คงจะไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่าสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศมหาอำนาจที่นโยบายทางเศรษฐกิจสามารถสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง สิ่งหนึ่งที่สนับสนุนคำกล่าวนี้คือการที่มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าทั่วโลกของรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในอัตราที่สูง ซึ่งกระเทือนห่วงโซ่การผลิตโลก โดยเฉพาะจีนที่ตอนนี้เพดานภาษีนำเข้าทะลุ 245% ไปแล้ว

แน่นอนว่าการกำหนดภาษีกับมหาอำนาจอย่างจีนที่เป็นต้นทางการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบหลายอย่างขนาดนี้ อุตสาหกรรมที่กระทบหนักคงหนีไม่พ้นสายเทคโนโลยีที่สั่นกระพือหนัก กระทบชิ่งกันเป็นลูกโซ่ กลับไปยังสหรัฐฯ เองด้วย

เป็นมายังไง ?

การขึ้นภาษีนำเข้าจีนของสหรัฐฯ จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์สมัยแรกในปี 2016 เคยมีนโยบายขึ้นมาแล้ว และรัฐบาลของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ที่เข้าบริหารในปี 2020 ก็ไม่ได้ยกเลิกและเพิ่มภาษีขึ้นอีก แต่สิ่งที่ต่างออกไปในปี 2025 นี้ คือการที่ทรัมป์ขึ้นภาษีจีน (และทั่วโลก) อย่างก้าวกระโดด

ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีที่ขึ้นภาษีนำเข้าจีน 10% ก่อนที่ในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน จะเพิ่มภาษีขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนนี้ทะลุ 245% แล้ว

ตาราง “ภาษีศุลกากรต่างตอบแทน” ของทรัมป์ (ที่มา AP)

วิธีการคำนวณภาษีของรัฐบาลทรัมป์ คือคิดเอาจากตัวเลขดุลการค้า (เทียบระหว่างมูลค่านำเข้ากับมูลค่าการส่งออก) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเทศต่าง ๆ ประเทศไหนสหรัฐฯ ขาดดุลมาก (นำเข้ามากกว่าส่งออก) ก็ขึ้นภาษีมาก โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจริง ๆ แล้วอีกฝ่ายจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เท่าใด ยกตัวอย่างเวียดนามที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ราว 82.5% – 90% แต่ไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง ก็ถูกฟาดด้วยภาษีนำเข้าที่ทรัมป์เรียกว่าเป็น “ภาษีศุลกากรต่างตอบแทน” (Reciprocal tariffs) ในอัตราสูงถึง 46%

ในทางกลับกัน บราซิลที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่มีอัตราภาษีนำเข้าจากต่างประเทศที่สูงกลับถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เพียงแค่ 10% นี่อาจหมายความว่าสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ไม่ได้สนใจกำแพงทางการค้าที่ประเทศต่าง ๆ มี แต่สนใจแค่ดุลการค้าเท่านั้น ซึ่งที่มาของการขาดดุลการค้าก็เพราะว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าหรือชิ้นส่วนต่าง ๆ จากต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถผลิตในประเทศได้ หรือถ้ามีก็อาจจะแพงกว่านั่นเอง

โดยภาษีนำเข้าเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว มักจะคำนวณเพิ่มเข้าไปในมูลค่าของสินค้า เช่น iPhone 16 Pro Max ราคา 48,999 บาท คำนวณด้วยภาษี 245% ก็อาจหมายความว่า iPhone 16 Pro Max ก็อาจมีราคาสูงทะลุ 168,000 บาท เลยทีเดียว

อัตราภาษีของจีนที่สูงมากในยุคของทรัมป์อาจมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน อย่างแรกคือจีนเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสูงที่สุดจากสหรัฐฯ โดยข้อมูลในปี 2024 พบว่ามูลค่าสินค้านำเข้าจากจีนอยู่ที่ 440,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 14.6 ล้านล้านบาท) เทียบกับมูลค่าส่งออกเพียง 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (4.83 ล้านล้านบาท)

ประเด็นที่สอง คือการที่จีนมาท้าทายระบบเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานโลกที่สหรัฐฯ วางไว้ รวมถึงยังเป็นคู่แข่งทางเทคโนโลยีเบอร์ 1 ของสหรัฐฯ ด้วยการวางกำแพงภาษีก็เพื่อหวังว่าจะสลัดพันธมิตรจีนและลดทอนความสามารถทางการแข่งขันของจีน

แต่มันก็คงไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะจริง ๆ แล้วสองยักษ์ใหญ่ที่แม้จะตีกันตลอด แต่ก็เป็นสองประเทศที่พึ่งพากัน เรียกได้ว่ามากที่สุดแล้ว สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากจีน จีนก็ส่งสินค้าออกไปขายในสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่ ไหนจะเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนที่ผลิตในจีน และจีนเองก็ยังต้องพึ่งพาการที่ธุรกิจอเมริกันไปเปิดโรงงาน รวมถึงพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ด้วย

ผลกระทบวงการเทคโนโลยี

แล้วสงครามภาษีในครั้งนี้จะเกิดผลกระทบอะไรกับวงการเทคโนโลยีโลกบ้าง ? ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงอย่าง เซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ รถยนต์อีวี และชิ้นส่วนต่าง ๆ ผลิตขึ้นโดยอาศัยห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน ดีไซน์ในประเทศหนึ่ง ชิ้นส่วนมาจากอีกประเทศ ไปประกอบที่ประเทศที่สาม (เป็นอย่างน้อย) และที่สำคัญคือจีนเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิตนี้ ไม่ว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จะอยู่ในประเทศไหนก็ตาม

ตารางการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

หมวดหมู่มูลค่าการนำเข้าจากจีนไปยังสหรัฐฯสัดส่วนต่อการนำเข้าทั้งหมดจากจีนไปยังสหรัฐฯมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกไปยังสหรัฐฯสัดส่วนมูลค่านำเข้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับทั้งโลก
สมาร์ตโฟน1.38 ล้านล้านบาท9%1.71 ล้านล้านบาท81%
คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คล้ายคลึง1.22 ล้านล้านบาท7.9%4.69 ล้านล้านบาท26%
เครื่องจักรสำหรับการส่งข้อมูล เช่น เราเตอร์256,640 ล้านบาท1.7%1.87 พันล้านบาท14%
ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์216,650 ล้านบาท1.4%1.8 ล้านล้านบาท12%
จอคอมพิวเตอร์169,980 ล้านบาท1.1%216,650 ล้านบาท78%
วงจรรวมและเซมิคอนดักเตอร์49,990 ล้านบาท0.3%1.34 ล้านล้านบาท4%
เครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์29,990 ล้านบาท0.2%456,640 ล้านบาท7%
จอแสดงผลแบบแบนและหน้าจอสัมผัส19,990 ล้านบาท0.1%59,990 ล้านบาท34%
แฟลชไดรฟ์และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบโซลิดสเตต13,330 ล้านบาท0.1%603,310 ล้านบาท2%
อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (รวมถึงไดโอด, ทรานซิสเตอร์, LED)13,330 ล้านบาท0.1%169,980 ล้านบาท8%
รวม3.39 ล้านล้านบาท22%12.97 ล้านล้านบาท26%
ที่มา Bloomberg / Al Jazeera

บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จและชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบก็ต้องนำมาจากจีน ตารางด้านบนจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากจีนมากขนาดมีมูลค่ารวมกันสูงถึงประมาณ 3.39 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของมูลค่าการนำเข้าจากทั้งโลก โดยเฉพาะในกรณีของสมาร์ตโฟนที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูงถึง 81%

โดยแม้ ณ เวลานี้ (20 เมษายน) สมาร์ตโฟน, แล็ปท็อป, ดิสก์ไดรฟ์, แผงจอ, ชิปความจำ และชิ้นส่วนเทคโนโลยีอื่น ๆ รวมกัน 20 ประเภท จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีล่าสุดที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 11 เมษายน แต่ก็เป็นเพียงแค่มาตรการชั่วคราวเท่านั้น และไม่ได้มีหลักเกณฑ์แน่นอนว่าอะไรจะอยู่ในรายการบ้าง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากร อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ก็ยังอยู่ภายใต้ภาษีนำเข้าจากจีน 20% ที่ประกาศมาก่อนหน้าวันที่ 2 เมษายน เหมือนเดิม และมีโอกาสที่จะถูกนำไปใส่ไว้ใน “ตะกร้าภาษีศุลกากรอื่น” ด้วย

แน่นอนว่าการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนทำให้ยักษ์ใหญ่ที่รันวงการเทคโนโลยีอย่าง Apple และ Samsung ที่มีโรงงานผลิตสมาร์ตโฟน และอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในจีน ต่างก็พยายามหาทางเลี่ยงผลกระทบ ในหลายปีที่ผ่านมา มีทั้งพยายามลดการพึ่งพาจีน ย้ายฐานการผลิตหันไปตั้งในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจนกระทั่งในสหรัฐฯ เองก็ตาม

สินค้าเทคโนโลยีแทบทุกอย่างที่เรารู้จักก็มาจากจีน

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Apple ประกาศแผนลงทุนในสหรัฐฯ มูลค่าสูงถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 16.6 ล้านล้านบาท) ที่มีทั้งการสร้างโรงงานใหม่ในรัฐเท็กซัส และจ้างงานสูงถึง 20,000 คน มีการใช้วิธีการขนส่ง iPhone ทางอากาศด้วยวิธีเช่าเหมาลำจากอินเดียเพื่อเลี่ยงภาษีเรตใหม่

เช่นเดียวกับ NVIDIA ที่หันไปจับมือกับ TSMC ผู้ผลิตชิปเบอร์ 1 ของโลกในการลงทุนมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างโรงงานในรัฐแอริโซนา ทางด้านคู่แข่งอย่าง AMD เองก็เร่งมือส่งสินค้าจากแดนไกลเข้าไปในคลังสินค้าสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงภาษี และยังมีการมองหาทางเลือกตั้งฐานการผลิตในแดนใหม่ ๆ อย่างเม็กซิโกด้วย

อย่างไรก็ดี การที่จะจู่ ๆ เจ้าของแบรนด์เทคโนโลยีจะหันมาย้ายฐานเข้ามาในสหรัฐฯ ยังต้องฝ่าฝันอีกมาก เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าบริษัทเหล่านี้ไม่อยากย้ายห่วงโซ่การผลิตเข้ามาในสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในสายการผลิต ความเชี่ยวชาญด้านการผลิต วัตถุดิบ แรงงานจำนวนมาก และค่าแรงที่น้อย ซึ่งแรงงานในสหรัฐฯ มีชั่วโมงการทำงานที่จำกัดมากกว่า ข้อเรียกร้องมากกว่า และค่าแรงสูงกว่าในจีนถึง 15 เท่า

โรงงานของ TSMC ในรัฐแอริโซนา หนึ่งในความพยายามย้ายฐานผลิตชิปเข้าสหรัฐฯ

นอกจากในส่วนของแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการตั้งโรงงานก็อาจจะสูงขึ้น เนื่องจากภาษีนำเข้าของทรัมป์ที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักรที่ใช้ในสายพานการผลิตซึ่งมากถึง 28.2% ที่ต้องนำเข้ามาจากจีนมีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จาก Wedbush Securities ชี้ว่า หากบริษัทอย่าง Apple ต้องการย้ายแม้เพียงแค่ 10% ของห่วงโซ่การผลิตมายังสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๆ 3 ปี และงบอย่างน้อย 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อไปยังต้นทุนของสินค้าที่จะสูงตามขึ้นไป

นอกจากการย้ายฐานการผลิตแล้ว หลายบริษัทต้องเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจ อย่าง Microsoft ก็เริ่มปรับห่วงโซ่การผลิตใหม่ พยายามนำจีนออกจากห่วงโซ่การผลิต มีการบอกให้ซัปพลายเออร์สะสมชิ้นส่วนไว้ในสหรัฐฯ โดยด่วน และปรับกลยุทธ์กำหนดราคาสินค้าเสียใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น ภาษีอัตราสูงยังกระทบต่อแผนการที่เคยวางไว้ Microsoft ต้องถอนตัวจากโครงการศูนย์ข้อมูลมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 33,000 ล้านบาท) ในรัฐโอไฮโอด้วย เหตุเพราะต้นทุนและสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

ขณะที่ Volvo Group จำใจต้องปลดพนักงานราว 800 คน ในโรงงาน 3 แห่งในสหรัฐฯ และไอร์แลนด์ จากความผันผวนของตลาด ที่เกิดจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตเกมมิงเกียร์อย่าง Razer ถึงกับต้องถอดหน้าเพจขายสินค้าออกจากหน้าเว็บชั่วคราวเช่นเดียวกัน ส่วน Nintendo ต้องประกาศเลื่อนขาย Nintendo Switch 2 ออกไป

แน่นอนว่าบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่พึ่งพาจีนในการผลิตสินค้า อย่าง Apple ที่ผลิตสินค้าถึง 80% ในจีน ต่างก็ออกมาบอกว่าจะขึ้นราคาสินค้าเพื่อบรรเทาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นด้วย ทั้งจากตัวสินค้าสำเร็จรูปเอง และราคาชิ้นส่วนที่สูงขึ้น

Nintendo ออกมาบอกว่าราคาของ Switch 2 และ Accessories อย่าง Joy-Con และสายชาร์จก็อาจต้องเผชิญกับ “การปรับปรุงราคา” ในอนาคต เพราะส่วนใหญ่ก็ประกอบในจีน

นอกจากสินค้าที่เป็นฮาร์ดแวร์แล้ว ซอฟต์แวร์ก็ไม่รอด Microsoft ขึ้นราคาสมาชิกรายเดือน Power BI Pro suite ชุดซอฟต์แวร์สำหรับทำ Data Visualization จาก 10 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 333 บาท) เป็น 14 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 466 บาท) เนื่องจากต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้น

ซึ่งโดยปกติแล้วเส้นทางของห่วงโซ่การผลิตในสินค้าชนิดหนึ่งอาจผ่านด่านศุลกากรของแต่ละประเทศในหลายรอบ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ในสหรัฐฯ ที่มักจะต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างเม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งแต่ละรอบที่ขนผ่านด่านชายแดนก็ได้รับผลกระทบจากภาษีด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่ายิ่งสินค้าที่มาจากจีนต้องผ่านสหรัฐฯ มากเท่าไหร่ ต้นทุนก็ยิ่งสูงตาม

สิ่งแรก ๆ ที่เกิดขึ้นหลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารอบแรกจากจีนและทั่วโลก ก็คือการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาดสหรัฐฯ แห่ขายหุ้นสหรัฐฯ จนหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสายเทคโนโลยีร่วงกราว

มูลค่าตลาดของ NVIDIA ตกไปมากถึง 266,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่การประกาศขึ้นภาษีทั่วโลก บริษัทยังต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจถึง 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 183,408 ล้านบาท) จากต้นทุนด้านคลังสินค้าและการยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมหาศาลจากลูกค้าในจีน เนื่องจากการเปลี่ยนมาตรการจำกัดส่งออกชิป H20 สำหรับใช้ในการพัฒนาศูนย์ข้อมูล AI ด้าน AMD ก็สูญมูลค่าตลาดไปมากกว่า 7% จากกรณีเดียวกัน

ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีต้องใช้ธาตุหายาก (Rare Earth Elements) ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 17 รายการในการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน รายงานธรณีวิทยาสหรัฐฯ ชี้ว่าระหว่างปี 2020 – 2023 สหรัฐฯ นำเข้า 70% ของธาตุและโลหะหายากมาจากจีน ในขณะที่สหรัฐฯ เองมีเพียงเหมืองเดียวที่เปิดใช้งานอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นของบริษัท MP Materials ที่เดิมทีก็ต้องส่งไปแปรรูปที่จีนอีกที

การที่สหรัฐฯ จู่ ๆ ขึ้นภาษีจีนไปทะลุ 200% ก็มีแต่จะทำให้จีนตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษี “ต่างตอบแทน” ที่ทะลุไปถึง 125% แล้ว รวมถึงยังมีการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ต่อธุรกิจสหรัฐฯ เช่น การคว่ำบาตร ตรวจสอบอย่างเข้มข้น และที่สำคัญคือการยุติการส่งออกธาตุหายากขนาดกลางและหนักไปยังสหรัฐฯ ซึ่งกระทบห่วงโซ่การผลิตโลกยิ่งขึ้นอีก หนทางของสหรัฐฯ ก็คือการไปหาแหล่งผลิตธาตุหายากอื่น ๆ เช่น ในอเมริกาใต้ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังการผลิตน้อยกว่าจีนมาก และมีต้นทุนที่สูงกว่า

ผู้ที่ต้องแบกรับผลพวงของสงครามภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็คือผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องรับไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ทั้งจากการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่มหาโหด และต้นทุนที่เกิดจากการย้ายฐานการผลิต

นอกจากผู้บริโภคในขั้นสุดท้ายแล้ว แรงงานในสหรัฐฯ เองก็อาจจะเผชิญความเสี่ยงจากการต้องออกจากงาน เพราะโรงงานในสายเทคโนโลยี และที่อื่น ๆ ก็จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและเปิดทำงานมากขึ้น เพราะมูลค่าของชิ้นส่วน และอุปกรณ์ในสายการผลิตที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมีมากถึง 123,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ราว 4.1 ล้านล้านบาท)

นักวิเคราะห์ประเมินว่าต้นทุนการดำเนินธุรกิจสายการผลิตที่มากขึ้น ก็อาจทำให้ต้องมีการลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ เช่น การจ้างแรงงาน หันไปใช้ระบบอัตโนมัติที่ใช้เงินน้อยกว่า

จะเป็นอย่างไรต่อ ?

ดูเหมือนว่าสงครามภาษีระหว่างพญาอินทรีและมังกรแดงเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ทรัมป์เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึงครึ่งปี โลกก็ต้องผ่านอะไรมากมาย และจะยังมีแนวโน้มมีอะไรใหม่ ๆ ให้ตื่นตกใจเล่นอีกเรื่อย ๆ

ที่ผ่านมาสิ่งที่คนทั่วโลกลุ้นมาตลอด คือการประกาศอัตราภาษีนำเข้าชิป ซึ่งก็ไม่ต้องลุ้นให้เมื่อยอีกต่อไป เพราะทรัมป์ไม่ได้ลืมที่จะมีแผนขึ้นภาษีชิป ที่เป็นสารตั้งต้นของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทุกประเภท

ฮาเวิร์ด ลัตนิก (Howard Lutnick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกมาชี้ว่า รัฐบาลมีแผนจะประกาศอัตราภาษีนำเข้าชิป “เร็ว ๆ นี้” เป็นแผนที่จะลดการพึ่งพาจีน และย้ายฐานการผลิตเข้ามายังสหรัฐฯ

แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าห่วงโซ่การผลิตเทคโนโลยี โดยเฉพาะชิปโยงใยกันทั่วโลก เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น การจะเก็บของกลับเข้าบ้าน ก็จะกระทบเพื่อนรักในเอเชีย รวมถึงทุกประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การขึ้นภาษีชิปในตอนที่สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งคนอื่นในการผลิตอยู่ ก็จะทำให้สินค้าเทคโนโลยีทุกประเภทมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การที่สหรัฐฯ พยายามถอนทุกอย่างออกจากจีน อาจเป็นการเร่งความพยายามในการพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีของจีน ทั้งการผลิตชิป และสมาร์ตดีไวซ์ต่าง ๆ ของจีน เพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศมากขึ้น

Huawei Mate XT
เราอาจได้เห็นเทคโนโลยีจีนก้าวกระโดด ?

นักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่า การสร้างกำแพงการค้าจีนของสหรัฐฯ ในอัตรานี้ก็อาจทำให้แต้มต่อในตลาดเทคโนโลยีของจีนในหลายด้านมีมากกว่าเดิม โดยเฉพาะสมาร์ตโฟน ที่จะเห็นคนจีนเลือกใช้ Huawei แทนแบรนด์เจ้าตลาดอย่าง Apple มากขึ้นเรื่อย ๆ และการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ก็ยิ่งเพิ่มความได้เปรียบให้กับสินค้าจีนมากขึ้น ด้วยราคาที่ต่ำกว่า

แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐฯ และจีนยังต้องพึ่งพากันในหลาย ๆ แง่มุม สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาฐานการผลิตในจีน จีนก็ต้องพึ่งเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ แถมทั้งสองประเทศยังเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกันและกัน

แต่สิ่งที่ตามมาก็คือความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นไปแล้ว และความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในสายตาประชาคมโลก โดยเฉพาะในหมู่พันธมิตรสหรัฐฯ เองก็เรียกได้ว่ามองหน้ากันติดได้ยากแล้ว

มาร์ก คาร์นีย์ (Mark Carney) นายกรัฐมนตรีแคนาดาถึงกับออกมาปล่อยวลีเด็ดที่ว่า “ระบบการค้าโลกที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่สหรัฐอเมริกา” ที่ซึ่ง “แคนาดาพึ่งพาและได้ประโยชน์มาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2” นั้นได้ “สิ้นสุดลงแล้ว” และสหรัฐฯ “ไม่ใช่คู่ค้าที่ไว้วางใจได้อีกต่อไป” ในขณะที่ ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก็ชี้ว่ายุคของ “โลกาภิวัตน์ที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์” และ “การค้าเสรี” ก็ได้ดำเนินมาถึงจุดจบ