คนส่วนใหญ่มักเคยใช้รหัสผ่าน (Password) ที่อ่อนแอหรือเดาง่ายมาก่อน แต่คุณรู้ไหมว่าพาสเวิร์ดนั้นอาจจะเดาได้ง่ายจนสร้างปัญหาที่ตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะการโดนแฮกเข้ามาใช้บัญชีด้วยเจตนาไม่ดี ซึ่งอาจจะยึดบัญชีคุณไปดื้อ ๆ เพื่อจุดประสงค์บางประการ ที่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน หรือหนักสุดก็อาจเข้าไปขโมยเงินทั้งบัญชีของคุณให้หายวับไปกับตาเลยก็ได้
จากฐานข้อมูลที่วิเคราะห์โดย NordPass แสดงให้เห็น 25 อันดับรหัสผ่านที่คนทั่วโลกนิยมใช้ในปี 2025 และเป็นกลุ่มรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดาเสี่ยงโดนแฮกอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มตัวเลขเรียงกัน, กลุ่มตัวเลขตัวเดียวกัน, กลุ่มอักษรความหมายตรงตัว หรือกลุ่มคำศัพท์ง่าย ๆ เป็นต้น
25 รหัสผ่านยอดฮิตที่คนทั่วโลกนิยมใช้
อันดับ | Password | จำนวนที่ใช้งาน (ครั้ง) |
1 | 123456 | 3,018,050 |
2 | 123456789 | 1,625,135 |
3 | 12345678 | 884,740 |
4 | password | 692,151 |
5 | qwerty123 | 642,638 |
6 | qwerty1 | 583,630 |
7 | 111111 | 459,730 |
8 | 12345 | 395,573 |
9 | secret | 363,491 |
10 | 123123 | 351,576 |
11 | 1234567890 | 324,349 |
12 | 1234567 | 307,719 |
13 | 000000 | 250,043 |
14 | qwerty | 244,879 |
15 | abc123 | 217,230 |
16 | password1 | 211,932 |
17 | iloveyou | 197,880 |
18 | 11111111 | 195,237 |
19 | dragon | 144,670 |
20 | monkey | 139,150 |
21 | 123123123 | 119,004 |
22 | 123321 | 106,267 |
23 | qwertyuiop | 101,048 |
24 | 00000000 | 99,292 |
25 | Password | 95,515 |
รหัสผ่านแบบตัวเลขครองแชมป์ใช้งานมากที่สุด
รหัสผ่านอันดับ 1 คือ “123456” ซึ่งถูกใช้งานมากกว่า 3 ล้านครั้ง จากฐานข้อมูลที่วิเคราะห์โดย NordPass ในความเป็นจริงแล้ว รหัสผ่าน 6 อันดับแรกจาก 10 อันดับแรก ล้วนเป็นเพียงชุดตัวเลขล้วน ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ยังคงนิยมตั้งรหัสผ่านที่สามารถคาดเดาได้ง่าย
รหัสผ่านประเภทนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ง่ายที่สุดสำหรับแฮกเกอร์ โดยสามารถใช้การโจมตีแบบ Brute-Force (การเจาะข้อมูลโดยพยายามใช้ทุกชุดค่าผสมที่เป็นไปได้) เพื่อถอดรหัสได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น
นิยมใช้รองลงมาคือรูปแบบคีย์บอร์ดและคำธรรมดา
นอกจากตัวเลขแล้ว ผู้ใช้มักตั้งรหัสผ่านโดยใช้ลำดับปุ่มคีย์บอร์ด เช่น “qwerty” หรือคำที่พบได้บ่อยอย่าง “password” และ “secret” ซึ่งแม้จะจำง่าย แต่ก็ง่ายต่อการถูกแฮกเช่นกัน
แม้กระทั่งการใส่ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ เช่น “Password” หรือการเพิ่มตัวเลขท้ายคำ เช่น “password1” ก็ไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นเท่าไหร่
เคล็ดลับในการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัย
องค์ประกอบสำคัญของรหัสผ่านที่แข็งแรง
- ควรมีความยาวอย่างน้อย 20 ตัวอักษร – ความยาวยิ่งมาก ยิ่งเพิ่มระดับความปลอดภัย
- ผสมตัวอักษรและสัญลักษณ์พิเศษ – เช่น @, #, $, %, * หรือ ^ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับรหัสผ่าน
- ใช้ทั้งตัวพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก – เช่น T กับ t ถือว่าเป็นคนละตัวกันในระบบ
- ใส่ตัวเลขแบบไม่เรียงกัน – อย่าใช้ลำดับง่าย ๆ อย่าง 123 หรือ 2024
- หลีกเลี่ยงคำที่มีอยู่ในพจนานุกรม – โปรแกรมแฮกสามารถเดาคำพบบ่อยได้ในไม่กี่วินาที
สิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในรหัสผ่าน
- อย่าใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเกิด เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือชื่อสัตว์เลี้ยง
- อย่าตั้งรหัสผ่านซ้ำกันในหลายบัญชี หากบัญชีหนึ่งถูกแฮก อาจลามไปยังบัญชีอื่นได้
- อย่าใช้รหัสผ่านยอดนิยม เช่น 123456, password, qwerty เพราะเดาง่ายมาก
ฟีเจอร์ในเว็บเบราว์เซอร์ เช่น Google Chrome และ Safari มีตัวช่วยสร้างรหัสผ่านอัตโนมัติที่ปลอดภัย พร้อมฟังก์ชันบันทึกและเตือนหากรหัสผ่านรั่วไหล หรือสามารถใช้งานเครื่องมือที่ช่วยสร้างและจัดการรหัสผ่านได้ เช่น NordPass, 1Password, Bitwarden, Dashlane, Google Password Manager เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างรหัสผ่านที่แข็งแรงแบบสุ่ม และเก็บไว้ให้คุณอย่างปลอดภัย ไม่ต้องจำเองทั้งหมด
คำแนะนำเพิ่มเติมในการตั้งค่ารหัสผ่าน
เพื่อให้ปลอดภัยที่สุด รหัสผ่านควรเปลี่ยนทุก 6-12 เดือน โดยเฉพาะสำหรับบัญชีสำคัญอย่างอีเมล, บัญชีธนาคาร และระบบงาน นอกจากนี้ควรเปิดใช้ระบบยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน (2FA) เช่น รับรหัสผ่านจาก SMS, Email หรือแอปฯ Authenticator สำหรับเพิ่มชั้นความปลอดภัยให้ยากต่อการแฮก แต่ผู้ตั้งรหัสผ่านควรจดหรือบันทึกรหัสผ่านไว้ในพื้นที่ส่วนตัวด้วย หากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถจำจดรหัสผ่านที่ตั้งเองได้