำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเบิร์กเชียร์ในปี 2026

สไตล์การทำงานของเอเบลมีแนวทางการบริหารที่คล้ายกับบัฟเฟตต์ คือให้ความไว้วางใจผู้บริหารของแต่ละบริษัทที่เบิร์กเชียร์เข้าลงทุนถือหุ้น ให้พวกเขาสามารถตัดสินใจดำเนินธุรกิจได้เองโดยไม่มีการแทรกแซง เขาเน้นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ลงรายละเอียดเกินจำเป็นในธุรกิจที่ตนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ในขณะเดียวกัน เอเบลก็เน้นที่การลงมือทำจริง มีการตรวจสอบวัดผลการทำงานที่เข้มข้น

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดถึงการวางตัว ‘เกร็ก เอเบล’ ไว้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขามาตั้งแต่ในการประชุมประจำปีบริษัท ในปี 2021 “คณะกรรมการของเบิร์กเชียร์ เห็นพ้องกันว่า หากคืนนี้ผมเป็นอะไรไป พรุ่งนี้เช้าเกร็กจะเป็นคนรับช่วงต่อทันที”

ภายใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ควาามชัดเจนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ บัฟเฟตต์เขียนไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2023 ว่า “เกร็ก เอเบล พร้อมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเบิร์กเชียร์ ได้ทันทีในทุกด้าน” และในจดหมายปี 2024 เขายังระบุอีกว่า “อีกไม่นาน เกร็ก เอเบล ก็จะเข้ามาแทนที่ผมในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้เขียนจดหมายประจำปีแทนผม” ถือเป็นการส่งต่อทางธุรกิจที่ให้เกียรติและวางแผนมาเป็นอย่างดี

วิธีคัดเลือกพนักงานของวอร์เรน

วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยกล่าวว่า คนที่เขาเลือกต้องมี 3 คุณสมบัติหลัก

  1. มีคุณธรรม
  2. เฉลียวฉลาด
  3. มีพลังงานที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณสมบัติด้านคุณธรรม หากเป็นคนฉลาดและกระตือรือร้น แต่ขาดความซื่อสัตย์ สุดท้ายอาจนำพาธุรกิจไปสู่ความเสียหาย

นอกจากนี้ สไตล์การบริหารของปู่บัฟเฟตต์คือ ความเชื่อมั่นในคนที่เขาเลือก เขาจะให้อิสระกับผู้บริหารของเขา ไม่ว่าจะบริษัทในเครือหรือตำแหน่งบอร์ดบริหารเองก็ตาม พร้อมเปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพสูงสุด ไม่จำกัดขอบเขต ไม่ก้าวก่ายการทำงานซึ่งกันและกัน ซึ่งเกร็ก เอเบล ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาคือคนที่มีทั้งความสามารถและคุณธรรมครบถ้วน

ในการประชุมล่าสุด บัฟเฟตต์กล่าวต่อหน้าผู้ถือหุ้นกว่า 40,000 คนว่า “อนาคตของเบิร์กเชียร์ภายใต้การบริหารของเกร็ก เอเบลจะดียิ่งกว่าตอนที่ผมบริหารเอง เบิร์กเชียร์จะทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม ภายใต้สไตล์การบริหารที่ลงมือจริงของเขา”

ด้านเอเบลก็ตอบชัดเจนว่า “เราจะไม่เปลี่ยนปรัชญาการลงทุนของเบิร์กเชียร์ และวิธีการจัดสรรเงินทุนในตลอด 60 ปีที่ผ่านมา หลักการจะยังคงเหมือนเดิม และผมจะยึดมั่นในแนวทางของวอร์เรนต่อไป”

รอน โอลสัน (Ron Olson) หนึ่งในกรรมการของเบิร์กเชียร์กล่าวว่า “ผมประหลาดใจนะ แต่ก็ประทับใจมาก ผมตื่นเต้นที่จะได้เห็นวอร์เรนกลายเป็นชาร์ลี มังเกอร์ ให้กับเกร็ก เอเบล”

บทบาทของปู่บัฟเฟตต์ในเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ต่อจากนี้

ตั้งแต่ปี 1965 ที่บัฟเฟตต์เข้ารับตำแหน่ง จนถึงสิ้นปี 2024 ราคาหุ้นของเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์พุ่งขึ้นถึง 5,502,284% ตามรายงานประจำปีล่าสุดของบริษัท ขณะที่ดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดหุ้นโดยรวม ให้ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 39,054%

หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อปี โดยบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 19.9% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

คณะกรรมการของเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ มีมติเอกฉันท์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาให้ เกร็ก เอเบล ดำรงตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2026 โดย วอร์เรน บัฟเฟตต์ วัย 94 ปี จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อไป ตามประกาศของบริษัท พร้อมกล่าวว่าจะยังอยู่ช่วยงานในส่วนที่สามารถช่วยได้

“ผมยังเชื่อว่าตัวเองจะช่วยได้ในบางแง่มุม โดยเฉพาะถ้ามีโอกาสสำคัญเกิดขึ้น” บัฟเฟตต์กล่าวในงานประชุมผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์

การที่บัฟเฟตต์ยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการ ก็อาจทำให้ผู้ถือหุ้นอุ่นใจได้ว่าจะยังอยู่เป็นที่ปรึกษาช่วยเอเบล โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน หรือมีโอกาสซื้อกิจการครั้งใหญ่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันเบิร์กเชียร์มีเงินสดในมือมากกว่า 347,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท

แต่บัฟเฟตต์ยืนยันได้ว่า เมื่อการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นจริง เกร็ก เอเบล วัย 62 ปี จะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องการดำเนินธุรกิจและการจัดสรรเงินลงทุนของบริษัท

แม้บัฟเฟตต์จะประกาศว่าเตรียมวางมือจากตำแหน่งซีอีโอ แต่ราคาหุ้นของเบิร์กไชร์กลับปรับตัวลงเพียง 2% ในช่วงก่อนเปิดตลาด ด้วยมูลค่าตลาดมากกว่า 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 36.3 ล้านล้านบาท สวนทางกับภาวะตลาดที่อ่อนตัวในช่วงนี้ แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้การเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์กำลังจะเกิดขึ้น และน่าจับตามองถึงอนาคตการลงทุนของเบิร์กเชียร์ต่อจากนี้ไป