รีวิว Huawei Mate 10 Pro เรือธงปัญญาประดิษฐ์
Our score
9.2

Huawei Mate 10 Pro

จุดเด่น

  1. ประสิทธิภาพดีในระดับท็อปของสมาร์ทโฟน Android
  2. รองรับ Codec เสียงของ Bluetooth แทบทุกตัวที่ใช้กัน
  3. กล้องดียิ่งกว่าเคย (แต่ก่อนก็ดีมากอยู่แล้ว) โหมดถ่ายภาพเยอะ สีสันสดใส ถ่ายสวย
  4. รองรับ 2 Nano Sim พร้อมใช้งาน 4G ได้พร้อมกันด้วยสเปกโมเด็มระดับเทพ
  5. งานออกแบบเครื่องและวัสดุดูดี ดูพรีเมี่ยมสมเป็นเรือธง

จุดสังเกต

  1. ไม่มีช่องหูฟัง 3.5 mm แต่แถมหัวแปลง USB-C to 3.5 mm มาให้นะ
  2. ใส่ MicroSD ไม่ได้
  3. แบตเตอรี่ใช้ได้พ้นวัน แต่ยังไม่อึดสมความจุแบต 4,000 mAh
  4. ยังต้องจูนรายละเอียดการใช้งานบางจุด เช่นการใช้ PiP กับ Google Maps ที่ทำให้เครื่องหน่วง และแตะกลับมานำทางไม่ได้
  5. ความสามารถของ AI ยังจำกัด ต้องรอการพัฒนาต่อไป
  • รูปลักษณ์ภายนอก

    9.5

  • คุณภาพหน้าจอ

    9.0

  • ประสิทธิภาพเครื่อง

    9.0

  • คุณภาพกล้อง

    9.8

  • ความคุ้มค่า

    8.5

สมาร์ทโฟนซีรี่ส์ Mate จาก Huawei นั้นขึ้นชื่อเรื่องประสิทธิภาพระดับสูงสุดของหัวเว่ยและอายุแบตเตอรี่นะครับ ซึ่งปีนี้ก็เดินทางมาถึงรุ่น Mate 10 Pro (Mate 10 รุ่นธรรมดาไม่จัดจำหน่ายในไทย) แล้ว โดยชูเทคโนโลยีด้าน AI เป็นจุดเด่นสำคัญของรุ่นนี้ หลังจากใช้เครื่องมาร่วมเดือน แบไต๋จึงขอรีวิวการใช้งานทั้งหมดให้อ่านกันครับ

สเปกของ Huawei Mate 10 Pro

  • CPU: Huawei Kirin 970 Octa-core
  • GPU: Mali-G72 MP12
  • RAM 6 GB
  • หน้าจอ OLED 6 นิ้วแบบ Full View สัดส่วน 18:9 ความละเอียด 2160 x 1080 พิกเซล
  • หน่วยความจำภายใน 128 GB (ใส่ MicroSD ไม่ได้)
  • กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล f/2.0
  • กล้องหลัง: กล้องขาวดำ 20 ล้านพิกเซล, กล้องสี 12 ล้านพิกเซล f/1.6 (Leica Summilux-H) พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ OIS
  • แบตเตอรี่: 4000 mAh พร้อม Huawei Super Change
  • รองรับ 2 nano-sim พร้อมใช้งาน 4G ได้พร้อมกัน
  • Android 8.0 ครอบทับด้วย EMUI 8.0
  • กันน้ำระดับ IP67
  • ราคา: 27,900 บาท

การออกแบบตัวเครื่อง Huawei Mate 10 Pro

  • ดีไซน์ใหม่ทั้งจอยาว 18:9 ฝาหลังที่มีสีคาด
  • จอ OLED สีสันสวยงาม รองรับการแสดงผล HDR (แต่ตอนนี้ Netflix ยังไม่สนับสนุน) มีฟังก์ชั่น Always on Display
  • ฝาหลังลื่นและติดรอยนิ้วมือง่าย

Mate 10 Pro นั้นเป็นเรือธงตัวแรกของหัวเว่ยที่ใช้ดีไซน์หน้าจอแบบ Full View ขอบบางนะครับ ทำให้ด้านหน้าของเครื่องแทบจะเต็มไปด้วยหน้าจอ 18:9 ที่ปูพื้นที่ 6 นิ้วไปจนเกือบหมด เหลือพื้นที่ด้านบนสำหรับกล้องหน้า เซนเซอร์ และหูฟังแบบไม่แหว่งเข้าไปกินพื้นที่จอแบบเรือธงบางตัว ส่วนด้านล่างแน่นอนต้องมีพื้นที่เหลือสำหรับโลโก้ Huawei

ส่วนงานออกแบบด้านหลังก็เป็นดีไซน์ใหม่ของหัวเว่ย จุดเด่นคือแถบสีเน้นตรงกล้อง ก็ทำให้ด้านหลังดูมีลูกเล่นมากขึ้น ซึ่งด้านหลังนี้ก็เป็นที่อยู่ของเซนเซอร์อ่านลายนิ้วมือที่ทำงานรวดเร็วเหมือนเคย ระบบกล้องคู่ Leica พร้อมแฟลชคู่และเซนเซอร์โฟกัส และโลโก้ด้านหลังของ Huawei ส่วนวัสดุของฝาหลังก็เป็นกระจกโค้งดีไซน์รับกับฝามือครับ ซึ่งเมื่อรวมกับเฟรมโลหะของเครื่องก็ทำให้ความรู้สึกในการจับถือนั้นพรีเมี่ยมมาก แต่ดีไซน์และวัสดุของฝาหลังตัวนี้ก็มีข้อควรระวังสำหรับคนที่ใช้งานแบบไม่ใส่เคสนะครับ เพราะมันลื่นมาก เครื่องพร้อมจะลื่นตกเมื่อวางในพื้นที่ไม่มั่นคง ก่อนจะวางเครื่องให้ดูดีๆ ก่อนนะ ตกแตกจะไม่คุ้มกัน ส่วนเรื่องรอยนิ้วมือจะติดที่ฝาหลังเครื่อง ไม่ต้องห่วงครับ มันติดแน่นอน ก็คอยเช็ดเอานะครับ

หน้าจอ OLED ของ Huawei Mate 10 Pro นั้นดูดีครับ สีสันสดใสเป็นธรรมชาติ โดยค่ามาตรฐานเครื่องจะตั้งเป็นโหมดสี Vivid ก็ให้สีสันแจ่มชัดที่ผู้ใช้ทั่วไปน่าจะชอบ แต่ถ้าใครคิดว่าสดไปก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนโหมดสีเป็น Normal ได้ ก็จะได้จอสีอมเหลือง และภาพสดน้อยลง ก็ดูสบายตาดีนะครับ แต่ถ้าถามว่าจอ OLED ตัวนี้เห็นแล้วรู้สึกว้าวเลยไหม ก็ไม่ถึงขนาดนั้นนะครับ อาจเพราะดีไซน์ด้านหน้าเครื่องที่ยังธรรมดาไปหน่อย แล้วก็ขอบที่ยังเห็นชัดอยู่ครับ

Netflix แบบเต็มจอ 18:9
Youtube แบบเต็มจอเช่นกัน

แอปส่วนใหญ่สามารถแสดงผลเต็มจอ 18:9 ได้เลย โดยหัวเว่ยจะแสดงปุ่มให้กดขยายแอปด้านล่าง แต่ถ้าขยายแล้วทำให้แอปหน้าตาเพี้ยนก็ปรับกลับมาได้ ส่วนแอปวิดีโออย่าง Youtube, Netflix ก็รองรับหน้าจอยาว ขยายวิดีโอไปจนสุดขอบได้ครับ

และเราสามารถเปิดใช้ Alway-on Display ใน Huawei Mate 10 Pro ได้โดยเข้าไปที่ Settings > Security & Privacy > Screen Lock & Passwords > Always Display Information ซึ่งก็น่าจะทำให้ถูกใจใครหลายคนมากขึ้น

Always-on Display

ด้วยความที่ Huawei Mate 10 Pro นั้นเครื่องค่อนข้างใหญ่ การใช้งานจึงเป็นรูปแบบจับถือ 2 มือเป็นหลักนะครับ ใช้มือเดียวค่อนข้างลำบากเพราะนิ้วต้องเอื้อมเยอะ แล้วพอเอื้อมมากๆ มือก็จะไปติดจอจนกดนู้นนี่ครับ แต่ก็สามารถกดที่ปุ่มโฮมแล้วลากซ้ายหรือขวาเพื่อย่อจอให้เหมาะกับมือเดียวได้ครับ

ประสิทธิภาพของ Huawei Mate 10 Pro

  • ประสิทธิภาพสูง ใช้งานได้ลื่นหมดไม่เสียราคาของเรือธง
  • การใช้งานในโหมด PiP ยังหน่วงๆ

Mate 10 Pro นั้นใช้ซีพียู Kirin 970 ตัวล่าสุดของ Huawei นะครับ เพราะฉะนั้นเราจึงหวังได้ว่าจะได้ประสิทธิภาพระดับสูงสุด ซึ่งผลการทดสอบออกมาดังนี้

  • Geekbench 4.1 ทดสอบ Single core ได้ 1894 คะแนน, Multi Core ที่ 6279 และทดสอบ Compute – RenderScript (วัด GPU) ได้คะแนน 11,154
  • เทียบกับ Mate 9 ได้ 1871, 5963, 3501 ตามลำดับ ก็ถือว่าประสิทธิภาพของ CPU นั้นปรับปรุงไปไม่มาก แต่ GPU เร็วขึ้นเยอะครับ
  • เทียบกับ Galaxy S8 ได้ 1957, 6433, 8331 ตามลำดับ ก็ถือว่า Mate 10 Pro มีประสิทธิภาพในเชิงตัวเลขการทดสอบน้อยกว่านิดหน่อย

ทดสอบ 3Dmark โดยใช้ชุดการทดสอบ Sling Shot Extreme ได้คะแนนสูงสุด 2551 คะแนน (ทดสอบ 4 ครั้ง คะแนนแกว่งมาก ได้คะแนน 1163, 1873, 2011 และ 2551) ก็ได้คะแนนพอๆ กับ iPhone 8 ครับ

ส่วนประสิทธิภาพในการใช้งานจริงนั้นไม่ต้องพูดถึงครับ ลื่นไหลทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้เฟซบุ๊กหรือเล่นเกม 3 มิติหนักๆ ก็ทำได้ดี ต่อเครื่องอ่านการ์ด SD เพื่อโหลดวิดีโอจากกล้องมาตัดต่อก็ได้ เรนเดอร์วิดีโอ 1080p 60 fps ได้เนียนๆ เล่น ROV ได้เฟรมเรทสูงสุดเกือบ 60 fps ก็ไม่เสียราคาของเรือธงสเปกสูงสุด

ปัญหาของ PiP จะเห็นว่าปุ่มขยายแผนที่ไปอยู่มุมล่างขวา ส่วนตัวแผนที่อยู่บนซ้าย ทำให้เวลาแตะแผนที่นั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลำบากต่อการใช้พอสมควร

แต่เรื่องที่อาจจะต้องได้รับการปรับแต่งอีกหน่อย คือเวลาใช้ฟังก์ชั่น PiP (Picture in Picture) ของเล่นใหม่ของ Android 8 การทำงานของเครื่องจะหน่วงๆ ไปบ้างครับ เช่นเวลานำทางด้วย Google Maps แล้วกดสลับมาเป็น facebook โดยมีหน้าต่างของ Google Maps เล็กๆ ยังนำทางอยู่ เฟซบุ๊กจะหน่วง กระตุกขึ้นมาทันที นอกจากนี้ PiP ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เช่นตำแหน่งกดคืนหน้าต่างของ Google Maps อยู่ไม่ตรงกับตัวหน้าต่าง ทำให้สลับกลับไปนำทางได้ยาก ก็ไม่แน่ใจว่าต้องเป็นฝ่าย Google Maps แก้ไขหรือ Huawei แก้ไขใน Firmware ตัวถัดไปนะครับ

เรื่องของ AI จุดเด่นของ Huawei Mate 10

แม้ว่า Mate 10 Pro จะมีกล้องชั้นเลิศ ประสิทธิภาพเครื่องดี และแบตเตอรี่ที่อึด แต่สิ่งที่หัวเว่ยชูขึ้นมาเป็นจุดเด่นในปีนี้คือหน่วยประมวลผลที่เรียกว่า NPU หรือ Neural Network Processing Unit ที่ใช้ประมวลเลียนแบบสมองมนุษย์ ทำให้วิเคราะห์การทำงานต่างๆ ได้เร็วขึ้นกว่าใช้ CPU หลักประมวลผลอย่างเดียว

  • วิเคราะห์การใช้งานเครื่อง และปรับทรัพยากรให้เหมาะสม ทำให้เครื่องยังเร็วอยู่ตลอดแม้จะใช้งานมานานเป็นปี (ซึ่งแอดเพิ่งเทสได้เดือนเดียว มันก็คงไม่เห็นผลมาก แต่เครื่องก็ไม่เคยช้านะ)
  • วิเคราะห์เสียงสนทนาและปรับปรุงให้ชัดเจนแม้อยู่ในพื้นที่เสียงดัง (เทสแล้ว Mate 10 Pro ก็เป็นโทรศัพท์ที่คุยได้ชัดเจนที่สุดรุ่นหนึ่งนะ)
  • วิเคราะห์ภาพที่กำลังถ่าย และปรับแต่งให้เหมาะสม อันนี้เห็นชัดเจนว่า Mate 10 Pro สามารถแยกแยะภาพต่างๆ ได้รวดเร็วว่าอะไรเป็นภาพคน ภาพสัตว์ ภาพอาหาร ทำให้ถ่ายอัตโนมัติได้เก่งขึ้น
  • ช่วยในการแปลภาษาได้เร็วขึ้น อันนี้ไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ เพราะลองโหลด Microsoft Translate ลงในมือถือแอนดรอยด์เก่าๆ เครื่องอื่น มันก็แปลตัวอักษรจากภาพไม่ได้ช้ากว่า Mate 10 Pro เท่าไหร่เลย

AI เป็นก้าวที่สำคัญของ Huawei ครับ แต่เทคโนโลยีด้านนี้ต้องอาศัยเวลา และพันธมิตรมากมายที่จะนำ NPU เข้าไปประยุกต์ใช้กับระบบงานของแอปต่างๆ ครับ (ไม่เหมือน Apple ที่แกร่งพอที่จะทำแพลตฟอร์มเองได้ทั้งหมด) ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า Android 8.1 ที่จะมี Neural Network API ของกูเกิ้ลนั้น Mate 10 Pro จะรองรับและสนับสนุนได้แค่ไหน แต่ปัจจุบันก็ต้องบอกว่า ยังไม่ค่อยเห็นความแตกต่างเท่าไหร่ระหว่างมีกับไม่มี NPU

การถ่ายภาพและวิดีโอ เรื่องเทพเสมอมาของ Huawei

ภาพจากกล้อง Huawei Leica นั้นสีสันสะท้านใจมาก

ใน Mate 10 Pro นั้นมาพร้อมกับกล้องที่ร่วมพัฒนาโดย Leica ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบันของหัวเว่ยแล้ว ความสามารถเดิมๆ ที่เคยมีใน P9, Mate 9, P10 ก็ยกมาใส่ใน Mate 10 Pro ทั้งหมดครับ แล้วก็ยังมีความสามารถใหม่ๆ ด้วย

  • ที่ใช้บ่อยสุดคือโหมดสี Vivid Color กับ Smooth Color ที่ให้ภาพสดเป็นเอกลักษณ์ของ Leica ยังมีให้เลือก
  • โหมดถ่ายภาพมีเยอะและหลากหลาย ที่ใช้บ่อยเช่น Panorama, Light painting ที่ถ่ายถนนให้เป็นเส้นไฟ หรือถ่ายน้ำตกให้นุ่มก็เลือกใช้ได้ รวมถึง Night Shot ที่คำนวณการถ่ายกลางคืนให้เอง (ต้องใช้ขาตั้งกล้อง)
  • โหมดหน้าชัดหลังเบลอ และโหมด Portrait ที่ปรับแต่งหน้าเนียนๆ หลังเบลอๆ ก็มีมาให้เลือก
  • โหมด Pro สามารถถ่าย RAW ได้ และสามารถปรับความเร็วชัตเตอร์, ISO (สูงสุด 3200), ระบบโฟกัส, EV และ White Balance ได้
  • มี Live Photo สำหรับถ่ายวิดีโอสั้นๆ พร้อมกับถ่ายรูป
  • กล้องหน้าสามารถเลือกระดับความเนียนของภาพ และสามารถถ่ายภาพ selfie แบบพาโนราม่าได้

ภาพขาว-ดำก็ยังเป็นเสน่ห์ของกล้อง Huawei อยู่ดี

ภาพจากกล้องหน้า

ส่วนการถ่ายวิดีโอก็ไม่น้อยหน้าการถ่ายภาพนิ่ง

  • เลือกโหมดสี Vivid และ Smooth Color สำหรับกล้องหลังได้เหมือนกัน
  • วิดีโอถ่ายได้สูงสุดที่ 4K 30 fps เป็นไฟล์ H.265 HEVC
  • Slow-mo ถ่ายได้สูงสุดที่ 240 fps ที่ความละเอียด 720p และ 120 fps ที่ 1080p
  • ใส่เอฟเฟกหน้าใสให้ระหว่างถ่ายวิดีโอได้ด้วย ถ่ายโหมด Portrait ในโหมดวิดีโอก็ได้

สรุปประสบการณ์การใช้ Huawei Mate 10 Pro ในช่วง 1 เดือน

  • การนำทางด้วย GPS ทำได้ดีมาก ขับรถวิ่งในอุโมงค์ยาวเป็นกิโลที่ญี่ปุ่น GPS ก็ยังคงแทร็กตำแหน่งต่อเนื่อง ไม่หลุดตำแหน่ง
  • ใส่ 2 ซิม รองรับ 4G พร้อมกันสองซิม แถมเป็นโมเด็มตัวที่เร็วที่สุดของหัวเว่ย รองรับเทคโนโลยี 4×4 MIMO + 256QAM + 3CA ทำความเร็วดาวน์โหลดได้สูงสุด 1.2 Gbps (ถ้าเครือข่ายรองรับ)
  • รองรับ VoTLE ให้เสียงสนทนาคมชัดในเครือข่ายที่รองรับ
  • สามารถต่อสาย USB-C แปลงเป็น HDMI เพื่อใช้งานในโหมด Desktop เหมือนใช้คอมพิวเตอร์ได้ โดยเอามือถือเป็นเมาส์และคีย์บอร์ดได้ หรือจะต่อเพิ่มก็ได้ (อันนี้ยังไม่ได้ลอง เพราะไม่มีสาย)
  • ฟีเจอร์มือถือจีนมาเกือบครบ ทั้งบันทึกหน้าจอตามแนวยาว, App Twin ใช้งาน facebook, line, messenger พร้อมกัน 2 บัญชี ใช้งานเป็นรีโมททีวีก็ได้ แต่บันทึกเสียงสนทนาไม่ได้
ชาร์จด้วย Super Change

แบตเตอรี่และการชาร์จ

  • แบตเตอรี่อยู่ได้นานพ้นวันสบายๆ แต่ไม่ถือว่าอึดจนน่าทึ่งเพราะถ้าใช้งานหนักหน่อย แบตก็เกือบหมดในแต่ละวัน ไม่สามารถใช้แบบ 2 วันชาร์จ 1 ครั้งได้
  • จากการทดสอบด้วย Super Change ของ Huawei การชาร์จแบต 30 นาทีได้แบตกลับมา 44% (เปิดเครื่องชาร์จ) ถ้าจะชาร์จจนเต็มร้อยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ก็ถือว่ารวดเร็วทันใจดี
  • ระบบการชาร์จทั้งหมดของ Mate 10 Pro ได้รับการรับรองจาก TÜV Rheinland การันตีว่าถ้าใช้หัวชาร์จและสายชาร์จของของหัวเว่ยจะปลอดภัย
ชาร์จมาครึ่งชั่วโมง ได้แบต 44%

เรื่องเสียง

  • Huawei Mate 10 Pro เป็นสมาร์ทโฟนที่รองรับ Codec เสียงของ Bluetooth มากที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน คือรองรับทั้ง SBC, AAC, aptX, aptX HD, LDAC ครบรูปแบบที่ผู้ใช้จะใช้หลักๆ ทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นนี้เชื่อมต่อกับลำโพงหรือหูฟัง Bluetooth รุ่นใดก็จะดึงรูปแบบการส่งสัญญาณเสียงที่ดีที่สุดออกมาใช้
ลองกับลำโพงที่รองรับ LDAC ก็ขึ้นว่าสนับสนุนเต็มรูปแบบ
  • จากการเทสด้วย Huawei Mate 10 Pro กับหูฟังที่รองรับโค้ดเสียง SBC, AAC, aptX แล้วสลับ Codec ที่ใช้ไปเรื่อยๆ พบว่า SBC ที่เป็นโค้ดเสียงพื้นฐาน อุปกรณ์ Bluetooth ทุกตัวรองรับให้คุณภาพที่แย่ที่สุด เสียงปลายทึบ ไม่โปร่ง ส่วน aptX กับ AAC ให้คุณภาพเสียงสดใสพอๆ กัน ถ้ามีหูฟังหรือลำโพงที่รองรับโค้ดเสียงอื่นๆ นอกจาก SBC ระบบจะเลือกอันที่ดีกว่าให้เอง
  • Mate 10 Pro ไม่มีช่องต่อหูฟังแล้ว (แต่สมาชิกแบไต๋แจ้งว่าแถมหัวแปลง USB-C to 3.5 mm นะ) ก็ลำบากหน่อยโดยเฉพาะสาย Live Facebook
หูแถมของ Huawei Mate 10 Pro
  • หูแถมของ Mate 10 Pro ให้คุณภาพเสียงที่ดี ไม่แหลม ไม่บวม
  • ระบบปรับเสียง Histen ของ Huawei ใช้ได้กับการฟังผ่านสายเท่านั้น ไม่สามารถฟังผ่าน Bluetooth ได้
  • ระบบ Histen ช่วยปรับเสียงให้โปร่ง ชัดขึ้น ก็แล้วแต่ชอบว่าชอบลักษณะเสียงแบบนี้รึเปล่า
  • ลำโพงเครื่องมี 2 จุดคือที่ลำโพงหูฟังและลำโพงท้ายเครื่อง ถ้าวางเครื่องแนวนอนจะให้เสียงสเตอริโอแยกซ้าย-ขวาได้ชัดเจน ส่วนถ้าวางเครื่องแนวตั้งระบบจะปรับเป็นโหมดลำโพงคุณภาพสูง ให้เสียงได้หนักแน่นกว่าเดิม ลำโพงให้เสียงดังและมีเบสมากกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป (แต่เบสก็ไม่ได้เยอะนะ เอาไปสู้ลำโพงแยกไม่ได้)
  • ไมโครโฟนในโหมด Speaker Phone เลือกได้ว่าจะรับเสียงรอบตัวหรือจุดเดียว เหมาะสำหรับการคุยในพื้นที่เสียงดัง นอกจากนี้การใช้บันทึกเสียงก็เลือกลักษณะการรับเสียงได้เช่นกัน ดีงาม
แตะเพื่ออ่าน Codec เสียงของ Bluetooth ตัวชี้วัดคุณภาพเสียงไร้สาย!

คำว่า Bluetooth นั้นจริงๆ เป็นแค่ชื่อมาตรฐานการส่งสัญญาณระหว่างอุปกรณ์เท่านั้นครับ ซึ่ง Bluetooth เวอร์ชั่นสูงขึ้น ก็หมายถึงส่งสัญญาณไร้สายได้เร็วขึ้น แต่สัญญาณเสียงที่ส่งไปจะมึคุณภาพแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการเข้ารหัสเสียงหรือ Codec ที่ใช้ด้วย เทียบง่ายๆ ก็เหมือน Bluetooth คือรถตู้ที่วิ่งอยู่บนถนน เมื่อใช้ Bluetooth เวอร์ชั่นสูงขึ้นก็เหมือนอัปเกรดให้รถตู้ซิ่งแรงขึ้น ส่วน Codec ก็เหมือนสินค้าที่อยู่ในรถตู้ Codec คุณภาพดีก็เหมือนสินค้าคุณภาพดีแหละครับ ซึ่งในโลกของ Bluetooth เราใช้ Codec เสียง 4 ตัวหลักๆ คือ

  • SBC (subband codec) มาตรฐานการบีบอัดเสียงพื้นฐานของ Bluetooth ที่อย่างน้อยๆ อุปกรณ์ Bluetooth ทั้งโลกต้องจัดการเสียงแบบ SBC ได้ ซึ่งรูปแบบนี้ก็ให้เสียงคุณภาพพื้นฐาน คือไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีสำหรับที่นักฟังเพลงจริงๆ ต้องการ ใช้ bit rate สูงสุดประมาณ 328 kbps
  • AAC (Advanced Audio Coding) รูปแบบการบีบอัดเสียงใช้ในอุปกรณ์ของแอปเปิ้ล และสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่น ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า SBC
  • LDAC รูปแบบการบีบอัดเสียงที่ Sony พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสียงระดับ Hires ผ่าน Bluetooth โดยให้ bit rate สูงสุดถึง 990 kbps รองรับความละเอียดเสียงแบบ Hi Res 24-bit 96 kHz ซึ่งเป็น codec ด้านเสียงสำหรับ Bluetooth ที่คุณภาพสูงมากตอนนี้ ตอนนี้ใช้ได้กับอุปกรณ์ของ Sony เป็นหลัก แต่ใน Android 8 Oreo มาตรฐาน LDAC ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Android แล้ว ซึ่งผู้ผลิตสามารถเลือกได้ว่าจะใส่ LDAC เข้าไปในอุปกรณ์ตัวเอง แต่ก็ต้องมีการตกลงใช้สิทธิ์กับ Sony ก่อนผลิตด้วยนะ ไม่ใช่เป็น Android 8 แล้วจะใช้ LDAC ได้เลย
  • aptX รูปแบบการบีบอัดเสียงยอดนิยมอีกแบบ ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า SBC และมี Latency ต่ำ (คือเสียงไม่แลค เหมาะสำหรับการเล่นเกม) มาตรฐานของ aptX จะใช้บิทเรท 352 kbps สำหรับเสียงสเตอริโอ 16-bit 44.1 kHz และมีมาตรฐานใหม่คือ aptX HD ที่รองรับเสียง 24-bit 48 kHz จะใช้บิทเรท 576 kbps (มีอุปกรณ์อยู่ไม่กี่ตัวที่รองรับ aptX HD) ซึ่งตอนนี้ aptX เป็นของ Qualcomm ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ชิป Qualcomm บางตัวจะรองรับ

Mate 10 Pro สมาร์ทโฟนที่น่าใช้ที่สุดของหัวเว่ยตอนนี้

อุปกรณ์ภายในกล่อง Huawei Mate 10 Pro

ถือว่า Mate 10 Pro เป็นการกลับมาของเรือธงที่สมการรอคอยนะครับ ทุกอย่างถูกปรับปรุงให้ใช้งานได้ดีขึ้น และการโฟกัสด้าน AI ก็น่าจะมีแนวโน้มที่ดี และสามารถพัฒนาด้านซอฟต์แวร์เพื่อตอบสนองได้ในอนาคต ก็ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่น่าใช้อีกรุ่นหนึ่งในตลาดครับ

เจ๋งแบบนี้ เอาไปเลย น่าซื้อมาก!