เลอโนโว (Lenovo) เปิดตัวโซลูชันส่งเสริมการศึกษา EdVision ในประเทศไทย ที่นอกจากจะให้เทคโนโลยีด้านการศึกษา ให้การเรียนการสอนแบบ Hybrid ได้แล้ว ยังให้ความรู้กับผู้สอนในการเตรียมการสอนให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างทางเลอโนโว และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ต้องการจะเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ลดช่องว่างระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน และช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ทั้งนี้ ทักษะที่พัฒนา ไม่ได้มีแต่ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเตรียมพร้อมไปสู่การทำงานในอนาคตด้วย

โปรแกรม EdVision เป็นโครงการที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว และได้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลมากขึ้น พร้อมกับการปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบไฮบริดให้เป็นรูปแบบการสอนที่คาดว่าจะคงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไป โดยโครงการนี้เพิ่งจะเริ่มนำมาใช้ในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเปิดให้ใช้งานจริงเป็นตัวอย่างในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยแล้ว รวมถึงได้เริ่มดำเนินการในมหาวิทยาลัยอีก 5-6 แห่ง และคาดว่าจะได้ไปทำระบบต่อในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ รวมถึงทางมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดต่อไป

ทางเลอโนโว ได้นำโครงการ EdVision มานำเสนอในงาน bett asia Bangkok 2022 ซึ่งเป็นงานประชุมเพื่อโชว์เทคโนโลยีด้านการศึกษาโดยเฉพาะ โดยในงานได้นำเอาตัวอย่างการติดตั้งระบบจากโครงการ EdVision เป็นระบบห้องเรียนที่ใช้การถ่ายอาจารย์บนฉากเขียว และจัดให้บนจอของนักเรียนเสมือนว่าอาจารย์กำลังสอนจากสถานที่จริง ด้วยเทคนิคเดียวกันกับการถ่ายรายการโทรทัศน์จากห้องส่ง หรือจะเป็นระบบควบคุมคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนอย่าง Lanschool ที่สามารถดูการทำงานของหน้าจอนักเรียน บังคับปิดบังจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้ทำอย่างอื่น หรือปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ต้องการได้ในโปรแกรมเดียว และอย่างสุดท้ายก็คือ การเรียนการสอนด้วย VR และ AR ที่จะช่วยให้การเรียนการสอนมีความสมจริง (Immersive) มากยิ่งขึ้น

นายสจวร์ต คิง (Stuart King) กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจและอุปกรณ์เพื่อการศึกษา เลอโนโว โกลบอล กล่าวว่า ทางเลอโนโวมีหน่วยงานที่เน้นด้านการศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งทางหน่วยงาน มีเป้าหมายที่อยากจะเตรียมพร้อมสำหรับทักษะการใช้ชีวิตด้วย จากการศึกษาถึงข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาด้านการศึกษา พบว่าการเรียนการสอนในช่วงก่อนหน้ามีวิธีที่คล้ายคลึงกันและเป็นไปตามที่คาดไว้ กล่าวคือ อยู่ในรูปแบบที่ครู สอนนักเรียนแบบต่อหน้ากัน แต่หลังจากการเข้ามาของโรคโควิด-19 ทำให้การศึกษาเกิดความแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ เด็กที่อยู่บ้านก็เหมือนหยุดเรียน เพราะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ โดยเฉพาะในช่วงแรก ซึ่งสร้างช่องว่างในการศึกษาขึ้น เพราะแต่ละคน ในแต่ละประเทศ มีอุปกรณ์การเรียนที่แตกต่างกันไป และเลอโนโวก็พยายามจะลดช่องว่างนั้นลงไป

โดยถ้าเน้นย้ำในประเทศไทยโดยเฉพาะ ก็จะพบว่าสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิดมาได้ในสภาพที่ไม่ย่ำแย่มากนัก แต่หลังจากนี้ก็จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ หลังผ่านเหตุการณ์ให้ได้ดีขึ้น และอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ จะช่วยให้การศึกษาดำเนินต่อไปได้

การเข้ามาของโปรแกรม EdVision นั้นจะช่วยให้การเรียนการสอนนั้นไร้รอยต่อในการเตรียมการสอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งโปรแกรมนี้จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้ด้วย ฝั่งอาจารย์ก็สามารถสอนต่อไปได้ โดยไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ในการสอนต่าง ๆ เลย ให้ทางเลอโนโวจัดการ และเตรียมแทนได้ ซึ่งในตอนนี้ก็ได้เริ่มใช้ในภูมิภาค Asia Pacific แล้ว เพราะนักเรียนในภูมิภาคนี้มีจำนวนที่ค่อนข้างมาก และพร้อมสำหรับการปรับตัวต่อเทคโนโลยีด้วย นอกจากนี้ ทางเลอโนโวยังมีแผนที่จะขยายเข้าไปในโซนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

นางอตินุช โรจน์ประเสริฐ ผู้จัดการทั่วไปประจำ พม่า ลาว และกัมพูชา และผู้จัดการสายผลิตภัณฑ์เพื่อธุรกิจ, เลอโนโว ประเทศไทยกล่าวว่า เลอโนโวได้เห็นช่องว่างในการศึกษา ว่าเทคโนโลยีนั้นเข้าถึงกลุ่มคนในด้านการศึกษาได้ไม่มากพอ บางคนยังใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ไม่เป็น ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความลำบากมากขึ้น โดยได้ลดช่องว่าง ยกระดับการศึกษาที่ทำให้ทันสมัย และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และการร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการผนวกซอฟต์แวร์ในการเรียนและประชุมออนไลน์ อย่าง Microsoft Teams เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียน และประชุมออนไลน์ที่ไร้รอยต่อมากขึ้นได้

โครงการ EdVision คือโครงการที่ช่วยเหลือการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในการเรียนการสอน เกิดจากการนำข้อมูลจากหลาย ๆ คนเข้ามารวมกัน โดยเฉพาะจากอาจารย์ ซึ่งทางเลอโนโวสามารถทำให้การเรียนการสอนไปในรูปแบบ 2-way communication มากยิ่งขึ้น และทำให้การเรียนรู้มาในรูปแบบ Hybrid มากขึ้นได้ด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส