คำว่า “Woke” (โวค) ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เมื่อปี 2017 โดยกำหนดความหมายไว้ว่าเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) หมายถึง การตื่นรู้หรือตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศ (racism) 

Woke เป็นคำที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ บนสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามเรียกร้องสิทธิในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า Political Correctness หรือ PC ที่แม้จะมีความหมายตรงตัวว่า “ความถูกต้องทางการเมือง” แต่แท้จริงแล้ว ไม่ได้หมายถึงการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทัศนคติ นโยบาย หรือพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่องทางร่างกาย ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า flight attendant (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน) แทนคำว่า steward, stewardess (สจ๊วต, แอร์โฮสเตส) หรือการใช้คำว่า survivor (ผู้รอดชีวิต) แทนคำว่า victim (เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย) เป็นต้น 

แม้คำนี้จะถูกบรรจุลงในพจนานุกรมของอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 2017 แต่เอาจริง ๆ “Woke” ไม่ใช่คำใหม่ แต่เป็นกริยาช่อง 2 ของคำว่า “Wake” (Wake / Woke / Woken) ที่แปลว่า “ตื่น” และถูกใช้มาตั้งแต่ยุค 80-90s แล้ว 

ผู้ที่ทำให้คำนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างน่าจะเป็นนักร้องเพลงโซล เอรีกาห์ บาดู (Erykah Badu) ที่ร้องว่า Stay Woke ในเพลง “Master Teacher” ในปี 2008 ซึ่งเพลงนี้ถูกนำมาใช้ในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนผิวดำในเวลาต่อมาจนเกิดเป็น #StayWoke และถูกนำไปตั้งชื่อสารคดี Stay Woke: The Black Lives Matter Movement ที่พูดถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของคนผิวดำและความไม่เสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2013 ที่มีการใช้ #BlackLivesMatter บนสื่อออนไลน์หลังการการตัดสินปล่อยตัวจำเลย จอร์จ ซิมเมอร์มัน ในเหตุยิง เทรย์วอน มาร์ติน วัยรุ่นผิวดำเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ต่อด้วยเหตุการณ์ประท้วงในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี ในปี 2014 ที่ตำรวจใช้ปืนยิง ไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวดำเสียชีวิต มาจนถึง จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำวัย 46 ปี ที่ถูกตำรวจผิวขาวจับใส่กุญแจมือไพล่หลัง พร้อมใช้หัวเข่ากดคอลงบนพื้นถนน เป็นเหตุให้เขาหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในปี 2020 ซึ่งเป็นชนวนทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 

เมื่อ #BlackLivesMatter กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติจึงกลายเป็น Woke หรือการตื่นรู้ที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุด จนบานปลายไปในทุกวงการ อย่างเช่น การจัดงานประกาศผลรางวัลใหญ่ ๆ ที่หากไม่มีผู้เข้าชิงผิวดำ ก็จะเกิดกระแสต่อต้านในโลกโซเชียล อย่างที่เห็นชัดเจนคือ #OscarSoWhite ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2015 เมื่อนักแสดงผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้ง 20 คนมีแต่นักแสดงผิวขาว

ผลที่ตามมาก็คือสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ซึ่งเป็นผู้จัดงานออสการ์ จึงรีบเปลี่ยนแปลงสมาชิกให้มีคนผิวดำมากขึ้น เกิดความหลากหลายมากขึ้น และเห็นได้ชัดว่าคนผิวดำและคนเอเชียมีบทบาทมากขึ้นบนเวทีออสการ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหนังที่พูดถึงคนผิวดำในยุคเหยียดผิวอย่าง ‘Green Book’ ชนะหนังยอดเยี่ยมในปี 2019, หนังเกาหลีใต้ที่พูดถึงชนชั้นอย่าง ‘Parasite’ ชนะหนังยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกในปี 2020, โคลอี เจา ผู้กำกับหญิงเอเชียคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและหนังยอดเยี่ยมจาก ‘NOMADLAND’ ในปี 2021, หนังคนหูหนวก ‘CODA’ ชนะหนังยอดเยี่ยมในปี 2022 ตบท้ายด้วยความสำเร็จของหนังลูกครึ่งจีน-ฝรั่ง ‘Everything Everywhere All at Once’ ที่กวาดไปถึง 7 รางวัลในปี 2023 

มันชัดเจนจนคำว่า “Woke” ไม่ได้เป็นแค่ “การตื่นรู้” แต่มันเริ่มกลายเป็น “ความกลัวว่าจะถูกมองว่าเลือกปฏิบัติและอคติทางเชื้อชาติ” และเมื่อมากเกินไปก็ทำให้เกิด “การยัดเยียด” จนกลายเป็นผลเสียเมื่อถูกกระแสตีกลับ เริ่มตั้งแต่การให้ วิล สมิธ มาแสดงเป็นยักษ์จินนี่ใน ‘Aladdin’ เวอร์ชันปี 2019, การให้นักแสดงสาวผิวดำ ฮัลลี เบลีย์ มารับบทนางเงือกน้อยใน ‘The Little Mermaid’ เวอร์ชันใหม่ที่เกิดกระแสดราม่าตั้งแต่เปิดตัว (และหนังก็พังยับจริง ๆ ทั้งรายได้และคำวิจารณ์) หรือมินิซีรีส์เรื่อง ‘Anne Boleyn’ ของอังกฤษที่ตั้งใจใช้ดาราผิวดำ โจดี เทอเนอร์-สมิธ มารับบทเป็นราชินีแอนน์ บุลิน ซึ่งเป็นคนผิวขาว

“อะไร ๆ ก็ Woke!” เมื่อนี่ก็เหลื่อมล้ำ นั่นก็ไม่เท่าเทียม Woke กันอย่างพร่ำเพรื่อเพื่อแสดงออกว่า “ฉันเป็นคนดี ฉันมีจริยธรรม ถึงขั้นมีบทความ ‘Earning the Woke Badge’ (ขอประทับตราว่าฉันตื่นรู้) ใน New York Times ซึ่งนักเขียน อแมนดา เฮสส์ สร้างประเด็นไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า Woke ถูกเปลี่ยนจากการตื่นรู้จนเกือบจะกลายเป็นแฟชั่นและตรงกันข้ามกับ Political Correctness กล่าวคือคนที่ Woke ไม่ได้รู้สึกตื่นรู้จริง ๆ แต่อยากให้ทุกคนมองตัวเองว่าเป็นคนตื่นรู้ เป็นคนดี มีจริยธรรม และกลายเป็นเครื่องมือหากินของนักโฆษณาและประชาสัมพันธ์ “ถ้าคุณใช้สินค้าแบรนด์นี้ คุณเป็นคนรักษ์โลก” หรือการที่แทบทุกแบรนด์เปลี่ยนโลโก้เป็นธงสายรุ้งในเดือนมิถุนายนต้อนรับ Pride Month แต่ถามว่า “บริษัทหรือแบรนด์เหล่านั้นมีนโยบายจริงจังเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคน LGBTQ+ ไหม?” สำหรับในบ้านเรา มักมีโฆษณาที่สะท้อนชีวิตของคนต่างจังหวัด การแสดงความเห็นอกเห็นใจคนยากไร้ หรือความมีจารีตประเพณีไทยศีลธรรมอันดี… นั่นแหละที่ถูกเรียกว่า “Fake Woke” หรือ “การตื่นรู้ไม่จริง” 

ท้ายที่สุดแล้ว Woke คือการตื่นรู้และไม่เพิกเฉยกับความเหลื่อมล้ำหรือความอยุติธรรมในสังคมโลกยุคใหม่ แต่ก็ต้องไม่เป็นไปอย่างฉาบฉวย หรือถูกนำไปเป็นจุดขายเพื่อแปะป้ายให้ตัวเองดูดี ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มากเกินไปจนกลายเป็นการยัดเยียด จน Woke กลายเป็นเครื่องมือบีบบังคับและทิ่มแทงคนอื่นที่เห็นต่างได้

โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนมีปากเสียงและพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรี

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส