[รีวิว] Wiko View 3 Pro: กล้องหลัง 3 ตัวพร้อม AI ในราคา 6,490 บาท
Our score
8.5

Wiko View 3 Pro

จุดเด่น

  1. กล้องหลัง 3 ตัว ครบทุกเลนส์
  2. แอนดรอยด์ลื่นๆ พร้อมอัปเดตตลอด
  3. ราคากลางๆ ที่จับต้องได้ง่ายๆ

จุดสังเกต

  1. แอปพื้นฐานบางแอปไม่ได้ติดตั้งลงในเครื่อง
  2. ไม่มี Pro Mode สำหรับการถ่ายภาพ
  • รูปลักษณ์ภายนอก

    8.0

  • คุณภาพจอ

    9.0

  • ประสิทธิภาพเครื่อง

    8.5

  • ประสิทธิภาพกล้อง

    8.0

  • ความคุ้มค่า

    9.0

ก่อนจะไปที่สเปกของเครื่องนี้ มาดูที่ดีไซน์กันก่อน ดีไซน์ของเครื่องนี้ มีการไล่เฉดสีที่ด้านหลังและขอบของเครื่อง โดยเครื่องที่ได้มารีวิวนี้เป็นสี Nightfall ผสมกันระหว่างสีฟ้าแอนตาร์กติก กับสีทองที่ไล่เฉดจากขอบบนเป็นแนวทะแยง ตรงกลางไปถึงล่างมีการไล่ลวดลายและกราฟิกให้สวยงามเมื่อมีแสงสะท้อนตกลงมา

มาที่สเปกคร่าวๆ ของเครื่องนี้ Wiko View 3 Pro เป็นสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 6.3 นิ้ว อัตราส่วนของหน้าจอที่ 19.5:9 กว้างกว่าหน้าจอของสมาร์ตโฟนรุ่นทั่วๆ ไปนิดหน่อย หน้าจอเป็นแบบ IPS LCD 16 ล้านสี แถมความละเอียดแบบ FHD+ ละเอียดถึงระดับ 2340 x 1080 พิกเซล ให้ทั้งความละเอียดและสีสันที่สวยสดสมจริง สามารถรับชมคลิปวิดีโอที่อยู่บนยูทูบ หรือที่ต่างๆ ได้ถึงระดับ 1080p ยังไปไม่ถึงระดับ 2K และ 4K

รวมๆ ของหน้าจอ ถือว่าเกือบเต็มพื้นที่ของตัวเครื่อง ส่วนด้านล่างจะมีของที่เว้นไว้หน่อย ส่วนของด้านบน จะเห็นได้ว่ามีติ่งหยดน้ำอยู่ตรงกลางจอ ซึ่งติ่งนี้ก็เป็นตำแหน่งของกล้องหน้านั่นเอง แต่ถ้าหากเห็นแล้วแอบรำคาญอยู่นิดๆ สามารถไปตั้งค่าการแสดงผลของบริเวณติ่งหน้าจอนี้ได้ จะให้ติ่งขยายออกมา หรือว่าซ่อนติ่งให้เนียนกริ๊บก็ดูดีไปอีกแบบ

ติ่งหยดน้ำบนหน้าจอที่สามารถตั้งค่าได้ถึงสามแบบ: แบบเริ่มต้น, แบบหยดน้ำ และแบบซ่อนติ่ง

มีหนึ่งจุดที่ชวนให้สังเกตสำหรับส่วนของหน้าจอก็คือ ไฟแจ้งเตือนดวงเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในส่วนของลำโพงโทรศัพท์ ไฟดวงเล็กๆ นี้ จะคอยแจ้งเตือนสถานะของแบตเตอรี่ ถ้าใกล้หมดแล้ว หรือว่าอยู่ในสถานะกำลังชาร์จไฟ จะปรากฎไฟเป็นสีแดง แต่ถ้าเครื่องชาร์จไฟอย่างเต็มที่แล้ว จะปรากฎไฟเป็นสีเหลือง นอกเหนือจากนี้ จะไม่ปรากฎไฟออกมา

ไฟแสดงสถานะการชาร์จ (จุดแดงๆ ที่เห็นนั่นแหละ…)

มาที่การประมวลผลและหน่วยความจำของเครื่องนี้กันบ้าง รุ่นนี้ใช้ชิปเซ็ต MT6771 Helio P60 ซีพียูแบบ Octa-Core 2 MHz มาพร้อมกับจีพียู หรือชิปกราฟิก Mali G72 MP3 ให้ภาพนั้นดูไหลลื่นกว่าเดิมมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ หน่วยความจำภายในยังให้มามาก เมื่อเทียบกับสมาร์ตโฟนรุ่นกลาง หรือตัวท็อปที่สเปกสูสีกัน กล่าวคือ แรม 4 กิกะไบต์ ส่วนรอมให้มา 64 กิกะไบต์ ซึ่งถือว่าเยอะอยู่พอสมควร แต่ถ้าได้มาเยอะขนาดนี้แล้วยังไม่พอใจ เครื่องนี้ยังสามารถเพิ่มเนื้อที่ความจำในรูปแบบ MicroSD ได้สูงสุดถึง 256 กิกะไบต์

สำหรับระบบปฏิบัติการของเครื่องนี้ ยังให้ตัวแอนดรอยด์ 9.0 (Android P) มาให้ใช้งาน และพร้อมอัปเดตเป็น Android Q ได้ในอนาคต แต่ทว่าไม่มีตัว UI หรือ OS มาครอบทับอีกที เหมือนแอนดรอยด์เครื่องทั่วๆ ไป (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องนี้เป็น Android One หรือ Android Pure นะ…) ฉะนั้นแล้ว ท่านที่ซื้อเครื่องนี้ไปใช้งาน จะได้รับประสบการณ์ของการใช้เครื่องแอนดรอนด์แบบเพียวๆ ไม่มีแอปหรือการใช้งานอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นมาปะปนให้เปลืองเนื้อที่ แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะบางแอป หรือบางบริการที่ควรมีแบบสามัญประจำเครื่อง อย่างแอปจดบันทึก หรือแอปบันทึกเสียง เครื่องนี้ไม่มีให้ ต้องไปหาดาวน์โหลดจากสโตรอีกที

ส่วนของซิมการ์ดนั้น เครื่องนี้รองรับได้ถึงสองซิม สแตนบายพร้อมกันทั้งสองเบอร์ โดยซิมที่ใช้เป็นแบบ Nano Sim และถาดที่ใส่ซิมนั้นเป็นแบบ Hybrid Slot อยากใส่สองซิมก็ใส่ได้ แต่ถ้าอยากใส่ MicroSD ก็จะได้ใช้ซิมการ์ดแค่ซิมเดียว (ออกแนวรักพี่แต่เสียดายน้อง…)

สเปกพื้นฐานและส่วนอื่นๆ ที่มีในเครื่อง มีตั้งแต่ WiFi ที่รองรับแบบ Dual-Band (2.4 GHz และ 5 GHz), บลูทูธ 4.2, GPS, A-GPS, NFC และ Finger Scan สแกนนิ้วมือเพื่อปลดล็อกเครื่องและใช้ประกอบในการทำธุรกรรมบางรายการได้ สำหรับพอร์ตการชาร์จของเครื่องนี้ ใช้พอร์ต USB-C รองรับการชาร์จไว (Fast Charging MTK Pump Express 2.0)

ในส่วนของแบตเตอรี่ ตัวเครื่องให้มา 4,000 มิลลิแอมป์ ถือว่ามากอยู่พอตัว ซึ่งวีโกได้เคลมไว้ว่าด้วยแบตเตอรที่ให้มาขนาดนี้ สามารถใช้งานได้นานถึงสองวัน ต่อการชาร์จไฟแค่เพียง 1 ครั้ง แต่เอาเข้าจริงๆ ใช้งานได้แค่เพียงวันเดียว ซึ่งต้องบอกกล่าวกันก่อนว่า การใช้งานที่ใช้ภายในวันเดียว หรือสองวันนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานว่าใช้งานมากน้อยขนาดไหน อย่างของผู้เขียนนี้ ใช้งานแบบเต็มเหนี่ยว (แต่ไม่ถึงฮาร์ดคอร์) ใช้งานทุกรูปแบบ ทั้งเปิดเฟซบุ๊ก ดูยูทูบ และเล่นเกม ใช้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น แบตเตอรี่ยังเหลืออยู่ที่ระดับ 10 เปอร์เซ็นต์

เมื่อพูดถึงเล่นเกม เครื่องนี้ยังมีปุ่ม Game Mode มาให้เราเลือกเปิดใช้งาน โดยการเปิดโหมดนี้ จะทำให้ตัวเครื่องจัดการทรัพยากรที่มีภายในเครื่อง ทั้งเรื่องของการใช้แบตเตอรี่ การประมวลผล และการแจ้งเตือนต่างๆ จากแอปอื่นๆ ที่เปิดไว้ก่อนหน้านี้

มากันที่เรื่องของกล้องกันบ้าง Wiko View 3 Pro ให้กล้องหลังมาถึงสามตัวด้วยกัน เริ่มตั้งแต่กล้องหลัก ใช้เซ็นเซอร์ Sony IMX486 ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล กล้องรองลงมา เป็นกล้องแบบเน้นความชัดลึก ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล เหมาะกับการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ ปิดท้ายที่กล้อง Super Wide Angle หรือกล้องเลนส์มุมกว้าง กว้างถึง 120 องศา และความละเอียดมากถึง 13 ล้านพิกเซล

กล้องหลังที่เรียงลงมา 3 ตัว พร้อม Finger Scan

ส่วนของกล้องหน้าให้มามากถึง 16 ล้านพิกเซล เหมาะสำหรับการถ่ายเซลฟี่โดยเฉพาะ

ร่ายสเปกกล้องไปแล้ว คราวนี้มาดูภาพที่ได้จากกล้องแต่ละตัวกันบ้าง เริ่มต้นที่กล้องหลักกันก่อน ถือว่าให้สีที่ดูใกล้เคียงกับที่สายตาเห็น เก็บรายละเอียดได้เยอะ แต่ถ้าหากลองซูมเข้าไป แน่นอนว่าภาพต้องแตกเป็นธรมดา เพราะว่ากล้องที่ใช้นี้ไม่ได้มีกล้องแบบ Dynamic Zoom ส่วนการซูมที่ใช้งานเป็นแบบ Digital Zoom ส่วนของกล้องเลนส์มุมกว้างกันบ้าง จะสังเกตได้ว่าสีที่ปรากฎนั้น จะดูดรอปกว่าภาพที่ได้มาจากเลนส์หลัก แต่รายละเอียดและความคมชัดของภาพกลับชัดกว่า แต่การเก็บภาพได้กว้างนี้ ต้องแลกกับความโค้งมนของภาพที่จะปรากฎตรงมุมของภาพ (คล้ายๆ กับการถ่ายภาพด้วยเลนส์ Fish Eye หรือเลนส์ตาปลานั่นเอง…) ส่วนของการถ่ายภาพในแบบเต็มหน้าจอ หรือสัดส่วน 19.5:9 นั้น จะสังเกตได้ว่าภาพจะถูกครอปเข้ามา เหมือนมีการซูมเข้ามาในระดับหนึ่ง ซึ่งการถ่ายภาพในสัดส่วนนี้มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า สามารถซูมภาพได้ลึกกว่าที่กล้องหลักสามารถทำได้ แต่ยิ่งลึกมาก ก็ยิ่งเห็นความแตกและเม็ดพิกเซลของภาพเช่นกัน

ภาพเปรียบเทียบระหว่างถ่ายด้วยเลนส์หลัก (ภาพด้านซ้าย) กับเลนส์ Super Wide Angle (ภาพด้านขวา)

ภาพถ่ายอัตราส่วน 1:1

ภาพถ่ายอัตราส่วน 4:3

ภาพถ่ายอัตราส่วน 19.5:9

สำหรับการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ หรือทำหลังละลาย ถือว่าไม่มีปัญหา แต่ว่าต้องลองถ่ายกับแต่ละระดับก่อน ถึงจะเจอจุดเพอร์เฟคสำหรับการถ่ายภาพในโหมดนี้

การถ่ายในที่แสงน้อย ถือว่าเก็บรายละเอียดในส่วนที่สำคัญๆ ยังชัดเจนอยู่ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าในบริเวณตรงนั้นมีแสงอยู่มากน้อยขนาดไหน บางสถานที่ที่ได้ไปทดลองถ่ายนั้น มีแสงตกกระทบบนฉากหลังมากกว่าตัวบุคคล อาจทำให้ตัวบุคคลดูหมองและมืดลงไป แต่ถ้าปรับให้ตัวบุคคลมีความสว่างมากขึ้น อาจทำให้ภาพนั้นดูเบิร์นไปโดยปริยาย

ถ่ายในที่แสงน้อยแบบภาพรวม ตัวบุคคลจะมืดกว่าบรรยากาศรวม

ตัวอย่างของการเร่งความสว่าง จะเห็นได้ว่า ตัวบุคคลเห็นชัดเจน แต่พื้นหลังเบิร์นตาม

ในส่วนของฟีเจอร์พิเศษที่กล้องตัวนี้ให้มากันบ้าง แน่นอนว่ากล้องในสมาร์ตโฟนต้องมากับโหมด AI เสมอ AI ที่อยู่ในกล้องของ Wiko View 3 Pro นั้น จะทำงานร่วมกันกับ Beauty Mode โดยตรวจจับใบหน้าของเรา แล้วทำการปรับแต่งค่าต่างๆ ให้โดยอัตโนมัติ ทั้งรูปคาง ความเนียนบนใบหน้า สภาพผิว ความสว่าง และความผิวอมชมพู สำหรับกล้องหน้า ยังสามารถถ่ายเซลฟี่ในแบบหน้าชัดหลังเบลอได้ ส่วนของการบันทึกวิดีโอนั้น สามารถถ่ายได้ทั้งความละเอียด 1080p, 720p และแบบเต็มหน้าจอได้ นอกเหนือจากนี้ ยังมีโหมดป้องกันภาพสั่นไหว (EIS) ทำให้ภาพวิดีโอให้มาดูไหลลื่นกว่าเดิม ถึงแม้จะเคลื่อนไหวหรือมือสั่นมากขนาดไหนก็ตาม และปิดท้ายที่การถ่ายวิดีโอแบบ Super Slow Motion ได้อีกด้วย

ภาพถ่ายเซลฟี่แบบหน้าชัดหลังเบลอ (ถ่ายจากกล้องหน้าของตัวเครื่อง)

ภาพถ่ายเซลฟี่แบบเปิด AI Beauty Mode

ภาพถ่ายจากกล้องหลักแบบเปิด AI Beauty Mode

ฟีเจอร์การใช้งานของกล้องนั้น ดูเผินๆ ก็ละม้ายคล้ายกับ Google Camera ซึ่งเป็นแอปกล้องของกูเกิล แต่ว่าไม่ใช่ ถึงแม้ว่าจะมีฟีเจอร์การใช้งาน Google Lens มาให้เราได้เลือกใช้งานก็ตาม แต่ก็ยังมีสิ่งที่แอบขัดใจในการใช้งานของตัวกล้องก็คือ ไม่สามารถถ่ายภาพออกมาในสัดส่วน 16:9 ได้ เพราะไม่มีให้เลือกมาแล้วตั้งแต่ต้น ถ้าต้องการภาพขนาดดังกล่าว ต้องถ่ายภาพด้วยขนาด 4:3 หรือ 19.5:9 แล้วมาครอปขนาดลงอีกที อีกอย่างคือการไม่มี Pro Mode หรือโหมดการใช้งานแบบมืออาชีพ สำหรับผู้ที่ชอบถ่ายภาพจากสมาร์ตโฟนแบบที่ต้องปรับแต่งเอง เช่น ปรับรูรับแสง, ปรับค่า ISO หรือแม้แต่การเปิดตารางจัดตำแหน่งสัดส่วนของภาพ (ตาราง 9 ช่อง) เพื่อให้ได้ภาพที่ดูดีที่สุด

ขอเสริมอีกนิด สำหรับเรื่องของการโทรออกและรับสาย Wiko View 3 Pro สามารถรองรับ HD Voice ทำให้การติดต่อสื่อสารนั้นได้เสียงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังสามารถใช้งาน VO-LTE และ VO-WiFi ได้อีกด้วย นอกเหนือจากนี้ การรับสัญญาณโทรศัพท์นั้น รองรับได้ทุกย่านความถี่ที่มีในประเทศไทย ตั้งแต่ 800, 850, 900, 1800 และ 2100 MHz รวมไปถึงยังรองรับการใช้งานคลื่นความถี่ 700 และ 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่จะนำมาใช้ในอนาคตอีกด้วย (แต่ตัวเครื่องไม่ได้รองรับระบบ 5G นะ…)

ปิดท้ายกันที่ราคา Wiko View 3 Pro จำหน่ายที่ราคา 6,490 บาท ซึ่งเมื่อเทียบระหว่างราคากับการใช้งาน และประสิทธิภาพที่ได้รับนั้น ถือว่าคุ้มค่าอยู่พอสมควร สำหรับผู้ที่ต้องการสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ระดับกลางๆ ในราคาที่ไม่พุ่งกระฉูดเกินไป หน้าจอที่สด พร้อมกับกล้องหลังที่ให้มาถึงสามตัว ถ้าจะนำไปเปรียบเทียบกับสมาร์ตโฟนบางรุ่นที่ราคาสูงกว่า แต่ว่าให้กล้องหลังมาแค่สองตัว ตัวนี้ถือว่าตอบโจทย์และคุ้มค่ากว่าครับ ส่วนใครที่สนใจอยากลองสัมผัสด้วยตัวเองนั้น ก็สามารถไปทดลองใช้งานกันได้ที่ผู้แทนจำหน่าย และผู้ให้บริการเครือข่าย ทุกที่ ทั่วไทย