ทุกคนเคยได้ยินชื่อ ‘OpenAI’ กันไหมครับ อาจจะรู้จักกันไม่มาก แต่ถ้าบอกว่าเขาคือบริษัทที่เป็นเจ้าของ ‘ChatGPT’ หลายคนต้องร้องอ๋อแน่นอน แต่ทั้ง ๆ ที่บริษัทนี้ก็ดูกำลังจะไปได้สวย แต่ทำไม CEO ของ OpenAI อย่าง แซม อัลต์แมน (Sam Altman) ที่ทำงานอยู่ดี ๆ ก็โดนปลดออก แถม Microsoft ยังซื้อตัวไป จนล่าสุดก็กลับมาเป็น CEO อีกรอบ ! มันเกิดอะไรขึ้น บทความนี้มีคำตอบ !

กว่าจะเป็น ‘OpenAI’

‘OpenAI’ กำเนิดเกิดขึ้นจากการเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของ แซม อัลต์แมน (Sam Altman) และ เกร็ก บร็อกแมน (Greg Brockman) เมื่อเดือนธันวาคม 2015 ตอนนั้นเขาได้ตั้งบริษัท OpenAI Inc. ขึ้นเพื่อเป็นองค์กร ‘ไม่แสวงหาผลกำไร’ และได้ระดมทุนจากหลายคนมาก ๆ เช่น อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และ รีด ฮอฟฟ์แมน (Reid Hoffman) ผู้ร่วมก่อตั้ง Linkedin หรืออย่าง ปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel) ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการก่อตั้งที่บร็อกแมนได้ประกาศไว้บนเว็บไซต์ OpenAI คือการ ‘สร้าง AI ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ และสร้างผลกระทบที่ดีต่อมนุษย์ โดยไม่มีข้อผูกมัดเรื่องการหารายได้ใด ๆ

ผลงานชิ้นแรกของ OpenAI ที่ออกสู่สายตาประชาชนคือ ‘OpenAI Gym’ (เครื่องมือที่ใช้เทรน AI ของเราในโลกเสมือนจริง ทำให้เราเข้าใจ และเอา Algorithm ใน AI ที่เราทำไว้ ไปลงสนามจริงได้) เมื่อปี 2016 นี้เอง หลังจากนั้นก็ได้พัฒนาโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ AI ต่าง ๆ มากมาย เช่น ‘GPT-1’ ซึ่งเป็นโมเดลภาษา (ที่ตอนนั้นยังไม่เรียกโมเดลภาษาด้วยซ้ำ) โดยตัวมันสามารถเรียนภาษาได้โดยไม่ต้องมีคนคุม ทายคำต่อไปได้เอง (แต่ยังไม่ออกสู่สาธารณชน) ในปี 2018 ที่ผ่านมานี้เอง ที่เราเห็นและได้ใช้กัน เริ่มที่เวอร์ชัน 3 นู่น !

ไม่แสวงหาผลกำไรซะแล้ว

ผ่านเลยเวลามาจนถึงปี 2019 OpenAI ได้ขยับจากการเป็น ‘องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร’ เปลี่ยนไปเป็น บริษัทเพื่อกำไรแบบ ‘จำกัด’ กล่าวคือจะหากำไรจำกัดที่ ‘100 เท่าของจำนวนเงินลงทุน’ เท่านั้น เขาทำแบบนี้เพราะจะได้หากำไรเข้าบริษัทเพื่อวิจัยต่อ และหานักลงทุนมาลงทุนเพิ่ม ซึ่งก็ได้ผลซะด้วย เพราะนักลงทุนก็มาลงทุนจริง ‘Microsoft’ ไง ! 22 กรกฎาคม 2019 ไมโครซอฟต์ได้ลงเงินทุนเข้าไปใน OpenAI กว่า 1,000 ล้านเหรียญ ในสัญญาที่ให้ OpenAI ร่วมพัฒนา AI กับ Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการประมวลผลแบบคลาวด์ของ Microsoft เขา ทำให้การพัฒนา AI ของ OpenAI ไปได้ไกลและเร็วขึ้น แถมใช้ Super Computer ของ Microsoft ได้ด้วย

ต่อมาในปี 2021 ที่ OpenAI ได้เปิดตัว ‘AI’ ที่คนทั่วไปได้เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ เรียกง่าย ๆ ว่าเห็นผลลัพธ์นั่นแหละ กับ ‘DALL.E’ Generative AI ที่ใช้ Diffusion Model ในการแยกชิ้นส่วนของภาพแล้วประกอบขึ้นมาเป็นภาพใหม่นั่นเอง ตอนนั้นที่ DALL.E เปิดตัวมาก็สร้างความฮือฮากันใหญ่เลย เพราะโลกได้รู้จักกับคำว่า ‘Diffusion Model’ และ ‘AI สร้างภาพ’ เป็นครั้งแรก จนเกิดเป็นประเด็นเรื่อง ‘ภาพจาก AI’ ต่อมา

แต่ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะ OpenAI ยังเป็นบริษัทที่ออกผลงานที่ ‘สะเทือน’ ทุกวงการเลย ‘30 พฤศจิกายน 2022’ คือวันที่ ‘ChatGPT’ แชตบอตที่ทำงานด้วย Language Model ในโมเดล GPT-3 ที่พัฒนาต่อยาวนานมาตั้งแต่ปี 2018 นู่นเลย และนั่นเอง ที่ทำให้โลกได้รู้จักกับ ‘OpenAI’ อย่างเป็นทางการและถ้วนทั่ว เกิดเป็นกระแสตื่นรู้ทาง AI ไปทั่วโลกเลย ซึ่งไทยเราก็เช่นกัน จนทำให้ตลอดทั้งปีที่เหลือของปีที่แล้ว ยาวมาจนถึงปีนี้ เป็นปีของ AI กันเลยทีเดียว

ความโด่งดังที่เพิ่มขึ้น = รายได้ที่มากขึ้น

หลังจากที่ ChatGPT ดังไกลไปทั่วโลก OpenAI ก็ยังคงพัฒนา AI ของตัวเองให้เก่งขึ้นไปอีก จนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 OpenAI เปิดตัว ‘ChatGPT Plus’ หรือ ChatGPT เวอร์ชันเก็บเงิน 20 เหรียญต่อเดือน ! ซึ่ง OpenAI ได้ให้สิทธิพิเศษกับผู้ที่ใช้เวอร์ชัน Plus นี้ว่าจะสามารถเข้าถึง ChatGPT ได้ทุกเวลา แม้จะเป็นช่วงที่คนใช้เยอะตอบคำถามได้เร็วกว่าเดิมเข้าถึงฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของ ChatGPT ได้ก่อนคนอื่นซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งหมดเป็นฟีเจอร์ที่ดีมาก เพราะ ChatGPT นั้นได้รับการอัปเกรด และยกฟีเจอร์ให้ผู้ใช้ Plus มาโดยตลอด อย่างโมเดล GPT-4 ที่ตอบคำถามต่อเนื่องได้ดีขึ้น, ตอบตามจริงมากขึ้น หรืออย่างการต่อเข้า Plugin เสริมที่ทำให้ ChatGPT ต่อเน็ตได้ ก็ต้องเสียเงินทั้งนั้น ขนาด beartai เรายังสมัคร ChatGPT Plus ไปใช้ทั้งในคลิปประชัน AI และใน beartai hitech มาแล้ว ในขณะที่ผู้ใช้ฟรีก็เหลือแค่โมเดล GPT-3.5 เปล่า ๆ ต่อไป

ในมุมหนึ่ง ทาง OpenAI บอกว่าโมเดลเสียเงินนี้ จะทำให้เวอร์ชัน GPT-3.5 ที่เป็นแบบฟรีนั้นจะสามารถฟรีต่อไปได้ ซึ่งก็เมคเซนส์ แต่ถ้าถามว่าโมเดลเสียเงินนี้ได้ผลไหม บอกเลยว่าโคตรได้ผล เพราะสำนักข่าว ‘Fortune’ รายงานข่าวเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ว่า OpenAI ทำรายได้รวมทุกอย่าง ตั้งแต่การให้บริการ ChatGPT, เข้าถึง API การพัฒนา AI และอื่น ๆ ไปแล้วกว่า 80 ล้านเหรียญต่อเดือน ซึ่งทำให้ตลอดทั้งปีนี้อาจทำรายได้รวมมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญเลยก็ว่าได้ ปีนี้เรียกว่าเป็นปีที่รุ่งสุด ๆ ของ OpenAI เลยก็ว่าได้  แต่เอ๊ะ ถ้างั้นจะทำให้กำไรถึงขีดจำกัดไปแล้วหรือเปล่า จริง ๆ ยังไม่ถึงนะ เพราะว่า Microsoft เจ้าเก่าเจ้าเดิม มาลงทุนใน OpenAI เพิ่มอีก 10,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว !

ความงงงวยของการบริหารใน OpenAI

เห็น OpenAI เป็นองค์กรที่ดูแข็งแรง ทำของดี ๆ เจ๋ง ๆ มาให้เล่นขนาดนี้ แต่จริง ๆ แล้ว OpenAI เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างองค์กรอ่อนกว่าที่คิด !

จริง ๆ แล้วเราเล่าข้ามไปนิดหน่อย ที่จริงแล้ว บริษัทที่บอกว่าเปลี่ยนมาเป็นบริษัทที่ ‘หารายได้จำกัด’ และบริษัทที่ Microsoft ทุ่มเงินลงทุนไปมากมายนี้ ไม่ใช่ OpenAI Inc. หรอกนะ แต่เป็น OpenAI Global LLC ต่างหาก โดยมี OpenAI GP LLC เป็นบริษัทที่เข้ามาคุม OpenAI Global LLC อีกทีหนึ่ง แค่พูดอาจจะไม่เข้าใจ ลองดูชาร์ตการควบคุมของ OpenAI นี้ดีกว่า

แผนผังการบริหารบริษัทภายใน OpenAI (ภาพโดย @pitdesi)

บอร์ดบริหารของ OpenAI เป็นผู้ที่คุม OpenAI Inc. ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ OpenAI Inc. ก็เป็นเจ้าของ OpenAI GP LLC และ Holding Company ที่เป็นเจ้าของ และควบคุม OpenAI Global LLC อีกทีนึงแบบนี้ (แถม OpenAI GP ก็ยังคุม Holding Company นั้นอีกด้วยนะ) แล้ว Microsoft ถึงได้เข้ามาลงทุนที่ OpenAI Global LLC ต่อท้ายแบบนี้

ซึ่งเจ้า OpenAI Global LLC ก็ได้เปิดตัวมาเป็นบริษัทลูกของ OpenAI ในปี 2019 ตอนที่เปลี่ยนองค์กรไปเป็น บริษัทเพื่อกำไรแบบ ‘จำกัด’ นั่นแหละ ! ที่บริษัทหากำไรอยู่ล่างสุดแบบนี้ ก็เพราะว่าเป้าหมายแรกของ OpenAI คือการสร้าง AI ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ดังนั้นเป้าหมายนี้ต้องอยู่เหนือการหากำไรทั้งปวง ซึ่งดึงดูดคนเก่ง ๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ในขณะที่ต้องจ่ายอย่างงามพอที่จะสู้รายใหญ่ที่แย่งตัวกันอยู่ได้ และเปิดให้นักลงทุนมาลงเงินเข้า OpenAI มากขึ้นได้นั่นเอง

Sam Altman โดนไล่ออก !?

ด้าน แซม อัลต์แมน ผู้ก่อตั้ง OpenAI ตอนแรกเขามาในฐานะประธานผู้ก่อตั้ง OpenAI เฉย ๆ แต่ต่อมา หลังจากที่ได้สร้าง OpenAI Global LLC เพื่อหากำไรแล้ว เขาก็ได้มาเป็น CEO ของ OpenAI Global แทน
ฟังดูดีใช่ไหม แต่ที่จริงแล้วกลับกลายเป็น 1 ในสาเหตุหลักที่ทำให้เขาโดนไล่ออกไปเมื่อไม่นานมานี้นี่แหละ ! แม้จะเป็นถึง CEO ของ OpenAI Global แต่บริษัทนั้นก็ยังเป็นแค่ ‘บริษัทลูก’ ของ OpenAI Inc. และโดน OpenAI GP คุมอยู่ดี ! กล่าวคือถ้าบอร์ดบริหาร (ซึ่งอยู่บนสุดของชาร์ต) ต้องการจะไล่อัลต์แมนออก ก็สามารถทำได้เลยเพราะเขาอยู่สูงกว่า

และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง โดยบอร์ดบริหารสรุปว่าอัลต์แมนไม่ได้สื่อสารกับบอร์ดอย่างตรงไปตรงมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำหน้าที่ จึงไม่มั่นใจในความสามารถให้นั่งเป็นซีอีโอต่อไปได้

คือปกติแล้ว คนระดับ CEO หรือผู้ก่อตั้ง เขาต้องมี โครงสร้างหุ้นสองระดับ (Dual-Class Shares) หรือการแบ่งระดับของหุ้นในบริษัท เป็นระดับทั่วไป กับระดับผู้ก่อตั้ง ที่จะมีอำนาจโหวตมากกว่า, ล็อกที่นั่งบนบอร์ดบริหาร, หรือกฎพิเศษที่จะทำให้บอร์ดบริหารรวมหัวกันยึดอำนาจไล่ CEO ออกไม่ได้ แต่อัลต์แมนไม่มีสิทธิ์เล่านั้น ทำให้เขาแทบไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทเลย แม้จะดีในด้านการเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ก็ไม่ดีในด้านที่ว่าอาจจะโดนบอร์ดรุมโหวตให้ออกได้ง่าย ๆ

หลังจากที่เขาโดนไล่ออก ไป เกร็ก บร็อกแมน ผู้ร่วมก่อตั้งของเขาก็ได้ตัดสินใจลาออกหลังจากอัลต์แมนโดนไล่ออกไม่นานนัก บร็อกแมนเองเลือกที่จะลาออกไปเพราะความไม่พอใจในเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย เพราะตอนที่อัลต์แมนโดนโหวตออก เขาในฐานะประธานบอร์ดก็ไม่รู้เรื่องนี้เลย

แต่มันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะ Microsoft เจ้าเก่าเจ้าเดิมที่ได้ลงทุนมา ได้ตัดสินใจจ้างทั้งสองคนเข้าสู่อ้อมกอดของ Microsoft ต่อเลย โดยทั้งคู่ได้ถูกทาบทามจาก สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอ Microsoft ให้มาตั้งทีมวิจัย Advance AI ใหม่ภายในบริษัท Microsoft แทน

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเข้าไปอีก เมื่อพนักงานส่วนใหญ่ของ OpenAI ขู่ว่าจะลาออกจากบริษัทและย้ายไป Microsoft เพราะ Microsoft ได้ตัวทั้งอัลต์แมน และบร็อกแมน ผู้ร่วมก่อตั้งไปเรียบร้อยแล้ว แถม Microsoft เองก็มีตำแหน่งว่างพอจะรับพนักงานกว่า 500 คนจาก OpenAI เข้ามาร่วมทีม AI ของ Microsoft

นี่ยังไม่นับรวมถึงพนักงานของ OpenAI ที่รวมหัวกันโพสต์ใน X (Twitter) ว่า ‘OpenAI is Nothing Without Its People’ หรือ ‘OpenAI ก็ไร้ค่าเมื่อขาดผู้คนภายในไป’ อีกต่างหาก ! การไล่ออกของอัลต์แมน ครั้งนี้ OpenAI เสียหายอย่างมาก และ Microsoft ก็ได้คนเก่งไปเต็ม ๆ กันเลยทีเดียว

เดี๋ยวนะ เขากลับมาแล้วหรอ !?

แต่กลายเป็นว่าล่าสุด 22 พฤศจิกายนนี้ OpenAI และอัลต์แมนออกมาประกาศว่า ทาง OpenAI ได้ทำการเจรจาให้อัลต์แมนกลับมาดำรงตำแหน่ง CEO ต่อแล้ว โดยมีการปรับบอร์ดบริหารใหม่ ให้ เบร็ต เทย์เลอร์ (อดีตประธานบอร์ดบริหารของ Twitter ก่อนโดน อีลอน มัสก์ ซื้อ) มาเป็นประธานบอร์ดบริหาร, ให้ อดัม ดีแอนเจโล (CEO ของ Quora) และ แลร์รี่ ซัมเมอร์ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาเป็นบอร์ดบริหารแทน

ส่วน บร็อกแมนก็ได้โพสต์ใน X เหมือนกันว่าตอนนี้เขาได้กลับมาทำงานเขียนโค้ดที่ OpenAI ต่อแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นประธานบอร์ดเหมือนก่อนหน้านี้ก็ตาม เรียกว่าเหตุการณ์ทั้งหมด แทบจะซ้อนทับกับตอนที่ สตีฟ จอบส์ โดนบอร์ดบริหารไล่ออกไปเมื่อปี 1985 ได้เลยทีเดียว

สุดท้ายแล้ว เราคงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอนาคตของ OpenAI และเรื่องทั้งหมดจะนำไปสู่จุดไหน แต่ที่สามารถสรุปได้แน่นอนก็คงจะเหมือนกับที่พนักงานของ OpenAI โพสต์บอกไว้ตอนอัลต์แมนโดนปลดออกนั่นแหละ ว่าองค์กรจะว่างเปล่าถ้าขาดคนไป และเราก็ได้แต่คาดหวังว่า OpenAI จะยังสามารถ สร้าง AI ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์แล้ว ยังสามารถช่วยให้มนุษย์เข้าสู่ยุคแห่ง AI ปรับตัวเข้ากับโลกในยุคอนาคตได้ต่อไป

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส