รีวิว Nikon D5500 ในโจทย์ “งานข่าวของเว็บแบไต๋”
Our score
8.3

Nikon D5500

จุดเด่น

  1. คุณภาพภาพดี เก็บรายละเอียดในภาพได้เยอะ
  2. มี Wifi ในตัว สามารถควบคุมกล้องและส่งภาพเข้ามือถือได้
  3. จอสัมผัสช่วยให้การทำงานหลายอย่างง่ายขึ้น
  4. แบตเตอรี่ทนมาก อยู่ได้นานอย่างไม่น่าเชื่อ
  5. โฟกัสแบบ 3D Tracking ติดตามวัตถุได้แม่นยำ รวดเร็ว

จุดสังเกต

  1. ข้อจำกัดเดิมๆ ของกล้องรุ่นเริ่มต้น ไม่มีวงแหวนควบคุมที่สอง ควบคุมแฟลชไร้สายไม่ได้ โฟกัสอัตโนมัติกับเลนส์เก่าๆ ไม่ได้
  2. ไม่มี GPS เหมือนอย่างใน D5300
  3. Buffer มีน้อย ถ่ายภาพรัวได้ไม่มาก
  4. จอสัมผัสยังทำงานอยู่ แม้ว่าจะใช้ช่องมองภาพอยู่
  • คุณภาพภาพถ่าย

    9.0

  • คุณภาพงานประกอบ

    9.0

  • คุณภาพวิดีโอ

    8.0

  • การควบคุมกล้อง

    7.5

  • ความคุ้มค่า

    8.0

ช่วงนี้ถ้าใครติดตามข่าวไอทีในประเทศจากเว็บแบไต๋จะเห็นว่าภาพถ่ายประกอบข่าวสวยขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนะครับ เพราะทาง Nikon ส่งกล้อง D5500 พร้อมเลนส์ 18-140 และแฟลช Speedlight SB-500 มาให้ทดลองใช้อยู่ร่วมสัปดาห์ ทีมข่าว 3 คนของเราก็สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้ จนเมื่อยามต้องคืนกล้อง ทั้งที่ใจไม่อยากคืนเลย จึงเขียนเป็นรีวิวให้อ่านกันครับ

D5500 กล้อง DSLR สำหรับผู้เริ่มต้น

ตอนนี้ Nikon มี DSLR สำหรับผู้เริ่มต้นอยู่ 2 รุ่นนะครับ คือรุ่นล่างสุด ราคาประหยัดที่สุดอย่าง D3300 และรุ่นเหนือขึ้นมาหน่อย (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Upper-entry) คือ D5500 ตัวที่เราได้มารีวิว ก่อนที่จะข้ามไปรุ่นกลางอย่าง D7200 ที่ปรับการควบคุมกล้องให้ดีขึ้น รองรับเลนส์เก่าๆ และโครงสร้างบอดี้แข็งแรงทนทานกว่ารุ่นเริ่มต้นครับ (ซึ่งก็ใหญ่และหนักขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา)

R0066035
จากข่าวเดิมที่เว็บแบไต๋เคยพูดถึงไปแล้วนะครับว่า D5500 นั้นไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพภาพจาก D5300 มากนัก ข้อแตกต่างในเรื่องคุณภาพภาพที่เห็นได้ชัดหน่อยก็แค่ปรับ ISO สูงสุดเป็น 25,600 จากเดิมที่สูงสุด 12,800 แล้วเร่งไป 25,600 แต่จุดที่ D5500 เน้นคือเรื่องการควบคุมครับ ที่เพิ่มจอสัมผัสเข้าไป ทำให้สามารถควบคุมกล้องได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วก็เรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น ในขณะที่น้ำหนักกล้องลดลงจาก D5300 ไป 60 กรัม

  • ความละเอียดสูงสุด 6000 x 4000 px (24 ล้านพิกเซล) สัดส่วนภาพ 3:2
  • เซนเซอร์แบบ CMOS ขนาด APS-C (23.5 x 15.6 mm)
  • หน่วยประมวลผล Expeed 4
  • ISO 100 – 25,600
  • 39 จุดโฟกัส
  • จอ LCD แบบสัมผัสหมุนได้ ความละเอียด 1,037,000 พิกเซล
  • ช่องมองภาพกำลังขยาย 0.82x
  • ความเร็วซัตเตอร์สูงสุด 1/4000s ต่ำสุด 30s
  • Flash X sync 1/200s
  • ถ่ายต่อเนื่อง 5 ภาพต่อวินาที
  • รองรับการถ่ายวิดีโอ 1080p 60 fps พร้อมโปรไฟล์สีแบบ Flat
  • ถ่ายภาพได้ 820 ภาพต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
  • มี Wifi ในตัว
  • ไม่มี GPS ในตัว (แต่รุ่น D5300 มี GPS ในตัว)

การควบคุมด้วยจอสัมผัส เปลี่ยนกล้องให้ใช้งานเหมือนสมาร์ทโฟน

จอสัมผัสที่ปรับมุมได้

จอสัมผัสที่ปรับมุมได้

จุดเด่นหลักของ D5500 คือมันเป็น DSLR รุ่นแรกที่นิคอนใส่จอสัมผัสเข้ามาครับ ซึ่งสำหรับคนที่ใช้งาน DSLR จนคล่อง สั่งงานด้วยแป้นหมุนกับปุ่มมานาน อาจคิดว่าจอสัมผัสนี้ไม่จำเป็นเท่าไหร่ แต่พอได้ลองใช้งานจริง จอสัมผัสที่ปรับหมุนได้นี้ช่วยให้การถ่ายรูปในหลายสถานการณ์ง่ายขึ้นเยอะครับ เช่นการถ่ายภาพมุมสูง ก็สามารถถือกล้องขึ้นเหนือหัว แล้วกดเลือกตำแหน่งโฟกัสพร้อมถ่ายภาพจากจอสัมผัสได้เลย หรือโฟกัสแบบติดตามวัตถุ (3D Tracking) ก็เลือกจุดที่จะโฟกัสง่ายๆ จากจอสัมผัส แล้วกล้องจะเกาะตำแหน่งโฟกัสนั้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าวัตถุจะเคลื่อนที่ ทำให้มีโอกาสที่ได้ภาพคมชัดมากขึ้นครับ ซึ่งถ้าไม่มีจอสัมผัส การโฟกัสในโหมด Live View นี้จะยุ่งยากขึ้นอีกหน่อยครับ

https://vine.co/v/ebBLMIpUiPU

นอกจากเรื่องการถ่ายภาพแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถใช้จอสัมผัสในควบคุมกล้องได้ด้วย เช่นอยู่ในโหมด M ก็สามารถแตะจอเพื่อปรับรูรับแสงกับความเร็วซัตเตอร์ได้ (แม้ว่าใช้วงแหวนหลังจะปรับค่าพวกนี้ได้ไวอยู่แล้วก็เถอะ) แถมยังปรับการตั้งค่าของกล้องอื่นๆ ได้ เช่น ปรับ ISO, รูปแบบการโฟกัสอัตโนมัติ, ลักษณะการวัดแสง, ชดเชยแสงของกล้องหรือของแฟลช, ปรับ Picture Control, ปรับ White Balance ซึ่งการปรับผ่านจอสัมผัสได้ ก็เหมาะสำหรับกล้องที่ปุ่มควบคุมไม่ได้เยอะมากอย่าง D5500 นะครับ เพราะการควบคุมบางอย่างที่ไม่ได้เซ็ตปุ่มเฉพาะไว้ ผู้ใช้ก็สามารถปรับผ่านจอสัมผัสได้รวดเร็วพอสมควร

https://vine.co/v/ebB9YqQ0mvg

ส่วนในเรื่องของการดูภาพผ่านจอสัมผัส ก็ได้อารมณ์เหมือนการดูภาพในสมาร์ทโฟนครับ คือใช้นิ้วปัดเลื่อนรูปได้ ใช้ 2 นิ้วบีบเข้าเพื่อดูหลายๆ ภาพ หรือใช้ 2 นิ้วถ่างออกก็เป็นการซูมภาพ

https://vine.co/v/ebBLQQt7Bbm

คุณภาพภาพ ทำได้ดีสมราคา

คนที่ซื้อกล้อง DSLR แบบนี้ย่อมต้องการคุณภาพภาพที่ดีกว่ากล้องมือถือหรือกล้องคอมแพกอยู่แล้วใช่ไหมครับ ถึงแม้ว่าคุณภาพภาพจาก D5300 และ D5500 จะไม่ได้ต่างกันมาก แต่ก็ถือว่าภาพที่ได้จากกล้องนั้นมีคุณภาพดีมากครับ ด้วยเซนเซอร์ 24 ล้านพิกเซลที่ไม่มี Low-pass filter ทำให้ภาพคมที่สุดเท่าที่เลนส์จะทำได้ (ยิ่งเลนส์ดี ภาพยิ่งสวย อันนี้เป็นที่รู้กัน) แล้วถ้าใครที่ชอบถ่ายแบบ RAW ก็สามารถเลือกไฟล์ RAW ที่เก็บรายละเอียดได้สูงสุด 14 bit ทำให้ใช้โปรแกรมอย่าง Lightroom เวอร์ชั่น 6 ขึ้นไป ขุดรายละเอียดภาพที่อยู่ในโซนมืดได้มากมาย ถ่าย RAW ภาพเดียวเอามาทำ HDR ได้ง่ายๆ

R0066033

นอกจากนี้เซนเซอร์ของ D5500 ยังให้ Noise น้อยพอที่จะไม่ต้องกังวลเวลาต้องดัน ISO ขึ้นไปสูงๆ ช่างภาพสามารถใช้งานที่ ISO 3200 ได้สบายๆ แถมโหมด Auto ISO ก็ฉลาดพอที่จะดันความเร็วซัตเตอร์ให้สูงขึ้นตามระยะซูมเลนส์ที่มากขึ้น (ตามกฏความเร็วซัตเตอร์ที่ถือกล้องถ่ายได้ต้องไม่ต่ำกว่า 1/ทางยาวเลนส์ เช่นใช้เลนส์ 18-140 แล้วซูมจนสุด ความเร็วซัตเตอร์ไม่ควรต่ำกว่า 1/ (140 x 1.5) หรือ 1/210s ครับ) แถมยังสามารถปรับความไวของ Auto ISO ให้เหมาะสมกับความนิ่งของมือช่างภาพได้ด้วย ทำให้ลดปัญหาภาพเบลอจากความเร็วซัตเตอร์ไม่พอ และลดความพะว้าพะวังของช่างภาพ ที่ต้องคอยปรับ ISO และความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสมกับสภาพแสง

และในส่วนของเลนส์คิท 18-140 mm f/3.5-5.6 ที่เราได้มาทดสอบก็ให้คุณภาพภาพโอเคครับ เป็นเลนส์ที่ครบจบในตัวเดียว ทั้งช่วงเลนส์ที่กว้างพอ และซูมได้มากพอ เหมาะสำหรับใช้ในงานข่าวที่ต้องถ่ายรูปหมู่กว้างๆ และต้องซูมเจาะขึ้นไปบนเวที ถึงแม้ว่ารูรับแสงของเลนส์ชุดนี้จะไม่ได้กว้างแบบเลนส์เกรดโปรหนักๆ แต่ก็ชดเชยด้วยระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์ครับ

SB-500 แฟลชตัวน้องราคาคุ้มค่า

ในชุดที่เราได้มาทดสอบในครั้งนี้มีแฟลช SB-500 ติดมาด้วยนะครับ ซึ่งถึงจะเป็นแฟลชรุ่นเล็กแต่ประสิทธิภาพก็เพียงพอสำหรับการทำงานแล้ว

จุดเด่นของแฟลชตัวนี้คือขนาดเล็กเมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่าง SB-700, SB-900 ครับ ทำให้พกพาง่ายกว่า ใช้ถ่าน AA แค่ 2 ก้อน ก็ทำให้น้ำหนักเบาลงไปเยอะ เหมาะมากสำหรับงานที่ต้องการความคล่องตัว แต่ถึงตัวเล็กความสามารถพื้นฐานก็ยังครบ ผู้ใช้สามารถปรับทิศทางของหัวแฟลชให้ยิงขึ้นเพดาน หรือบิดซ้ายบิดขวาก็ยังได้นะครับ

ในแง่ของประสิทธิภาพ SB-500 มี Guide Number ที่ 24 m/ISO 100 แสงแฟลชครอบคลุมความกว้างของเลนส์ 24 mm ในแบบ Fullframe และ 16 mm ในแบบ APS-C ซึ่งถ้าเลนส์กว้างมากๆ ระดับ Ultra Wide ก็จะมีปัญหาแสงแฟลชไม่ครอบคลุม และ SB-500 นั้นไม่สามารถซูมหัวแฟลชได้ ทำให้มันไม่สามารถบีมรวมแสงไปยังจุดเดียวเวลาซูมภาพเหมือนแฟลชรุ่นใหญ่ ทำให้เวลาต้องถ่ายวัตถุที่อยู่ใกล้มากๆ แสงแฟลชอาจจะยิงไม่ถึงได้ครับ
จากที่ลองใช้ในงานข่าว เมื่อต้องถ่ายบุคคลที่อยู่บนเวทีที่อยู่ไกลพอสมควร SB-500 ก็ยังทำงานได้ดี ให้แสงที่เหมาะสมกับการถ่าย แต่ที่อาจเป็นปัญหาบ้างคือ Cycle ของ SB-500 ที่ไม่สามารถยิงติดกันได้ ต้องใช้เวลาชาร์จแฟลชอึดใจหนึ่ง ใครที่ใช้แฟลชรุ่นนี้ก็ต้องจำข้อจำกัดเรื่องนี้ไว้ให้ดีนะครับ

DSC_0482

แต่สิ่งที่ดีงามของ SB-500 คือมันมีไฟ LED อยู่ด้านหน้าครับ ใช้สำหรับการถ่ายวิดีโอหรือการจัดแสงเล็กๆ ที่ไม่ต้องการไฟแรงระดับแฟลช แต่ต้องการแสงที่สาดออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้สามารถเลือกระดับความแรงได้ 3 ระดับ ซึ่งความสามารถนี้แฟลชรุ่นใหญ่อย่าง SB-700, SB-900 ยังไม่มี นอกจากนี้ SB-500 ยังสามารถทำงานได้ระบบ Nikon Creative Light System หรือ CLS ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นได้ทั้งตัว Slave และ Commander เอาไว้สั่งงานแฟลชตัวอื่นๆ ให้ทำงานแบบไร้สายได้ ซึ่งเป็นความสามารถที่จำเป็นสำหรับ D5500 เพราะ Nikon กั้กไม่ให้ DSLR สำหรับผู้เริ่มต้นมีความสามารถในการสั่งงานแฟลชไร้สายได้ครับ ต้องซื้อระดับ D7200 ขึ้นไปถึงจะไม่ต้องใช้แฟลชแยกในการสั่งงาน เมื่อเทียบประสิทธิภาพกับราคา 9200 บาท ก็จัดว่าคุ้มค่าอยู่นะครับ

จุดอ่อนของ D5500

upper

จากการใช้งานมาราวๆ 2 สัปดาห์ D5500 ก็มีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่บ้างนะครับ เริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่เป็นจุดอ่อนจากการเป็นกล้องระดับผู้เริ่มต้นก่อน ตั้งแต่บอดี้กล้องขนาดเล็ก มีวงแหวนควบคุมแค่วงเดียว ทำให้ควบคุมกล้องได้ช้ากว่ารุ่นที่มี 2 วง รวมถึงไม่รองรับ Autofocus ในเลนส์รุ่นเก่าที่ต้องใช้มอเตอร์ในตัวกล้อง และไม่สามารถใช้แฟลชหัวกล้องทำงานในโหมด Commander เพื่อสั่งงานแฟลชแบบไร้สายได้ สำหรับใครที่มีปัญหาในส่วนนี้ก็ต้องขยับไปเล่นกล้องรุ่นใหญ่อย่าง D7200 ขึ้นไปนะครับ Nikon คงไม่เสริมความสามารถเหล่านี้ให้กล้องระดับผู้เริ่มต้น แม้ว่าจะเป็นรุ่นถัดไปก็ตาม

ส่วนจุดอ่อนของ D5500 จริงๆ เท่าที่พบก็เป็นเรื่องของการสั่งงานจอสัมผัส ที่แม้เวลาใช้งาน Viewfinder จนจอดับไป แต่ระบบสัมผัสก็ยังทำงานทำให้หลายครั้งเวลาจมูกไปโดนจอ กล้องก็จะปรับ ISO เอง ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้อาจจะเป็นฟีเจอร์ก็ได้ที่นิคอนต้องการให้ผู้ใช้ปรับ ISO ง่ายๆ เวลาที่ใช้ Viewfinder แต่เวลาใช้งานจริงกลับทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ นอกจากนี้ก็เป็นเรื่อง Buffer เวลาถ่ายภาพรัวๆ ที่เต็มเร็ว รัวได้ไม่เท่าไหร่ความเร็วก็ลดแล้ว