หลายคนอาจจะกลัวการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่การแพทย์ปัจจุบันเมื่อเทียบกับโลกในยุคสมัยศตวรรษที่ 19 แล้วนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหว ถ้าหากให้เปรียบเทียบแล้วเหมือนกับเดินเข้าบ้านของฆาตรกร แต่ต่างตรงที่ว่า เขาสามารถถือมีด และเข็มมาแทงตัวคุณได้อย่างถูกกฎหมาย!

โลกยุคสมัยศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยที่อุปกรณ์การแพทย์ยังไม่ล้ำหน้านัก รวมไปถึงยาสลบที่ยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นมา ทำให้การผ่าตัดนั้นดำเนินไปได้อย่างยากลำบาก รวมถึงสุขอนามัยที่ไม่ค่อยจะดีซึ่งนำมาซึ่งการติดเชื้อในกระแสเลือด คนที่มีแผลติดเชื้อจนมือเน่าเท้าเน่าก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง

ความเร็วจึงกลายเป็นตัวแปลสำคัญที่จะกำหนดให้ผู้ถูกผ่าในครั้งนั้น จะอยู่ หรือ ตาย เพราะหากใช้เวลานานเกินไปอาจจะเสียเลือดจนช็อกตายได้ ทำให้ยุคสมัยนั้นการผ่าตัดเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจและเกรงกลัวเป็นอย่างมาก

Robert Liston

ภาพจาก Wellcome Image

โรเบิร์ต ลิสตัน (Robert Liston) เขาเกิดในปี 1794 ที่สก็อตแลนด์ เริ่มศึกษาด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดิบะระ แล้วต่อมาได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหนึ่งในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาคือสุดยอดของศัลยแพทย์แห่งยุค ว่าด้วยวีรกรรมของเขาที่สามารถผ่าตัดได้รวดเร็วกว่าหมอศัลยแพทย์ทั่วไปเป็นอย่างมาก คำพูดติดปากของโรเบิร์ตก่อนการเริ่มผ่าตัดทุกครั้งคือ “Time me, gentleman.” หรือ ลองจับเวลาดูสิทุกคน โดยเฉลี่ยของการผ่าตัดที่อาจกำหนดไว้สำหรับการผ่าตัดขาคือ 5 นาที แต่เขาสามารถทำมันเสร็จได้ภายใน 2 นาทีครึ่งด้วยมีดผ่าตัดสมัยก่อน แต่นั้นยังไม่ใช่ความเร็วที่สุดที่เขาเคยถูกบันทึกไว้

โดยการผ่าตัดขาที่เร็วที่สุดที่เขาทำได้รวมถึงการเย็บปิดแผลคือ 28 วินาที เมื่อเทียบเวลากับการผ่าตัดในปัจจุบันซึ่งอาจใช้เวลามากกว่านี้อย่างแน่นอน

ตัดผิดที่

ว่าด้วยความเร็วและความเร่งรีบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผ่าตัดในยุคสมัยก่อน โรเบิร์ตเคยตัดตุ่มที่เส้นเลือดใหญ่ที่คอของเด็กคนหนึ่ง เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้องอกที่ลำคอ ผลสรุปว่าเด็กคนนั้นตายคาที่หลังจากที่เส้นเลือดถูกตัดออกไปไม่นาน

ลาก่อนน้องชาย

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดความเร็วของเขาก็มักจะมีผิดพลาดกันหลายครั้ง โดยตัวอย่างเคสนั้นก็คือการผ่าตัดขาที่เร็วที่สุดของเขา โดยเขาได้ง้างมีดสุดแขนและบรรจงตัดลงไปที่ขาของผู้ป่วยคนนั้น แต่ด้วยความเร็วและแรงของเขาทำให้มีดของเขาตัดผ่านไปถึงน้องชายสุดที่รักของผู้ป่วยคนนี้ และจำเป็นต้องตัดทิ้งไปด้วยในที่สุด

ภาพจาก Wellcome Image

อัตราการตาย 300%

วันหนึ่งในห้องผ่าตัด คุณหมอของเราต้องทำการผ่าตัดขาของคนไข้ และว่าด้วยการที่ตัวเขานั้นต้องการเอนเตอร์เทนคนดู จึงทำการบอกให้ทุกคนเอานาฬิกาขึ้นมาจับเวลาว่าเขาจะทำลายสถิติการตัดขาครั้งก่อนได้ไหม ก่อนที่จะลงมือปาดโดนนิ้วมือผู้ช่วยของเขาไปพร้อมกับขาของคนไข้ ซึ่งในยุคสมัยนั้นการฆ่าเชื้อหรือการทำความสะอาดอุปกรณ์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทำให้คนไข้ของเขา และผู้ช่วยได้ติดเชื้อตายในเวลาต่อมา

มาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่า มันจะ 300% ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตายแค่ 2 คน คนละ 100% ไม่ใช่หรอ ?

ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าการผ่าตัดสมัยก่อนก็เปรียบได้เหมือนกับคณะละครสัตว์ที่จะมีผู้ชมนั่งมองจากอัฒจันทร์เพื่อที่จะล้อมวงดูู ซึ่งคุณหมอนั้นโด่งดังมากทำให้คนดูหลั่งไหลไปดูกันแบบไม่ขาดสาย และนี่จะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึง 300%

ตอนที่คุณหมอนั้้นได้ตวัดมีดฆ่าคนไปถึง 2 คนแล้วนั้นได้มีเลือดที่ติดอยู่ที่ปลายมีดกระเด็ดไปโดนผู้ชมคนนึงทันทีที่เขาสะบัดมีดกลับจากการวาดมีดครั้งแรก ซึ่งทำให้คนดูคนนั้นช็อกเป็นอย่างมาก ตามด้วยอาการสลบ ก่อนที่จะหัวใจล้มเหลวลงไป ณ ที่ตรงนั้นทันที

ยาสลบครั้งแรก

ต่อมาหลังจากที่ยาสลบได้ถูกคิดค้นขึ้น โรเบิร์ตคือผู้ที่ใช้ยาสลบเป็นครั้งแรกกับการผ่าตัดซึ่งทำให้การผ่าตัดของเขาสำเร็จ และเรียบง่ายขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องจากคนไข้ไม่สามารถดิ้นไปมาได้ขณะที่ทำการผ่าตัดเมื่อเทียบกับการผ่าสดไม่มียาสลบ ต่อมายาสลบจึงเริ่มใช้กันแพร่หลายมากขึ้น

ภาพจาก Wellcome Image

หลังจากที่ โรเบิร์ต ลิสตัน ได้จากไปในปี 1847 เขาได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวงการศัลยศาสตร์ในยุคนั้น และถูกนำมาปั้นเป็นรูปปั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ความสามารถของเขาในยุคสมัยนั้น

ที่มา 1 2 3 4

ที่มารูปภาพ Wellcome Image

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส