เดิมที่สมาร์ตโฟนส่วนใหญ่จะติดตั้งแบตเตอรี่ที่มีความจุประมาณ 4,000 – 5,000 mAh ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่จนทำให้สมาร์ตโฟนมีน้ำหนักมากจนเกินไป และใช้ศักภาพจากชิปเซตและซอฟต์แวร์ช่วยจัดการพลังงาน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและการใช้พลังงาน
ล่าสุด เว็บไซต์ GizmoChina ได้รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2024 จนถึงต้นปี 2025 ที่ผ่านมา มีสมาร์ตโฟนหลายรุ่น ทั้งระดับเริ่มต้น, ระดับกลาง ไปถึงระดับเรือธงและพับจอได้ ได้รับการติดตั้งแบตเตอรี่ที่มีความจุสูงถึง 6,000 mAh เป็นอย่างน้อย โดยมีเหตุผลสำคัญ ดังนี้
1. ผู้ใช้เกิดกังวล
สมาร์ตโฟนในปัจจุบันได้รับการออกแบบให้บอดีบางลง, ติดตั้งชิปเซตที่ประมวลผลได้เร็วขึ้น และทรงพลังมากขึ้น เพื่อให้รองรับการเชื่อมต่อ 5G ความเร็วสูง, หน้าจอรองรับรีเฟรชเรตสูงถึง 120 Hz, รองรับแอปต่างที่ขับเคลื่อนด้วย AI และใช้งานหลายด้านพร้อมกัน ซึ่งส่งผลให้ต้องใช้พลังงานสูง และทำให้ผู้ใช้ทุกระดับ ตั้งแต่เกมเมอร์, ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไปจนถึงผู้ใช้ทั่วไป เกิดความกังวลว่าอาจใช้งานสมาร์ตโฟนของตนได้ไม่ตลอดทั้งวัน กอปรกับผู้ใช้หลายคนมิได้พกแบตเตอรี่สำรองหรืออะแดปเตอร์เพื่อใช้นอกสถานที่
นั่นทำให้การติดตั้งแบตเตอรี่ที่มีความจุสูงจึงกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน

2. คอนเซปต์โฟน realme 10,000 mAh เป็นตัวพลิกเกม
raelme เพิ่งเปิดเผยคอนเซปต์โฟน เรียกว่า ‘GT 10,000 mAh’ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2025 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการมาพร้อมบอดีที่บางเพียง 8.5 มม. และหนักเพียง 212 กรัม ซึ่งเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีซิลิคอน-คาร์บอน (Silicon-Carbon) ซึ่งทำให้แบตเตอรี่มีความหนาแน่นของพลังงานสูงถึง 887 Wh/L
นี่เป็นการก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีลิเธียมไอออน (Lithium-ion) ที่ใช้ในแบตเตอรี่แบบเดิม ผสานกับสถาปัตยกรรมการออกแบบภายในตัวเครื่องของ realme ที่เรียกว่า ‘Mini Diamond Architecture’ ซึ่งช่วยให้ติดตั้งเมนบอร์ดที่มีความแคบที่สุดในสมาร์ตโฟนระบบ Android อยู่ที่ 23.4 มม. รวมถึงรองรับการชาร์จไฟเร็วถึง 100 W
3. เทคโนโลยีซิลิคอน-คาร์บอน (Silicon-Carbon) สุดล้ำ
การปรับมาใช้เทคโนโลยีซิลิคอน-คาร์บอนนั้น กลายเป็นหนึ่งในการอัปเกรดแบตเตอรี่ที่สำคัญสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้แบตเตอรี่รองรับความหนาแน่นของพลังงานได้สูงขึ้น, จัดการความร้อนได้ดีขึ้น และรองรับการชาร์จไฟได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดและน้ำหนักของตัวแบตเตอรี่
หนึ่งในแบรนด์สมาร์ตโฟนที่เน้นใช้ศักยภาพจากแบตเตอรี่ซิลิคอน-คาร์บอน คือ Xiaomi ซึ่งเพิ่งเปิดตัว Redmi Turbo 4 Pro ที่มาพร้อมแบตเตอรี่ความจุสูงถึง 7,550 mAh ภายใต้บอดีที่บางเพียง 8 มม., หนักเพียง 219 กรัม และมีประสิทธิภาพการทำงานระดับสูง
นอกจากนี้ยังมี vivo, OPPO, iQOO, Infinix และ realme ที่เร่งเปิดตัวสมาร์ตโฟนระดับกลางและเรือธงที่มาพร้อมแบตเตอรี่ซิลิคอน-คาร์บอน อย่างต่อเนื่อง

4. Apple และ Samsung ก็อาจสนใจประเด็นนี้
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ Apple และ Samsung ซึ่งเป็นแบรนด์สมาร์ตโฟนชั้นนำของโลก ยังมิได้ใช้แบตเตอรี่ซิลิคอน-คาร์บอน โดยทั้ง 2 แบรนด์ เน้นใช้ศักยภาพจากซอฟต์แวร์ช่วยจัดการพลังงานอย่างสมดุล เพื่อให้สมาร์ตโฟนเรือธงของตนรองรับการใช้งานได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องติดตั้งแบตเตอรี่ความจุสูงมากนัก
แต่ด้วยความที่ผู้ผลิตแบรนด์อื่นได้หันไปใช้แบตเตอรี่ความจุ 6,000 mAh เป็นอย่างน้อย กอปรกับฮาร์ดแวร์ได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ใช้ตั้งความหวังต่อสมาร์ตโฟนเรือธงรุ่นใหม่จาก Apple และ Samsung มากขึ้น และอาจทำให้ทั้ง 2 แบรนด์ พิจารณาใช้แบตเตอรี่ซิลิคอน-คาร์บอน เช่นกัน ซึ่งหากเป็นจริงก็จะเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนโดยรวมไปอีกระดับ
สรุป
จากที่กล่าวมานั้น แบตเตอรี่ซิลิคอน-คาร์บอน จึงถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน ซึ่งมิใช่แค่การอัปเกรดความจุ แต่เป็นการปรับปรุงคุณภาพการใช้งานในระยะยาว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ ทั้งการสร้างเนื้อหา, เล่นเกม, ใช้ AI ช่วยประมวลผล เช่น การตกแต่งภาพ เป็นต้น และการมาพร้อมหน้าจอขนาดใหญ่ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานของสมาร์ตโฟนในปัจจุบันไปแล้ว