ผลวิจัยใหม่ของมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ในสหราชอาณาจักร ที่ทำร่วมกับศาสตราจารย์ เควิน เจียง (Kevin Jiang) แห่งมหาวิทยาลัยจี้หลิน ประเทศจีน พบว่างานเขียนของนักศึกษาดีกว่างานที่ AI สร้างขึ้น โดยอาศัยการเปรียบเทียบงานของนักศึกษา 145 คน กับงานที่ ChatGPT เจเนอเรตขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าแม้งานเขียนของ AI จะมีความสอดคล้องร้อยเรียงกันและใช้ถ้อยคำได้สละสลวย แต่ก็ขาดปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งไป นั่นก็คือการใส่ตัวตนในงานเขียน (งานวิจัยใช้คำว่า “Personal Touch”)

ส่วนหนึ่งในเป้าหมายของงานวิจัยต้องการที่จะเน้นความสำคัญของการสร้างความรู้ที่ลึกซึ้งและความตระหนักรู้เชิงจริยธรรมในยุคดิจิทัล โดยหวังว่าผลการวิจัยจะช่วยให้ครูบาอาจารย์สามารถตรวจจับการโกงในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้โดยการแกะงานที่ AI สร้างขึ้น

ศาสตราจารย์ เคน ฮายแลนด์ (Ken Hyland) จากคณะครุศาสตร์และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ระบุว่านับตั้งแต่ที่ ChatGPT ได้ปล่อยตัวสู่สาธารณะ ก็ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงให้แก่บรรดาครูอาจารย์ที่กังวลว่านักเรียนจะใช้ AI ในการทำการบ้าน อาจกลายเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้เกิดการโกงและอาจบั่นทอนการเรียนรู้และทักษะคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะหากไม่มีเครื่องตรวจจับ AI ที่ดีพอ

ฮายแลนด์ชี้ว่างานวิจัยชิ้นนี้มีขึ้นมาเพื่อดูว่า AI สามารถลอกเลียนแบบงานเขียนของมนุษย์ได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะวิธีการที่ผู้เขียนตอบสนองกับผู้อ่าน

งานวิจัยได้ทำการทดสอบสมมติฐานนี้ด้วยการวิเคราะห์งานเขียน 145 ชิ้นที่นักศึกษาเขียนขึ้น เทียบกับงานเขียนอีก 145 ชิ้นที่ ChatGPT “เขียน” ขึ้น โดยฮายแลนด์ชี้ว่าทีมวิจัยให้ความสนใจในการค้นหาสิ่งที่เรียกว่า “สัญลักษณ์การปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน” (Engagement Marks) เช่น คำถาม และข้อคิดเห็นส่วนบุคคลที่เติมเข้าไป

นักศึกษา VS ChatGPT

ฮายแลนด์และทีมวิจัยพบว่างานเขียนที่นักศึกษาเขียนขึ้นมักจะมี “กลยุทธ์ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน” เป็นจำนวนมาก ทำให้งานเขียนเหล่านี้สร้างความรู้ที่มีชีวิตชีวาและน่าคล้อยตาม ตัวอย่างของกลยุทธ์เหล่านี้มีทั้งการถามคำถามเชิงพรรณา ข้อคิดเห็นส่วนตัว และการสร้างความดึงดูดแก่ผู้อ่าน ซึ่งช่วยยกระดับความชัดเจน ความเชื่อมโยง และสร้างข้อถกเถียงที่มีเหตุผล

ในทางกลับกัน งานเขียนของ ChatGPT แม้ว่าจะใช้ถ้อยคำทางภาษาที่สวยงาม แต่ขาดตัวตนของผู้เขียน และแม้จะลอกเลียนงานเขียนเชิงวิชาการได้ แต่ก็ไม่สามารถใส่ข้อความที่แสดงถึงตัวตนของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถแสดงจุดยืนของผู้เขียนได้ด้วย โดยฮายแลนด์ชี้ว่างานเขียนของ ChatGPT มักจะเลี่ยงคำถามและมีการแสดงความเห็นที่จำกัด ทำให้ “ไม่ค่อยน่าติดตาม ไม่น่าคล้อยตาม และไม่มีการนำเสนอมุมมองที่เด่นชัด”

แต่ AI ก็ยังสำคัญ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยชี้ว่าเครื่องมือ AI อย่าง ChatGPT ก็ยังควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยการสอน แทนการเป็น “ทางลัด” ในการเรียนหนังสือ

ฮายแลนด์ชี้ว่า เพราะเวลาที่นักเรียน-นักศึกษา มาโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ผู้สอนไม่ได้แค่สอนวิธีการเขียน แต่สอนวิธีการคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอัลกอริทึมใดที่จะมาลอกเลียนได้

ทั้งนี้ งานวิจัยฉบับนี้มีชื่อว่า ‘Does ChatGPT write like a student? Engagement markers in argumentative essays’ ตีพิมพ์ในวารสาร Written Communication