คอลเลกชันเอกสารสำคัญของ อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์และบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกฉบับส่วนตัวของเขา กำลังจะถูกนำออกประมูลในวันที่ 17 มิถุนายน หลังจากที่เอกสารชุดนี้เพิ่งรอดจากการถูกทำลายด้วยเครื่องทำลายเอกสาร

ที่มา: Livescience

โดยเอกสารชุดนี้เป็นสำเนาเอกสาร (Offprints) ของผลงานที่ตีพิมพ์เพื่อแจกจ่ายในแวดวงวิชาการในสมัยนั้น ซึ่งผลิตมาในจำนวนจำกัด โดยประกอบด้วยผลงานสำคัญหลายชิ้น 

  • วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่มีลายเซ็นของอลัน ทัวริง
  • “Equivalence of Left and Right Almost Periodicity” ผลงานตีพิมพ์ชิ้นแรกของอลัน ทัวริง ในปี 1935
  • “On Computable Numbers” (ว่าด้วยจำนวนที่คำนวณได้) บทความวิชาการของอลัน ทัวริง ที่ถูกเขียนขึ้นในปี 1937 ภายหลังบทความฉบับนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่มือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฉบับแรกของโลก
  • “The Chemical Basis of Morphogenesis” จากปี 1952 ซึ่งเป็นผลงานตีพิมพ์ชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายของเขา ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 1954

บริษัทจัดการประมูล Rare Book Auctions เปิดเผยว่า เอกสารเหล่านี้ถูกมอบโดย เอเธล ทัวริง (Ethel Turing) แม่ของอลัน ให้แก่ นอร์แมน เราท์เลดจ์ (Norman Routledge) เพื่อนนักคณิตศาสตร์ของอลัน

หลังจากการเสียชีวิตของนอร์แมนในปี 2013 ลูกสาวคนหนึ่งของเขาได้เก็บเอกสารเหล่านี้ไว้ในห้องใต้หลังคาบ้านของเธอเอง เกือบหนึ่งทศวรรษต่อมา เมื่อลูกสาวของนอร์แมนย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชรา ลูกสาวของลูกสาวนอร์แมนได้ค้นพบเอกสารและเกือบจะนำไปเข้าเครื่องทำลายเอกสาร แต่หลังจากสอบถามคนในครอบครัว เธอจึงตัดสินใจนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินราคา โดยใส่เอกสารทั้งหมดไปในถุงหิ้วธรรมดา

เอกสารชุดนี้จะถูกนำออกประมูลแยกเป็นชิ้น โดยคาดว่าสำเนา “On Computable Numbers” ซึ่งนำเสนอแนวคิด “เครื่องจักรคำนวณสากล” (Universal Computing Machine) และวิทยานิพนธ์ฉบับที่มีลายเซ็น จะมีมูลค่าราว 40,000 ถึง 60,000 ปอนด์สเตอร์ลิง (ประมาณ 1,800,000 – 2,600,000 ล้านบาท) ต่อชิ้น

เอเธล ทัวริง มอบของขวัญชิ้นนี้ให้เราท์เลดจ์ในเดือนพฤษภาคม 1956 เกือบสองปีหลังจากอลัน ทัวริง เสียชีวิตในวัย 41 ปี หลังจากการสร้างสุดยอดผลงานที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและเบล็ตช์ลีย์พาร์ก หน่วยงานถอดรหัสของสหราชอาณาจักร ทัวริงได้ทำงานที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ซึ่งเขาได้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ยุคแรก

อย่างไรก็ตาม ในปี 1952 ระหว่างการแจ้งความเรื่องโจรขึ้นบ้าน อลันได้ยอมรับกับตำรวจว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอีกคนหนึ่ง ทำให้เขาถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายปี 1885 ที่บัญญัติให้การรักร่วมเพศเป็น “อนาจารอย่างร้ายแรง” เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุก เขาถูกบังคับให้รับการทำหมันด้วยสารเคมี ซึ่งเป็นการฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเข้าร่างกาย

อลัน ทัวริง ถูกพบว่าเสียชีวิตในบ้านของเขาจากการได้รับพิษไซยาไนด์ ซึ่งอาจเป็นการฆ่าตัวตายหรืออุบัติเหตุจากการทดลองทางเคมีที่เขาทำอยู่ในขณะนั้น เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้รัฐบาลอังกฤษออกมากล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการในปี 2009 และนำไปสู่การออกกฎหมาย “กฎหมายอลัน ทัวริง” (Alan Turing Law) ในปี 2017 เพื่อนิรโทษกรรมย้อนหลังให้แก่บุคคลที่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดคดีรักร่วมเพศในอังกฤษและเวลส์