แบรนด์ JBL นั้นมีชื่อเสียงมายาวนานนะครับ ในฐานะผู้ผลิตลำโพงชั้นดี รวมถึงเครื่องเสียงเกรดโปรที่ใช้ในงานมืออาชีพ แต่สำหรับในโลกหูฟังก็ยังถือว่าแบรนด์ JBL ค่อนข้างใหม่ในด้านนี้ วันนี้เว็บแบไต๋จึงขอรีวิวหูฟังตระกูลท็อปของ JBL ให้ดูกันครับ นั้นคือ JBL Everest Elite

คุณสมบัติเด่นของผลิตภัณฑ์ในไลน์ Everest Elite

JBL-elite-700-2

หูฟังในตระกูล Everest Elite นั้นจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของ JBL หลายตัวคือ NXTGen Active Noise Cancelling หรือระบบตัดเสียงรบกวนในยุคถัดไปของ JBL ที่มีประสิทธิภาพในการตัดเสียงรบกวนรอบตัวได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถปรับระดับการรับรู้เสียงรอบตัว (Awareness) ที่เปิดไมโครโฟนภายในตัวหูฟังเพื่อรับเสียงรอบข้างมาผสมกับเสียงเพลง ทำให้สามารถใส่หูฟัง Everest Elite ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย เวลาที่ใส่หูฟังเดินตามถนนก็ปรับระดับ Awareness เป็น High ก็ทำให้ได้ยินเสียงรอบข้างได้ดีขึ้น

อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่อยู่ในตัวหูฟัง Everest Elite คือ TruNote Calibration หรือการวิเคราะห์ลักษณะหูของผู้ฟังเพื่อปรับเสียงให้เหมาะสำหรับแต่ละคน ซึ่งใช้งานง่ายมาก แค่สวมหูฟัง JBL Everest Elite ให้เรียบร้อย แล้วกดปุ่มที่หูฟังหรือจะสั่งผ่านแอป JBL Headphones บนสมาร์ทโฟนเพื่อดำเนินการตรวจสอบลักษณะหู เพียงแค่ไม่กี่วินาทีระบบก็จะปรับเสียงให้เหมาะกับหูของเราจนเรียบร้อย

jbl-app

แอป JBL Headphone ที่สามารถปรับระบบลดเสียงรบกวน และสามารถสั่งจูน TruNote ได้

ซึ่งตัวแอป JBL Headphones ตัวนี้สามารถใช้อัปเดทเฟิร์มแวร์ของหูฟังได้ด้วย (สำหรับเฟิร์มแวร์ 5 ขึ้นไป) แล้วยังใช้จูนระดับเสียงภายนอกที่จะเข้าไปในหูฟัง ปรับ EQ ปรับหน้าที่ของปุ่ม Smart button ที่อยู่บนหูด้านขวาได้ด้วย

ซึ่งปัจจุบันมีหูฟังในตระกูล JBL Everest Elite อยู่ 2 รุ่นคือ Everest Elite 300 และ Everest Elite 700 ที่เราจะรีวิวในวันนี้ครับ

JBL Everest Elite 700

JBL-elite-700

หูฟังแบบ Around Ear ตัวนี้เป็นรุ่นสูงสุดจาก JBL โดยจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบชุดครอบหูที่สามารถบิดองศาไปมาได้เล็กน้อยให้สอดคล้องกับตำแหน่งหูที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ซึ่งเมื่อรวมกับฟองน้ำครอบหูฟังที่ออกแบบพิเศษให้มีระนาบสอดคล้องกับสรีระมนุษย์ ฟองน้ำด้านบนจึงมีความหนาน้อยกว่าฟองน้ำด้านล่าง ก็ทำให้เวลาใช้งานจริง Everest Elite 700 สามารถปิดพื้นที่รอบใบหูได้สนิททุกด้านเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก แถมชุดฟองน้ำทั้ง 2 ด้านนี้ยังนิ่มมากด้วย สวมนานๆ ก็ยังใส่สบายอยู่ดี

Everest Elite 700 ใช้ลำโพงไดร์เวอร์ขนาด 40 mm ขนาดของตัวหูฟังจึงค่อนข้างใหญ่ มีน้ำหนัก 305 กรัม แต่ก็สามารถพับก้านเข้ามาหากันเพื่อเก็บลงกระเป๋าพกพาได้ และก้านตัวนี้ก็สามารถยืดเข้ายืดออกให้รับกับตำแหน่งหูได้ ส่วนความยืดหยุ่นของหูฟังทีมงานแบไต๋ก็ทดลองยืดหูฟังออก ก็ยืดหูฟังทั้ง 2 ข้างให้ห่างกันออกไปได้ประมาณคืบยาวๆ จากนิ้วโป้งถึงนิ้วก้อยครับ ซึ่งก็ถือว่ารองรับศีรษะได้ทุกขนาดแล้วแหละ แต่ถ้ายืดมากกว่านี้พลาสติกด้านบนจะงอแล้วแตกครับ >< แต่ถึงพลาสติกจะแตก แกนโลหะด้านในยังยืดหยุ่นได้ดีอยู่นะ

ส่วนการเชื่อมต่อ JBL Everest Elite 700 ในภาคไร้สายนั้นเชื่อมต่อด้วย Bluetooth มาตรฐาน 4.0 โปรไฟล์ A2DP 1.2 แต่ไม่ได้รองรับเทคโนโลยีเสริมอย่าง aptX หรือ Sony LDAC นะครับ ในส่วนภาคเคเบิ้ลก็สามารถเชื่อมต่อด้วยสายหูฟังแบบ 3.5 mm ปกติ พร้อมช่อง Micro-USB ที่เอาไว้ชาร์จหูฟังและอัปเดทเฟิร์มแวร์ของหูฟัง (สาย USB เป็นแบบพิเศษสามารถเสียบกับคอมพิวเตอร์ด้านไหนก็ได้ด้วย) แต่ไม่สามารถต่อ USB เพื่อฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์แบบดิจิทัลได้โดยตรง

ที่ตัว JBL Everest Elite 700 จะมีปุ่มควบคุมอยู่ด้านหลัง (ถ้าใส่หูฟังถูกด้านนะ) ที่บริเวณหูซ้ายที่เป็นปุ่มสำหรับควบคุมระดับเสียง และปุ่มสารพัดประโยชน์สำหรับรับสายโทรศัพท์ เล่นเพลง หยุดเพลง เปลี่ยนเพลง ส่วนบริเวณหูขวาจะเป็นปุ่มที่เกี่ยวกับการทำงานของหูฟัง คือปุ่มเปิดปิดหูฟัง (แต่ถึงปิดไปก็ยังสามารถต่อสายฟังได้แบบหูฟังตามปกติ) และปุ่ม Smart Button ที่สามารถเลือกผ่านแอปได้ว่าจะใช้เปิดปิดระบบตัดเสียงรบกวน NXTgen ANC หรือปรับระดับเสียงภายนอกในหูฟังครับ ซึ่งการเก็บหูฟังอาจจะต้องระวังปุ่มนิดหนึ่ง บางครั้งเมื่อเก็บในกระเป๋าแน่นๆ ก็มีโอกาสโดนปุ่มเปิดหูฟังได้เหมือนกัน

สำหรับแบตเตอรี่ของ Everest Elite 700 เมื่อเปิด bluetooth และ ANC นั้นใช้ฟังเพลงได้ราวๆ 15 ชั่วโมง ส่วนถ้าปิด Bluetooth แล้วฟังเพลงผ่านสายแต่เปิด ANC ก็จะอยู่ได้ราวๆ 25 ชั่วโมง

JBL Everest Elite 300

JBL-elite-300

ถ้ามองจากรูปลักษณ์ภายนอกต้องบอกว่า Everest Elite 700 และ Everest Elite 300 นั้นแตกต่างกันมากพอสมควร ในขณะที่รุ่น 700 เป็นหูแบบ Around ear ที่ครอบทั้งใบหู แต่รุ่น 300 จะเป็นหูแบบ On ear ที่วางทับลงไปบนใบหู ซึ่งทำให้ Everest Elite 300 มีขนาดเล็กกว่า พกพาง่ายกว่า แต่ก็ไม่ได้ใส่สบายเท่ากับ Everest Elite 700 เช่นกัน โดย Everest Elite 300 เมื่อใส่ไปนานๆ จะรู้สึกร้อนที่ใบหูบ้างเพราะถูกฟองน้ำหูฟังกดทับอยู่ตลอด

ในส่วนของคุณสมบัติและฟังก์ชั่นต่างๆ Everest Elite 700 และ 300 นั้นมีเหมือนๆ กันเลย คือมี NXTGen ANC และ TruNote เหมือนกัน ปุ่มอยู่ด้านหลังของหูฟังและมีจำนวนปุ่มเท่ากัน ใช้ไดร์เวอร์ขนาด 40 mm เหมือนกัน เชื่อมต่อ Bluetooth และสาย 3.5 mm ได้แบบเดียวกัน มาตรฐาน Bluetooth ที่รองรับเหมือนกันด้วย

โดยแบตเตอรี่ของ Everest Elite 300 นั้นอยู่ได้ราวๆ 10 ชั่วโมงสำหรับการฟังแบบเปิด ANC พร้อม Bluetooth แต่ถ้าเปิด ANC ผ่านสาย 3.5 mm ก็จะฟังได้ 20 ชั่วโมง

คุณภาพเสียงจาก JBL Everest Elite

JBL-elite-700-5

ในเรื่องนี้เราขอพูดพร้อมกันทั้งรุ่น Everest Elite 700 และ Everest Elite 300 นะครับ โดยแนวเสียงของทั้ง 2 รุ่นก็เป็นแนวของ JBL คือให้เสียงโปร่ง เน้นเสียงช่วงกลาง-สูง ให้ Soundstage ที่ค่อนข้างกว้าง ก็เหมาะสำหรับเพลงแนวฟังสบาย Acoustics มากกว่าเพลงที่ต้องการเสียงเบสหนักๆ ซึ่งเสียงของ Everest Elite 700 จะให้เสียงที่แน่นกว่า ฟังแล้วโอบล้อมมากกว่า แต่ตัว Elite 300 ก็มีจุดเด่นตรงที่เสียงออกมาเคลียร์กว่า แยกแต่ละเสียงออกมาได้ชัดกว่า

ส่วนการใช้งานระบบลดเสียงรบกวน NXTGen ANC ก็ต้องบอกว่า Everest Elite ทำงานได้ดี แค่เปิดหูฟังไว้เฉยๆ ไม่ต้องเปิดเพลงก็รู้สึกได้เลยว่าสามารถตัดเสียงรบกวนรอบข้างไปได้มาก แต่แน่นอนว่าการตัดเสียงรบกวนก็จะมีผลต่อเสียงเพลงบ้าง เพราะต้องปรับความถี่บางส่วนเพื่อหักลบกับเสียงรอบข้าง ซึ่งจากการทดสอบเมื่อเปิดและปิด NXTGen ANC ต้องบอกว่าส่วนใหญ่การเปิดโหมดตัดเสียงรอบข้างจะให้เสียงที่อุ่นกว่า ชัดเจนกว่า แต่สำหรับบางเพลงการเปิด ANC ก็ทำให้เสียงบางลงไปบ้าง แต่สุดท้ายเราก็แนะนำว่าการเปิด ANC ให้เสียงที่ดีกว่าครับ ส่วนฟังก์ชั่นปรับ Awareness หรือการรับเสียงรอบด้านมาแสดงในหูฟังก็ใช้งานง่ายดี สามารถปรับได้ทันทีจากตัวหูฟัง แต่เสียงภายนอกที่ส่งผ่านหูฟังเข้ามาก็แตกต่างจากเสียงจริงๆ อยู่นิดหน่อย ก็เป็นเรื่องปกติของการรับเสียงผ่านไมโครโฟนเข้ามาครับ

ในส่วนเทคโนโลยี TruNote ที่ปรับเสียงให้ปรับกับหูของเราโดยอัตโนมัติ ทีมงานได้ทดสอบโดยนำหูฟังไปประกบกับผ้าแล้วสั่งให้ระบบวิเคราะห์เพื่อล้างค่าที่ตั้งมาก่อน เสร็จแล้วลองฟังเพลงไปสักพัก ก่อนที่จะเริ่มใช้ TruNote อีกครั้งกับหูตัวเองเพื่อให้ระบบจูนเสียงให้กับใบหูมากที่สุด ผลปรากฏว่าเสียงหลังจากปรับด้วย TruNote จะมีความอิ่มมากกว่า แสดงเสียงเบสออกมามากกว่า แต่ก็ถือว่าแตกต่างไม่มาก ถ้าฟังไม่ละเอียดจริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าการทดสอบ 2 ครั้งนี้แตกต่างกัน

ในส่วนของการใช้หูฟังทั้ง 2 รุ่นเพื่อตอบรับโทรศัพท์ ก็ให้เสียงที่ชัดเจนดีทั้งเสียงของผู้รับที่ผ่านหูฟังเข้ามา และเสียงที่ผ่านไมโครโฟนของเราออกไปก็ชัดเจนเช่นกัน สามารถใช้สนทนากับผู้รับสายได้อย่างไม่มีติดขัด

JBL Everest รุ่นอื่นๆ

นอกจาก JBL Everest Elite ที่ถือเป็น Top of the Line จาก JBL แล้ว ก็ยังมีหูฟังไร้สายรุ่นอื่นๆ ในตระกูล JBL Everest อีกหลายตัวคือ

  • JBL Everest 100 ตัวนี้เป็นหูแบบ inear รุ่นเดียวในตระกูล Everest มาพร้อม Secure fit eartips ช่วยให้หูฟังเกาะใบหูได้ดีขึ้น เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ได้อย่างเดียว ไม่สามารถเชื่อมต่อผ่านช่องหูฟัง 3.5 mm ได้ ทำให้สายสั้นแค่คล้องคอ สามารถฟังต่อเนื่องได้ 8 ชั่วโมง
  • JBL Everest 300 ออกแบบเหมือนกับ Everest Elite 300 แต่ตัดระบบ NXTGen ANC และ TruNote ออกไป ทำให้ราคาถูกลงเยอะ ให้เสียงแบบเดียวกับ Everest Elite 300 ที่ไม่เปิดโหมด ANC แต่สำหรับคนที่ชอบหูฟังสีสันเปรี๊ยวๆ จะชอบรุ่นนี้ เพราะมีสีชมพูสดใสกับสีฟ้าสะท้อนแสงให้เลือกด้วย
  • JBL Everest 700 ออกแบบเหมือนกับ Everest Elite 700 แต่ตัดระบบ NXTGen ANC และ TruNote ออกไปเช่นกัน ให้เสียงแบบเดียวกับ Elite 700 ที่ปิดโหมด ANC

ราคาและสีสัน

  • JBL Everest 100 ราคา 3,990 บาท มีให้เลือก 2 สีคือขาวและดำ
  • JBL Everest 300 ราคา 5,990 บาท มีให้เลือก 4 สีคือ ชมพู, ฟ้า, ขาวและดำ
  • JBL Everest 700 ราคา 7,990 บาท มีให้เลือก 2 สีคือ เทาและดำ
  • JBL Everest Elite 300 ราคา 9,990 บาท มีให้เลือก 3 สีคือ ขาว, ดำและดำ-แดง
  • JBL Everest Elite 700 ราคา 11,900 บาท มีให้เลือก 3 สีคือ ขาวและดำและดำ-น้ำเงิน (แบบตัวที่เอามารีวิว)

สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับ JBL Everest ทุกรุ่น ติดต่อ บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด โทร.02-2560020 หรือเข้าชมที่ mahajaklife.com ครับ