ถ้าใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาตลอด คงจะได้เห็นข่าวพระนักนักเทศน์ชื่อดัง 2 รูปที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ จนมีหลายกระแสออกมาพูดถึงความเหมาะสมหรือไม่ของพระสงฆ์ 2 รูปนี้ ซึ่งเราจะไม่ขอพูดถึงเรื่องนี้ แต่เมื่อมีกระแสของพระสงฆ์ออกมาแบบนี้ก็ทำให้เราคิดไปถึงอาชีพ ‘Monk’ หรือพระในวิดีโอเกมที่ทางทีมพัฒนาเกมได้นิมนต์พระเหล่านั้นมาอยู่ในวิดีโอเกมแบบต่าง ๆ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีพระสงฆ์ไปอยู่ในเกมไหนแล้วมีบทบาทอะไรที่น่าสนใจบ้าง เตรียมพนมมือพับเพียบให้เรียบร้อยแล้วนมัสการหลวงพี่ (หลวงพ่อ) มาอยู่ในบทความนี้กันเลย สาธุ

หมายเหตุ. เนื้อหาในบทความมิได้ลบหลู่ศาสนาหรือเอามาล้อเลียน เพียงแค่บอกให้ทราบว่าพระสงฆ์ในวิดีโอเกมนั้นมีหลายแบบจากหลายศาสนา โปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสิน

Monk จากเกม Cyberpunk 2077

Cyberpunk 2077

เริ่มต้นเกมแรกที่หยิบยกเรื่องราวของธรรมะกับพระสงฆ์มาใส่ได้เกมได้อย่างลงตัว กับเกม ‘Cyberpunk 2077’ ที่ตัวเกมจะเริ่มต้นในภารกิจที่ชื่อว่า ‘Sacrum Profanum’ ที่เป็นภาษาละตินแปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ที่เราจะได้คำของร้องจากพระสงฆ์ที่ถูกดัดแปลงร่างกายให้เป็นเครื่องจักรโดยกลุ่มโจรเจ้าถิ่นที่ชื่อว่า ‘Maelstrom’ ที่ต้องการหมิ่นศาสนาที่พวกพระนับถือ โดยภารกิจนี้เราจะต้องเข้าไปช่วยน้องชายของพระรูปนี้ที่ถูกจับไป และกำลังจะถูกดัดแปลงร่างกายเหมือนพี่ชาย และก่อนที่เราจะไปพระสงฆ์รูปนี้ได้ขอเราว่าอย่าฆ่าใครให้เข้าไปช่วยน้องชายออกมาก็พอ จนเมื่อเราไปถึงก็พบน้องชายของพระรูปนั้นที่บอกว่า ตนเองและพระรูปอื่นเพิ่งเดินทางมาที่เมืองนี้ ที่แม้จะรู้ว่าอันตรายแต่ก็อยากจะเผยแพร่ศาสนาให้คนยุคนี้ที่ไม่สนใจคำสอนได้เห็นแสงเห็นธรรม ก่อนที่ตัวเกมจะชี้ทางธรรมให้กับเราคนเล่น แม้ตัวหลักคำสอนที่ใช้ในเกมนั้นอาจจะไม่ตรงกับศาสนาพุทธที่เราเรียนรู้มา แต่นั่นก็ทำให้เรารู้สึกถึงความใส่ใจในการเขียนบทในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นการบอกเราว่าแม้โลกภายนอกจะวุ่นวายขนาดไหน ถ้าจิตใจของเราสงบเราก็จะพบความสุขที่แท้จริง ซึ่งนั่นคือแก่นของธรรมะ สาธุ

Cyberpunk 2077

Novice Monk จากเกม Home Sweet Home

Home Sweet Home

คราวนี้มาดูเรื่องราวของสามเณรที่สร้างจากเกมฝีมือคนไทยกันบ้าง กับเกม ‘Home Sweet Home’ เกมที่จะให้เรารับบทเป็นติมชายผู้ตามหาภรรยาที่หาตัวไปในโลกต่างมิติที่เต็มไปด้วยเหล่าผีมากมาย และหนึ่งในการเดินทางไปช่วยเจนภรรยานั้นติมก็ได้เจอกับสามเณรที่อยู่ในวัด เณรได้บอกกับติมว่าสถานที่แห่งนี้คือนิวรณ์ที่เป็นโลกกึ่งกลางระหว่างภพภูมินรกกับโลกมนุษย์ และตัวของเณรก็ได้ชี้แนะและบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ติมได้รู้ รวมถึงช่วยติมในการตีมีดหมอเพื่อใช้ในการป้องกันตัว เมื่อเขายืนยันว่าจะไปช่วยภรรยาจากหมอผีผู้ชั่วร้ายให้ได้  โดยตัวเกมนั้นไม่ได้บอกเราว่าสามเณรมาอยู่ในภพนี้ได้อย่างไร เรารู้เพียงว่าหมอผีชัยที่เป็นตัวร้ายของเกมกับพ่อของเณรเป็นเพื่อนกันมาก่อน จึงพอจะเดาได้ว่าตัวของเณรอาจจะหาทางขัดขวางเพื่อนพ่อที่กำลังทำบาปอยู่ก็ได้ คงต้องรอดูต่อไปว่าเณรรูปนี้คือใครและเกี่ยวอะไรกับเรื่องราวในครั้งนี้ในภาคต่อไปของเกม

Home Sweet Home

Lei-Fei จากเกม Virtua Fighter  

Virtua Fighter  

เมื่อพูดถึงเกมต่อสู้ที่มีพระสงฆ์มาร่วมสู้ด้วยหลายคนคงจะคิดถึงพระวัดเส้าหลินอย่างแน่นอน  แต่น้อยคนนักจะรู้และจำได้ว่าในเกมซีรีส์ ‘Virtua Fighter’ นั้นก็มีนักสู้ที่เป็นพระร่วมอยู่ด้วยนั่นคือ เล่ยเฟย (Lei-Fei) นักบวชหนุ่มจากวัดเส้าหลินผู้ใช้วิชากังฟูวัดเส้าหลินในการต่อกรกับ เหลา ชาน (Lau Chan) ผู้สืบทอดวิชา ‘Tiger Swallow Fist’ ซึ่งเป็นวิชาที่ดัดแปลงมาจากสำนักวัดเส้าหลิน แต่วิชานี้จะโหดเหี้ยมในการกำจัดศัตรู มากกว่าแค่ล้มศัตรูแบบวิชาเส้าหลินปกติที่ไม่จะไม่ใช้ท่าที่ฆ่าผู้อื่น โดยเรื่องราวการต่อสู้นี้ต้องย้อนกลับไปในอดีตในสมัยโบราณของจีน จักรพรรดิองค์หนึ่งประกาศว่าเทคนิคศิลปะการต่อสู้ที่ทรงพลังทั้งหมดจะถูกห้ามฝึก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครมีเทคนิคที่ทรงพลังมากไปกว่าตัวจักรพรรดิเอง โดยวิชาที่จักรพรรดิฝึกนั้นก็คือวิชา ‘Tiger Swallow Fist’ ทางวัดเสาหลินจึงส่งหลวงพี่เล่ยเฟยมากำจัดเขา แต่ด้วยความที่หลวงพี่ยังอ่อนต่อโลกและยังมีรักโลภโกรธหลงอยู่มาก จึงทำให้จิตใจของหลวงพี่ไม่สงบจนไม่สามารถเขาถึงแก่นแท้ของวิชาวัดเส้าหลินได้ เหมือนต้องการบอกคนเล่นเกมว่าต่อให้ฝึกวิชาจนบรรลุขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าจิตใจยังไมเข้าใจถึงแก่นแท้ของวิชานั้นฝึกไปก็ไร้ความหมาย เหมือนการสวดมนต์ได้ทุกบทแต่ถ้าจิตใจไม่สงบและเข้าใจถึงสิ่งที่อยู่ในบทสวดก็ไร้ความหมาย สาธุ

Virtua Fighter  

Gaira Caffeine จากเกม Samurai Shodown

Samurai Shodown

ถ้าใครที่เคยอ่านหรือดูการ์ตูนญี่ปุ่นมาจะทราบดีว่าพระสงฆ์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะมีอยู่หลายแบบที่ต่างกับในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการโกนหัวแต่ไว้คิ้ว พระที่ญี่ปุ่นสามารถมีภรรยาครอบครัวได้ แถมยังสามารถดื่มสุราได้โดยที่ไม่มีข้อจำกัดแบบในบ้านเรา และอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนยังไม่รู้มาก่อนว่าพระในประเทศญี่ปุ่นจะบวชเรียนได้นั้นต้องผ่านการเป็น ‘Monk in training’ หรือถ้าจะให้แปลแบบง่าย ๆ ก็คงจะเป็นสามเณรแบบในบ้านเรา(แต่ทางนั้นอาจจะไม่จำกัดอายุ) ซึ่งพระที่จะบวชประเทศญี่ปุ่นได้นั้นต้องทำการฝึกตนในแบบต่าง ๆ ที่ศาสนาพุทธกำหนดก่อนจะบวชได้ ซึ่งตัวละครที่ชื่อ ไกร่า คาเฟอีน (Gaira Caffeine) จากเกม ‘Samurai Shodown’ ก็คือหนึ่งในนั้น ที่ตัวของท่าน(ของเรียกว่าท่านเพราะถือว่าเป็นสามเณร) ต้องเดินทางเพื่อฝึกฝนจิตใจ โดยเป้าหมายของเณรไกร่าคือการกำจัดความชั่วร้าย จนเมื่อความชั่วร้ายถูกปราบลงได้ท่านก็ได้รับการโกนผมเพื่อบวชเป็นพระที่เต็มตัวในเวลาต่อมา

Samurai Shodown

Monk จากเกม Diablo 3

Diablo 3

ยังคงอยู่กับพระนักสู้ที่คราวนี้มาดูเกมแอ็กชันที่หลายคนรู้จักอย่าง ‘Diablo 3’ ที่ถ้าใครเคยเล่นซีรีส์นี้มาจะทราบว่าหนึ่งในอาชีพที่เราสามารถเลือกใช้ได้ก็คืออาชีพ ‘Monk’ หรือพระสงฆ์ ที่เป็นหนึ่งในตัวละครสายต่อสู้ที่สามารถเปลี่ยนได้ทั้งเพศชายและหญิง ที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าผู้หญิงก็ฝึกวิชาได้ด้วยหรือ เท่าที่หาข้อมูลมาจริง ๆ หญิงสาวสามารถฝึกวิชากังฟูวัดเส้าหลินได้แต่จะไม่นับว่านั่นคือพระหรือผู้สืบทอดวิชาเท่านั้น ในกรณีของเกม ‘Diablo 3’ ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่นั้น แต่ในเกมนี้จะมีมุมมองของการบวชที่ต่างกับของเอเชีย นั่นคือการออกบวชในเกมนี้ต้องฝึกฝนร่างกายและจิตใจ เพื่อพวกท่านเหล่านั้นได้เป็นนักรบศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกว่าที่ท่านเหล่านั้นจะเป็นนักรบศักดิ์สิทธิ์ต้องผ่านการทรมานทั้งทางกายและทางวิญญาณตนเอง เพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดีในบรรลุจุดธรรม ที่ต่างกับหลักคำสอนทางเอเชียที่เน้นการเดินทางสายกลาง ส่วนการทำร้ายตนเองทั้งร่างกายจิตใจนั้นจะเป็นส่วนของศาสนาอื่น ที่ทางทีมพัฒนาซึ่งเป็นคนต่างชาติเอามาใส่เสียมากกว่า แถมในข้อมูลยังบอกเพิ่มอีกว่าการบรรลุธรรมนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนวิชาต่อสู้แบบต่าง ๆ ที่ขัดกับทางเอเชียที่เน้นการฝึกเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและปกกันตัวเท่านั้นไม่ใช่เพื่อฆ่าฟัน เราจึงขอนับพระสงฆ์ในเกมนี้เป็นการตีความที่ผิด

Diablo 3

Yang Fang Leiden จากเกม Final Fantasy lV

 Final Fantasy lV

ถ้าเราจะบอกว่าชาวต่างชาติไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชาวเอเชียก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราพระหรืออาชีพ ‘Monk’ ในเกมซีรีส์ ‘Final Fantasy’ ก็ตีความหมายของพระนักสู้เหมือนกับซีรีส์ ‘Diablo’ ทำ นั่นคือการนำพระวัดเส้าหลินมาตีความหมายเป็นผู้ฝึกวิชากังฟูที่ใช้อาวุธเป็นกงเล็บในการต่อสู้ ที่ผิดกับพระวัดเส้าหลินจริง ๆ ที่เราได้อธิบายไป แต่เราก็อย่าลืมว่าในประเทศญี่ปุ่นเขาตีความหมายของพระสงฆ์คือผู้ฝึกตนเดินสายกลางที่ไม่ฆ่าสิ่งมีชีวิต แต่จะไม่ยึดติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนในบ้านเรา จึงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจะเอาพระวัดเส้าหลินมาตีความในมุมมองนี้ ซึ่งตัวละครที่สื่อความหมายได้ตรงกับที่อธิบายไปที่สุดก็คือ หยางฟาง เหล่ยเดน (Yang Fang Leiden) พระนักสู้ผู้ฝึกตนในเกม ‘Final Fantasy lV’ ที่ถ้าใครได้เล่นเกมนี้มาแล้วจะรู้ว่าหยางฟางนั้นจะเป็นลูกครึ่งระหว่างพระญี่ปุ่นและพระจีนอย่างละครึ่ง ที่แม้ในเกมจะไม่ได้บอกว่าตนเองคือพระ แต่เขาแค่อยู่ในอาชีพพระ ที่เป็นการตีความแบบผิด ๆ แถมยังใช้คำว่า ‘Monk’ อีก จนชาวต่างชาติคงคิดไปว่าพระวัดเส้าหลินคงจะดื่มเหล้าไว้ผมเปียมีภรรยาได้อย่างแน่นอน(พระวัดเส้าหลินจะกินเจไม่ฆ่าสัตว์ไว้คิ้วแต่จะไม่มีภรรยา) นี่จึงเป็นอีกเกมที่ตีความพระสงฆ์แบบผิดที่เราอยากหยิบมานำเสนอ

 Final Fantasy lV

Illusory Hall Monk จากเกม Sekiro Shadows Die Twice

Sekiro Shadows Die Twice

ไหน ๆ ก็มาทางนี้แล้วเอาให้สุดทางกับพระสงฆ์ในแบบต่าง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นตีความออกมา หนึ่งในนั้นก็คือ พระอุโบสถลวงตา หรือ ‘Illusory Hall Monk’ ที่เราจะเห็นหลวงพ่อยืนพนมมือสวดมนต์อยู่ในวัด ‘Senpou’ ที่ภูเขา ‘Kongo’ ในเกม ‘Sekiro Shadows Die Twice’ ที่เป้าหมายของการยืนสวดมนต์ซ้ำไปซ้ำมาจนร่างกายผอม ที่ดูแล้วก็ไม่ต่างกับการทรมานตนเองนั้นคือหนึ่งในความเชื่อเรื่องของการนิพพาน ที่หมายถึงการหลุดพ้นที่เป็นหนึ่งในคำสอนที่พระญี่ปุ่นที่ได้อิทธิพลมาจากศาสนาพุทธของอินเดียมาใช้ ที่เชื่อว่าสภาวะการหลุดพ้นหรือนิพานนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเราหลุดพ้นจากความยึดติดทุกอย่างบนโลก ที่รวมถึงการกินอยู่หลับนอน จนเราจากโลกนี้ไปเราก็จะพ้นจากความทุกข์ทางโลก และการสิ้นสุดของวัฏสงสารที่เราทุกคนกำลังเป็นอยู่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายที่พระญี่ปุ่นปฏิบัติกัน ที่เหมือนบําเพ็ญทุกรกิริยาในหลาย ๆ ศาสนาเพื่อหมายถึงการทรมานร่างกายตนเองเพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาป ที่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าก็เคยทำก่อนจะเปลี่ยนมาเดินสายกลาง ซึ่งเราไม่ขอฟันธงว่าสิ่งไหนถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บวช

Sekiro Shadows Die Twice

Dhalsim จากเกม Street Fighter

Street Fighter

ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วที่เรากล่าวถึงการบําเพ็ญทุกรกิริยาที่พระสงฆ์ใน ‘Illusory Hall Monk’ จากเกม ‘Sekiro Shadows Die Twice’ เอามาฝึกนั้นก็ได้ต้นแบบมาจากนักบวชชาวอินเดียที่ในเกม ‘Street Fighter’ ที่เรียกว่า ‘Yoga Master’ ที่ใช้การทรมานตนเองเพื่อหวังความพ้นทุกข์ที่เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” ที่เป็นการทรมานตนเองแบบต่าง ๆ ทั้งการเอาหัวมุดดินอดอาหารจนร่างกายผอม การนอนบนหนามเหล็กแหลม การเดินบนกองเพลิง ไปจนถึงการจ้องพระอาทิตย์โดยไม่กะพริบตา ที่เป็นการทรมานตนให้ได้รับความทุกข์ ซึ่ง ดัลซิม (Dhalsim) นักบวชจากเกมซีรีส์ ‘Street Fighter’ ก็ทำแบบนั้น และถ้าถามว่าดัลซิมคือพระไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ แต่เขาคือนักบวชซึ่งการที่เราหยิบเขามาพูดถึงเพื่อให้เห็นภาพที่มาของการทรมานตนว่ามาจากนักบวชเหล่านี้ ซึ่งในพุทธประวัติพระพุทธเจ้าก็เคยทำสิ่งนี้ก่อนจะทราบว่ามันไม่ได้ผล จนพระพุทธองค์ตรัสว่า “อัตตกิลมถานุโยคไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่กลับทำให้ทุกข์เสียเปล่าประโยชน์” ก่อนจะค้นพบ “ทางสายกลาง” ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ให้เป็นทางแห่งการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ สาธุ (โปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสิน)

Street Fighter

Zenyatta จากเกม Overwatch

 Overwatch

เปลี่ยนจากเรื่องเครียด ๆ มาดูพระสงฆ์ในแบบอื่นกันบ้างกับ เซนยัตตา (Zenyatta) พระสงฆ์ผู้หาความสงบสันติเพื่อให้มนุษย์และหุ่นยนต์อยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุขในเกม ‘Overwatch’ ที่ในเกมจะไม่เรียกพระสงฆ์หรือ ‘Monk’ แต่จะเป็น ‘Wandering Guru’ ที่แปลว่า “ปราชญ์พเนจร” หุ่นยนต์ที่เรียกตัวเองว่าเผ่า ‘Omnic’ ที่เกิดจากความคิดของเหล่าหุ่นยนต์ที่ไม่อยากเป็นทาสของมนุษย์ จึงหันมาทำสงครามที่ชื่อว่า ‘Omnic Crisis’ ซึ่งก็มีหุ่นยนต์บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามนี้ จึงหันหลังให้กับสงครามแต่มุ่งค้นหาความสงบ และพยายามเป็นสื่อกลางให้มนุษย์กับหุ่นยนต์อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติมากกว่าจะต่อสู้ฆ่ากัน ซึ่งหลวงพี่เซนยัตตาก็ใช้ธรรมะสอนจนสำเร็จมาแล้วกับตัวละคร เก็นจิ ชิมาดะ (Genji Shimada) ชายผู้ถูกพี่ชายแท้ ๆ พลั้งมือฆ่าจนเกือบตาย ทำให้ชายหนุ่มเต็มไปด้วยความโกรธแค้นพี่ชาย แต่ด้วยคำสอนของธรรมะจึงทำให้เก็นจิหลุดพ้นจากความแค้นที่มีกับพี่ชาย โดยใช้ธรรมะที่เรียกว่าการ “อโหสิกรรม” ในการสอนที่เป็นหลักธรรมเดียวกับศาสนาพุทธในบ้านเรา ส่วนบทบาทในเกมนั้นหลวงพี่จะเป็นสายสนับสนุนที่เน้นการรักษาปกป้องมากกว่าโจมตีอีกฝ่าย ที่ใครซึ่งเคยเล่นเกมนี้จะทราบถึงหลักคำสอนของหลวงพี่เป็นอย่างดี

 Overwatch

Sokaku Mochizuki จากเกม Fatal Fury

Fatal Fury

ถ้านับกันจริง ๆ พระสงฆ์ของประเทศญี่ปุ่นนั้นก็มีอยู่หลายแบบที่เราได้หยิบยกมาพูดถึง และหนึ่งในพระอีกสายที่เหมือนพระสงฆ์ในบ้านเรานั่นคือพระสายธุดงค์ที่เรียกว่า “โอะเฮ็นโระ” หรือการแสวงบุญที่พระภิกษุจะออกเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ไม่มีวัดอยู่ประจำ ซึ่งชุดที่พระสงฆ์ญี่ปุ่นสวมจะเป็นชุดเพื่อการเดินทาง ที่จะมีหมวกเพื่อกันแดดกันฝนรวมถึงไม้ขักขระที่เป็นเอกลักษณ์ของพระสายนี้ ที่เวลาเดินท่านเหล่านี้จะกระแทกไม้เท้าลงไปเพื่อให้ห่วงด้านบนเกิดเป็นเสียง เพื่อเตือนให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงหน้าหลบทางให้เพื่อกันพระสงฆ์ที่เดินมาเผลอไปเยียบจนผิดศีล (ทางญี่ปุ่นแม้จะทำไปโดยไม่ตั้งใจก็ถือว่าผิด) ซึ่งเราสามารถเห็นพระสายนี้ได้จากในเกมต่อสู้อย่าง ‘Samurai Shodown’ กับ ‘Fatal Fury’ ซึ่งการตีความของพระสายธุดงค์ของญี่ปุ่นกับไทยจะเหมือนกัน ตรงที่เราจะคิดว่าพระคุณท่านเหล่านี้จะมีวิชาอาคมที่สูงกว่าพระปกติ เพราะการออกไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างป่าหรือที่รกร้างอาจจะเจอเหล่าผีปีศาจมาหลอกหลอน พระคุณท่านเหล่านี้ต้องมีวิชาอาคมที่แกร่งกล้า เราจึงได้เห็นท่าต่อสู้ของพระสายนี้ไปทางวิชาอาคมที่ต่างกับตัวละครคนอื่น ๆ ส่วนตัวละครหลวงพ่อ โซคาคุ โมจิซึกิ (Sokaku Mochizuki) ก็คือผู้ที่ออกธุดงค์เพื่อปราบปีศาจ ‘Shura’ ที่ชั่วร้ายพร้อมกับขัดเกลาจิตใจตนเองเพื่อปราบปีศาจซึ่งอยู่ในจิตใจ นับเป็นหนึ่งในหนทางของการหลุดพ้นที่พระสงฆ์ต้องการ

Fatal Fury

Xuanzang จากเกม Fuuun Gokuu Ninden

Fuuun Gokuu Ninden

ปิดท้ายกับพระสงฆ์ชื่อดังที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะท่านนั้นเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญในตำนาน ‘Journey to the West’ หรือที่เรารู้จักในชื่อตำนาน “ไซอิ๋ว” ที่มีพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ต้องออกเดินทางไปชมพูทวีปประเทศอินเดียเพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนาพร้อมกับลูกศิษย์ 3 ตนที่เป็นปีศาจ นั่นคือ ‘Xuanzang’ หรือ “พระถังซัมจั๋ง” ที่ตามบันทึกจริง ๆ จาก จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ได้มีการเดินทางไปยังชมพูทวีปประเทศอินเดียจริง ๆ กับลูกศิษย์ (ที่เป็นมนุษย์) ด้วยเท้าทีละก้าวจนสามารถนำพระสูตรทั้งมหายานและเถรวาทกลับมาด้วยกว่า 600 ม้วน เพื่อกลับมาแปลเป็นภาษาจีน ก่อนที่เรื่องราวนี้จะถูกนำมาแต่งเป็นนิทานที่เราได้รู้จัก ซึ่งในโลกของวิดีโอเกมแล้วมักจะตีความพระถังซัมจั๋งให้ดูบอบบางที่ต้องปกป้อง และหลายเกมอย่าง ‘Fuuun Gokuu Ninden’ หรือ ‘Saiyuki Journey West’ ที่ตีความพระถังซัมจั๋งเป็นเพศหญิงก็มีมาแล้ว (รูปประกอบด้านล่าง) ที่อาจจะหมายถึง “ภิกษุณี” ที่ในประเทศญี่ปุ่นก็มี หรืออาจจะเป็นเพียงการตีความใหม่ให้ดูน่าสนใจซึ่งเราก็ไม่อาจทราบได้

Fuuun Gokuu Ninden
Saiyuki Journey West

ก็จบกันไปแล้วกับเรื่องราวของพระสงฆ์ในเกมต่าง ๆ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะมีไม่มากเพราะเรื่องนี้คงดูเป็นเรื่องไกลตัวที่นักพัฒนาเกมอาจจะไม่สนใจ แต่เมื่อไปหาข้อมูลจริง ๆ กลับพบว่ามีเรื่องราวของพระสงฆ์จริง ๆ เยอะมากจนเราต้องคัดเฉพาะเรื่องราวพระที่มีรูปแบบเหมาะสมน่าสนใจมานำเสนอ เพราะหลายเกมนั้นมักจะหยิบเรื่องราวของพระสงฆ์มาตีความแบบผิด ๆ เอาแค่เรื่องง่าย ๆ อย่างการฆ่าสิ่งมีชีวิตหรือใช้อาวุธที่สามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตได้นั่นก็ถือว่าผิดแล้ว  ยิ่งเป็นประเทศญี่ปุ่นที่จะตีความพระสงฆ์ไปหลาย ๆ แบบ เพราะประเทศเขาไม่ยึดติดกับรูปแบบเหมือนในบ้านเรา ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็คงไม่ขอฟันธงว่าการตีความของทีมพัฒนาเกมเหล่านี้ถูกหรือผิดใช่หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านว่าจะตัดสินไปทางไหน อย่างข่าวที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ไม่ต่างกับเกมที่เราเล่น ที่แม้เกมจะตีความรูปแบบพระสงฆ์ผิดแบบแต่ในเนื้อหาของเกมก็ใส่ธรรมะแง่คิดต่าง ๆ เอาไว้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองแค่เปลือกหรือมองทะลุไปถึงแก่นธรรมของคำสอนที่มี เก็บเอาไว้ให้คิดกัน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส