รีวิว CheerPod เมาส์เล็กแต่ใจใหญ่ (หลังใช้จริงเกือบ 1 ปี!)
Our score
9.4

CheerPod

จุดเด่น

  1. ขนาดเล็ก พกพาง่าย
  2. รองรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบ
  3. เชื่อมต่อได้หลากหลายอุปกรณ์
  4. พอร์ตชาร์จแบบ USB Type-C สามารถใช้อะแดปเตอร์ของสมาร์ตโฟนในรุ่นปัจจุบันมาชาร์จไฟได้
  5. แบตเตอรี่ที่อยู่ได้นานต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
  6. สามารถใช้งานระหว่างชาร์จไฟได้

จุดสังเกต

  1. ขนาดที่เล็กไป อาจไม่เหมาะกับมือของผู้ใช้งานบางท่าน
  2. ฟังก์ชั่นการควบคุมบางฟังก์ชั่นไม่สามารถใช้งานกับอุปกรณ์บางชิ้นได้ (ที่ไม่ใช่ MacBook หรือ Mac Pro)
  3. ไม่สามรถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่มีบลูทูทเวอร์ชันต่ำกว่า
  4. จะใช้งานเมาส์กับอุปกรณ์ที่เคยจับคู่บลูทูทไว้แล้ว ต้องจับคู่อุปกรณ์ใหม่ทุกครั้ง
  5. ไฟแสดงสถานะที่ไม่สามารถแสดงสถานะอื่น ๆ ได้ เช่น สถานะแบตเตอรี่ขณะใช้งาน

ในบรรดาเมาส์ที่มีใช้งานในโลกใบนี้ ต่างมีวิธีการใช้งานในแบบที่แตกต่างกันออกไป บ้างมีบ้าง บ้างไร้สาย บ้างเชื่อต่อบลูทูธได้ หรือสามารถใช้งานฟังก์ชันอื่น ๆ ได้ อย่างใช้งานระหว่างการนำเสนอสไลด์ในที่ประชุม ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ผลิตว่าจะนำมาใส่ลงไปหรือไม่ แต่บางครั้งยังต้องติดขัดกับขนาดที่ยังใหญ่ หรือบางครั้งก็เล็กเกินไปที่จะใช้งาน วันนี้จะมาแนะนำและรีวิวกับ CheerPod เมาส์ไซซ์เล็กที่การใช้งานใหญ่เกินตัวและครบรอบด้าน หลังจากที่ใช้งานจริงมาเป็นเวลาเกือบ ๆ 1 ปีด้วยกัน

สำหรับ CheerPod เมาส์ไร้สายขนาดเล็กนี้ ผลิตโดย Cheerdots บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติอเมริกาที่คิดค้นและนำผลิตภัณฑ์ชิ้นดังกล่าวนี้ลงประกาศบนเว็บไซต์ Indiegogo เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากที่ลงประกาศ ต่างมีผู้ที่สนใจและให้การสนับสนุนอย่างรวดเร็ว จนแตะเป้าหมายที่ต้องการไว้ภายใน 10 นาที และมีมูลค่าในการระดมทุนมากถึงประมาณ 16,000,000 บาท จากจำนวนผู้สนับสนุน 9,051 ราย ซึ่ง 1 ในนั้น คือผู้เขียนเอง และได้ทำการสนับสนุนเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2563 ในราคา 49 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,600 บาท ณ ขณะนั้น)

ผู้เขียนได้รับเมาส์ดังกล่าวเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 ไม่รอช้า ทำการเชื่อมต่อและใช้งานโดยทันที ซึ่งนับจากวันนั้นมา ก็เกือบ 1 ปีเต็ม ที่มีการใช้งานจริง ๆ และทดลองใช้งานกับอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย

เมื่อเปิดกล่องออกมา จะพบกับเมาส์ CheerPod เป็นอันดับแรก ภายในกล่องที่นอกเหนือจากเมาส์นั้น ยังมีคู่มือการใช้งาน, กระเป๋าจัดเก็บเมาส์ขนาดเล็กสำหรับพกพา และสายเคเบิลแบบ USB Type-C สำหรับการชาร์จไฟให้กับตัวเมาส์

จากด้านซ้าย: สายชาร์จ USB Type-C, คู่มือการใช้งาน, เมาส์ CheerPod, กระเป๋าจัดเก็บ

มาดูที่ตัวเมาส์กันก่อนเลย ตัววัสดุผลิตจากอลูมิเนียม ดีไซน์โค้งมนเป็นวงรี มาในขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 6 เซนติเมตร เล็กกว่าฝ่ามือ

และเมื่อเทียบกับเมาส์ต่างรุ่น ต่างยี่ห้อ ขนาดของเมาส์ CheerPod ถือว่าเล็กกว่าใครเขาเลย

จากด้านซ้าย: Logitech MX Master 2S, HP Pavilion Gaming Mouse 200, Logitech M187 Wireless Mouse, CheerPod

ด้านบนของเมาส์ คือตำแหน่งของปุ่มต่าง ๆ คือปุ่มคลิกซ้าย และปุ่มคลิกขวา ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ปุ่มกดของเมาส์แล้ว ยังสามารถเป็นทัชแพดได้อีกด้วย

ด้านข้างซ้ายมือของตัวเมาส์ เป็นพอร์ตชาร์จแบบ USB Type-C รองรับกระแสไฟ 4.2 โวลต์ และตำแหน่งไฟแสดงสถานะของเมาส์

ด้านขวาของเมาส์ เป็นตำแหน่งของไฟเลเซอร์ และสวิตช์เปิดปิดเมาส์ ซึ่งสามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ถึง 2 โหมดด้วยกัน เมื่อเปิดใช้งาน คือโหมดภาคพื้นดิน สำหรับการใช้งานเหมือนเมาส์ทั่ว ๆ ไป และโหมดการใช้งานแบบพกพา หรือเหนือพื้นดิน เหมาะสำหรับการนำเสนอสไลด์หรือผลงานในที่ประชุม

ส่วนด้านใต้ของเมส์ เป็นตำแหน่งของเลเซอร์ที่ตรวจจับพื้นผิว

ความรู้สึกแรกหลังจากที่ได้ลองใช้งาน มีความรู้สึกเหมือนได้ใช้งาน Magic Mouse ของฝั่งแอปเปิ้ล เพียงแต่ว่าขนาดของตัวอุปกรณ์นั้นต่างกันมาก รวมไปถึงการใช้งานบนพื้นผิวที่หลากหลายนั้น CheerPod ทำได้ดีกว่า โดยเฉพาะการใช้งานบนพื้นผิวที่เป็นกระจก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพื้นผิวปราบเซียนสำหรับเมาส์ในทุก ๆ รูปแบบเลยก็ว่าได้

ตัวอย่างการใช้งานในแต่ละวัน (ของผู้เขียนเอง…)

ตัวของผู้เขียนได้ทดลองใช้งานบนหลากหลายอุปกรณ์ ทั้งแล็ปท็อปที่เป็นวินโดวส์ (Windows) และแมค (MacOS), สมาร์ตโฟนทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS) รวมไปถึงแท็บเล็ตหลากหลายรูปแบบ พบว่าการใช้งานในแต่ละโหมดนั้นไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่จะแตกต่างกันตรงที่การออกคำสั่งการใช้งานกับเมาส์ CheerPod นั้น กับอุปกรณ์ที่เป็นของแอปเปิ้ลในตระกูล MacBook หรือ Mac Pro จะใช้งานได้ครบทุกคำสั่งที่ CheerPod ได้แนะนำไว้

ก่อนจะใช้งานเมาส์ CheerPod กับอุปกรณ์ใดก็ตาม ต้องมีการจับคู่เพื่อเชื่อมต่อกันก่อน โดยวิธีการจับคู่อุปกรณ์นั้น ให้กดปุ่มกลางของเมาส์ค้างไว้ แล้วผลักสวิตช์เปิดปิดไปที่กึ่งกลาง ให้สังเกตที่ไฟแสดงสถานะ ถ้าไฟแสดงสถานะเป็นไฟสีน้ำเงินและมีจังหวะกะพริบ นั่นถือว่าอยู่ในสถานะรอการจับคู่ หลังจากนั้น ให้ดูที่หน้าจออุปกรณ์ของเราว่ามีชื่อเมาส์ CheerPod ปรากฏขึ้นมาหรือไม่ ถ้าปรากฏขึ้นมาแล้ว ก็กดจับคู่อุปกรณ์ได้เลย

ในการใช้งานแบบภาคพื้นดิน ผู้เขียนรู้สึกใช้งานง่าย ควบคุมง่าย และไหลลื่น แต่บางครั้งจะไม่ถนัดกับการจับเมาส์ที่มีขนาดเล็กเกินไป และต้องใช้ท่าทางในการจับเมาส์ตัวดังกล่าวให้เหมือนการจับเมาส์ในขนาดปกติทั่วไป

ในการใช้งานแบบพกพาหรือลอยจากพื้นดินนั้น รู้สึกถนัดมือมากกว่า รวมไปถึงในโหมดดังกล่าว ยังสามารถเปลี่ยนจากเมาส์ธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นพอยต์เตอร์ (Pointer) หรือคลิกเกอร์ (Clicker) สำหรับการควบคุมหน้าสไลด์ได้ และยังสามารถใช้งานเลเซอร์ได้อีกด้วย เพียงแต่กดปุ่มกลางของตัวเมาส์

ในโหมดนี้ ผู้เขียนได้ทดลองควบคุมวิดีโอบนแอปพลิเคชันยูทูบ พบว่า การแตะหรือทัชเพื่อควบคุมการเล่นหรือหยุดวิดีโอ มีความดีเลย์หลังจากที่ได้แตะหรือทัชลงไปบนตัวเมาส์ เมื่อเทียบกับการแตะหรือทัชบนหน้าจอนั้น การแตะลงบนหน้าจอโดยตรงถือว่ายังไวต่อสัมผัสมากกว่า

ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนั้น ลักษณะการใช้งานของเมาส์ CheerPod จะคล้ายคลึงกับ Microsoft Wireless Notebook Presenter Mouse 8000 เมาส์ไร้สายของทางไมโครซอฟท์ที่สามารถเปลี่ยนโหมดการใช้งานมาเป็นพอยต์เตอร์หรือคลิกเกอร์สำหรับการใช้งานสไลด์และควบคุมระบบความบันเทิงบนคอมพิวเตอร์ได้ แต่ต่างกันที่ขนาดของการใช้งานที่ดูใหญ่กว่า CheerPod ไปหลายเท่าตัว รวมไปถึงยังต้องพึ่งพาตัวรับสัญญาณที่ต้องเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา

สำหรับสเปกของ CheerPod นั้น นอกจากขนาดที่เล็กประมาณ 6 เซนติเมตรแล้ว ภายในบรรจุแบตเตอรี่ขนาด 450 มิลลิแอมป์ ใช้เวลาในการชาร์จไฟ 1 ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง สามารถใช้งานได้นานมากถึง 20 วัน, ตัวเมาส์รองรับการเชื่อมต่อผ่านบลูทูท 5.0 แต่จากที่ลองใช้งานจริง ตัวของ CheerPod สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่มีบลูทูทเวอร์ชัน 4.0 ได้ และรองรับการเชื่อมต่อกับหลากหลายอุปกรณ์ หลากหลายระบบปฏิบัติการ ทั้งวินโดวส์ (Windows), แมค (MacOS), แอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS)

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ค้นพบด้วยตัวเองและผู้ผลิตไม่ได้กล่าวไว้ คือตัวเมาส์นั้น สามารถใช้งานระหว่างชาร์จไฟได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเมื่อเทียบกับเมาส์ไร้สายหลายต่อหลายตัว ที่ต้องรอการชาร์จไฟให้เต็มก่อน แล้วค่อยใช้งาน หรือเมาส์ไร้สายบางตัวที่มีพอร์ตชาร์จในตำแหน่งที่ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา (ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวว่าเมาส์ตัวนั้นคือ Magic Mouse ของแอปเปิ้ลนะครับ…)

ผู้เขียนใช้ร่วมกับสายชาร์จ USB Type-C ที่มีลักษณะเข้ามุม 90 องศา

สำหรับราคาค่าตัวของ CheerPod นั้น ปัจจุบันจำหน่ายที่ราคา 59 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,000 บาท) แต่ถ้าเป็นสีโรสโกลด์ (Rosegold) จะจำหน่ายในราคา 49 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,950 บาท) ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อจากหน้าเว็บไซต์ของ Cheerdots ได้โดยตรง และรอการจัดส่งมายังประเทศไทยประมาณ 2 สัปดาห์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส