ผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย ๆ คงคุ้นเคยกับหลุมอากาศเป็นอย่างดี ยิ่งในเที่ยวบินที่มีระยะทางยาว ๆ ต้องบินผ่านพายุฝน เครื่องบินโคลงเคลง จนใจแทบจะหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม ยิ่งข่าวที่เกิดขึ้นล่าสุด ยิ่งทำให้สงสัยว่ามันอาจจะอันตรายมากกว่าที่คิด

การตกหลุมอากาศของเครื่อง Boeing 777-300ER สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ SQ321 จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บกว่า 70 ราย ทำให้เกิดความกลัวจากเหตุการณ์ลักษณะนี้

ทำไมเครื่องบินถึงตกหลุมอากาศ

ตกหลุมอากาศ (Turbulence) เกิดขึ้นเมื่อกระแสลมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ปกติจนมากระทบกันด้วยความเร็ว ความหนาแน่น และอุณหภูมิที่แตกต่างกัน

เครื่องบินที่ปกติจะต้องบินโดยอาศัยแรงยกเคลื่อนที่ผ่านลมที่มีความหนาแน่นและความเร็วอย่างสม่ำเสมอคล้ายคลื่น แต่เมื่อบินผ่านหลุมอากาศ ลมที่เคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอเกิดเป็นรอยต่อระหว่างกระแสลม ทำให้แรงยกที่เครื่องบินใช้ไม่สม่ำเสมอตามไปด้วย จนทำให้รู้สึกว่าเครื่องบินตกลงมาอย่างฉับพลัน เหมือนตกลงไปในหลุม เป็นที่มาของชื่อหลุมอากาศนั่นเอง

ที่มา: Flightradar

หลุมอากาศมีหลายประเภท บางประเภทสามารถเกิดขึ้นได้ใกล้กับพื้นดิน ที่ซึ่งลมบนพื้นกระทบกับลมที่อยู่บนอากาศ โดยเฉพาะในบริเวณภูเขาที่มีกระแสลมเคลื่อนที่อย่างรุนแรง ในบางประเภทยังอาจเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ให้ความร้อนกับพื้นโลกไม่เท่ากัน ซึ่งกระทบมาถึงการเคลื่อนที่ของลม

ไซมอน คิง (Simon King) อดีตนายทหารกองทัพอากาศราชอาณาจักรที่ผันตัวมาทำงานให้กับสำนักข่าว BBC ชี้ว่าหลุมอากาศมักจะเกิดกับมวลเมฆที่มีกระแสลมไหลขึ้นลง ยิ่งในมวลเมฆขนาดใหญ่อย่างเมฆพายุ ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

หลุมอากาศสามารถทำให้ระดับความสูงเครื่องบินขึ้นลงตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายพันเมตร ในกรณีของ SQ321 มีการรายงานว่าตัวเครื่องทิ้งดิ่งลงมาด้วยความสูง 6,000 ฟุต (1,828 เมตร) อย่างรวดเร็ว

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) แบ่งความรุนแรงของหลุมอากาศไว้ว่ามี 4 ระดับ ได้แก่ ระดับอ่อน ระดับปานกลาง ระดับรุนแรง และระดับร้ายแรง

ที่มา: National Weather Service

ระดับอ่อนและปานกลาง ที่อาจทำให้ผู้โดยสารรู้สึกว่าเครื่องบินสั่นไหว และสิ่งของบนเครื่องเคลื่อนที่ไปมา แต่ในระดับสูง ๆ อาจทำให้ผู้โดยสารกระเด็นไปมาจนสร้างการบาดเจ็บอย่างรุนแรงและเสียชีวิตได้

แต่นอกจากทั้ง 3 ระดับนี้แล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่าหลุมอากาศในสภาพอากาศแจ่มใส (Clear Air Turbulence – CAT) ที่เกิดขึ้นในสภาพอากาศที่สดใสไร้เมฆ ไร้พายุ มองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า และเรดาร์ตรวจเจอยากมาก ซึ่งรุนแรงกว่าหลุมอากาศระดับร้ายแรงมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากลมกรดที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและรุนแรง

ยิ่งไม่มีเมฆให้ระวังแล้ว การที่นักบินจะหลบเลี่ยงหลุมอากาศในสภาพอากาศแจ่มใสแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

โลกรวนทำหลุมอากาศรุนแรงขึ้น

สถิติเผยว่าเครื่องบินในสหรัฐอเมริกามากกว่า 65,000 เที่ยวบินต้องฝ่าหลุมอากาศต่อปี ในจำนวนนี้มีมากถึง 5,500 เที่ยวบินที่ต้องฝ่าหลุมอากาศขั้นร้ายแรง

อย่างไรก็ดี อาจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรีดดิง สหราชอาณาจักร ระบุว่าหลุมอากาศมีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้น เพราะสภาวะโลกร้อนจนกลายเป็นโลกรวน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก

งานวิจัยที่ทำขึ้นในเดือนกันยายน 2022 ประเมินว่าหลุมอากาศในสภาพอากาศแจ่มใสน่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นมากภายในปี 2050 – 2080 โดยเฉพาะในเส้นทางบินที่หนาแน่น จะยิ่งมีหลุมอากาศเกิดมากขึ้น

ฆ่าคนได้จริง?

จอห์น สทริกแลนด์ (John Strickland) ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินชี้ว่าการบาดเจ็บที่เกิดจากหลุมอากาศที่ร้ายแรงมาก ๆ ยังมีน้อยถึงน้อยมากที่สุด

คณะกรรมการคมนาคมแห่งชาติของสหรัฐฯ เผยว่าในช่วงระหว่างปี 2009 จนถึง 2023 มีเหตุการบาดเจ็บที่เกิดจากหลุมอากาศอย่างรุนแรงต่อสายการบินอเมริกันเพียง 185 ครั้ง หรือคิดเป็น 12 กรณีต่อปี เท่านั้น และในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากหลุมอากาศแม้แต่คนเดียว

แอนดรูว์ เดวีส์ (Andrew Davies) ผู้โดยสารของเที่ยวบินที่ SQ321 ชี้ว่าขณะที่เกิดเหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง เขาเห็นข้าวของ ทั้ง iPad รองเท้า ช้อนส้อม และผ้าห่มลอยพุ่งไปมา นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างบาดแผลให้กับผู้โดยสารจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นชายวัย 73 ปี โดยมีสาเหตุเสียชีวิตมาจากอาการเกี่ยวกับหัวใจ คาดว่าน่าจะเกิดจากอาการหัวใจวาย แต่ก็ต้องรอการตรวจสอบกันต่อไป

อย่างในกรณีของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ถือว่าเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 23 ปี ตัวสายการบินเองถือว่ามีความปลอดภัยมากที่สุดสายการบินหนึ่งของโลก

เครื่องบินจะตกมั้ย?

กาย แกรตตัน (Guy Gratton) นักบินพาณิชย์ และรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการบินและสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ ระบุว่าปกติแล้วเครื่องบินได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับหลุมอากาศขั้นรุนแรงมาก ๆ ได้ จึงเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่หลุมอากาศจะสร้างความเสียหายต่อเครื่องบิน

นอกจากนี้ นักบินยังถูกฝึกมาให้รับมือกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ ทั้งการบินหลบเลี่ยงและชะลอความเร็ว โดยมักจะเห็นสัญญาณรัดเข็มขัดทันทีเมื่อเครื่องบินเจอกับหลุมอากาศ

แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าในหลุมอากาศร้ายแรงมาก ๆ ก็อาจจะสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างของเครื่องบินด้วยเหมือนกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องบิน

รัดเข็มขัดให้แน่น

การเชื่อฟังคำแนะนำของนักบินและลูกเรือด้วยการรัดเข็มขัดเมื่อสัญญาณปรากฏขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น

ผู้โดยสารอาจคิดว่าหลุมอากาศที่เจอเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จากกรณีของ SQ321 ผู้โดยสารที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าภายหลังสัญญาณรัดเข็มขัดปรากฏขึ้นเพียงไม่กี่อึดใจ เครื่องบินก็ร่วงหล่นอย่างรวดเร็ว

และยิ่งการที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าหลุมอากาศจะเกิดขึ้นเมื่อใด และร้ายแรงแค่ไหน จึงควรคาดเข็มขัดตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่อง ยกเว้นเวลาต้องการยืดเส้นยืดสาย หรือเข้าห้องน้ำ

เมื่อเจอหลุมอากาศที่รุนแรง นอกจากจะรัดเข็มขัดแล้ว ก็ควรต้องเก็บสิ่งของให้เข้าที่ โดยเฉพาะของมีคม หรือมีมุมที่จะทำอันตรายเราได้ และยังต้องคอยกุมศีรษะเพื่อป้องกันจากสิ่งของอื่น ๆ ที่จะลอยมาหาเราด้วย

ที่สำคัญคือต้องตั้งสติอยู่เสมอ