ข่าวดีอีกหนึ่งข่าวสำหรับวงการพลังงานสะอาดของบ้านเรา เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. ได้เปิดเผยว่า โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เขื่อนสิรินธร มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% และเร่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้ครบ 7 ชุดตามแผน หลังประกอบชุดแรกเสร็จแล้ว และคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้กลางปี 2564 นี้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับการใช้พลังงานสะอาดของประเทศไทย รวมถึงจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานีด้วย โดยจะมีการก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ความยาว 415 เมตร เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด

โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดนี้ มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) ตัวแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้เป็นชนิด Double Glass สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี เพื่อไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำด้วย

สำหรับข้อดีต่าง ๆ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดนั้น Fanpage Thailand Development Report ได้เขียนบทวิเคราะห์เอาไว้ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าที่ได้จะพอ ๆกับที่เขื่อนนั้น ๆผลิตไฟฟ้าได้อยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่า ในกรณีโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานได้แสงอาทิตย์สูงสุดและหากต้องการหยุดผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ก็สามารถใช้ระบบหม้อแปลงที่มีอยู่แล้วในการแปลงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นไฟฟ้าแรงสูงเข้าระบบสายส่งที่มีอยู่ได้

นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้เขื่อนเก็บน้ำได้ดีขึ้นเพราะช่วยลดการระเหยของน้ำ และยังช่วยลดค่าที่ดิน เพราะมีเพียงทุ่นลอยน้ำที่ต้องทำเพิ่มเท่านั้น ประกอบกับต้นทุนแผงโซล่าเซลล์ที่ลดลงมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าจากโครงการนี้อยู่ที่ไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศไทยอีกด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส