[รีวิว] Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED หูฟังสำหรับเกมเมอร์ที่แท้ทรู(ไวเลส)
Our score
7.7

Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED

จุดเด่น

  1. เป็นหูฟังสำหรับเล่นเกมที่ความหน่วงน้อยมาก ถึงไม่มีเลย เมื่อนำมาต่อผ่านตัวส่งสัญญาณ
  2. สามารถใช้เชื่อมต่อได้หลายอุปกรณ์มาก ๆ มีหูฟังเดียว ต่อได้ทั้งมือถือ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงคอนโซล
  3. สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งผ่านตัวส่งสัญญาณ และผ่านบลูทูท
  4. ระบบเสียงที่แยกองค์ประกอบของเสียงมาให้เยอะ ทำให้เหมาะกับการใส่ไปเล่นเกมไป
  5. สวมใส่ได้สบาย ใส่แล้วไม่รู้สึกว่ามีอะไรติดอยู่ที่หู ทำให้ใส่ได้นาน
  6. เป็นหนึ่งในหูฟังสำหรับบมือถือ ที่สามารถตั้งค่าไฟ RGB ได้เต็มที่ เหมาะกับเหล่าเกมเมอร์

จุดสังเกต

  1. เสียงที่อาจจะยังไม่สามารถสู้หูฟังที่เน้นเพื่อฟังเพลงอย่างเดียวได้
  2. ความที่เสียงแยกองค์ประกอบมามาก อาจจะทำให้เวลาใส่ฟังเพลงแล้วรู้สึกแปลก ๆ ได้
  3. การตั้งค่าทุกอย่างต้องทำผ่านแอปพลิเคชัน Razer Audio ทำนอกแอปฯไม่ได้
  4. แอปฯ Razer Audio ไม่รองรับการเชื่อมต่อผ่านตัวส่งสัญญาณ ซึ่งเกมเมอร์น่าจะใช้กันมากกว่าบบลูทูทโดยทั่วไป
  5. การรองรับ Codec เสียงที่มีแค่ SBC และ AAC เท่านั้น
  6. คุณภาพไมค์ที่อาจจะใช้แทนไมค์สำหรับสตรีมมิง หรือแคสต์เกมได้
  • คุณภาพเสียง

    7.0

  • คุณภาพวัสดุ

    7.5

  • ความคล่องตัวในการใช้

    9.0

  • คุณภาพของไมค์โครโฟน

    7.5

  • ความคุ้มค่า

    7.5

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ยังติดหูฟังแบบมีสายครับ แม้ว่าส่วนตัวจะพกหูฟังแบบไร้สายอยู่แล้วคู่หนึ่งก็ตาม สาเหตุหลัก ๆ นอกจากจะเอาไว้เพื่อคุยโทรศัพท์ หรือเพื่อต่อคอมพิวเตอร์ได้แบบบง่าย ๆ แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ หูฟังแบบมีสาย สามารถใช้เล่นเกมได้แบบไม่มีความหน่วง กล่าวคือ ถ้าเราใช้หูฟังไร้สาย ปกติจะเจอกับความหน่วงที่บางครั้งมากจนไม่เหมาะกับการเล่นเกม

แต่ Razer (เรเซอร์) แบรนด์ที่ทำอุปกรณ์เพื่อการเล่นเกมมานาน เขาก็ได้ออกหูฟังแบบใหม่ที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้โดยเฉพาะ กับ RAZER HAMMERHEAD HYPERSPEED (XBOX) หูฟังเล่นเกมแบบ TWS (True Wireless Stereo) ที่ปกติจะเชื่อมต่อด้วย Bluetooth เท่านั้น แต่รุ่นนี้มาพร้อมกับตัวเชื่อมต่อ ‘Hyperspeed’ ที่จะทำให้ความหน่วงนั้นหายไป ในขณะที่ยังเชื่อมต่อแบบ Bluetooth ได้เหมือนเดิม ! แล้วหูฟังรุ่นนี้จะมีอะไรที่น่าสนใจ และมีข้อสังเกตอย่างไรบ้าง ?

แกะกล่องมาแล้วมีอะไรบ้าง

  • หูฟัง RAZER HAMMERHEAD HYPERSPEED (XBOX) พร้อมเคสชาร์จที่อยู่ภายใน
  • ตัวส่งสัญญาณเสียง Hyperspeed ที่มีหัวเป็น USB-C
  • สายแปลงจาก USB-C ตัวเมีย ไปเป็น USB-A
  • สายชาร์จ USB-A ไปเป็น USB-C
  • จุกหูฟังสำหรับเปลี่ยน 3 ขนาด (เล็ก กลาง และใหญ่ โดยไซซ์กลางใส่ติดมากับหูฟังแล้ว)
  • คู่มือและสติกเกอร์ของ Razer

ดีไซน์

ถ้าเกิดว่าเราดูแบบผิวเผิน ไม่เปิดดูหูฟังข้างในเลย ตัวเคสของ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED ก็จะมีหน้าตาที่อาจจะใช้คำว่า ‘คุ้น’ กับหูฟังไร้สายแบบ TWS หลาย ๆ รุ่น ที่จะมีทรงกล่องแบบพื้นเรียบ แต่ขอบโค้งมน สีดำแบบด้าน ให้ความรุ้สึก และน้ำหนักระหว่างถือที่ดี แม้ส่วนฝาจะรู้สึกเบาไปบ้างเล็กน้อย โดยด้านหน้าจะมีไฟแสดงสถานะของหูฟัง, ด้านบนของเคสจะสลักโลโก้ Razer, ด้านหลังของเคสสลัก Serial Number ของหูฟังไว้ และด้านล่างมีช่องเสียบชาร์จ USB-C โดยไม่มีปุ่มอะไรเพิ่มเติม

แต่พอเราเปิดเข้ามาดูหูฟังข้างใน จะพบเลยว่านี่แหละ Razer ที่แท้ ด้วยด้านในของเคสที่เต็มไปด้วยสีเขียวตามแบบฉบับของ Razer และใส่หูฟัง Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED ทั้ง 2 ข้างเอาไว้ โดยเป็นหูฟังที่เก็บแบบแนวตั้ง และให้แม่เหล็กดูดอีกทีนึง

ตัวหูฟังเองก็มีความเป็นเกมเมอร์เหมือนกัน ด้วยดีไซน์หูฟังที่เป็นสีดำล้วน แบบจุกหรือที่เรียกกันว่า In-Ear ที่มีก้านด้านล่าง แต่ที่มีความเป็นเกมเมอร์เป็นพิเศษก็คือไฟ RGB ที่อยู่ที่โลโก้ Razer ด้านหลังของหูฟัง ที่เวลาเราใส่แล้วคนอื่นมาเห็น ก็จะเห็นว่ามีไฟเปลี่ยนสีได้นี้อยู่ ด้วย ‘Razer Chroma’ เหมือนกับบนอุปกรณ์เกมมิงเกียร์ต่าง ๆ ของ Razer เอง

โดยไฟ RGB นี้สามารถเปลี่ยนได้ด้วยการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ‘Razer Audio’ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งบน iOS และ Android โดยนอกจากจะตั้งค่าเรื่องของไฟแล้ว ยังตั้งค่าเรื่องของเสียงได้อีกด้วย ซึ่งจะเล่าในส่วนนี้ต่อไป แต่การจะตั้งค่าได้นั้น ต้องเชื่อมต่อหูฟังผ่านบลูทูทเท่านั้น (จำตรงนี้ไว้ก่อนนะ)

เวลาสวมใส่ ถือว่าเป็นหูฟังอีกรุ่นที่ใส่สบายเลย ด้วยการเป็นหูฟังที่ไม่ได้มีน้ำหนักมาก ทำให้เหมาะกับการใส่เป็นเวลานาน ๆ เช่นใส่เพื่อเล่นเกมเป็นเวลานาน หรือกระทั่งใส่เพื่อเดินทางไปไหนมาไหน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหูฟังที่จบสำหรับทั้งสายเกมและสายฟังเพลงเพื่อเดินทางก็ได้ ด้วยน้ำหนักที่เบานี้ นอกจากนั้นตัวจุกที่ให้มาก็ไม่ได้ใส่ยาก และไม่อึดอัดเวลาใส่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

นอกจากตัวหูฟังเองที่มีดีไซน์โดดเด่นแล้ว ตัวเชื่อมต่อเขาเองก็ดูดีไม่แพ้กันเลย กับตัวส่งสัญญาณเสียงแบบ USB-C ด้านบน และวงจรต่าง ๆ อยู่ในกรอบพลาสติกแบบทรงโค้งมนด้านล่าง ซึ่งถือว่าสะดวกต่อการนำไปเชื่อมต่อสมาร์ตโฟนที่รองรับ USB-C หรือแท็บเล็ตที่มีพอร์ต USB-C ได้ง่าย ๆ เหมือนกัน

หูฟังไร้สายจะไร้ความหน่วงได้อย่างไร ?

ถ้าเราพูดเรื่อง ‘วิธี’ การเชื่อมต่อของหูฟัง โดยเฉพาะหูฟังไร้สายแบบ True Wireless แบบนี้ เรามักจะนึกถึงการเชื่อมต่อผ่านบลูทูท เพื่อให้การเชื่อมต่อกับหูฟังเป็นไปแบบบ ‘ไร้สาย’ จริง ๆ ตามคำนิยามของ TWS โดยทั่วไป แต่ใน Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED เขามีตัวส่งสัญญาณหูฟังเข้าไปโดยตรงแบบ Hyperspeed นี้นี่แหละ อย่างที่บอกไว้ว่าตัวส่งสัญญาณนี้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบของ USB-C ซึ่งนั่นแปลว่าอุปกรณ์ใดที่รองรับการเชื่อมต่อแบบ USB-C และ USB-A (ด้วยสายแปลงที่แถมมาให้) ก็สามารถเชื่อมต่อตัวส่งสัญญาณนี้ได้เลย

ด้านบนสามารถปรับโหมดของการเชื่อมต่อได้ 2 แบบ

โดยบนตัวส่งสัญญาณจะมีโหมดให้เลือกอยู่ 2 โหมดก็คือโหมด USB และโหมด XBOX โดยโหมด USB จะสามารถใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตที่ใช้พอร์ต USB-C เพื่อเป็นตัวส่งสัญญาณเสียง ตรงเข้าไปที่หูฟังได้โดยตัดเรื่องความหน่วงออกไป เพราะส่งด้วยตัวส่งสัญญาณโดยตรง ไม่ต้องผ่านบลูทูธ (ต่อกับ iPad ที่ใช้พอร์ต USB-C ก็ได้นะ) หรือเอาไปต่อ Nintendo Switch ก็ยังได้ ! ส่วนโหมด XBOX สามารถใช้ต่อกับคอมพิวเตอร์ PC (Windows) หรือคอนโซลตระกูล XBOX (รุ่น Series X, Series S หรือ Xbox One) ได้โดยตรง ซึ่งก็จะทำการส่งเสียงให้กับหูฟังเลย โดยที่ไม่ต้องทำการติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่ม ซึ่งการต่อตรงแบบนี้ เลยจะทำให้มีความหน่วงลดลงไปได้นั่นเอง

ถ้าจะต่อคอมพิวเตอร์ต้องต่อสายแปลงแบบบนี้ก่อนนะ !

แน่นอนว่าหูฟังนี้ไม่ได้มีแต่โหมดต่อตรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถต่อแบบลลูทูธได้อยู่ โดยใช้วิธีการต่อแบบทั่วไปกับสมาร์ตโฟน Android ยังไม่ได้มีการรองรับระบบ Google Fast Pair ใด ๆ นะ ซึ่งถ้าต่อผ่านสมาร์ตโฟนแล้ว สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Razer Audio มาตั้งค่าเพิ่มเติมจากในนั้นได้เลย แต่ว่าถ้าต่อผ่านบลูทูธ ความหน่วงของเสียงอาจจะเกิดขึ้นได้นะ

ต่อแบบคลาสสิกเนี่ยแหละ !

เสียงของ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED

ทีนี้เรามาดูที่ส่วนสำคัญที่สุดของหูฟังกันบ้าง นั่นก็คือเรื่องของเสียงนั่นเอง ! เสียงของ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED จัดว่าทำได้ในระดับพอใช้ได้ โดยเป็นหูฟังที่เด่นในย่านกลาง ทำได้ค่อนข้างดี แต่ในย่านเบสถือว่าทำได้ไม่ดีนัก ขับเบสมาไม่ได้มากเท่าที่ควร ใครที่เป็นสายฟังเพลงตึ้บ ๆ (แบบผู้เขียน) อาจจะไม่ได้ถูกใจในการจัดย่านเบสนี้มาให้เท่าไหร่นัก แต่เป็นอีกหูฟังที่เก็บรายละเอียดได้ดีพอสมควร เวลาเราฟังเพลงต่าง ๆ จะรู้สึกได้ถึงตำแหน่งของแต่ละเครื่องดนตรี (ทั้งจริง และสังเคราะห์) ที่ดูจะแยกได้ชัดเจนกว่าหูฟังอื่น ๆ โดยทั่วไป เพราะงั้นเวลาที่เราฟังเพลงที่เน้นเรื่องเสียงร้อง จะทำให้เรารู้สึกถึงเลเยอร์ของนักร้อง และเลเยอร์ของเครื่องดนตรีที่แยกชัดเจนได้ค่อนข้างดี จนบางครั้งเรารู้สึกว่าที่เขาแยกมาให้เรานี้มันดู ‘ประดิษฐ์’ (Artificial) เลยก็ว่าได้

เราเอาไปต่อเล่นเกมเพลงจริง ๆ นะ !

แต่นี่คือการมองหูฟังรุ่นนี้ในมุมของการ ‘ฟังเพลง’ แน่นอนว่าหูฟังรุ่นนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อฟังเพลงเป็นหลัก แต่หน้าที่หลักของหูฟังประเภทนี้คือเกิดมาเพื่อ ‘เล่นเกม’ ต่างหาก ซึ่งถ้าเรานำหูฟังรุ่นนี้มาเพื่อเล่นเกม ความรู้สึกที่ได้จะอยู่อีกอารมณ์เลย ด้วยการที่เราสามารถได้ยินเสียงของแต่ละวัตถุ หรือการเคลื่อนไหวของตัวละครต่าง ๆ ในเกมที่เพิ่มขึ้น แยกไปจนถึงเอฟเฟคสกิล ก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี

ซึ่งถ้าจะให้เราทดสอบเรื่อง ‘ความหน่วง’ คงไม่มีการทดสอบไหนที่ละเอียดได้เท่าการทดสอบใน ‘เกมเพลง’ อีกแล้วล่ะ !

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นคนที่เล่นเกมเพลง หรือเกมแนวจับจังหวะ ซึ่งเป็นเกมที่จะต้องการความหน่วงที่น้อยมาก ๆ จนถึงไม่มีเลย (เพราะไม่งั้นจะจับจังหวะไม่ตรง) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้เขียนต้องพกหูฟังแบบบมีสายเช่นนี้เลย เพราะงั้นการเข้ามาของตัวส่งสัญญาณ Hyperspeed จึงเหมาะกับเกมเมอร์สายเกมเพลงแบบเรามาก (ฮา)

ซึ่งหลังจากได้ลองใช้ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED แบบต่อหัวเข้ากับ iPad เพื่อเล่นเกมเพลงแล้ว ก็พบว่าเสียงเพลงตรงจังหวะกับที่เรากดจริง ! เราไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นคนที่เล่นเก่งมาก แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าเสียงเพลงกับจังหวะที่เราได้กดตัวโน้ตต่าง ๆ ภายในเกมอย่างแน่นอน ถือเป็นหูฟังที่สะดวกและค่อนข้างเหมาะกับการนำมาเล่นเกมจริง ๆ

ไมค์ของ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED

ส่วนตัวไมค์ของ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED นั้นถือว่าเป็นไมค์โครโฟนที่จะเหมาะกับการคุยโทรศัพท์ หรือคุยสื่อสารกันระหว่างเล่นเกมกับเพื่อน ซึ่งถือว่าทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี แต่อาจจะไม่สามารถใช้เพื่อบันทึกเสียงจริงจัง อัดวิดีโอแคสต์เกม หรือสตรีมเกมให้คนอื่นดูได้ดีเท่ากับการใช้ไมค์เพื่ออัดเสียงโดยเฉพาะ

ปรับแต่งหูฟังได้ตามใจด้วย Razer Audio

หูฟังไร้สายเดี๋ยวนี้ ต่างสามารถตั้งค่าได้ผ่านแอปพลิเคชันทั้งนั้นเลย และถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนน่าจะเห็นแล้วว่าเราสามารถตั้งค่าหูฟังต่าง ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน Razer Audio ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของทาง Razer ที่ทำมาเพื่อตั้งค่าหูฟังไร้สายของ Razer เองโดยเฉพาะ

ของ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED ก็เหมือนกันนะ พอเราเชื่อมต่อหูฟังของเราด้วยบลูทูธแล้ว ก็สามารถดาวน์โหลดแอปฯ Razer Audio และให้แอปฯค้นหาหูฟังรุ่นที่เราใช้อยู่ได้ พอค้นเจอรุ่นที่เราใช้อยู่แล้ว แอปฯก็จะจัดเมนูในแบบที่หูฟังของเราใช้ได้เลย

ซึ่งในแอปก็สามารถตั้งได้หลายอย่างมาก ตั้งแต่การปรับตั้งค่าการตัดเสียงรบกวน (Active Noise Cancellation), โหมดปิดการโทรเข้าขณะเล่นเกม, ตั้งค่าเสียงในหูฟัง, โหมดเกมเพื่อลดความหน่วง, โหมดเชื่อมต่อรวดเร็วกับอุปกรณ์อื่น และตั้งค่าการควบคุมหูฟังที่เดี๋ยวจะอธิบายต่อไป แต่ที่น่าสนใจมากที่สุด จะเป็นอุปกรณ์ Razer ได้อย่างไร ถ้าเราไม่สามารถปรับ ‘ไฟ RGB’ กระทั่งในหูฟังได้ !

โหมดไฟ RGB ที่ชื่อ ‘Chroma Effect’ นี้แหละคือโหมดตั้งค่าไฟตามแบบฉบับของ Razer Chroma ที่มีโหมดไฟให้เลือกภายในตั้งแต่

  • Audio Meter – ตั้งค่าให้ไฟสว่างขึ้นตามเสียงที่เราเล่นในหูฟัง
  • Breathing – ตั้งค่าให้ไฟกะพริบสีที่เรากำหนดไว้
  • Spectrum – ตั้งค่าให้ไฟขึ้นสลับสีไปเรื่อย ๆ
  • Static – ตั้งค่าให้ไฟขึ้นสีใดสีหนึ่งค้างไว้

แม้ว่าจะไม่สามารถตั้งค่าไฟให้แสดงได้เยอะมากเท่าการตั้งค่าในโปรแกรม Razer Synapse แบบปกติ แต่ถือว่าเป็นหูฟังที่มีโหมดไฟให้ตั้งเยอะกว่าหูฟังบลูทูธโดยทั่วไปพอสมควรเลย แม้ว่าการตั้งค่าทั้งหมดนี้เราจะไม่สามารถเห็นเองได้ ให้แค่คนอื่นที่มองเราเห็นก็ตาม แต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนการใส่เครื่องประดับ ที่จะแสดงตัวตนของเราได้เหมือนกันนะ !

ทีนี้ถ้าลองดูการตั้งค่าอื่น ๆ อีกส่วนที่ค่อนข้างสำคัญคือ ‘Equalizer’ หรือโหมดตั้งค่าเสียงของหูฟังนั่นเอง ซึ่งในนี้เราสามารถตั้งค่าของเสียงที่ออกมาจากตัวหูฟังให้เป็นไปตามเราต้องการได้ โดยมีโหมดเสียงให้เลือกดังนี้

  • Default – เสียงแบบพื้นฐาน ที่จะให้เสียงตามที่ได้บอกไว้ในช่วงก่อนหน้านี้
  • Amplified – เสียงแบบเร่ง ที่จะทำให้เสียงทั้งหมดออกมาดังขึ้นกว่าปกติ เหมาะกับการเปิดระหว่างเล่นเกมนอกบ้าน
  • Enhanced Bass – โหมดเร่งเบส ที่จะให้เสียงเบสเข้มกว่าปกติ โดยส่วนตัวของผู้เขียนจะไม่ค่อยแนะนำให้เปิดโหมดนี้เพราะเสียงที่ได้ออกมาค่อนข้างบวมกว่าความเป็นจริง
  • FPS (Enhanced Footsteps) – โหมด FPS ที่จะทำให้การแยกเสียงจากแต่ละแหล่ง กระจายออกมาไกลกว่าเดิม ทำให้แยกเสียงก้าวเดินต่าง ๆ ได้ชัดเจนกว่าเดิมนั่นเอง (ไม่ค่อยเหมาะกับการฟังเพลงนะ)
  • Custom – โหมดที่จะให้เราตั้งค่าความถี่ของหูฟังด้วยตัวเราเอง สำหรับใครที่เป็นสายตั้ง Equalizer โหมดนี้สำหรับคุณแน่นอน !

แต่ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดที่อยากฝากทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้คือ จำที่เคยบอกว่า การจะตั้งค่าหูฟังได้นั้น ต้องเชื่อมต่อหูฟังผ่านบลูทูธเท่านั้น นั่นคือ ถ้าเราต่อหูฟังโดยตรงผ่านตัวส่งสัญญาณ USB-C หรือต่อหูฟังเข้ากับคอมพิวเตอร์ การตั้งค่าทั้งหมดนี้ตั้งแต่แสงสี เสียงภายใน และการควบคุมตามต้องการ จะไม่สามารถใช้งานได้เลย ถ้าต่อตรงแล้ว ตัวแอปฯ จะหาหูฟัง Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED นี้ไม่เจอเอาได้ และทำให้เราตั้งค่าหูฟังไม่ได้เลย ต้องต่อผ่านบลูทูทเพื่อตั้งค่าอีกที

โดยหูฟัง Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED รองรับการส่งเสียงผ่าน Codec แค่ 2 รูปแบบเท่านั้น คือ SBC และ AAC โดยตอนนี้ผู้เขียนยังไม่สามารถหาทางให้เล่นเสียงผ่าน Codec LDAC หรือ LHDC และอื่น ๆ ได้

การควบคุมหูฟัง

การควบคุมหูฟังสามารถทำได้ด้วยการแตะ ทั้งแบบแตะปกติ หรือกดค้าง บริเวณส่วนแบนของหูฟัง (ส่วนที่มีไฟ) ของหูฟังแต่ละข้างได้ โดยที่ไม่ต้องเข้าผ่านแอปแต่อย่างใด และหูฟังแต่ละข้างจะควบคุมไม่เหมือนกัน แต่ถ้าต้องการดูว่าแต่ละท่าในการแตะนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง หรืออยากตั้งค่าการควบคุมเหล่านี้ใหม่ ก็สามารถทำได้ผ่านแอปฯ Razer Audio เดียวกันนี้เลย โดยการตั้งค่าแบบพื้นฐานนั้นจะประกอบไปด้วย

  • แตะ 1 ครั้ง (ได้ทั้ง 2 ข้าง) – เล่น หรือหยุดเพลง
  • แตะสองครั้ง (ได้ทั้ง 2 ข้าง) – เปลี่ยนเป็นเพลงถัดไป
  • แตะค้าง 2 วินาที (ได้ทั้ง 2 ข้าง) – เปิด-ปิดโหมดตัดเสียงรบกวน
  • แตะสองครั้งแล้วแตะค้าง – เพิ่ม – ลดเสียง โดยฝั่งซ้ายคือลดเสียง และฝั่งขวาคือเพิ่มเสียง
  • แตะ 3 ครั้ง (ได้ทั้ง 2 ข้าง) – สลับอุปกรณ์แบบรวดเร็ว
  • แตะ 3 ครั้ง แล้วแตะค้าง 2 วินาที – ปิด-เปิดโหมดเกม

แบตเตอรี่

ส่วนแบตเตอรี่ของ Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED นั้น บนเว็บไซต์ของ Razer นั้นไม่ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่ามีแบตเตอรี่กี่มิลลิแอมป์ แต่ได้บอกว่าสามารถใช้ได้ 3 ชั่วโมงถ้าปิดไฟ และปิด ANC (กันเสียงรบกวน), 2.5 ชั่วโมง ถ้าเปิดไฟ และปิด ANC หรือปิดไฟ และเปิด ANC, 2.25 ชั่วโมงถ้าเปิดทั้งไฟ และ ANC โดยอายุการใช้งานจะเพิ่มขึ้นถ้าเกิดว่าใช้พร้อมกับเคสชาร์จที่ให้มาด้วย

ซึ่งจากการทดสอบของผู้เขียน ที่ต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์แบบเปิดไฟ และปิด ANC ตัวหูฟังเปล่า ๆ จะสามารถใช้งานได้นาน 2 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับคำเตือนว่าแบตเตอรี่ต่ำ และคาดว่าจะใช้ได้อีกสักพัก ส่วนเคสชาร์จนั้นสามารถใช้ชาร์จหูฟังก่อนจะนำมาใช้ฟังต่อ หรือชาร์จทั้งคู่ผ่านสาย USB-C ก็ได้ ซึ่งจะมีไฟสถานะที่แตกต่างกันระหว่างกำลังชาร์จ และแบตเตอรี่เต็มแล้วด้วย ถือว่าค่อนข้างสะดวกเลย แต่ที่น่าเสียดายคือหูฟังรุ่นนี้ไม่รองรับการชาร์จแบบไร้สาย หรือ Qi Wireless แต่อย่างใด

สรุปและราคา

ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับหูฟังรุ่นนี้ ก็คงจะต้องย้อนกลับไปที่ชื่อบทความรีวิวนี้แหละครับ ว่านี่คือ ‘หูฟังสำหรับเกมเมอร์ที่แท้ทรู(ไวเลส)’ เพราะด้วยความสามารถในการใช้เพื่อเล่นเกมที่สุดยอดมาก ๆ โดยเฉพาะผู้เขียนที่เป็นสายเกมจับจังหวะ พอเจอหูฟังไร้สายที่ใช้แล้วไม่เจอความหน่วงก็ว้าวเหมือนกันนะ ! แต่ถ้าใครที่อยากหาหูฟังเพื่อมาเน้นฟังเพลง หูฟังรุ่นนี้ถือว่ายังเป็นหูฟังที่พอจะนำมาใช้เพื่อทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ แต่อาจจะต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดในตัวหูฟังที่อาจจะให้เสียงที่ไม่โดดเด่นเท่าหูฟังรุ่นอื่น ๆ ในระดับราคานี้

สุดท้าย หูฟัง Razer HAMMERHEAD HYPERSPEED วางจำหน่ายในประเทศไทยในราคาเปิดตัวที่ 4,990 บาท โดยสามารถหาซื้อได้ที่ตัวแทนจำหน่ายชั้นนำ ทั่วประเทศ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส