ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังอึมครึม แต่ Zoom Communications (NASDAQ: ZM) พิสูจน์แล้วว่ายังเจ๋งอยู่ ! ล่าสุดประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2026 (สิ้นสุด 30 เมษายน 2025) ออกมาสวยหรู รายได้และกำไรพุ่งเกินเป้าที่เคยคาดการณ์ไว้ซะอีก
เอริก หยวน (Eric S. Yuan) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Zoom ถึงกับออกปากชมว่า “เป็นอีกไตรมาสที่แข็งแกร่ง” และยกให้เป็นผลมาจาก “แพลตฟอร์มที่ทรงพลังและการพัฒนานวัตกรรมที่เน้น AI เป็นหลัก”
ทำไม Zoom ถึงยังปังได้อยู่ ?
หยวนบอกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน ลูกค้าหันมาใช้ Zoom เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและพนักงาน รวมถึงเตรียมพร้อมธุรกิจสำหรับอนาคต Zoom เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในบริการอย่าง Zoom Customer Experience, Zoom Revenue Accelerator และ Workvivo ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถดูแลลูกค้าได้ดีขึ้น, กระตุ้นยอดขาย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง
สรุปผลประกอบการไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2026 (เม.ย. 2025)
- รายได้รวม : 1,174.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ถ้าปรับผลกระทบจากค่าเงินก็เพิ่มขึ้น 3.4%)
- รายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กร : 704.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.9%
- รายได้จากลูกค้ารายย่อยออนไลน์ : 470.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย 1.2%
- กำไรจากการดำเนินงาน : พุ่งไป 241.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตามหลัก GAAP) หรือ 467.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตามหลัก Non-GAAP) สูงกว่าปีก่อนทั้งคู่
- กำไรสุทธิ : 254.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น (ตามหลัก GAAP) เพิ่มขึ้นชัดเจน จากปีก่อนที่ 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น
นอกจากตัวเลขที่สวยหรูแล้ว Zoom ยังมีเงินสดและหลักทรัพย์ในมือแน่น ๆ ถึง 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงเดินหน้าซื้อหุ้นคืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น
ลูกค้าองค์กรยังโตต่อเนื่อง
- Zoom มีลูกค้าองค์กรที่จ่ายเงินเกิน 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาถึง 4,192 ราย เพิ่มขึ้น 8.0%
- อัตราการบอกเลิกบริการของลูกค้ารายย่อยออนไลน์ (Online churn) ลดลงเหลือ 2.8%
แนวโน้มสดใสในไตรมาสหน้าและทั้งปี
Zoom คาดการณ์ว่าไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2026 จะมีรายได้รวมระหว่าง 1.195 – 1.200 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสำหรับทั้งปีงบประมาณ 2026 คาดว่าจะมีรายได้รวมระหว่าง 4.800 – 4.810 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ดูเหมือนว่า Zoom จะปรับตัวได้ดีในยุคหลังโควิด โดยเน้นไปที่การตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรและการนำ AI มาเสริมทัพบริการ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตาว่าพวกเขาจะยังคงเติบโตต่อไปได้แข็งแกร่งแค่ไหน