กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับบริษัท อินโนซุส แนะนำนวัตกรรมปรับสมดุลระดับเซลล์ HeLP (Hevea Latex Polysaccharide) ชีวโมเลกุลยางพาราครั้งแรกของโลก ชี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ จดสิทธิบัตรพร้อมขึ้นทะเบียน HeLP เป็นอาหารใหม่ พร้อมเดินหน้าสร้างโรงงาน Biorefinery เซรั่มยางพารา มาตรฐาน GMP แห่งแรกของโลกในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2568 นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวการค้นพบสารชีวโมเลกุลใหม่ “HeLP (Hevea Latex Polysaccharide)” จากเซรั่มน้ำยางพารา ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ถูกทิ้งจำนวนมากจากอุตสาหกรรมยาง โดย รศ.ดร. เภสัชกร ฐณะวัฒน์ พิทักษ์พรปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ CERB มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมวิจัยร่วมแถลง

จาก HeLP สู่ความยั่งยืนและความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย

การค้นพบ HeLP เป็นนวัตกรรมปรับสมดุลระดับเซลล์ และไทยเป็นชาติแรกที่พัฒนากระบวนการสกัดในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จ สร้างโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี ช่วยเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเกษตร ส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) และเป้าหมาย SDGs โดยใช้เซรั่มน้ำยางพาราที่เหลือทิ้งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ทีมวิจัยจดสิทธิบัตรในไทยและต่างประเทศแล้ว และกำลังขึ้นทะเบียน HeLP เป็นอาหารใหม่ (novel food) กับ อย. คาดอนุมัติกลางปีนี้ พร้อมสร้างโรงงานไบโอรีไฟเนอรีมาตรฐาน GMP แห่งแรกของโลกในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ โดยบริษัท อินโนซุส จำกัด กำลังการผลิต HeLP เดือนละ 5,000 กก. จากเซรั่ม 20,000 ลิตร/วัน และสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และนวัตกรรมชีวภาพอื่น ๆ

นอกจากนี้ รศ.ดร. เภสัชกร ฐณะวัฒน์ พิทักษ์พรปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ (CERB) ยังระบุเสริมว่า สารชีวโมเลกุล HeLP จากเซรั่มน้ำยางพารา เป็นพรีไบโอติก ปรับสมดุลจุลินทรีย์และภูมิคุ้มกันผ่านกลไก Gut-Microbiota-Immune-Brain-Axis ต้านมะเร็งผ่านภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ สมานแผล และป้องกันแผลกระเพาะอาหารจากแอลกอฮอล์ในสัตว์ทดลอง

โดยทาง CERB ก็ได้ทำการวิจัยเซรั่มน้ำยางพารากว่า 20 ปี ด้วยงบ 200 ล้านบาทจากภาครัฐและเอกชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ลดมลพิษ เพิ่มมูลค่าน้ำยาง สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราที่ยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก เรียกได้ว่าการค้นพบ HeLP ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืน และสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยในเวลาเดียวกัน