ในยุคที่ แฟมิคอม แทบครองโลกเหมือน PS4 ในยุคนี้ ได้เกิดความร่วมมือกันของค่าย NEC กับค่ายเกม Hudson Soft สร้างเครื่องเกม นามว่า PC-engine ที่แทรกตัวอยู่ในตลาดเกมอย่างเงียบๆ แทบไม่ได้โดดเด่นอะไร  แต่ด้วย ความสามารถที่เหนือกว่าเครื่องแฟมิคอม และอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายยุค ระหว่าง 8 Bit กับ 16 Bit ทำให้ในด้านกราฟิกมันโดดเด่นเหนือเครื่องเกมในยุคนั้นมาก และยังเป็นเครื่องเกมที่มีอุปกรณ์เสริมเป็นหัวอ่าน CD ทำให้เป็นเครื่องคอนโซลเครื่องแรกๆที่ใช้สื่อเป็นแผ่น CD

สเปกเครื่อง

  • Cpu 1.79 – 7.16 MHz
  • RAM: 8 kB
  • แสดงสีได้ 512 สี
  • วันวางจำหน่าย ในญี่ปุ่น 30 ตุลาคม 1987 , ในอเมริกา 29 สิงหาคม 1989

โดยทางเทคนิคแล้ว PC-engine มี CPU ที่มีความสามารถระดับ 8 Bit แต่ด้วย ชิปกราฟิก และการแสดงสี รวมทั้งความละเอียดของภาพ ทำให้มันสามารถเทียบเคียงกับ 16 Bit ได้สบายๆ เพราะใช้ GPU 16Bit และกราฟิกมีความแตกต่างจากแฟมิคอมอย่างเห็นได้ชัด และตลอดอายุเครื่อง มีการอัพเกรดและมีอุปกรณ์เสริม หรือรุ่นพิเศษ อีกมากมายนับไม่ถ้วน และพอจะมีเกมดังๆออกบนเครื่องบ้าง เพียงแต่ในไทย อาจจะไม่ได้รับความนิยมนัก เพราะในยุคนั้นตลาดแทบจะถูกผูกขาดด้วย แฟมิคอม แต่ก็พอจะมีคนเล่น เพราะมีบางเกมที่ออกเฉพาะเครื่อง นี้เท่านั้น

สุดล้ำด้วยการใช้แผ่น การ์ด และ CD  เป็นสื่อเกม

ในตอนนั้น สื่อในการเล่นเกมส่วนมากจะใช้ตลับ แต่ PC-engine ใช้แผ่นบางๆลักษณะเหมือน บัตรเครดิต ที่เรียกว่า Hu- card ที่ถือว่าเป็นสื่อที่ล้ำสมัยมากในยุค 80 และไม่เพียงแค่นั้น หลังจากออกมาได้ระยะหนึ่ง NEC ได้ออก อุปกรณ์พ่วง เสริมให้ PC-engine อ่าน CD ได้ซึ่งถือเป็นถือว่าทันสมัยสุดๆ และทำให้มันสามารถแสดงภาพและเสียงได้มีคุณภาพมากกว่าเดิม และแน่นอนว่าต้องราคาสูงพอสมควร เพราะสื่อ CD ถือเป็นสื่อใหม่ในยุคนั้น และด้วยเหตุนี้เองมันเลยไม่ค่อยได้รับความนิยมในไทยเท่าที่ควร

คอนโทรลเลอร์ที่เดินตามแฟมิคอม

และด้วยการครองตลาดของ แฟมิคอม ของ Nintendo ทำให้วัฒนธรรม การเล่นเกมได้เปลี่ยนไปจับจอยด้านข้างหมด ไม่แปลกที่ PC-engine จะมีจอยหน้าตาแทบจะถอดแบบมาจากจอย แฟมิคอม ทุกกระเบียด แม้จะเหมือนเป็นการเลียนแบบ แต่ก็ทำให้บังคับได้ง่ายดายเช่นกัน เสียดายที่บนเครื่อง PC-engine มีช่องเสียบจอยได้แค่อันเดียว ทำให้เกมส่วนมากบนเครื่องนี้เล่นได้แค่คนเดียว ถ้ามีเกมไหนที่รองรับการเล่นหลายคน ผู้เล่นต้องไปซื้อ อุปกรณ์เสริมมาเพิ่ม ทำให้เป็นข้อด้อยของเครื่อง

ขึ้นฝั่งตะวันตก ตัวใหญ่ขึ้นแต่ไม่แรงขึ้น

PC-engine บุกอเมริกาในชื่อ TurboGrafx-16 ในปี 1989 ด้วยการแปลงเครื่องให้ใหญ่ขึ้นตามรสนิยมของฝั่งตะวันตก แต่ก็ยังเสียบจอยได้อันเดียวเหมือนเดิม ซึ่งในการเปิดตัวของมันอาจจะเรียกได้ว่าโชคร้ายไปหน่อยที่ไปเปิดตัวชนกับ เครื่องเกม Mega Drive จาก SEGA ที่เป็นเครื่อง 16 บิทแท้ๆ ทำให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ามาก ทำให้ TurboGrafx-16 ดูเงียบๆไป แต่ก็ขายไปได้เกิน 2 ล้านเครื่อง (เฉพาะใน อเมริกา)

เกมที่โดดเด่น

เกมบนเครื่อง PC-engine มีเกมดังๆอยู่มากมาย ทั้ง Castlevania: Rondo of Blood หรือ  Splatter House แต่เกมเหล่านี้ได้ออกบนเครื่องอื่นด้วย ส่วนเกมที่โดดเด่นและขายดีที่สุดบนเครื่องคงหนีไม่พ้นเกมแนว มาริโอ อย่าง มนุษย์หิน Bonk’s หรือในชื่อญี่ปุ่นว่า PC Genjin เกมแอ็คชั่นแนวตะลุยด่านของมนุษย์หินหัวโต ที่ใช้หัวโขกศัตรู ที่สนุกไม่แพ้เกมอื่น แต่เสียดายที่เจ้า Bonk’s ไม่ได้ออกบน PC-engine เครื่องเดียว ยังเครื่องอื่นด้วย

และการที่เครื่องเกมไม่มีเกม เอ็คซ์คลูซีฟ ที่ออกเฉพาะเครื่องของตนนี่เองอาจเป็นหนึ่งในบทเรียนของการที่ เครื่องเกมต้องพบกับความหายนะก่อนวัยอันควรในอนาคตด้วย อันเป็นเพราะค่าย Hudson Soft มีนโยบาย สร้างเกมให้หลายค่ายแม้ตนเองจะมีเครื่องเกมเป็นของตัวเอง (ที่ทำร่วมกับ NEC) อยู่แล้วก็ตามที

รุ่นพิเศษ แปลงร่างเป็นเครื่องเกมพกพา

หลังจากออกเครื่องมาได้ระยะหนึ่ง PC-engine ได้ออกอุปกรณ์ต่อพ่วงมากมายทั้ง CD และรุ่นอัพเกรดในชื่อ PC Engine SuperGrafx ที่อัพเดทแรมและสเปกโดยรวมเพิ่มเติมเพื่อมาแข่งกับ ซูเปอร์แฟมิคอม และ Mega Drive แต่ก็มีเกมที่ออกมารองรับเพียงไม่กี่เกมเท่านั้น และในยุคที่ เกมบอย เครื่องเกมพกพาของ Nintendo ครองเมืองนั้น NEC ได้ทำการดัดแปลงเครื่องเกมของตนเป็นเครื่องเกมมือถือซะเลย โดยมี 2 รุ่นคือ TurboExpress ที่เหมือนเกมบอย กับรุ่น PC Engine LT ที่เป็นแบบฝาพับ ที่แม้ทั้ง 2 เครื่องจะเอา HU-card มาเสียบเล่นได้เลยทำให้สามารถเล่นเกมได้มากมายนับร้อยเกม แต่ด้วยราคาที่แพงมากทำให้ไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก

แม้ PC-engine จะดูเป็นเครื่องเกมที่ไม่โดดเด่นแต่ก็ขายได้กว่า 10 ล้านเครื่องทั่วโลก และตัวเครื่องที่ออกแบบมาเล็กกะทัดรัด มีสื่อที่ดูทันสมัยทั้งแบบ การ์ด และ CD ทำให้เครื่องเป็นที่จดจำของคอเกมในยุคนั้นอยู่พอสมควร เสียดายที่ NEC ไม่ได้สร้างซอฟต์แวร์เกมที่ออกมาเฉพาะเครื่องที่โดดเด่นออกมามากนัก และการมาของเครื่อง 16 Bit แท้ๆอย่าง Mega Drive และ ซูเปอร์แฟมิคอม ทำให้เครื่อง PC Engine ค่อยๆหายไปจากวงการอย่างเงียบๆ

โดยทางค่าย NEC ได้ออกเครื่องเกมมาอีกเพียงแค่รุ่นเดียวคือ PC – FX ที่ล้มเหลวอย่างหนัก เพราะแทบขายไม่ออกตั้งแต่เริ่มวางจำหน่าย และหลังจากนั้นค่าย NEC ก็ไม่ได้สร้างเครื่องเกมคอนโซลอีกเลย เป็นอันปิดตำนาน เครื่องเกมตระกูล PC ไปอย่างถาวร โดยในปัจจุบันหากคุณอยากเล่นเกมของเครื่อง PC Engine อาจไม่ง่ายนัก ยกเว้นจะไปเจอมือ 2 จากร้านขายเกมเก่า หนทางการเล่นส่วนมากจะเป็น อีมูเลเตอร์ บน คอมพิวเตอร์มากกว่า ส่วนแบบถูกกฎหมาย ก็มีทั้ง Virtual Console บน Wii , WiiU และบน PSN และแม้ NEC จะไม่ได้ทำเครื่องเกมแล้ว แต่เชื่อว่าคอเกมรุ่นเก่าที่เกิดทันคงจำเครื่องเกม ตัวเล็กแต่ใจใหญ่เครื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย