กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเยอะมากเมื่อมีคนพบว่า PlayStation Classic เครื่องเกมจิ๋วย้อนยุคที่รวม 20 เกมฮิตสมัย PlayStation รุ่นแรกที่กำลังจะขายในเดือนธันวาคมนี้ ดันใช้ Emulator ชื่อดังอย่าง PCSX เป็นแกนในการจำลองระบบ ซึ่งก็มีเสียงวิพากย์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา เช่น “โด้ว โซนี่เคยฟ้องอีมูเลเตอร์ แล้วทำไมตอนนี้เอามาใช้ซะเอง” หรือ “โป๊ะแตก โซนี่ไม่ได้พัฒนาซอฟต์แวร์เอง” หรือ “การเล่น Emulator นั้นก็เหมือนเล่นเถื่อน แบบนี้โหลดจากเน็ตมาเล่นเองก็ได้” หรือ “เครื่องของโซนี่สู้นินเทนโดไม่ได้ เพราะนินเทนโดใส่เกมเพิ่มได้” (เดี๋ยวๆ ที่ใส่เกมนั้นมันแฮกเครื่องไม่ใช่เหรอ)

แบไต๋จึงจะวิเคราะห์ให้ฟังว่าทำไม Sony ใช้ PCSX ใน PlayStation Classic ถึงไม่ผิด และไม่ต้องไปด่าโซนี่ด้วย

หน้าตา PCSX บน Linux

PCSX นั้นเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2000 ครับ เป็นหนึ่งใน Emulator ยอดนิยมของ PlayStation แม้ว่าความสามารถพวกกราฟิกอาจจะสู้ ePSXe ไม่ได้ แต่ PCSX ก็รองรับเกมของ PlayStation ได้หลากหลาย และจำลองระบบได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งหลังจากเปลี่ยนทีมพัฒนากันมาหลายรอบ เวอร์ชั่นปัจจุบันนั้นเรียกว่า PCSX-Reloaded เพราะจุดเด่นสำคัญของ PCSX คือมันเป็นซอฟต์แวร์แบบ Opensource ทำให้ใครก็สามารถนำซอฟต์แวร์ชุดนี้ไปพัฒนาต่อ ไปใช้เพื่อการค้า หรือทำอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ละเมิดเงื่อนไขที่เขียนไว้ในสัญญา Opensource ครับ เช่นเขียนว่า ต้องให้ Credit ทุกครั้งที่นำซอฟต์แวร์ไปใช้ ก็ทำให้ PlayStation Classic ก็ต้องระบุว่าใช้โค้ดจาก PCSX ด้วย

ทำไม Sony ต้องใช้ Emulator ในเครื่อง PlayStation Classic ด้วย

หน้าตาเมนบอร์ดของ PlayStation รุ่นแรก

ถ้าเราไม่ใช้ Emulator ในเครื่องเกมจิ๋วพวกนี้ แปลว่าโซนี่ก็ต้องสร้างชิป MIPS R3000A ที่ใช้ใน PlayStation 1 ขึ้นมาใหม่ ออกแบบวงจรใหม่ให้มีขนาดเล็กลง ออกแบบให้โหลดเกมจากหน่วยความจำแทน CD ซึ่งต้องเสียเงินลงทุนอีกมาก แต่ถ้าสร้างโดยใช้พื้นฐานของอุปกรณ์ปัจจุบัน แล้วใช้ Emulator เพื่อจำลองระบบก็จะลดต้นทุนในการพัฒนาลงไปมาก เพราะบอร์ดพื้นฐานคอมพิวเตอร์ก็มีการพัฒนาไว้แล้ว ตัว Emulator ก็เปิด Opensource อยู่แล้ว นำมาปรับปรุงอีกนิดหน่อยก็ใช้เลย ประหยัดเงินลงทุนไปได้อีกโข ทำไมบริษัทจะไม่เลือกทางนี้ล่ะครับ

หน้าตาบอร์ดของ NES Mini และ SNES Mini ของนินเทนโด (ใช่ครับ 2 เครื่องนี้ใช้เครื่องในเหมือนกัน) ภาพจาก ifixit.org

เดี๋ยวจะหาว่า Sony ใช้อีมูเลเตอร์อยู่ฝ่ายเดียว จริงๆ แล้วเครื่อง Super NES Classic Edition และ NES Classic Edition ของ Nintendo ก็ใช้อีมูเลเตอร์ครับ โดยที่ฮาร์ดแวร์พื้นฐานเป็นชิป Allwinner R16 แล้วใช้อีมูเลเตอร์ที่ Nintendo European Research & Development หรือ NERD พัฒนาขึ้นมาเพื่อทำงาน ซึ่งจากการแฮกเครื่องเพื่อเพิ่มเกมเข้าไปทำให้รู้ว่า Emulator ตัวนี้มีข้อจำกัดว่าใช้งานได้ดีเฉพาะเกมที่แถมมากับเครื่องเท่านั้น ถ้าเพิ่มเกมเอง บางเกมก็ต้องใช้ Emulator แบบ Opensource ตัวอื่นๆ ถึงจะเล่นได้ (พัฒนาเองก็ใช่ว่าจะดีกว่า Opensource เสมอไป)

ทำไมโซนี่ถึงไม่พัฒนา Emulator เองเหมือน Nintendo

คำตอบง่ายๆ ก็น่าจะเป็นต้นทุนแหละ ในขณะที่ Nintendo มีการพัฒนา Emulator ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะเอาเกมเก่ามาขายใหม่ในแบบ Virtual Console ตลอด ทำให้ไม่ต้องเสียแรงพัฒนาใหม่มาก แต่โซนี่ไม่ได้ขายเกมเก่าจริงจังขนาดนินเทนโด ก็ทำให้ต้องลงทุนเยอะ

แล้วใช้ Emulator มันผิดตรงไหน มันคือการเล่นของเถื่อนรึเปล่า

หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาตลอดว่าอีมูเลเตอร์นั้นเป็นของเถื่อน ผู้ผลิตเครื่องเกมคอยปรามปราบอยู่ตลอด อย่างโซนี่ก็ออกตัวแรงในเรื่องนี้ไม่น้อย

  • โซนี่เคยฟ้อง Bleem! อีมูเลเตอร์ตัวแรกๆ ที่ขายกันจริงจัง ซึ่งโซนี่ก็ไม่เคยฟ้องชนะ Bleem! สักศาล แต่สุดท้าย Bleem! ก็ต้องปิดตัวลงไปเพราะสู้ค่าใช้จ่ายในศาลไม่ไหว
  • โซนี่ซื้อ Connectix Virtual Game Station อีมูเลเตอร์ PlayStation อีกตัวมาปิดทิ้ง (เพราะฟ้องไปก็ไม่ชนะ ซื้อแล้วเอามาปิดเลย จบๆ กันไป)

ก็ต้องเข้าใจโซนี่ว่าอีมูเลเตอร์ทั้ง 2 ตัวนี้ออกมาในวันที่เครื่อง PlayStation ยังขายอยู่ ซึ่งเป็นเราคงไม่ยอมให้คนไปจ่ายเงินให้บริษัทอื่น แต่มาเล่นเกมในระบบของเราได้ โซนี่เลยจัดเต็มเพื่อหยุดเรื่องนี้ครับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปในเมื่ออีมูเลเตอร์ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาลดลง แถมเป็น Opensource ที่นำมาใช้ได้เลย ทำไมโซนี่จะไม่ใช้บ้างล่ะ แต่เราต้องแยกว่าอะไรคือเรื่องผิด เราเล่น Emulator ยังไงถึงเรียกว่าเล่นของเถื่อน ซึ่งอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

  • ตัว Emulator ถ้าพัฒนาโดยใช้วิธีการ Reverse Engineering หรือศึกษาการทำงานของเครื่อง แล้วเลียนแบบขึ้นมา แบบนี้ไม่ผิดกฎหมาย
  • แต่ถ้าตัว Emulator มีการใช้ซอฟต์แวร์จากเครื่องจริงเมื่อไหร่ แบบนี้จะผิดกฎหมาย เช่นถ้า Emulator ต้องการใช้ Bios จากเครื่องจริงเพื่อทำงานด้วย ถ้าเราไม่มีเครื่อง PlayStation รุ่นนั้นๆ มาริป Bios เป็นไฟล์ ก็จะผิดกฎหมายทันที เราจึงเห็นว่าหน้าเว็บอย่างเป็นทางการของอีมูเลเตอร์ต่างๆ จะไม่มี Bios ให้โหลด ให้ไปหากันเอง หรือจะเมพอย่าง ePSXe ที่สามารถจำลอง bios ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องใช้ไฟล์จริงจากเครื่อง อันนี้ก็ไม่ผิดกฎหมาย
  • โหลดเกมหรือที่เรียกว่า Rom จากเว็บมาเล่น โดยที่เราไม่มีตลับเกม หรือแผ่นเกมของแท้อยู่แล้ว อันนี้ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์แน่นอน

เพราะงั้นการเล่น PlayStation Classic แม้ว่าจะเป็นอีมูเลเตอร์แต่ก็ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเกมในเครื่องทุกเกม โซนี่ก็ต้องไปคุยแบ่งผลประโยชน์จากผู้ผลิตมาเรียบร้อย เหมือนเราซื้อเกมมาลงนั้นแหละ มันจึงต่างจากเราโหลดแอปอีมู โหลดเกมมาลงเอง อันนี้สิถึงเรียกว่าเล่นของเถื่อน

สุดท้ายเราต้องการ PlayStation Classic เพื่ออะไรกันแน่

เทียบขนาดกับ PlayStation รุ่นพ่อ

หลายๆ ดราม่าเกิดเพราะผู้เล่นหวังว่าจะเจ้า PlayStation Classic จะได้อารมณ์เหมือนเล่นเครื่องเกมเก่าจริงๆ ถ้าเราต้องการเครื่องที่เล่นเกมเก่าๆ ของเราได้ มีแผ่นเกมอยู่แล้วต้องการเล่นอีกครั้ง เครื่องนี้ก็ไม่จบโจทย์ครับ ไปหา PlayStation มือสองหรือเครื่องที่ผ่านการแปลงให้รองรับ HDMI มาเล่นดีกว่า อันนี้ได้แบบที่เราต้องการแน่นอน

แอดว่าจุดมุ่งหมายของโซนี่กับ PlayStation Classic เพื่อทำของเล่นที่เป็นของสะสม เอาไว้ให้เกมเมอร์มือเก๋าได้ระลึกถึงอดีตมากกว่าเอา PlayStation กลับมาขายใหม่แบบเต็มตัวนะ เอาไว้ตั้งโชว์สวยๆ ก็ได้เพราะเครื่องมันเล็กดี