คุณเคยสงสัยหรือคิดเล่น ๆ กันบ้างไหมว่าในโลกของวิดีโอเกมที่เราเล่นนั้นมันเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป แม้ในยุคนี้เกมจะมีกราฟิกฉากตัวละครรวมถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่สมจริงตามยุคสมัย  จนบางทีเราที่เป็นคนเล่นเกมเองยังแยกไม่ออกเลยว่าฉากนี้เป็นฉากในเกมหรือของจริง ที่แม้สิ่งเหล่านี้จะเหมือนจริงหรือสวยงามขนาดไหนก็ตาม แต่ลึก ๆ แล้วเชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกเหมือนมันขาดอะไรบางอย่างไป แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรเพราะเรามัวแต่สนุกกับการเล่นเกมอยู่จนลืมคิดถึงสิ่งเหล่านั้นไป วันนี้เรามาค้นหากันดีกว่าว่าในเกมที่เราเล่นทีมพัฒนาได้ลืมใส่อะไรลงไป และถ้ามันมีสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกมดูน่าเล่นหรือสมจริงขึ้นขนาดไหน มาค้นหาสิ่งที่ขาดหายไปนี้พร้อมกันเลย

กลิ่น

Resident Evil 2  Remake

เริ่มต้นความสมจริงเรื่องแรกที่นักพัฒนาเกมหลายที่ลืมใส่ลงไป นั่นคือเรื่องของกลิ่น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอมของสิ่งต่าง ๆ ไปจนถึงกลิ่นเหม็นในฉาก โดยเฉพาะเกมสมองขวัญที่มีทั้งซากศพที่เน่ากลิ่นคาวเลือดไปจนถึงกลิ่นเหม็นต่าง ๆ ที่ถ้าเป็นเราเมื่อได้กลิ่นเหม็นในเวลาปกติเราจะเอามือปิดจมูก หรือบางทีก็อ้วกออกมาเลยก็มีถ้ากลิ่นนั้นเหม็นมาก ๆ แต่ในเกมเหล่านี้กลับลืมที่จะใส่สิ่งเหล่านี้ลงไป แต่จะมีเพียงแค่การพูดสั้น ๆ ว่าเหม็นจริง ๆ หรือกิริยาท่าทางที่บอกว่ามันเหม็นจังออกมาเพียงแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นเราก็จะไม่เห็นกิริยาเหล่านั้นออกมาอีกเลย  ยกตัวอย่างเกมที่เห็นชัด ๆ เลยก็  ‘Resident Evil 2 -3 Remake’ ที่เราจะได้เห็นซากศพที่นอนตายตลอดทางไปจนถึงศพที่เริ่มเน่า แต่ตัวละครเราจะพูดว่าเหม็นจริง ๆ แค่ตอนลงไปที่ท่อระบายน้ำเท่านั้น หรือหนักหน่อยก็เกม ‘Tomb Raider’ ในปี 2013 ที่ในช่วงหลัง ลาร่า ครอฟต์ (Lara Croft) ต้องลุยกองซากศพที่เหม็นเน่าแถมบางทีต้องคลานผ่านกองซากศพเหล่านั้น แต่เธอกลับไม่มีท่าทางเหม็นกลิ่นศพเลย จะบอกว่าชินชาก็ไม่ใช่เพราะยังไงของเหม็นก็คือของเหม็นต่อให้ชินขนาดไหนก็คงทนอ้วกไม่ได้อยู่ดี ซึ่งถ้าในเกมเพิ่มสิ่งเล่านี้ลงไปก็คงจะดีไม่น้อยเลย

Resident Evil 3  Remake
Tomb Raider

ความรู้สึกขยะแขยง

The Evil Within

ต่อเนื่องจากหัวข้อแรกที่นอกจากกลิ่นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ควรมีในเกมนั่นคือความรู้สึกขยะแขยงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินผ่านศพที่นอนตายบนพื้น หรือต้องเจอศัตรูที่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว แต่ตัวละครเหล่านี้กลับไม่รู้สึกอะไรแบบนั้นเลย ตรงข้ามกลับรู้สึกเฉย ๆ จนสามารถเดินผ่านหรือไม่รู้สึกแย่กลับสิ่งเหล่านั้นเลย ถ้าจะให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คงจะเป็นเกม ‘Resident Evil 7’ ที่ตัวละคร อีธาน วินเทอร์​ส (Ethan Winters) ที่เป็นเพียงผู้ชายธรรมดาที่มาตามหาภรรยาที่หายไป แต่เมื่อเขาเจอศพที่ลอยอืดในฉาก(รูปประกอบด้านล่าง) เขากลับไม่รู้สึกกลัวอะไร ทั้งที่ในตอนแรกจะมีเสียงที่แสดงแสดงออกมากับท่าทางกล้า ๆ กลัว ๆ ว่าจะทำดีไหม แต่หลังจากนั้นอาการขยะแขยงของอีธานก็ค่อย ๆ หายไปกลายเป็นคนที่เย็นชาไม่รู้สึกอะไรอีกแล้ว แม้แต่การล้วงมือลงไปเอากุญแจในศพตำรวจ (ใครทานอาหารอยู่ขออภัยด้วย) หรือจะเป็นเกม ‘The Evil Within’ ที่หนักเลยเพราะตัวเอกทุกคนในเกมไม่มีใครมีท่าทางขยะแขยงหรือกลัวอะไรเลย สงสัยจิตใจตัวละครพวกนี้คงแข็งแกร่งน่าดูเลย

Resident Evil 7

อากาศร้อนหนาว

Rise of the Tomb Raider

คราวนี้มาดูที่บรรยากาศกันบ้างกับความรู้สึกร้อนหนาวในฉาก ที่บางเกมนั้นเลือกที่จะให้ตัวละครไปอยู่ในสถานที่หนาวจัดจนหิมะตก ไปจนถึงสถานที่ร้อนระอุอย่างทะเลทราย แต่ตัวละครเหล่านั้นแทบไม่มีกิริยาท่าทางที่บอกว่าร้อนหรือหนาวออกมาเลย จะมีเพียงแค่ไอความเย็นที่ออกมาจากปากตอนตัวละครหายใจเท่านั้น หรือท่าเหล่านั้นจะเกิดขึ้นตอนที่เราปล่อยตัวละครให้ยืนเฉย ๆ ในฉาก จะมีเพียงไม่กี่เกมเท่านั้นที่แสดงท่าทางว่าหนาวมาก ๆ ออกมาอย่างในเกม ‘Rise of the Tomb Raider’ ที่เปิดตัวมาด้วยฉากภูเขาหิมะที่เราจะเล่นลาร่ากอดอกด้วยความหนาวแต่ก็เป็นแบบนี้แค่ในช่วงแรกเท่านั้น ภายหลังดูเหมือนตัวเกมจะลืมหรือลาร่าอาจจะเคยชินกับอาการหนาวนั้นแล้วก็ได้ หรือจะเป็นเกม ‘Uncharted 2 Among Thieves’ ที่ นาธาน เดรก (Nathan Drake) ของเรากลับไม่มีท่าทางหนาวอย่างที่ควรเป็นทั้งที่ตนเองไม่มีแม้แต่เสื้อกันความหนาว ไปจนถึงเกม ‘Uncharted 3 Drake’s Deception’ ที่คราวนี้นาธานของเราต้องเดินบนทะเลทรายร้อนระอุแต่เขากลับไม่รู้สึกร้อนอะไรเลย (ชีวิตจริงคงตายตั้งแต่เดินกิโลแรกแล้ว) หรือนาธานจะเป็นผู้แข็งแกร่งในโลกของวิดีโอเกมอย่างที่เขาว่ามาจริง ๆ

Rise of the Tomb Raider
Uncharted 2 Among Thieves

ความหิว

Monster Hunter

สำหรับเรื่องของความหิวนี้ต้องบอกว่าหลายเกมก็ใส่ระบบนี้ลงไป อย่างเกมเอาชีวิตรอดหรือแนว “Survival” อย่าง ‘ARK Survival Evolved’ ที่มีระบบการหาอาหารเพื่อประทังความหิว หรือจะเป็นเกม ‘Dragon Quest Builders 2’ ที่มีค่าความหิวในรูปของขนมปังที่เราต้องปรุงและหาอาหารมากิน ไม่อย่างนั้นตัวละครจะหิวจนทำอะไรไม่ไหว ไปจนถึงเกมที่ไม่ต้องมีระบบความหิวก็ได้อย่างเกม ‘Red Dead Redemption 2’ ที่ทางทีมพัฒนาก็ใส่ลงมา ที่ท่าหากคุณไม่กินอาหารไม่พักผ่อนจะทำให้พลังชีวิตเพิ่มช้าลง ตัวละครดูอิดโรยผ่านทางสีหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและสมควรมีในนั้น แต่หลายเกมที่ควรมีแต่กลับไม่ใส่ลงไปก็มีเยอะมาก ๆ อย่างเกม ‘Death Stranding’ ที่การเดินทางในเกมค่อนข้างไกลและอันตราย แต่เกมกลับไม่มีระบบความหิวหรือเห็นฉากตัวละครกินอะไรเลย นอกจากดื่มน้ำกับกินตัวหนอนที่ก็ไม่มีผลอะไรกับตัวเกมเท่าใดนัก ไปจนถึงเกมอย่าง ‘Metro 2033’ ที่น่าจะมีระบบความหิวเข้ามาตัวเกมคงจะดูสมจริงมากขึ้นอย่างแน่นอนแต่กลับไม่มี และอีกหลายเกมที่ควรมีแต่กลับไม่ใสลงไป เพราะมันอาจจะทำให้เกมยากขึ้นซับซ้อนยุ่งยากก็เป็นได้ เพราะแค่การเอาตัวรอดก็แย่แล้วต้องมาหาอาหารอีกหลายคนคงไม่อยากเล่น

ARK Survival Evolved
Death Stranding
Dragon Quest Builders 2

ความกลัว

Fatal Frame

คุณว่าความกลัวของคนเราเป็นอย่างไร บางคนกลัวจนแทบก้าวขาไม่ออก บางคนก็ลนลานวิ่งหนีเอาสติแตก ไปจนถึงคนที่มีความกล้าแม้จะกลัวก็ตาม ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้ว่าความกลัวที่แท้จริงเป็นอย่างไร ดังนั้นตัวละครในเกมที่เราได้เห็นจึงอาจจะแสดงความกลัวต่างกันไป ยกตัวอย่างในเกมผีหลอกวิญญาณหลอนอย่างซีรีส์ ‘Fatal Frame’ ที่เราจะเห็นสาวน้อยเหล่านี้มีท่าทางกลัวที่แสดงออกมาตอนเล่นช่วงแรก ๆ แต่ในฉากหลัง ๆ จิตใจของพวกเธอเหล่านั้นอาจจะแข็งแกร่งขึ้นจนความกลัวหายไปก็เป็นได้ หรือแม้แต่เกม ‘The Evil Within’ ภาคแรกเราจะเห็น เซบาสเตียน กัสเตยาโนส (Sebastian Castellanos) หวาดกลัวลนลานในตอนแรกที่เห็นสิ่งแปลกประหลาดก่อนที่จะเริ่มชินจนไม่กลัว หรือเกมมุมมองบุคคลที่ 1 หลาย ๆ เกมที่ก็มีการแสดงความกลัวออกมาผ่านเสียงคำพูด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะแสดงท่าทางความกลัวแค่ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นเราจะไม่เห็นกิริยาแบบนี้อีกแล้วในตัวละครต่าง ๆ ซึ่งในความเป็นจริงถ้าเราต้องอยู่ในสถานการณ์แบบตัวละครในเกม ให้ตายยังไงเราก็คงไม่มีชินแถมยังคงกลัวตลอดเวลาแน่นอน และถ้าถามว่าระบบความกลัวมันมีไหมก็บอกเลยว่ามี อย่างในเกม ‘Clock Tower’ กับ ‘Haunting Ground’ ที่ถ้าเราไม่ควบคุมความกลัวของตัวละครให้ดี ตัวละครจะเกิดความกลัวจนสติแตกให้เราควบคุมไม่ได้  หรือแม้แต่เกม ‘Metal Gear Solid 4 Guns of the Patriots’ ที่มีค่าความรู้สึกที่ส่งผลกับตัวละครในเกม ที่ถ้าค่านั้นลดตัวละครจะมือสั่นจนเล็งปืนไม่ได้ไปจนถึงการต่อสู้ที่แย่ลง เราจึงต้องฉีดยาเพื่อระงับความรู้สึกนั้นที่คล้ายกับระบบความกลัว ซึ่งเอาจริง ๆ ระบบเหล่านี้ดูค่อนข้างยุ่งยากจนหลายคนไม่ชอบ เราจึงไม่เห็นระบบนี้ในเกมมากนัก

Clock Tower’ 
 ‘Haunting Ground’ 
Metal Gear Solid 4 Guns of the Patriots

ความโกรธ

The Last of Us Part II

เมื่อพูดถึงความโกรธเกลียดในวิดีโอเกมยุคนี้เราอาจจะพบเห็นได้บ่อย เพราะความโกรธนั้นเป็นอะไรที่ใส่ในเนื้อเรื่องระบบเกมได้ง่าย เราจึงได้เห็นทีมพัฒนาเกมหยิบเรื่องราวเหล่านี้มาใส่ในเกม จนหลายครั้งเราก็รู้สึกโกรธไปพร้อมกับตัวละครไปด้วย อย่างเกม ‘The Last of Us Part II’ ที่ภาคนี้จะเน้นประเด็นไปที่ความโกรธเกลียดเคียดแค้นของตัวละครทั้งสองฝ่าย จนเราผู้เล่นรู้สึกได้ถึงความโกรธเกลียดที่ออกมามาระหว่างเล่นได้เลย หรือแม้แต่เกมที่มีมุมมองบุคคลที่ 1 อย่าง ‘Resident Evil Village’ เราก็ได้เห็นความรู้สึกโกรธของอีธานผ่านน้ำเสียงของเขาที่ตะโกนออกมาให้เราได้รับรู้ แต่ในหลาย ๆ เกมที่ควรมีระบบโกรธแต่กลับลืมหรือไม่ได้ใส่ลงไป อย่างเกม ‘Resident Evil Code Veronica’ ที่ภาคนี้จะมีการสูญเสียเยอะมาก แต่ตัวละครเกมนี้กลับตายด้านเสียใจแค่นิดหน่อยก่อนลืมความโกรธนั้นไปตอนเจอละครที่ฆ่าคนที่เรารัก ซึ่งคู่ของ แคลร์ เรดฟิลด์ (Claire Redfield) และ สตีฟ เบิร์นไซด์ (Steve Burnside) ยังพอเข้าใจได้เพราะทั้งคู่เพิ่งรู้จักกัน การเสียชีวิตของสตีฟจึงไม่ส่งผลอะไรกับแคลร์เท่าใด(อันนี้พอเข้าใจ) แต่คู่พี่น้อง ‘Ashford’ ที่เติบโตมาด้วยกัน แต่พอพี่ชายตาย อเล็กเซีย แอชฟอร์ด (Alexia Ashford) ก็โกรธตอนที่เธอตื่นขึ้นมา แต่ไม่ใช่เพราะความโกรธที่พี่ชายตาย แต่โกรธเพราะพี่น้อง ‘Redfield’ มาทำลายงานวิจัยตน  เพราะดูจากการกระทำของเธอกับพี่ชายก็พอจะทำให้เรารู้ว่าเธอไม่มีความรู้สึกรักพี่ชายเลย (รูปประกอบด้านล่าง) และถ้าถามว่ามีเกมไหนที่เอาระบบความโกรธมาเป็นระบบการเล่นบ้าง  เท่าที่หาดูก็มีเกมที่ตัวละครโกรธอยู่ตลอดเวลาอย่าง ‘Asura’s Wrath’ ที่ยิ่งตัวละคร อสุรา (Asura) โกรธเขาจะยิ่งมีพลังเยอะ ที่เป็นการหยิบความโกรธเกลียดมาใส่ในระบบเกมและเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี

Resident Evil Code Veronica
Asura’s Wrath

เหนื่อยหอบ

Monster Hunter

ถ้ามีการจัดอันดับระบบเกมที่คนเล่นเกมไม่ชอบมากที่สุด รองมาจากระบบความหิวแล้ว ระบบความเหนื่อยล้าก็คือสิ่งที่หลายคนไม่ชอบและไม่อยากให้มีมากที่สุด เพราะความเหนื่อยในการวิ่งหรือทำอะไรบางอย่างในเกมแม้มันจะสมจริง แต่พอไปอยู่ในเกมมันกลับเป็นสิ่งน่ารำคาญ ยกตัวอย่างเกมซีรีส์ ‘Monster Hunter’ ที่มีระบบความเหนื่อยในรูปแบบของแถบสีด้านล่างพลังชีวิต ที่ถ้าเราวิ่งจนขีดพลังหมดเราจะเหนื่อยหอบที่กลายเป็นเป้านิ่งให้ศัตรูมาจัดการ หรือถ้าจะให้ดีหน่อยก็ใส่มาในรูปแบบของการหยุดวิ่งแล้วค่อยหอบเพื่อแสดงให้รู้ว่าเหนื่อย อย่างเกม ‘Silent Hill 2’ ที่เราสามารถวิ่งได้เรื่อย ๆ ไม่มีเหนื่อย แต่เมื่อเราหยุดวิ่งตัวละครจะมีท่าทางเหนื่อยหอบออกมา แบบนั้นยังดูสมจริงและน่าสนใจกว่า แต่ในเกมที่ควรมีหรือใส่ให้เห็นหลายเกมกลับไม่มี อย่างเกมแนวเอาชีวิตรอดต่าง ๆ โดยเฉพาะเกมสยองขวัญที่ไม่ต้องมีระบบความเหนื่อยใส่ลงไป แต่แค่ให้ตัวละครหอบให้เห็นบ้างก็ดีหรือได้ยินผ่านน้ำเสียงก็ได้ถ้าเป็นเกมมุมมองบุคคลที่ 1 แบบนั้นจะดูสมจริงขึ้นแต่น้อยเกมนักที่จะใส่ลงไป

Monster Hunter
Silent Hill 2

อ่อนเพลีย

Fallout 4

สำหรับความอ่อนเพลียในที่นี้จะหมายถึงการให้ตัวละครอดหลับอดนอนในเกม ที่เราสามารถควบคุมตัวละครตัวนี้ดำเนินเนื้อเรื่องไปเรื่อย ๆ ได้โดยที่ตัวละครเหล่านั้นไม่เป็นอะไรเลย ที่ถ้ามองในแง่ของระบบการเล่นมันก็คือเรื่องที่ดี เพราะถ้าเรามัวแต่สนใจระบบความเหนื่อยความหิวมันจะดูน่าเบื่อจนให้ความรู้สึกตอนเล่นขาดตอน อย่างเกม ‘Red Dead Redemption 2’ ที่เราได้อธิบายไปในตอนต้น หรือเกม ‘Fallout 4’ ที่มีระบบความเหนื่อยล้าความหิว ที่เราต้องหาอาหารที่พักให้ตัวละครและทำทุกอย่างด้วยความระวัง เพราะถ้าค่าเหล่านั้นหมดเราอาจจะเดินช้าเคลื่อนไหวติดขัดไปจนถึงตายเลย ซึ่งโหมดที่ว่านี้จะอยู่ในโหมดยากหรือ ‘Survival mode’ ของเกม (การเล่นปกติจะไม่มีระบบนี้) หรือถ้าจะใส่ลงไปแล้วให้คนเล่นไม่อึดอัดก็น่าจะเป็นเกม ‘Death Stranding’ ที่ใส่ความเหนื่อยล้าลงมาในรูปแบบของค่าพลังที่จะลดลงเรื่อย ๆ ที่เมื่อมาถึงจุดที่ค่าพลังหมดเราจะเดินช้าลงเพราะความอ่อนเพลียที่สะสมมา จนเราต้องไปนอนพักผ่อนจึงจะดีขึ้น แต่ในหลาย ๆ เกมที่มีระบบพักผ่อนก็จริงแต่มันก็คือการฟื้นพลังเท่านั้นไม่ใช่การพักผ่อนด้วยความอ่อนเพลีย แถมในหลาย ๆ เกมเราก็ไม่เห็นตัวละครดูอ่อนล้าเลย ถ้ามีการแสดงท่าทางความอ่อนล้ามาบ้างคงจะดีไม่น้อย

Red Dead Redemption 2
Death Stranding 
Resident Evil 2 Remake

การแต่งกายที่ไม่เข้าสถานที่

Resident Evil

คำถามง่าย ๆ ถ้าคุณต้องไปลุยกับฝูงซอมบี้คุณจะแต่งตัวอย่างไร แน่นอนว่าคุณต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดดูทะมัดทะแมงในการเคลื่อนไหว แต่นั่นใช้ไม่ได้กับซีรีส์ ‘Resident Evil’ เพราะเราจะได้เห็นชุดเกาะอกของ จิล วาเลนไทน์ (Jill Valentine) ในเกมภาคที่ 3 และชุดกระโปรงของ  เอดา วอง (Ada Wong) ที่ดูขัดความเป็นจริง นี่ยังไม่นับชุดที่เธอใส่ใน ‘Resident Evil 2 Remake’ ที่ทีมพัฒนาต้องแถใส่ลงไปให้ได้ (ไม่ใส่ลงไปคงถูกด่า) หรือจะเป็นเกมอื่น ๆ อย่าง ไม ชิรานุอิ (Mai Shiranui) จากซีรี่ย์ ‘Fatal Fury’ หรือตัวละคร ไอวี่ วาเลนไทน์ (Ivy Valentine) จากเกม ‘Soul Calibur VI’ ที่ไม่ว่าจะดูมุมไหนชุดที่เธอสวมก็ไม่เหมาะที่จะใช้ต่อสู้ (รูปประกอบด้านล่าง) แถมดูไม่เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ โดยเฉพาะเกมที่ต้องการความสมจริงแต่ตัวละครกลับแต่ตัวตรงข้าม ก็ทำเอาคนเล่นหลายคนรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาได้เหมือนกัน

Resident Evil
Fatal Fury
Soul Calibur VI

ความรัก

Final Fantasy X

ปิดท้ายกับเรื่องราวที่ถูกสร้างและใส่ได้ยากที่สุดในวิดีโอเกม นั่นคือเรื่องราวของความรัก เพราะในวิดีโอเกมนั้นต่างจากสื่ออื่น ๆ ตรงที่เราต้องใส่หลาย ๆ อย่างลงไปในหนึ่งเกม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง ระบบการเล่น ตัวละคร ฉาก สิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนั้นการใส่ความรู้สึกที่เรียกว่าความรักในเกมนั้นจึงเป็นอะไรที่ยากที่สุด เมื่อเทียบกับความรู้สึกอื่น ๆ ที่สื่อให้คนเล่นเกมรับรู้ เพราะแค่การให้ตัวละครบอกรักกันหรือจูบกันอย่างในเกม ‘Final Fantasy X’ มันไม่ทำให้คนเล่นเกมรู้สึกอินได้ ซึ่งก็มีหลายเกมที่พยายามใส่เรื่องราวตรงนี้ลงไป อย่างเกมปีศาจร้องไห้ใน ‘Devil May Cry’ หรือ ‘Resident Evil 2 Remake’ ที่แม้เกมจะปูเรื่องราวมาอย่างดีขนาดไหน ตอนท้ายคนเล่นก็ไม่รู้อินกับความรักของทั้งคู่ ที่แม้แต่เกมยุคนี้ที่สามารถใส่เนื้อหาปูเรื่องราวมาอย่างดีขนาดไหน ก็ยากที่จะทำให้คนเล่นเกมเชื่อและอินในความรักนั้นได้  แต่มีอยู่หนึ่งเกมที่ทำได้นั่นคือเกม ‘The Last of Us’ ภาคแรก ที่เกมสามารถทำให้คนเล่นรู้สึกอินและเชื่อว่าตัวละคร โจเอล (Joel) หลงรัก เอลลี่ (Ellie) เหมือนลูกสาวที่จากไป เหมือนที่เด็กสาวรู้สึกรักโจเอลเหมือนพ่อที่ทำออกมาได้ดีพอ ๆ กับการใส่ความโกรธแค้นในภาคที่ 2 ที่ต้องชื่นชมและด่าคนคิดเนื้อเรื่องเกมนี้ไปพร้อมกัน

Devil May Cry’ 
‘Resident Evil 2 Remake
The Last of Us

ก็จบกันไปแล้วกับ 10 ความเป็นจริงที่ในวิดีโอเกมมักจะลืมใส่ลงไป ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเนื้อหาในบทความนี้ไม่ใช่การจับผิดตัวเกม เพราะความสมจริงทุกสิ่งที่เรากล่าวมาในบทความนี้นั้นถ้ามีอยู่ในเกมจริง ๆ ทั้งหมดตัวเกมคงขาดความสนุกไปอย่างแน่นอน อีกอย่างเรื่องราวของเกมส่วนมากก็ไม่อิงความสมจริงในเนื้อหาเรื่องราวอยู่แล้ว ดังนั้นการไม่มีสิ่งเหล่านี้ในเกมก็ไม่เรื่องแปลกอะไร ซึ่งไม่ใช่แค่ในวิดีโอเกมที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่ในซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่เราดูก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในบางข้อเหมือนกัน เอาเป็นว่าอ่านกันสนุก ๆ ไม่ต้องคิดมาก และถ้าใครมีเรื่องราวอื่น ๆ ที่ในวิดีโอเกมไม่ค่อยใส่ลงไปเรื่องไหนอีกก็บอกกันมาได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส