ในยุคที่วงการไอทีมีหลายแบรนด์ที่แข่งกันครองตลาด คนยุคใหม่อาจจะไม่ค่อยชินกับชื่อ Commodore มาก่อน แต่ในยุค 80-90 แบรนด์นี้คือตัวตึงของฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปเลยก็ว่าได้ แต่น่าเสียดายที่ชื่อเสียงโดนกลืนหายไป เพราะบริหารไม่รอดในยุคนั้น แต่ต้องมารอดูกันว่าการกลับมาครั้งนี้จะรอดไหม ถ้าเทียบกับเจ้าอื่น ๆ ที่ครองตลาดมานาน
จุดเริ่มต้นความเสียหายที่ยากจะกู้คืน ?
ในปี 1994 บริษัท Commodore ได้จบตำนานของตัวเองไป เพราะการบริหารที่ผิดพลาด แต่หลังจากนั้นซากปรักหักพังของบริษัทก็ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือไปมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ทุกครั้งที่เปลี่ยนเจ้าของ สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ คือความพยายามที่จะทำเงินอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำโลโก้ตัว C ไปแปะบนสินค้าอะไรก็ได้ที่ไร้คุณภาพ ลูกค้าเก่าหลายคนก็ไม่พอใจที่แบรนด์ดี ๆ ต้องมาเสียชื่อเพราะสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ
ซึ่งล่าสุด คริสเตียน ซิมป์ซัน (Christian Simpson) ยูทูบเบอร์เกมเรโทรชื่อดังก็ประกาศซื้อ Commodore มารีแบรนด์ใหม่ โดยบัญชีใน X ก็มีการตอบโต้กับผู้ใช้งานเก่าหลายคน พร้อมภาคภูมิใจในการนำเสนอว่าการเอาโลโก้ Commodore กลับมาแปะสินค้าที่มีคุณภาพในตอนนี้มันยอดเยี่ยมจริง ๆ
เบื้องต้นซิมป์ซันเน้นกลยุทธ์การตลาดด้วยคอนเซปต์แบบการหวนรำลึกถึงอดีต (Nostalgia) ไม่ใช่แค่ C64 แต่เป็นสร้างไวบ์ ตั้งแต่เว็บไซต์ Commodore ใหม่นิยามตัวเองว่าเป็น “แบรนด์ดีท็อกซ์ดิจิทัล ที่ยึดหลักมินิมอล” ยกย่องยุค “เทคโน-ออปติมิซึม” (Techno-Optimism) (ช่วง 1980s – กลาง 1990s) และสื่อว่า Commodore จะช่วยให้ผู้ใช้ได้ย้อนวัยกลับไปวัยเด็ก แต่ก็ต้องมีความเป็นผู้บุกเบิกที่มีวิสัยทัศน์ในอนาคต การสร้างแบรนด์ Commodore ใหม่จึงต้องการเป็นการผสมผสานทั้งคอนเซปต์ของ “อดีต” และ “อนาคต” ในเวลาเดียวกัน
Commodore และจุดขายที่โดดเด่น
เริ่มแรก Comodore เริ่มจากผลิตเครื่องพิมพ์ดีดและเครื่องคิดเลข แต่พอเริ่มมีการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ไปไกลกว่านั้น ก็ต้องมีการปรับตัวจนขึ้นแท่นเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ระดับโลกในปี 1976
จุดขายคือ Commodore 64 (C64) CPU ที่ราคาเข้าถึงง่ายแถมใช้งานดีมาก ๆ CPU อาจจะทำงานช้าหน่อย แต่ด้วยกราฟิกที่ทรงพลังและชิปเสียงที่ดีงาม ทำให้มีเกมเชิงพาณิชย์มากกว่า 5,000 เกม ถูกปล่อยออกมาในช่วงที่ C64 รุ่งเรือง และมียอดขายมากกว่า 15 ล้านเครื่อง ทำให้ C64 ยังคงเป็นหนึ่งในคอมพิวเตอร์รุ่นเดียวที่ขายดีที่สุดตลอดกาล และนี่คือสิ่งที่ซิมป์ซันพยายามกู้คืนมาให้ได้ แต่รอบนี้จะยั่งยืนกว่าเดิม และไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีต
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือซิมป์ซันไม่ได้เป็นเจ้าของ Commodore ดั้งเดิมตั้งแต่แรก เพราะบริษัทนั้นล่มสลายไปนานแล้ว การแยกส่วนไปมาของ Commodore ในยุค 90 ทำให้ Commodore ปัจจุบันเป็นเจ้าของเพียงเครื่องหมายการค้าบางส่วน ขณะที่องค์ประกอบสำคัญกระจัดกระจายไปทั่ว สิทธิ์ใน ROM ของ C64 และ Amiga เป็นของ Cloanto และ Amiga Corporation ส่วน AmigaOS อยู่ภายใต้ Hyperion Entertainment ดังนั้นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากเครื่องโคลน (เช่น C64DTV, THEC64 Mini) การพัฒนาหลัก ๆ ของ Commodore ทั้งหมดจะมาจากชุมชนของผู้ใช้งาน ไม่ใช่จากเจ้าของแบรนด์เลย
ล่าสุดทางแบรนด์ได้เปิดตัว “Commodore 64 Ultimate” รุ่น Founders Edition ราคา 500 เหรียญสหรัฐฯ (สีทอง) และ Starlight Edition ราคา 350 เหรียญสหรัฐฯ (เคสดิสโก้มีไฟ LED) รุ่น BASIC Beige ราคา 300 เหรียญสหรัฐฯ ที่เหมือนเป็นการหวนกลับเหมือนฮาร์ดแวร์ดั้งเดิมเป๊ะ ทุกรุ่นเชื่อมโยงความเป็นของแท้กับความทันสมัยด้วยการรองรับอุปกรณ์เสริม C64 ดั้งเดิมและการเชื่อมต่อปัจจุบัน รวมถึง HDMI 1080p ภายในใช้เทคโนโลยี FPGA (Field Programmable Gate Arrays) ซึ่งเป็นการจำลองที่แม่นยำกว่าการเลียนแบบ (Emulation) ในเครื่องเกมเรโทรจีนราคาถูก
Commodore 64 Ultimate ผสานรวมชิป FPGA AMD Xilinx Artix-7, RAM 128MB และ NOR flash 16 MB เพื่อจำลอง C64 ดั้งเดิมได้อย่างสมบูรณ์แบบ และยังรองรับเกม/โปรแกรมกว่า 10,000 รายการ พร้อมทั้งรักษาพอร์ตเดิม (CRT, ตลับ, SID, ดิสก์) และเพิ่มการเชื่อมต่อสมัยใหม่ (HDMI, WiFi, USB)
