รีวิวเกม Teenage Mutant Ninja Turtles: The Cowabunga Collection รวมฮิตนินจาเต่าฉบับ Konami
Our score
8.0

Teenage Mutant Ninja Turtles: The Cowabunga Collection

จุดเด่น

  1. รวม 13 เกมในชุดเดียว
  2. มีโหมดเพิ่ม และรองรับระบบออนไลน์

จุดสังเกต

  1. บางเกมดูเชยไปแล้วในยุคนี้

สำหรับเกมที่สร้างจากการ์ตูนดังอย่าง นินจาเต่า Teenage Mutant Ninja Turtles ถือว่าไม่ใช่ของใหม่เพราะมีการสร้างออกมาหลายครั้งนับไม่ถ้วน แต่ในอดีตซีรีส์นี้เคยถูกสร้างโดยทีมงานจากญี่ปุ่นอย่าง Konami ที่ในยุค 80S-90S ได้ออกมาเกิน 10 เกมแถมยังประสบความสำเร็จมากมายเพราะความสนุกที่จัดเต็มมาก

แน่นอนว่าในยุคนี้ของเก่ากลับมาขายใหม่ทำยอดได้ดี ทำให้เกิดเป็นการรวมฮิตเอาเกมนินจาเต่าของค่าย Konami มารวมกันเป็นเกม Teenage Mutant Ninja Turtles: The Cowabunga Collection วางขายใหม่บน Nintendo Switch, PlayStation 4, Xbox One, PlayStation 5, Xbox Series X และ Series S รวมทั้งบน PC ด้วยเรียกว่าออกครบหมด

รายชื่อเกมทั้งหมดจะมีทั้งออกบนคอนโซลที่ไล่ตั้งแต่บนคอนโซลปู่นิน Famicom, Gameboy และ Super Famicom รวมทั้งบนคอนโซล SEGA Mega Drive แต่ที่เป็นจุดเด่นที่ใครเกิดทันต้องสนใจคือเวอร์ชันอาเขตที่ใส่เข้ามาให้เล่น 2 เกมที่ถือว่าเป็นตำนานของวงการเกม เพราะหากใครจำได้มันเป็นเกมฮิตในไทยที่มีเปิดให้เล่นบน ห้างมาบุญครองและแน่นอนว่ามันเป็นการรวมฮิตมาขายใหม่ทำให้กราฟิกเหมือนเดิมไม่ได้ปรับเปลี่ยน ใครหวังว่าจะพบความละเอียดแบบ HD ก็ให้ไปหาเกมอื่นมาเล่นน่าจะดีกว่า (ในรีวิวนี้จะแบ่งออกประเภทตามเครื่องเกม)

เกมนินจาเต่าเวอร์ชันอาเขต

สำหรับภาคที่แนะนำคือเวอร์ชันอาเขต ที่มีภาค Teenage Mutant Ninja Turtles และภาค Turtles in Time ซึ่งมันเป็นเกมแนว Beat ’em up ที่ต้องกำจัดศัตรูให้หมดฉากก่อนถึงจะเดินไปจุดต่อไปได้ และทั้งสองภาคทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นตำนานของยุคนั้น เราจะได้รับบทเป็น 4 นินจาเต่าทั้ง Leonardo, Raphael, Donatello และ Michelangelo อีกทั้งมันยังเล่นได้ 4 คนพร้อมกันด้วย เรียกว่าวุ่นวายแต่สนุกสุด ๆ หากหาเพื่อนมาเล่นได้

และในภาค Turtles in Time จะมาพร้อมกับการย้อนเวลาไปในอดีตและอนาคตเพื่อช่วยโลก ที่เกมเพลย์ของทั้ง 2 ภาคจะมีความคล้ายกันมาก และมาพร้อมกับกราฟิกที่จัดเต็มดูดีที่สุดในยุคนั้น ที่มาพร้อมกับเสียงพากย์ตลอดการเล่นทำให้เพิ่มความสนุกมากกว่าเดิม ถือเป็นภาคที่ดีที่สุดในชุด และข่าวดีมาก ๆ คือทั้ง 2 เกมจะรองรับการเล่นกับเพื่อนพร้อมกัน 4 คนผ่านระบบออนไลน์ด้วยเรียกว่าแค่ 2 เกมนี้ก็คุ้มค่าแล้ว

เกมนินจาเต่าบน Famicom

ภาคคอนโซลรุ่นแรกของปู่นิน ที่ขนมาให้เล่น 4 ภาคที่เชื่อว่าแฟนรุ่นเก่าต้องเคยเล่นกันมาบ้าง เริ่มกับ Teenage Mutant Ninja Turtles ภาคแรกที่ออกวางขายและมาแนวแอ็กชันตะลุยด่านแบบ 2 มิติมุมมองด้านข้าง ที่จะโดดเด่นที่เราสามารถสลับเปลี่ยนนินจาเต่าทั้ง 4 ตัวออกมาได้และมาพร้อมกับอาวุธที่แตกต่างถือว่าสนุกพอตัว ตามด้วย Teenage Mutant Ninja Turtles II: The Arcade Game ที่เป็นเวอร์ชันพอร์ตมาจากอาเขตที่มาแนว Beat ’em up แน่นอนว่ามันต้องถูกตัดหลายส่วนออกไปตามสเปกของเครื่องเกมแต่ความสนุกถือว่ายังพอใช้ได้

ต่อเนื่องกับ Teenage Mutant Ninja Turtles III: The Manhattan Project ภาคที่ยังคงเป็นแนว Beat ’em up เหมือนเดิมและมีฉากที่แตกต่างจากภาคอื่นเพราะมันผสมผสานหลายภาคเข้าด้วยกัน แต่อาจจะขาดความสดใหม่ไปหน่อย และปิดท้ายยุค Famicom กับภาค Teenage Mutant Ninja Turtles: Tournament Fighter ที่มาแนวต่อสู้ 2 มิติแต่ไม่ค่อยแนะนำนัก เพราะต้นฉบับออกบนคอนโซล 8Bit ทำให้เกมเพลย์ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควรการปล่อยท่าไม้ตายก็ยาก แนะนำให้ไปเล่นภาคอื่นดีกว่า

เกมนินจาเต่าบน Super Famicom

ในยุค 16Bit คอนโซลของ Nintendo มารวมให้ 2 เกมเริ่มต้นที่ภาค Teenage Mutant Ninja Turtles IV: Turtles in Time ภาคในตำนานที่พอร์ตมาจากอาเขตที่เป็นแนว Beat ’em up และทำออกมาได้ดีแม้จะไม่เท่ากับต้นฉบับ แต่ถือว่าทำได้ใกล้เคียงและเด็กยุค 90S ต้องเคยผ่านมือมาบ้าง ความโดดเด่นคือการตะลุยในด่านที่แตกต่างกันเพราะเป็นการข้ามเวลา และผู้สร้างมีการใส่สิ่งใหม่ที่แตกต่างจากต้นฉบับบนอาเขตมาให้เล่นด้วย และแน่นอนว่ากราฟิกและเพลงประกอบทำได้ดีระดับ 16 Bit ที่ผ่านมาหลายปีก็ยังดูดี

และต่อด้วย Teenage Mutant Ninja Turtles: Tournament Fighters ภาคที่มาแนวต่อสู้ตามชื่อเกม และเนื่องจากออกบนคอนโซล 16Bit ทำให้มันออกมาดูดีสนุกลงตัว ส่วนการกดท่าไม้ตายจะทำได้เรียบง่ายแต่ความสนุกยังไม่เท่า Street Fighter ส่วนตัวละครที่ใส่เข้ามมาให้เลือกจะไม่ได้มีแค่นินจาเต่ายังมีตัวละครพิเศษที่สร้างมาเพื่อเกมนี้โดยเฉพาะรวมมากถึง 10 ตัว ถือว่าเป็นอีกเกมที่เล่นกับเพือนได้เพลิน ๆ และข่าวดีคือภาคนี้รองรับโหมดออนไลน์ด้วย

เกมนินจาเต่าบน MegaDrive

บนคอนโซลของ SEGA ก็มีนินจาเต่ามาให้เล่นกันและมีการรวมมาให้ 2 เกม ที่เริ่มด้วย Teenage Mutant Ninja Turtles: The Hyperstone Heist ที่มาแนว Beat ’em up ซึ่งเหมือนสร้างเป็นพิเศษให้ Mega Drive เพราะมีความแตกต่างจากภาคอื่นทั้งฉากและศัตรู แต่แนวทางยังคงเหมือนเดิมเพียงแค่ต่อยตีกับศัตรูให้หมดฉาก แม้ความสนุกจะไม่เท่ากับภาคอื่นแต่ก็มีความแตกต่างในส่วนของฉากที่ไม่ซ้ำกัน

ปิดท้ายคอนโซล SEGA ด้วย Teenage Mutant Ninja Turtles: Tournament Fighters เกมต่อสู้ 2 มิติ ที่มีความแตกต่างจากภาคบน Super Famicom เพราะตัวละครให้เลือกนอกจากนินจาเต่าก็แตกต่าง แถมนักข่าวสาว April ก็มาเป็นตัวละครให้เล่นด้วย แต่งานออกจะดูน่ากลัวกว่าและยังมาพร้อมกับการท่องไปทั่วอวกาศ ถือว่ามาแปลกแต่ก็สนุกและมีความท้าทายด้วยและยังรองรับโหมดออนไลน์ด้วย

เกมนินจาเต่าบน Gameboy

ภาคบนเครื่องพกพาของ Nintendo อาจจะดูเหมือนเป็นของแถม เพราะมันดูเชมากอีกทั้งทุกเกมมาแนวเดียวกันที่เป็นแอ็กชัน 2 มิติมุมมองด้านข้าง ที่ภาคแรก Teenage Mutant Ninja Turtles: Fall of The Foot Clan เราจะได้ตะลุยด่านต่อสู้กับกองทัพ Foot Clan แต่ฉากค่อนข้างแคบและงานออกแบบยังดูไม่ดี เพราะข้อจำกัดของเครื่อง Gameboy ที่มีเฟรมเรตค่อนข้างต่ำ ยิ่งเมื่อมาอยู่บนจอทีวียิ่งดูเชย แต่ข่าวดีคือเราเลือกฉากเล่นได้ตั้งแต่ต้นเกมเลย

ต่อด้วยภาค 2 ในชื่อ Back From The Sewers ที่ยังคงมาแนว 2 มิติเหมือนเดิมแต่ตัวละครจะออกแบบได้ดีขึ้นและฉากก็ดูมีมิติมากกว่าทำให้เมื่อเล่นบนจอทีวีก็พอจะรับได้ แต่เกมเพลย์ก็ยังคงช้าอยู่ สุดท้ายกับ ภาค 3 ในชื่อ Radical Rescue ที่จะมาแปลกเพราะเมื่อเริ่มเกมเราจะได้รับบทเป็น Michelangelo และต้องออกไปช่วยเพื่อน ๆ ตามชื่อภาค ถือว่าเกมเพลย์ทำได้สมดุลมากทั้งขนาดตัวละครรวมทั้งการเคลื่อนไหวก็ลื่นขึ้น เกมเพลย์ก็ดูดีถือว่าสนุกที่สุดใน 3 ภาคบน Gameboy

เกมมีการใส่โหมดย้อนเวลาที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นย้อนกลับไปแก้ไขหากทำพลาดเข้ามาให้ใช้งาน และยังสามารถ Save ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วย ปิดท้ายกับของแถมอย่างโหมดที่นำกล่องเกมและคู่มือต้นฉบับมาให้เราชม ถือว่าเป็นการเอาใจแฟนนินจาเต่าตัวจริง แม้ว่าโดยรวมแล้ว Teenage Mutant Ninja Turtles: The Cowabunga Collection จะเป็นเพียงแค่เกมรวมฮิต แต่หากคุณชอบและเคยเล่นต้นฉบับมันคือเครื่องย้อนเวลากลับไปสมัยยังเด็กที่ควรมีไว้ติดเครื่อง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส