แพน ศรุต ได้มีโอกาสเยือน OPPO สำนักงานใหญ่ในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายพฤศจิกายน ในทริป OPPO Tech Insider 2023 จึงได้เก็บ 5 เรื่องที่น่าสนใจจากกระบวนการผลิตและพัฒนาสมาร์ตโฟนและเทคโนโลยีของ OPPO มาเล่าให้ฟังกัน

1. การทดสอบความทนทานขั้นสุด

สมาร์ตโฟนเป็นของที่พกติดตัวผู้ใช้ไปทุกวัน เพราะฉะนั้นสมาร์ตโฟนแต่ละรุ่นต้องมีการทดสอบความทนทานอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน ซึ่งเมื่อเราอยู่ที่ OPPO ประเทศจีนจึงได้ดูการทดสอบมากมาย ตั้งแต่

Drop Test ทดสอบการตกในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การใช้เครื่องจักรเหวี่ยงสมาร์ตโฟนใส่วัสดุหินอ่อน, การโยนลงพื้น, การใส่ในถังหมุน, การดรอปเบา ๆ ซ้ำจุดเดิม รวมถึงการจำลองเหตุการณ์ในชีวิตจริง อย่างการโยนสมาร์ตโฟนลงโต๊ะกินข้าว ซึ่งจะมีการทดสอบซ้ำในหลาย ๆ มุม เพื่อตรวจสอบความทนทานว่าผ่านเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ และที่น่าสนใจเลยคือเขาใช้แขนกลของ Kuka ที่มีความแม่นยำสูง และเป็นแบรนด์ระดับโลกด้านหุ่นยนต์ในการทดสอบ

Flex Test ทดสอบการพับ ที่มีการทดสอบทั้งรุ่น Find N3 และ Find N3 Flip โดยในรุ่น Find N3 จะพับทั้งหมด 1 ล้านครั้ง กินเวลาการทดสอบ 45 วัน ส่วนรุ่น Find N3 Flip จะพับแค่เพียง 20,000 ครั้ง แต่ทาง OPPO ก็แจ้งว่าสามารถทดสอบได้ 1 ล้านครั้งเหมือนกัน และที่น่าสนใจคือ Find N3 Flip จะมีการทดสอบการพับแบบปิดไม่สนิทด้วย

นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความทนทานของช่อง USB-C และแจ็ค 3.5 มม. ด้วยการเสียบและเข้าถอดหลายหมื่นครั้ง และยังมีการทดสอบการงอของช่อง USB-C ระหว่างที่เสียบคาเครื่องด้วย รวมถึงปุ่มกดต่าง ๆ ก็มีการทดสอบกดซ้ำ ๆ หลายหมื่นครั้งเช่นกัน

หนึ่งไฮไลต์ที่เห็นแล้วตกใจเลยคือ การทดสอบการบิดของ OPPO Reno ที่ใช้เครื่องจับด้านบนและล่าง จากนั้นก็บิดตรงกลาง เห็นแล้วเสียวจอแตกมาก ๆ และยังมีการจำลองสถานการณ์จริงด้วยการเอาสมาร์ตโฟนใส่กระเป๋ากางเกงด้านหลังแล้วนั่งทับ

ทดสอบการกันน้ำตามมาตรฐาน IP

อีกส่วนที่ได้เห็นคือการทดสอบการป้องกันน้ำ หรือ IP ที่จะมีการฉีดน้ำใส่สมาร์ตโฟนรอบทิศทาง นอกจากนี้ก็มีการทดสอบ ESD (Electrostatic Discharge) ว่ามีกระแสไฟของวงจรไหนรั่วบ้าง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของ Wi-Fi และสัญญาณโทรศัพท์ต่าง ๆ

ปิดท้ายการทดสอบสุดอึดด้วยการทดสอบความทนต่อสภาพอากาศ โดยจะใส่สมาร์ตโฟนเข้าไปในตู้ที่ทำความเย็นและความร้อนเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูว่ายังใช้งานได้ปกติหรือไม่

2. ส่อง CyberReal 2.0

CyberReal คือการผสมผสานระหว่างโลกจริงที่ถูกสแกนให้เป็นภาพจำลองสามมิติกับวิธีการประมวลผลแบบพิเศษ พูดให้ง่าย ๆ คือการผสมระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนนั่นเอง

มาสคอต Olie รูปแบบของ AR

OPPO มีการยกตัวอย่างด้วยการตั้งสมาร์ตโฟนไว้ทั่วห้อง โดยเปิดกล้องที่มีวัตถุจากโลกเสมือนอยู่ในนั้น ทาง OPPO เล่าให้ฟังว่าการจะทำแบบนั้นได้ มันมีความยากอยู่ 2 ขั้นตอน

  1. เราจะสร้างโลกเสมือนยังไง ให้มีประสิทธิภาพ ?
  2. เราจะระบุตำแหน่งและเคลื่อนไหวยังไงในโลกเสมือน ?

ขั้นตอนแรกคือ เราต้องทำให้การขยับหรือเคลื่อนไหวในโลกจริง เพื่อสะท้อนในโลกเสมือนทันที (Near Zero Latency)  ส่วนการระบุตำแหน่งนั้น การจะทำให้ดี จะใช้แค่ระบบ GPS ก็ไม่ได้ เพราะต้องสามารถให้ระบบนี้ใช้ในอาคารได้ด้วย OPPO ต้องการความแม่นยำระดับเซนติเมตร และไร้ความหน่วงในการส่งสัญญาณ นอกจากจะอัปเดตตำแหน่งของเราแล้ว เราต้องสามารถอัปเดตการเคลื่อนไหวของเราได้ด้วย

ตัวอย่าง Virtual Product Showcase ในรูปเป็น OPPO Find N3

ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ คือสมาร์ตโฟนของ OPPO และแว่น MR ในอนาคต ที่ใช้ทั้ง Wi-Fi, Bluetooth และเซนเซอร์ทั้งหมด ในทำการรวบรวมข้อมูลจากเซนเซอร์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมาก ๆ ยกตัวอย่าง เช่น สัญญาณ Wi-Fi สามารถคำนวณระยะระหว่างอุปกรณ์กับเราเตอร์ได้

ในปัจจุบันสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับ CyberReal ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ที่แปลกใหม่เท่านั้น แต่เป็นการริเริ่มการที่เราจะเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนได้จริง ๆ ในโลกเสมือนคุณสามารถสร้างห้องที่ตอนนี้พวกเราอยู่กัน โดยใช้เวลาเพียงแค่วันเดียว

ด้วย OPPO AI Engine เราสามารถสแกนภาพ 12,000 ภาพต่อชั่วโมง ยกตัวอย่างในห้องนี้มีขนาด 140 ตารางเมตร OPPO สามารถจำลองห้องนี้บนคลาวด์ภายใน 5 นาทีเท่านั้น

ใน OPPO บางสาขา มีการใช้งาน CyberReal ในการให้ลูกค้าได้ทดลอง Virtual Shopping และในวันนี้ OPPO ได้จัดแสดงการใช้ CyberReal กับ 3 ตัวอย่าง

  1. Flagship Phone Showcase
  2. Virtual Video Experience
  3. Virtual Olie (OPPO Mascot)
Virtual Video Experience

นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดง MR Glasses (Developer Edition) ให้ได้ลองเล่นกันอีกด้วย

การทดลองใช้งาน MR Glasses (Developer Edition)

3. ลุย Communication Lab

Communication Lab แล็บทดสอบการเชื่อมต่อของสมาร์ตโฟน โดยแบ่งออกเป็น 2 ห้องคือ ห้องจำลองเครือข่ายประเทศจีนและห้องโกลบอล 

Black Box ที่ใช้จำลองเครือข่ายมือถือ
ในประเทศจีน
เครื่องจักรที่ใช้ในการทดสอบการใช้งาน Social media ทำงาน 24 ชั่วโมงไม่มีพัก

ห้องจำลองเครือข่ายประเทศจีน มีการโชว์ Black Box ที่เป็นการจำลองเครือข่ายทั้งหมดของจีน ในการทดสอบกับมือถือของ OPPO และมีการทดสอบในห้องปิด (Shelter Room) ในนั้นมีหุ่นที่ทำหน้าที่เหมือนคนจริง ๆ ในการเล่นโซเชียล เล่นเกม และมีโซนที่ห้ามถ่าย ในการทดสอบเน็ตเวิร์กของสมาร์ตโฟน OPPO

สมาร์ตโฟน OPPO ที่ทดสอบด้วยเครือข่าย Global
หน้า Dashboard เช็กเครือข่ายไหนล่มตอนไหน

ส่วนห้องโกลบอลจะคล้าย ๆ กัน แค่มี Black Box ที่เป็นเครือข่ายของทั้งโลก ในตอนที่เข้าไปมีการทดสอบเครือข่ายของประเทศไทยอยู่ด้วย และเราสามารถดูได้ว่าเน็ตประเทศไหนล่มตอนไหน

4. OPPO กับเทคโนโลยีสุขภาพ

เราได้ไปเยือน Health Lab เพื่อดูการ Calibrate อุปกรณ์ของ OPPO (Smart Watch) กับอุปกรณ์ออกกำลังกายจริง ๆ ซึ่งในซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ ได้เพิ่มกีฬาที่สามารถเลือกได้อีก 2 ชนิด คือแบดมินตันและเทนนิส รวมถึงมีมีฟีเจอร์แจ้งเตือนการกรนใน OPPO Watch และในสมาร์ตโฟน OPPO นอกจากนั้นยังมีโซนที่ใช้กล้อง 6 ตัวกับหมุดรับภาพเพื่อ Map ภาพสามมิติ ในการจำลองการเคลื่อนที่ของคน

ทดสอบการวิ่ง และมีการติดเซนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลไป Calibrate กับสินค้า

OPPO ได้อธิบายว่า Watch 4 Pro ตัวใหม่ล่าสุด มีการใช้อัลกอริทึมการประเมินหัวใจและหลอดเลือดที่พัฒนาโดย OPPO ช่วยให้ผู้ใช้ระบุความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดตีบได้ทันเวลา นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันการจดจำรูปแบบการวิ่งใหม่ ซึ่งสามารถตรวจจับความสมดุลของเท้าซ้ายและขวาของนักวิ่ง ความถี่ก้าว ความยาวก้าว และตัวชี้วัดอื่น ๆ

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเซนเซอร์ อัลกอริทึม และวิทยาศาสตร์ข้อมูล OPPO กำลังทำงานเพื่อทำให้การจัดการสุขภาพในแต่ละวันเป็นจริงสำหรับทุกคน ข้อมูลและการวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังโซลูชันด้านสุขภาพขั้นสูงเหล่านี้มาจากห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพของ OPPO เอง ซึ่งใช้อุปกรณ์กีฬาและการตรวจสอบต่าง ๆ เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพที่หลากหลาย

5. การใช้ AI และหุ่นยนต์ของ OPPO

ในทุกส่วนที่ OPPO ได้โชว์เรา สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการใช้หุ่นยนต์มาช่วยในการทดสอบและทำงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการทดสอบอัตโนมัติที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีผู้ดูแล

เริ่มต้นจาก OPPO Intelligent Imaging Lab ที่ใช้แขนหุ่นยนต์ช่วยถ่ายภาพทดสอบกล้องให้ จึงทำให้กระบวนการถ่ายภาพทดสอบทั้งหมดเป็นมาตรฐานเดียวกัน และทำงานได้รวดเร็ว

หรือใน OPPO Communication Lab ก็ใช้แขนหุ่นยนต์เพื่อเลียนแบบการใช้งานสมาร์ตโฟนของผู้คน เช่นการเลื่อนหน้าโซเซียล ท่องเว็บ หรือทำงานอื่น ๆ เพื่อทดสอบการรับส่งข้อมูล

และใน OPPO NFC Lab สมาร์ตโฟนแต่ละเครื่องผ่านการทดสอบนับหมื่นครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าการอ่านและเขียนมีความแม่นยำบนเทอร์มินัล NFC ประเภทต่าง ๆ

ในส่วนของ AI ก็มีการตั้ง OPPO AndesBrain (Binhaiwan Bay) ศูนย์ IDC สำหรับการจัดเก็บข้อมูล AI และการประมวลผลประสิทธิภาพสูง เพราะขณะนี้ OPPO มีผู้ใช้งาน ColorOS หลายร้อยล้านรายต่อเดือนทั่วโลก ศูนย์ข้อมูลมีพลังการประมวลผลและแบนด์วิดท์เพื่ออำนวยความสะดวกในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และสนับสนุนวิศวกรรมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของ OPPO

และนี่คือสิ่งที่เราได้จาก OPPO Tech Insider 2023 ครั้งนี้ครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส