นักวิทยาศาสตร์คาดว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ ส่งผลให้บางวันมีความยาวของวันสั้นกว่าปกติ โดยเฉพาะในวันที่ 9 กรกฎาคม, 22 กรกฎาคม และ 5 สิงหาคม 2025 เนื่องจากตำแหน่งของดวงจันทร์ส่งผลต่อการหมุนของโลก ทำให้แต่ละวันสั้นลงประมาณ 1.3 – 1.51 มิลลิวินาที (มิลลิวินาทีเท่ากับหนึ่งในพันวินาที)

ปกติแล้ว 1 วันของโลก คือเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองครบ 1 รอบ หรือประมาณ 86,400 วินาที (24 ชั่วโมง) แต่การหมุนนี้ได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก และการกระจายตัวของมวลบนโลก

1 วัน โลกเคยมีแค่ 19 ชั่วโมง

ถามว่าแล้วใครเป็นคนกำหนดว่าโลกมี 24 ชั่วโมง จริง ๆ ต้องบอกว่า เดิมทีโลกหมุนเร็วกว่าในปัจจุบันมาก อ้างอิงจากงานวิจัยของทีมออสเตรเลีย-จีน พบว่าเมื่อ 1-2 พันล้านปีก่อน วันหนึ่งมีเพียง 19 ชั่วโมง เท่านั้น เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าในปัจจุบัน ทำให้แรงโน้มถ่วงรบกวนการหมุนของโลกมากกว่าตอนนี้ และเมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์จะค่อย ๆ ถอยห่างออกไป ทำให้โลกหมุนช้าลงและวันยาวขึ้นโดยเฉลี่ย

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบความ “แปรปรวน” ในการหมุนของโลก โดยในปี 2020 พบว่าโลกหมุนเร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1970 และวันสั้นที่สุดที่มีเคยบันทึกไว้คือวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 ซึ่งสั้นกว่าปกติ 1.66 มิลลิวินาที

แล้วทำไมถึงมี ‘บางวันที่สั้นลง’ ไม่ใช่ทุกวัน ? 

สาเหตุที่วันที่ 9 กรกฎาคม, 22 กรกฎาคม และ 5 สิงหาคม 2025 ถูกระบุว่าเป็นสามวันที่จะสั้นลงนั้น เนื่องจากเป็น 3 วันที่ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุด ทำให้แรงโน้มถ่วงของมันกระทบการหมุนของโลกในลักษณะคล้าย ๆ กับการหมุนลูกข่าง เมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้ขั้วโลกมากขึ้น โลกจึงหมุนเร็วขึ้น วันจึงสั้นลงเล็กน้อย

‘มนุษย์’ และ ‘ธรรมชาติ’ มีส่วนทำให้โลกหมุนเร็ว 

งานวิจัยของ NASA พบว่า “กิจกรรมของมนุษย์” โดยเฉพาะการละลายของน้ำแข็งและการสูบน้ำใต้ดินซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน ก็กำลังเปลี่ยนแปลงความเร็วในการหมุนของโลกเช่นกัน โดยเพิ่มความยาวของวันขึ้นเฉลี่ย 1.33 มิลลิวินาทีต่อศตวรรษ ระหว่างปี 2000-2018

หรือเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบมาก ๆ อย่างแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นในปี 2011 ก็เคยทำให้วันสั้นลง 1.8 ไมโครวินาที (ไมโครวินาทีเท่ากับหนึ่งในล้านของวินาที)

แม้แต่ฤดูกาลก็ส่งผลเช่นกัน เพราะซีกโลกเหนือมีแผ่นดินมากกว่า พอถึงฤดูร้อน ต้นไม้เริ่มมีใบมากขึ้น มวลก็จะถูกยกขึ้นจากพื้น ทำให้หมุนช้าลง

เราจะรับรู้ได้ไหมว่าวันสั้นลง ?

ถึงแม้วันจะสั้นลง แต่นาฬิกาของเรายังนับ 24 ชั่วโมงตามปกติ เพราะความต่างระดับมิลลิวินาทีนี้ไม่สามารถรับรู้ได้ในชีวิตประจำวัน

การเปลี่ยนแปลง “เขตเวลา” หรือ “เวลาสากล” จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความแตกต่างสะสมเกิน 0.9 วินาที (900 มิลลิวินาที) เท่านั้น ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในวันเดียว

แต่ในระยะยาว นาฬิกาของเราจะเริ่มไม่ตรงกับการหมุนของโลก ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลรักษามาตรฐานเวลา IERS หรือ International Earth Rotation and Reference Systems Service จึงจะเพิ่ม “Leap Second” หรือวินาทีพิเศษเข้ามาเป็นครั้งคราว เพื่อปรับเวลาให้ตรงกันอีกครั้ง