จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงนี้ และยิ่งทวีความกังวลเมื่อล่าสุดได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวอีกครั้งที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ด้วยลักษณะภูมิประเทศของญี่ปุ่นจะเอื้อให้เกิดแผ่นดินไหวได้หลายครั้ง เนื่องจากญี่ปุ่นตั้งอยู่บน “วงแหวนแห่งไฟแปซิฟิก” (Pacific Ring of Fire) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกมากที่สุดในโลกก็ตาม
โดย Japan Today สำนักข่าวของญี่ปุ่นได้รายงานว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวรอบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. – 4 ก.ค. 2025 รวมการสั่นสะเทือนทั้งสิ้นกว่า 1,000 ครั้ง ขนาดของแผ่นดินไหวอยู่ที่ 5.5 แมกนิจูด เบื้องต้นได้สั่งอพยพประชาชนแล้ว
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดผลกระทบในด้านการเดินทางและท่องเที่ยวของประเทศ ล่าสุด Hong Kong Airlines ได้ปรับลดเที่ยวบินไปญี่ปุ่นหลังผู้โดยสารเริ่มลังเลไม่กล้าบิน รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั่วโลกก็ได้ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ยังคงคุกรุ่น และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง
นอกจากนี้ยังมีข่าวลือคำทำนายจาก “มังงะ” ที่บอกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการยกเลิกไฟลต์เปลี่ยนแพลนเที่ยวของนักท่องเที่ยวในช่วงนี้อีกด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้วบางอย่างที่เกิดขึ้นกะทันหัน เราแทบจะไม่สามารถเตรียมความพร้อมที่จะหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีได้ คล้ายกับภาพยนตร์ Final Destination ซีนบนเครื่องบินในซีซันแรก กับฉากสุดคลาสสิกที่แฟนหนังลืมไม่ลง แล้วถ้าเรื่องจริงคุณกำลังบินอยู่บนเครื่องในขณะที่พื้นโลกด้านล่างกำลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวอยู่มันจะเป็นยังไง ?
แผ่นดินไหวกับชั้นบรรยากาศ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักการเกิดแผ่นดินไหวก่อน ว่ามันสามารถกระทบถึงชั้นบรรยากาศในระหว่างที่เรากำลังบินในความสูงระดับนั้นได้ไหม ?
แม้จะดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในบางสถานการณ์ แผ่นดินไหวก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบบางอย่างกับเที่ยวบินได้ โดยเฉพาะคลื่นที่แผ่กระจายผ่านชั้นบรรยากาศ
อ้างอิงจากคำกล่าวของอัตติลา คอมจาธี (Attila Komjathy) นักวิทยาศาสตร์จาก NASA’s Jet Propulsion Laboratory (JPL) ที่ California Institute of Technology ระบุว่า “เมื่อแผ่นดินไหวทำให้พื้นดินสั่นไหว มันจะก่อให้เกิดคลื่นเล็ก ๆ ในชั้นบรรยากาศที่สามารถส่งผ่านขึ้นไปถึงไอโอโนสเฟียร์ (Ionosphere)”
ซึ่ง ไอโอโนสเฟียร์ คือชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงจากพื้นโลกถึงประมาณ 1,000 กิโลเมตร (600 ไมล์)
เมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น จะปล่อยคลื่นไหวสะเทือนออกมา 2 ประเภท คือ
- คลื่นแรงดัน (P wave) เดินทางผ่านของแข็ง ของเหลว และก๊าซได้
- คลื่นเฉือน (S wave) เดินทางผ่านได้เฉพาะของแข็งเท่านั้น
เมื่อ P wave เคลื่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มันจะแปรเปลี่ยนเป็นคลื่นเสียงความถี่ต่ำมาก (ต่ำกว่า 20 เฮิรตซ์ เรียกว่า “อินฟราซาวนด์”) ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน
แต่ยิ่งคลื่นเสียงเดินทางไกลมากเท่าไร พลังงานของมันก็จะลดลง ซึ่งเรียกว่ากระบวนการ “การลดทอน (Attenuation)”
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเครื่องบินที่บินอยู่เหนือแผ่นดินไหว แม้จะรุนแรงแค่ไหน ก็จะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน เพราะคลื่นเสียงนั้นอ่อนเกินกว่าจะสู้เสียงเครื่องยนต์และการสั่นไหวของเครื่องบินเองได้

ระหว่างบินอยู่บนเครื่องมีใครรู้บ้างว่าเกิดแผ่นดินไหว
อย่างที่บอกไปว่าคลื่นเสียงจากแรงสั่นสะเทือนบนพื้นดินส่งไปไม่ถึงคนที่อยู่บนฟ้า แต่คนที่จะรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ นักบิน โดยเป็นการรับรู้จากข่าวสาร เช่น ATC หรือ Air Traffic Controller ที่แจ้งมา หรือมีการส่งข้อมูลแจ้งเตือนโดย Text Message ผ่านทาง ACARS (Aircraft Communications Addressing and Reporting System) โดยฝ่าย Operation ของบริษัทส่งข้อความขึ้นไปแจ้งเครื่องบินของตัวเอง
ความเสี่ยงของเครื่องบินเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
การที่เรากำลังเดินทางด้วยเครื่องบินระหว่างที่กำลังเกิดเหตุการณ์แผ่นไหวอยู่พอดีนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบได้ แต่ไม่ใช่โดยตรง
ในปี 2018 มีผู้ใช้งาน Quora รายหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นนักบินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ชื่อ รอน วากเนอร์ (Ron Wagner) เขาเล่าประสบการณ์ที่ถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย Forbes นิตยสารธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกา ว่าเขาเคยขับเครื่องบินขณะเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบควบคุมการบินภาคพื้นดิน อาทิ ไฟฟ้าดับที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้น, ระบบเรดาร์ขัดข้อง, สื่อสารกับเครื่องบินไม่ได้ และเครื่องบินหาตำแหน่งไม่ได้ในช่วงสั้น ๆ โชคดีที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นมีเครื่องปั่นไฟสำรองทำงานทัน จึงสามารถกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็ว
นักบินไทยเผยมุมมองการบินระหว่างแผ่นดินไหว จากประสบการณ์จริง !
โดยเพจ กัปตันไฟซอล ก็ได้แชร์เรื่องผลกระทบด้านการบินในมุมมองของนักบินไว้น่าสนใจทีเดียว
สำหรับประเด็น ขณะ Landing อยู่รับรู้ได้ไหมว่าเกิดแผ่นดินไหว ?
กัปตันไฟซอล อธิบายว่า ขณะที่ล้อสัมผัสพื้น และโช้กสทรัต (Strut) ที่รับน้ำหนักเครื่องบินขณะวิ่งด้วยความเร็วสูงยุบตัว ซึ่งบางครั้งอาจจะลงไม่พร้อมกันทั้งสองล้อหลัง มีการสั่นสะเทือนของพื้นผิวรันเวย์ ในช่วงแรกอาจจะไม่รู้สึก เมื่อระบบเบรกอัตโนมัติ (Auto Brake) เริ่มทำงาน เครื่องบินเริ่มมีความหน่วง นักบินน่าจะยังไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวถ้าไม่แรงจัด ๆ แต่เมื่อความเร็วต่ำ น่าจะสัมผัสได้ชัดเจนในขณะแท็กซี่เครื่องเข้าจอด เพราะเครื่องจะมีการส่ายตามบีตหรือจังหวะของแรงสะเทือน
เมื่อพูดถึงเรื่องความอันตราย กัปตันไฟซอล ระบุว่า “ผมเองยังไม่เคยทราบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขณะแผ่นดินไหวในช่วงเครื่องบิน Takeoff และ Landing”
และสำหรับเรื่องการรับมือการจราจรทางอากาศ วันเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในส่วนของหอบังคับการบิน (ATC) ได้ดำเนินการดังนี้
1. ในกรณีเครื่องยังไม่ Push Back จะให้อยู่ในเบย์ (Bay) ที่จอดแต่ละพื้นที่ (จุด)
2. ในกรณีขอ Taxi, ATC จะให้ Stand by taxi
3. ในกรณีกำลัง Taxi อยู่ จะให้ไป Hold short (การหยุดและรอ ก่อนที่จะเข้าไปยังพื้นที่ที่กำหนด) ในจุดที่ใกล้และปลอดภัยที่สุด และไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องอื่น ๆ
4. ในกรณีที่ทำการ Landing จะให้เครื่องบินออกจากทางวิ่ง (Vacate runway) และหยุดรอที่ตำแหน่งที่กำหนด (Hold position)
5. Hold all Departure (ระงับหรือหยุดการออกเดินทางของเครื่องบินทั้งหมด หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง)
6. แจ้งเตือนนักบินผ่านทางวิทยุและ ATIS (การออกอากาศข้อมูลการบินที่บันทึกไว้) ถึงแผนการอพยพฉุกเฉินที่กำลังเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมการบินมีแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์ เช่น ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และแผ่นดินไหวอยู่แล้ว
ดังนั้น ไม่ต้องกังวล หากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นขณะคุณอยู่บนฟ้า ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จนกว่าจะลงจอดแล้ว เพราะสิ่งที่น่ากังวลคือเมื่อลงมาจากเครื่องบินแล้วยังคงเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่มากกว่า ฉะนั้นการติดตามข่าวสารและฟังประกาศจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเป็นประโยชน์มากในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ภาพจาก Freepik : by @ojosujono96, @DC Studio