หนุ่ยรู้โลกรู้#87 ประจำวันที่ 21 มกราคม 2557

S__8323074

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ยกสตูดิโอถ่ายทำรายการจากดิจิตอลเกตเวย์สยามฯมาไว้ที่บ้าน วุ่นวายกันน่าดู

คุณตุ๊กภรรยาผมเธอตัดสินใจว่าย้ายสตูดิโอในคืนวันเสาร์ที่แล้วนู้นในขณะเปิดช่องบลูสกายไว้

ฟังเสียงม็อบเสียงลุงกำนัน ดูเหมือนสถานการณ์จะบานปลาย

จึงสั่งรถกระบะไปขนคน-ขนสัมภาระมากระจุกตัวทำงานกันอยู่ที่บ้าน

จากบ้านที่ดูเงียบๆก็กลายเป็นคับคั่งดั่งปรมานูมาลง คนทำงานนั่งนอนเกลื่อน แต่เป็นความรู้สึกที่อบอุ่นดี

ซิงค์ไปกับลมหนาวที่ Restart กลับมาเย็นซาบซ่านกรุงเทพอีกครั้ง

… เราหยุดบันทึกเทปรายการกันไม่ได้แม้แต่วันเดียวเลย

เพราะเริ่มปีใหม่มานี้ก็สิริรวมมี 5รายการไอทีใหม่ให้ทำป้อนสถานีฟรีทีวีเดิม ..นี่ยังไม่นับรวมดิจิตอลทีวีใหม่

ที่พาเหรดกันมาขายขนมจีบให้เราพอรู้อนาคตของตัวเองแล้วว่าเราไปวิ่งเล่นในบ้านของใครได้บ้าง?

(ขอบคุณคุณผู้ชมที่อุดหนุนสายตากันมาอย่างยาวนาน เมล็ดพันธุ์ที่หว่านๆกันไว้มันกำลังเห็นผลแล้วล่ะครับ)

…ถามตัวเองว่าทำรายการไอทีมายาวนาน 15ปีแล้วได้อะไร?​ ผมได้เห็นคนไทยยุคใหม่ตื่นตัวกับเทคโนโลยีมากขึ้น

กล้าใช้ กล้าคิด กล้าประดิษฐ์ กล้าสร้างสรรค์ผลงานวิทยาการออกมาจำนวนมาก เห็นได้ชัดในช่วง #Innovation9

ที่ผมนำเสนอทุกคืนวันจันทร์-ศุกร์ในรายการคลุกวงข่าว โมเดิร์นไนน์ทีวี มาเป็นจำนวนถึงวันนี้ก็ 28ตอนแล้ว

เห็นชัดๆว่า “นวัตกรรมคนไทยทำได้”​ ที่ผ่านการสกรีนอย่างดีจาก “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ NIA

เป็นหน้าเป็นตาเป็นสินค้าเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยที่ดีเพียงใด

.. ทำรายการนี้ใช่ว่าจะเป็นฝ่ายให้ความรู้แก่ท่านผู้ชมฝ่ายเดียวซะที่ไหน

ผอ.ศุภชัย หล่อโลหะการ แห่งองค์การมหาชนคนนวัตกรรม นอกจากท่านจะให้ความไว้วางใจผม

ท่านให้ยังความรู้ผมเยอะมาก

งานนวัตกรรมคือการจัดการกับองค์ความรู้ที่มี เอาความรู้ไปใส่ในผลผลิต ให้มันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความคิด

และขายได้ดีขึ้น ราคาสูงขึ้น ..ขายข้าวดิบๆแบบเดิมๆก็ได้แค่ราคาข้าว (หรือราคาจำนำ) แต่ถ้าใส่ความรู้ให้ข้าว

ทำให้ข้าวกลายเป็นแป้งผลัดหน้าแบบใหม่ไร้ความมันเนื้อละเอียดละออ

ก็ทำให้คนคิดขายสิ่งนี้ได้ในราคากิโลกรัมละ 3แสนบาทมาแล้ว

1552985_10152165121880406_664771917_n

“นวัตกรรม” คำที่ภาษาอังกฤษบัญญัติว่า Innovation สิ่งนี้แตกต่างจาก Invention หรือ “สิ่งประดิษฐ์” มากนักครับ

…สิ่งประดิษฐ์อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดที่อยากสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกก็จริง

แต่สิ่งประดิษฐ์หลายล้านชิ้นในโลกนี้ ไม่สามารถสร้างเป็น “สินค้า” ออกมาขายจริงได้

เป็นเพียงแนวคิดที่แม้ผลิตตัวต้นแบบออกมาได้แต่ไม่เกิดผลในเชิงเศรษฐกิจ (แต่ก็ไม่ผิดนะครับที่คิดทำ)

ถ้ามุ่งหวังจะสร้างนวัตกรรมจริง ผู้คิดต้องคิดให้จบ Loop จบกระบวนการ ตอบโจทย์ทางการตลาดให้ได้

ว่าทำออกมาแล้วจะขายใคร และขายอย่างไร? ..ตอบได้+ทำได้ ก็จะกลายเป็น “นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลก”

อย่างที่ศาสดาสตีฟจ๊อบส์ทำได้

 

วันเสาร์ที่ผ่านมาผมได้กลับไปร่วมงานกับบริษัทเซ้นส์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ อีกครั้ง

บริษัทนี้ชอบผลิตรายการเกมแข่งขันทางความคิดหลายรายการครับ ผมจึงได้รับคำเชิญให้ไปร่วมด้วยบ่อยๆ

..ล่าสุดนี่ขึ้นรายการใหม่อีกแล้ว ฟอร์มใหญ่ทีเดียว “คิดล้ำทำได้” หรือในชื่อภาษาอังกฤษ “Do It If You Can”

ตั้งใจจะออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่วงเมษายนนี้ เป็นรายการประกวด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ครับ

เค้าเชิญผมไปเป็นกรรมการกลั่นกรองนวัตกรรมก่อนถึงรอบแข่งขันใหญ่ ร่วมกับอาร์ม พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์

และดร.ต่าย นิศรา การุณอุทัยศิริ จากไบโอเทค สวทช. ..มีพาเหรดสิ่งประดิษฐ์จากคณะนักเรียน-อาจารย์ที่เดินทาง-

มาจากทั่วประเทศกว่า 30โครงงานให้เราได้ตรวจกันมาราธอนตั้งแต่เที่ยงวันยัน4ทุ่ม 10ชม.เต็มอิ่มในสตูดิโอมูนสตาร์

…ทางรายการเป็นคนมอบเงินรางวัล 1หมื่นบาทกับผลงานผู้เข้ารอบ แต่ให้สิทธิ์เด็ดขาด

กับ 3 กรรมการอย่างผม,อาร์มและดร.ต่าย ตัดสินตามแต่ใจพวกเรา ซึ่งเราตัดตกไปเยอะครับ

ด้วยเหตุผลที่มารองรับไม่พอบ้าง, ไม่เห็นทางต่อยอดบ้าง และที่สำคัญ “ซ้ำ”

กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ต้องอธิบายว่า “นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่หลุดโลกที่อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกเสมอนะครับ

มันซ้ำกับสิ่งที่มีอยู่ได้ เพียงแต่มันต้องตอบโจทย์ 2-3ข้อว่า ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงการใช้งานได้รึปล่าว?

แตกต่างรึปล่าว? ดีกว่ารึปล่าว? หรือราคาถูกลงหรือไม่? ถ้าไม่ …ก็ตกครับ

…ผมตกใจเล็กๆที่นักประดิษฐ์หลายท่านที่อ้างว่าผลงานของตนเป็นการ”คิดค้นขึ้นมาครั้งแรกในโลก”

แต่เพียงผมกด Search กูเกิ้ล ในระหว่างฟังพวกเขาพรีเซ้นต์ ผมก็พบว่าสิ่งนั้นมันมีอยู่แล้วเต็มไปหมด

ก็ต้องมาดูว่าของเค้าดีกว่ายังไง? ซึ่งร้อยทั้งร้อยยังไม่ดีกว่า!

1616536_10152165122210406_1665793578_n
กว่า 10ชั่วโมงที่นั่งตรวจผลงานอย่างหลักขดหลังแข็งก็พบว่า ที่เข้าตาที่สุดคือ

“บ้องกันกระสุนระเบิดโขลก” (ตั้งชื่อซะน่าตื่นเต้น)

คือฝาครอบครกเพื่อป้องกันพริกกระเด็นใส่ตอนโขลก! เรื่องง่ายๆที่ผู้ผลิตครกไม่เคยคิด

…กรรมการให้ผ่านเพื่อเอาเงินรางวัลไปต่อยอดทางการผลิตจริง

ซึ่งแน่นอนว่า 1 หมื่นบาทมันไม่พอต่อการลงทุนหรอกครับ แต่ถ้าเขาคิดได้ เขาต้องหาทางไปต่อได้

อีกชิ้นเป็นผลงานของอาจารย์กับลูกศิษย์ที่พากันมาจากเขาย้อย เพชรบุรี ทำ

“ด้ามจับร่มไร้คนถือ” ด้วยความซื่อๆของอาจารย์ ผมก็ให้ผ่านเข้ารอบ

แนวความคิดลักษณะนี้ดีแต่ขาด Product Design หรือการออกแบบให้น่าใช้

ซึ่งถือเป็น “คำตอบของผู้บริโภค” ว่าจะซื้อมันหรือไม่?

อยากบอกว่าคนไทยเก่งนะ แต่ต้องจับ “ทีมเวิร์ค” ให้ได้แน่นกว่านี้ 1โปรเจ็คต้องประกอบไปด้วย

นักคิด นักประดิษฐ์ นักออกแบบ นักการตลาด และนักการเงิน

…สถาบันการเงินพร้อมจะให้เงินแก่คนที่ทำให้เขามั่นใจได้ว่ามีศักยภาพในการใช้คืน

..ต้องตอบคำถามว่าจะเอาเงินไปคืนเขาได้อย่างไรและทำให้เขามั่นใจด้วยแผนการตลาด

เรายังขาดองค์ความรู้กันอยู่เยอะครับ และเรายังงมหนทางสู่ความสำเร็จกันอยู่มาก แต่เราตั้งไข่กันได้ดีแล้ว

เพราะเรามีทรัพยากรคนจำนวนมากที่หลงไหลในเรื่องนี้และมีสปอนเซอร์คือองค์กรใหญ่ที่พร้อมสนับสนุนผลักดัน

…เหลือเพียงทำให้มันเป็นจริงให้ได้เท่านั้นเอง อยาก Restart ประเทศไทยแล้ว Shutdown นานไป

ผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยเผชิญหน้าพูดคุยกันทีเถิด

S__8323075

ขอขอบคุณ หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก