รีวิว KEF LSX II ลำโพง All-in-One ฟังเพลงทุกแหล่งจบในตัวเดียว ต่อทีวีก็ได้
Our score
8.6

KEF LSX II

จุดเด่น

  1. ลำโพงดีไซน์สวยงาม มีถึง 5 สีให้เลือกให้เหมาะกับห้อง
  2. ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งลำโพงฟังเพลง ลำโพงทีวี ลำโพงคอมพิวเตอร์
  3. รองรับการเชื่อมต่อได้ครบถ้วนที่สุดรุ่นหนึ่ง
  4. คุณภาพเสียงดีสมราคา
  5. แอปปรับแต่งการใช้งาน และปรับจูนเสียงให้เหมาะการสถานที่วางลำโพงได้

จุดสังเกต

  1. ถ้าต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ให้ซื้อ Subwoofer เพิ่ม
  2. ยังแทน Home Theater ไม่ได้ เพราะไม่รองรับเสียงรอบทิศทาง
  3. เหมาะกับการใช้งานในห้องขนาดย่อม ๆ ไม่ใช่บ้านใหญ่ ๆ
  4. ถ้าใช้งานหลายรูปแบบการเชื่อมต่อ ผู้ใช้ควรจำสีไฟหน้าเครื่องให้ได้
  5. ราคาสูง
  • ดีไซน์

    9.0

  • คุณภาพเสียง

    8.5

  • การเชื่อมต่อ

    9.5

  • ความคุ้มค่า

    7.5

KEF เป็นหนึ่งในแบรนด์ลำโพงที่สร้างชื่อเสียงมายาวนานจากเกาะอังกฤษนะครับ มีเทคโนโลยีเฉพาะตัวมากมายที่เห็นแล้วรู้เลยว่านี่คือลำโพง KEF และลำโพงไร้สายใช้ในบ้านรุ่นล่าสุดที่เราจะรีวิวในวันนี้คือ KEF LSX II ที่ต้องบอกว่าคู่เดียวครบจบ ฟังเพลงได้ทุกอย่าง ทุกแหล่ง ต่อทีวีก็ได้ หรือจะใช้วางข้างคอมพิวเตอร์ก็ได้เช่นกันครับ

ดีไซน์ของ KEF LSX II

ลำโพงรุ่นนี้ก็ยังออกแบบโดย Michael Young เช่นเดียวกับ KEF LSX รุ่นแรก ซึ่งลายเซ็นในงานออกแบบของ Young ก็ชัดเจนมาก โดยจะเห็นว่า KEF LS50 และ LS60 หรือซัปวูฟเวอร์ KC62 ที่ออกแบบโดย Young ก็จะมีรูปร่างเส้นสายคล้ายกัน

แต่ KEF LSX II ในฐานะลำโพงรุ่นเล็กที่สุดของกลุ่ม Wireless HiFi Speaker ก็จะมีทางเลือกสีลำโพงถึง 5 สี มากกว่ารุ่นอื่น ๆ ให้เอาไปตกแต่งบ้านได้หลากหลายขึ้น โดยสีที่เราได้มารีวิวคือ Lava Red สีแดงสดพร้อมบอดีแบบ Glossy เงางาม ส่วนสีอื่น ๆ ก็มีทั้งดำ Carbon Black และน้ำเงิน Cobalt Blue ที่บอดีด้านนอกเป็นผ้า นอกจากนี้ยังมีสีขาว Mineral White แล้วก็สีพิเศษอย่าง Soundwave by Terence Conran ที่บอดี้เป็นพื้นผิวพิเศษมีลายสวยงาม ส่วนด้านหลังของลำโพงก็จะมีท่อ Bass Reflex อยู่เพื่อให้เสียงเบสหนักแน่นขึ้นครับ

ส่วนดอกลำโพงแบบ Uni-Q ก็มีสีสันเข้ากันหรือบางสีก็ตัดกันอย่างสวยงามกับสีของตัวบอดีครับ แล้วด้านหน้าก็ยังมีไฟดวงเล็ก ๆ เพื่อบอกสถานะการทำงานของลำโพงด้วย เช่น ไฟสีส้มคือลำโพงปิด อยู่ในสถานะ Standby, ไฟสีขาวคือต่อ Wi-Fi พร้อมใช้งาน, ไฟสีเขียวคือฟังเพลงจาก Spotify Connect, ไฟสีน้ำเงินคือฟัง Bluetooth, หรือไฟสีฟ้าอมเขียวคือต่อทีวีครับ ซึ่งเราสามารถกดรีโมตเพื่อเปลี่ยนการเชื่อมต่อของลำโพงได้ เช่นจากฟังเพลงผ่าน Spotify เป็นต่อทีวีก็ต้องกดรีโมทจนไฟเป็นสีฟ้าอมเขียว เสียงจากทีวีถึงจะออกครับ เพราะงั้นถ้าจำสีไฟได้ ก็จะใช้งานได้เร็วขึ้น แต่ถ้าจำไม่ได้ก็ต้องกดจากแอปเอาครับ

ซึ่งในกล่องนั้นจะมีลำโพง LSX 2 มาให้ 2 ตัว พร้อมสายไฟ 2 เส้นสำหรับลำโพงแต่ละข้าง มีสาย LAN อย่างดียาว 3 เมตรมาให้ด้วย สำหรับเชื่อมต่อลำโพงแต่ละข้าง แล้วก็มีรีโมตสำหรับสั่งงานลำโพงมาให้ แต่ที่ตัวลำโพงนั้นไม่มีปุ่มควบคุมเสียง หรือเพิ่ม-ลดระดับเสียง แม้ว่าเราจะเอา LSX II ไปใช้หน้าคอมพิวตเตอร์ เราก็ต้องกดจากรีโมต หรือกดจากในคอมพิวเตอร์เอา ไปแตะ ๆ เพิ่ม-ลดเสียงที่ลำโพงไม่ได้นะ

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมที่สามารถซื้อเพิ่มได้คือขาตั้งสวย ๆ สำหรับให้ลำโพงลอยเด่นจากพื้น หรือขาตั้งเล็ก ๆ สำหรับเชิดหน้าลำโพงขึ้นมาเวลาวางบนโต๊ะคอมพิวเตอร์ครับ ทำให้เสียงจากลำโพงพุ่งขึ้นมาหาหูของเรา ก็สามารถเลือกซื้อเพิ่มตามการใช้งานได้เลย

การเชื่อมต่ออย่างครบ

KEF LSX II เป็นลำโพงที่รองรับการเชื่อมต่อได้ครบถ้วนที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดนะครับ เริ่มตั้งแต่การเชื่อมต่อแบบสาย ที่พอร์ตการเชื่อมต่อจะอยู่หลังลำโพงตัวหลักดังนี้

  • USB-C สำหรับการเชื่อมต่อแบบดิจิทัลจากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ
  • Optical เชื่อมต่อเสียงผ่านสายใยแสง จากอุปกรณ์พวกเครื่องเล่น Blu-Ray หรือกล่องทีวี
  • ช่อง AUX แบบ 3.5 mm สำหรับการเชื่อมต่อเสียงแบบแอนะล็อก
  • ช่อง HDMI แบบ ARC สำหรับการต่อสัญญาณเสียงจาก TV
  • พอร์ตเชื่อมต่อ Subwoofer
  • พอร์ต LAN สำหรับเชื่อมลำโพงตัวหลักไปถึงตัวรอง
    • ถ้าเชื่อมต่อลำโพง 2 ลูกด้วยสายแลนจะทำให้รองรับเสียงคุณภาพสูงสุด 96 kHz 24 Bit
    • แต่ถ้าเราไม่ได้ต่อสายเชื่อมลำโพง 2 ลูก แล้วให้มันเชื่อมไร้สายผ่าน Wi-Fi ก็จะรองรับคุณภาพเสียงสูงสุดแค่ 48 kHz 24 Bit เท่านั้น
  • พอร์ต LAN สำหรับเชื่อมต่อกับเครือข่ายในบ้าน
    • ถ้าวางลำโพงไกลเราเตอร์ จะเปลี่ยนเป็นการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Wi-Fi แทนก็ได้ โดยรองรับทั้งคลื่น 2.4 และ 5 GHz

ลำโพงตัวนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth 4.2 ที่แม้จะรองรับแค่ SBC กับ AAC ไม่ได้รองรับ Codec คุณภาพสูงอื่น ๆ อย่าง LDAC หรือ aptX แต่ด้วยความที่ KEF LSX II เป็นลำโพงบ้าน เราไม่ได้พกลำโพงนี้ออกไปไหนมาไหน ความสำคัญของการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เลยน้อยลงไปครับ อย่างผู้เขียนเองไม่เคยต่อ Bluetooth กับลำโพงบ้านที่รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเลย เพราะการฟังเพลงผ่าน Wi-Fi หรือสาย LAN ให้เสียงที่มีคุณภาพสูงกว่าการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth

โดย KEF LSX II ก็เป็นลำโพงที่รองรับการเชื่อมต่อเสียงผ่านเครือข่ายได้หลายรูปแบบมาก ๆ

การใช้งาน KEF LSX II ผ่าน roon ที่แสดงรายละเอียดการส่งสัญญาณได้ชัดเจน
การใช้งาน KEF LSX II ผ่าน roon ที่แสดงรายละเอียดการส่งสัญญาณได้ชัดเจน
  • Spotify Connect สามารถยิงเพลงจากแอป Spotify ได้ทันที
  • Tidal Connect ยิงเพลงจากแอป Tidal ได้เช่นกัน รองรับเพลง Hi-Res แบบ MQA ด้วย
  • QPlay รองรับการฟังเพลงจากแอป QQ Music ที่นิยมในจีน
  • AirPlay 2 ทำให้ส่งเสียงจากอุปกรณ์ Apple ผ่านเครือข่ายได้ทันที ด้วยคุณภาพเสียงระดับ 44.1 kHz 16 Bit พร้อมใช้งานแบบ Multiroom กับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่รองรับ AirPlay 2 ได้แม้จะเป็นคนละแบรนด์กัน
  • Chromecast ทำให้ส่งเสียงจากอุปกรณ์ Android ได้
  • roon Ready รองรับการฟังเพลงจากโปรแกรมเทพอย่าง roon ได้ทันที
  • UPnP รองรับการยิงสัญญาณเสียงผ่านโปรโตคอล UPnP ที่ใช้กันเป็นมาตรฐานด้วย ทำให้ใช้โปรแกรมอย่าง Audirvana ส่งเพลงขึ้นลำโพงได้

นอกจากนี้ในแอป KEF Connect ยังสามารถเชื่อมต่อกับ Amazon Music, Deezer, Tidal และ Qobuz เพื่อเลือกเพลง แล้วยิงเพลงขึ้นลำโพงได้เลย

KEF LSX II สีแดง Lava Red มีวัสดุพื้นผิวที่มันเงา
KEF LSX II สีแดง Lava Red มีวัสดุพื้นผิวที่มันเงา

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ KEF LSX II เป็นลำโพงที่ยืดหยุ่นในการใช้งานมาก ๆ ครับ

  • ฟัง Apple Music ก็ใช้ AirPlay 2 ยิงไปที่ลำโพง
  • ฟัง Spotify ก็มีชื่อลำโพงขึ้นในแอปให้เลือกทันที
  • ฟัง Tidal ก็มีลำโพงในแอปให้เลือกทันทีเหมือนกัน
  • มีไฟล์เพลงเก็บไว้ ใช้โปรแกรม roon ยิงขึ้นลำโพง หรือใช้แอปอื่น ๆ ยิง UPnP ขึ้นลำโพงก็ได้
  • ใช้ Android ก็ยิงผ่าน Chromecast ได้
  • เพื่อนมาบ้าน ให้ต่อลำโพงผ่าน Bluetooth แล้วเปิดเสียงในมือถือไปขึ้นลำโพงก็ได้
  • จะดูทีวีให้กระหึ่มขึ้น ก็ต่อ HDMI ARC เข้าลำโพง
  • จะเอาไปใช้เป็นลำโพงหน้าคอมพิวเตอร์ ก็ต่อสาย USB เข้าลำโพงได้

สเปกด้านเสียงของ KEF LSX II

KEF LSX II Cobalt Blue
KEF LSX II Cobalt Blue

ตามสเปกเสียงแล้ว KEF LSX II สามารถตอบสนองความถี่ในช่วง 54 Hz – 28 kHz (วัดที่ 85 dB ที่ระยะ 1 เมตร) ให้ความดังได้สูงสุด 102 dB ที่ระยะ 1 เมตร (ถือว่าเป็นลำโพงที่ให้เสียงดังลั่นบ้านได้เลยแหละ) ซึ่งเป็นผลงานของไดรเวอร์ Uni-Q อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ KEF ครับ

จุดเด่นของไดรเวอร์ Uni-Q คือการวางไดรเวอร์เสียงต่ำและเสียงสูงเข้าไว้ในวงลำโพงเดียวกัน ที่เราเห็น LSX II เหมือนมีลำโพงแค่ดอกเดียวต่อข้าง จริง ๆ แล้วมันประกอบด้วยลำโพงเสียงสูงอยู่ตรงกลางด้านใน แล้วล้อมรอบด้วยลำโพงเสียงต่ำ-กลางอีกชุดหนึ่งครับ ทำให้ได้เสียงที่ออกมาจากจุดเดียวกัน และทำให้ Sweet Spot หรือจุดที่ฟังดนตรีได้ไพเราะนั้นกว้างขวาง จะฟังหน้าลำโพง จุดไหนในห้องก็เสียงดี ไม่ใช่แค่จุดตัดของลำโพง 2 ตัว

KEF Uni-Q Gen 11
KEF Uni-Q Gen 11

โดยเทคโนโลยี Uni-Q นี้พัฒนาโดย KEF มาตั้งแต่ปี 1988 จนปัจจุบันมาถึง Gen 12 แต่ที่ใช้ใน LSX II เป็น Gen 11 นะครับ โดยไดรเวอร์ตัวในสำหรับเสียงสูงมีขนาด 19 mm และไดรเวอร์ตัวนอกสำหรับเสียงต่ำ-กลาง มีขนาด 115 mm หรือ 4.5 นิ้ว แต่อย่างไรก็ตาม LSX II ยังไม่ได้ใช้ MAT (Metamaterial Absorption Technology) หรือวัสดุพิเศษที่พัฒนาโดย KEF เพื่อซับเสียงส่วนเกินออกไปนะครับ ต้องเป็นลำโพงรุ่นพี่ในระดับ LS50 Wireless II ขึ้นไปถึงจะได้ใช้

เสียงของ KEF LSX II

การใช้งาน KEF LSX II บนโต๊ะคอมพิวเตอร์
การใช้งาน KEF LSX II บนโต๊ะคอมพิวเตอร์

เสียงของลำโพงรุ่นนี้ค่อนข้างสมดุลย์ ให้เสียงได้สดใส โปร่งกว้าง กระจายไปได้ทั่วห้อง ฟังตรงไหนในบ้านก็ไพเราะ ซึ่งเราทดลองฟังตำแหน่งหน้าทีวีในห้องรับแขก แล้วนั่งในตำแหน่งที่ดูทีวีก็ได้ลักษณะเสียงดังนี้

  • เสียงเบส หนักแน่นในระดับน่าพอใจ มีมวลเป็นลูก แม้ว่าใช้งานเดี่ยว ๆ โดยไม่ได้ต่อ Subwoofer เพิ่มจะไม่ได้ให้เสียงลงต่ำในระดับ 20 Hz แต่ก็เบสก็เข้มมากพอสำหรับการใช้งานทั่วไป แต่มีบางจังหวะที่เบสอาจให้ความรู้สึกสั่นเครือ ไม่ได้เก็บตัวเป็นทรงชัดเจน ก็ต้องอาศัยการปรับ EQ ให้เหมาะกับตำแหน่งที่วางลำโพง
  • เสียงกลาง ให้เสียงร้องหวานใส โดดเด่นออกมา ไม่มีเสียงเบสเข้ามากวนจนขุ่น
  • เสียงแหลม ให้รายละเอียดที่ดีในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแหลมแบบเก็บดีเทลในเพลงได้ละเอียด แต่ก็สามารถฟังต่อเนื่องได้ยาวนาน

ส่วนถ้าเอาไปวางหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อทดสอบการฟังแบบ Near Field ในระยะใกล้ KEF LSX II ก็ทำหน้าที่ได้ดีเช่นกัน ไม่ได้ให้พลังเสียงมากเกินไปจนล้น การฟังเสียงแบบไม่ได้เร่งระดับเสียงมากก็ยังให้รายละเอียดเสียงดีที่ใช้ได้

การใช้ KEF LSX II เป็นลำโพงทีวี

เราทดลองนำลำโพงนี้ไปต่อกับทีวีผ่านพอร์ต HDMI ARC จากทีวี ก็พบว่ามันสามารถอัปเกรดเสียงจากทีวีให้ดีขึ้นได้อย่างผิดหูผิดตา สามารถให้มิติซ้าย-ขวาได้ดี แล้วไม่ได้รู้สึกว่าเสียงมันโบ๋ไปในตรงกลางที่ไม่มีลำโพงอยู่ด้วย ให้เสียงพูดที่ชัดเจนด้วย เพียงแต่ว่าอาจจะต้องเร่งเสียงขึ้นมาถึงระดับ 50-60 ของลำโพงสำหรับภาพยนตร์จาก Netflix เท่านั้นเอง ส่วนการเอาไปเปิดคอนเสิร์ต เปิด MV ฟังเพลง ก็ทำได้ยอดเยี่ยมอย่างที่ KEF ควรจะเป็น ใครที่ฟังเพลงผ่านทีวีบ่อย ๆ รับรองรักลำโพงตัวนี้แน่ และด้วยความที่มันต่อผ่านพอร์ต HDMI ARC เราจึงสามารถใช้รีโมตของทีวีเพื่อควบคุมเสียงที่ลำโพงได้เลยโดยไม่ต้องกดรีโมตลำโพงแยก

แต่ถามว่าสำหรับคอภาพยนตร์ จะใช้ KEF LSX II แทนซาวด์บาร์หรือชุดโฮมเธียเตอร์เลยได้หรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ายังไม่ได้ เพราะลำโพงตัวนี้มีข้อจำกัดหลายด้านเกี่ยวกับภาพยนตร์ ทั้งไม่รองรับระบบเสียงรอบทิศทาง 5.1 เสียงที่ออกมาจะเป็นเพียงเสียงสเตอริโอเท่านั้น และไม่รองรับเสียงในระบบ Dolby หรือ dts ใด ๆ ทั้งสิ้น Dolby Atmos ไม่ต้องพูดถึง การต่อเสียงออกจากทีวีต้องเลือกให้ทีวีแปลงเสียงลงมาเป็น PCM เท่านั้น ลำโพงถึงจะทำงานได้ครับ

การปรับแต่งเสียงของ KEF LSX II

สำโพงของ KEF นั้นรองรับการใช้งานร่วมกับแอป KEF Connect ซึ่งเป็นแอปควบคุมที่มีฟังก์ชันเยอะมาก ทั้งการอัปเดตเฟิร์มแวร์ รวมถึงสามารถเล่น Amazon Music, Deezer, Tidal และ Qobuz ได้ในตัวแอปเพื่อยิงสัญญาณขึ้นลำโพงได้ ซึ่งการเล่นผ่าน Tidal จะเห็นว่าลำโพงสามารถถอดรหัส MQA เพื่อเล่นเสียงระดับ Hi-Res ได้ด้วย

แต่ฟีเจอร์ซับซ้อนที่ผู้ใช้ลำโพง KEF ทุกคนควรใช้ EQ Settings ครับ ที่จะจูนเสียงให้เหมาะกับการวางลำโพงของเรามากที่สุด ซึ่งมีรายละเอียดพอสมควร ลองดูวิดีโอข้างล่างนี้จะเข้าใจได้เร็วขึ้นครับ

โดยการกำหนด EQ ในโหมด Normal นั้นออกแบบมาให้คนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ไม่ยาก เพียงตอบคำถามของแอป เช่นวางลำโพงบนขาตั้ง หรือวางบนโต๊ะ แล้วลำโพงห่างจากผนังด้านหลังแค่ไหน ห้องของคุณเฟอร์นิเจอร์หนาแน่นแค่ไหน แล้วใหญ่ขนาดไหน ก็จะเซตใช้งานได้แล้ว

ส่วนการกำหนดในโหมด Expert นั้นสำหรับคนที่มีความรู้เรื่องเสียง รู้ว่าค่าต่าง ๆ ปรับแล้วได้ผลอย่างไร เช่น Treble trim หรือกำหนดระดับเบสใน Bass Correction ซึ่งจริง ๆ การปรับค่าใน Normal Mode ก็จะมาปรับค่าต่าง ๆ เหล่านี้ใน Expert Mode โดยอัตโนมัติ แค่ในโหมด Normal จะอ่านเข้าใจมากกว่า

เมื่อปรับแต่ง EQ เราจะเห็นรายละเอียดใน roon ที่เปลี่ยนไป
เมื่อปรับแต่ง EQ เราจะเห็นรายละเอียดใน roon ที่เปลี่ยนไป

เปรียบเทียบ KEF LSX II กับ Devialet Phantom II 95 dB

จริง ๆ แล้วลำโพง 2 รุ่นนี้จะมีระดับอยู่เหลื่อมกันนิดหน่อยครับ เพราะ KEF LSX II 1 คู่ ให้เสียงสเตอริโอ มีราคาอยู่ที่ 55,900 บาท ส่วน Devialet Phantom II 95 dB 1 ตัว ให้เสียงโมโน มีราคา 47,990 บาท เพราะฉะนั้นในแง่ความคุ้มค่า KEF LSX II ชนะไป เพราะครบจบในเสียงสเตอริโอมาตั้งแต่แรก ส่วน Phantom II ต้องซื้ออีกตัวรวมเป็นเงิน 95,980 บาท ถึงจะได้เสียงสเตอริโอ ซึ่งจะข้ามไปเทียบกับ KEF LS50 Wireless II ที่มีราคา 119,900 บาทแล้ว

Devialet Phantom II 95 dB และ KEF LSX II
Devialet Phantom II 95 dB และ KEF LSX II

การเปรียบเทียบนี้เราจึงใช้ KEF LSX II 1 คู่ เทียบกับ Devialet Phantom II 95 dB 1 ตัว เพื่อให้ราคาใกล้เคียงกันที่สุดครับ

ในแง่เสียง ถ้าตัดเรื่องมิติเสียงสเตอริโอออกไป เสียงของ LSX II จะไปทาง Flat ที่ให้เสียงเรียบ ๆ กว่า Phantom II ที่ให้เสียงที่ฟังแล้วรู้สึก Energetic กระชับกระเฉงกว่า ทั้งเบสที่ชัดเจนเก็บตัวเป็นทรงเป็นลูก ไม่มีความรู้สึกสั่นเครือแบบที่รู้สึกกับ LSX II นอกจากนี้ในแง่เสียงกลาง-แหลม เสียงของ Devialet ยังให้ลักษณะเชิดหัวขึ้น เสียงร้องหวานล่องลอยไปกับอากาศทั่วบ้าน เทียบกับ LSX II ที่เสียงร้องจะธรรมดากว่า เหมือนที่ผ่านหูกับลำโพงทั่ว ๆ ไป

แต่ถ้าเอาเรื่องมิติเสียงสเตอริโอมารวมด้วย LSX II จะเหนือกว่าไปเลยครับ ความที่เสียงไปซ้ายไปขวาได้ ก็ทำให้ฟังเพลงแล้วสนุกกว่าครับ

ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อ เรื่องนี้ KEF เหนือกว่า Devialet ขาดลอย ทั้งในเชิงกายภาพ ที่ Phantom II จะรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi, Bluetooth, AUX 3.5 mm, Optical และ LAN โดยแพ้ KEF ในเรื่อง HDMI ARC สำหรับต่อทีวีกับ USB สำหรับต่อคอมพิวเตอร์ที่ขาดไป และในเชิงชอฟต์แวร์ที่ Devialet ไม่รองรับ Tidal Connect, Chromecast และ QPlay และยังไม่มีแอปที่สามารถเล่น Amazon Music, Deezer, Tidal และ Qobuz โดยตรงขึ้นลำโพงด้วย

นอกจากนี้แอปควบคุม ฝั่ง KEF ยังมีรายละเอียดการปรับแต่งมากกว่า โดยฝั่ง Devialet ปรับ EQ ได้แค่ 2 band เท่านั้นคือเสียงต่ำกับเสียงสูง และ KEF ยังให้รีโมทมาด้วย ส่วน Devialet ต้องซื้อรีโมทแยกในราคา 8,790 บาท (แต่ Phantom II สามารถกดที่ตัวเครื่องเพื่อเล่นเพลง หยุดเพลง หรือเร่งเสียง-ลดเสียงได้นะ)

สรุป Devialet Phantom II ให้เสียงที่หนักแน่นและล่องลอยไปพร้อมกัน ฟังแล้วรู้สึกทันทีตั้งแต่แรกว่าต่างจากลำโพงทั่วไป ส่วน KEF LSX II จะเด่นในเรื่องมิติเสียงสเตอริโอ และความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อครับ

สรุป KEF LSX II น่าใช้แค่ไหน

KEF ก่อตั้งเมื่อปี 1961 ถึงปัจจุบันก็ 62 ปีเข้าไปแล้ว ชื่อชั้นของแบรนด์อังกฤษนี้การันตีคุณภาพเสียง งานออกแบบ และความยืดหยุ่นในการใช้งานได้จริง ๆ KEF LSX 2 เป็นลำโพงที่ใช้แล้วสนุกมาก สำหรับคนที่มีเพลงจากหลาย ๆ แหล่ง KEF ก็สามารถรองรับเพลงได้ทุกแหล่ง รวมถึงใช้เป็นลำโพงทีวีได้ด้วย ก็ถือว่าคุ้มครบจบในตัวเดียว

โดย KEF LSX II ตั้งราคาไว้ 55,900 บาท ซึ่งถือเป็นลำโพง Wireless Hi-Fi รุ่นเล็กสุดของแบรนด์ครับ ใครสนใจก็สามารถติดต่อ Vgadz เพื่อซื้อหาได้เลยครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส