นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Noaa) ค้นพบก้อนวุ้นขนาดเล็กใต้ทะเลลึก มีความยาวไม่กี่มิลลิเมตรและไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า พร้อมระบุให้เป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลก โดยพวกเขาตั้งชื่อว่า “Duobrachium sparksae” จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตในไฟลัม (ส่วนของการจำแนกสัตว์ตามวิชาชีววิทยา) ทีโนฟอรา (Ctenophore) หรือไฟลัมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง  ก้อนวุ้นทรงหยดน้ำนี้ต้องใช้กล้องถ่ายใต้น้ำที่มีความละเอียดสูงเท่านั้นจึงจะถ่ายเห็นได้

นักวิทยาศาสตร์ใช้หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล (Deep Discover) ดำน้ำลงไปประมาณ 3,900 เมตร เพื่อถ่ายภาพของ Duobrachium sparksae อย่างละเอียด และได้ศึกษาจนพบว่าว่า สัตว์ชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้เป็นสัตว์กินเนื้อโดยจะกินสัตว์ขาปล้องขนาดเล็กเป็นอาหาร เคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ด้วยการดีดตัว และมีหนวดยาวสองอันเพื่อยึดตัวเองกับท้องทะเลรวมควบคุมตำแหน่งเคลื่อนไหว

Mike Ford นักวิทยาศาสตร์ของ Noaa กล่าวว่า นี่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะตัวและสวยงามอย่างมาก ทาง Noaa จึงตัดสินใจถ่ายวิดีโอแทนที่จะเก็บตัวอย่างเจ้าตัว Duobrachium sparksae มาเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติสมดุลของมันต่อไป แต่ด้วยคุณภาพของวิดีโอที่เก็บมา ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของไฟลัมทีโนฟอราที่มนุษย์มีอยู่ ก็พอทำให้จำแนกความแตกต่างได้ว่า นี่เป็นสัตว์ใต้ทะเลลึกชนิดใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน ดูเผิน ๆ ก็อาจมีลักษณะคล้ายแมงกะพรุน แต่แท้จริงแล้วทั้ง 2 สายพันธ์ุมีโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนทางชีววิทยา

(ภาพจาก The Guardian)

นี่จึงเป็นการยืนยันได้อย่างดีอีกครั้งว่า โลกใต้ทะเลยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ยังไม่รู้พอ ๆ กับอวกาศนอกโลก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ยานดำน้ำ Fendouzhe หรือ Striver ที่ควบคุมด้วยมนุษย์ของจีน ได้สร้างสถิติใหม่ด้วยการดำน้ำลงไปที่ความลึก 10,909 เมตร บริเวณร่องลึกก้นสมุทร Mariana Trench ของมหาสมุทรแปซิก ที่จัดว่าเป็นร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดในโลกพร้อมผู้ควบคุม 3 คนที่ลงไปด้วย ทำให้เห็นถึงวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นอีกขึ้นของการสำรวจโลกใต้ทะเล อย่างไรก็ตาม สถิติโลกของยานสำรวจที่ลงไปลึกที่สุดที่เคยมีมานั้น ยังเป็นของนักสำรวจชาวอเมริกัน Victor Vescovo ที่นำยานลงไปได้ลึกถึง 10,927 เมตร เมื่อพฤษภาคมปีที่ผ่านมา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส