ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนๆที่เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานในสถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัย จึงได้ทราบว่าแทบทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า Bitcoin และ Blockchain อาจจะมีโอกาสเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในอุตสาหกรรมของพวกเขาในไม่ช้า และจึงเกิดคำถามว่า “ถ้า Bitcoin ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายแล้ว จะทำให้ธนาคารหมดความหมายหรือไม่? และองค์กรกำกับดูแลในด้านนี้จะถูกลดบทบาทลงไปหรือไม่?”

ถ้า Bitcoin ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายแล้ว จะทำให้ธนาคารหมดความหมายหรือไม่?

Bitcoin คือเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกมาเฉพาะบุคคล ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือปลอมได้ ไม่ได้ถูกผลิตและควบคุมโดยรัฐบาล และการที่จะใช้ Bitcoin ได้นั้นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain มาใช้เพื่อเป็น platform ของระบบเพื่อทำให้เกิดความเชื่อถือและมั่นใจในความปลอดภัย

Bitcoin_logo.svg

Bitcoins อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดยจะถูกส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่เรียกว่า บิท (bit) ซึ่งแทนความหมายด้วย “0” และ “1” แต่มีความแตกต่างจากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ไฟล์เอกสาร Microsoft Word ซึ่งข้อมูลที่แสดงในเอกสาร สามารถเปลี่ยนแปลง คัดลอก และส่งต่อไปยังผู้คนจำนวนมาก ใครก็ตามที่ส่งไฟล์นี้ผ่านทาง email จะสามารถส่งไฟล์ดั้งเดิมให้กับคนอื่นๆได้อย่างง่ายดาย

ทำไม Bitcoin ถึงคัดลอกไม่ได้

Bitcoin ที่ถูกโอนไปยังคนอื่น เจ้าของเดิมจะไม่สามารถส่งไปให้คนอื่น หรือนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญว่าทำไม Bitcoin จึงกลายเป็นเงินดิจิทัลส่วนบุคคล ที่ประสบความสำเร็จในการนำมาใช้จริงรายแรก ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูง เนื่องจาก Bitcoin ของแต่ละบุคคลจะไม่สามารถคัดลอก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แม้ว่าจะไม่มีคนกลางเข้ามาจัดการ เช่น ธนาคารก็ตาม

ระบบของ Bitcoin ได้สร้างให้มีสักขีพยาน (คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกันบนเครือข่ายทุกเครื่อง) ที่จะมาช่วยรับรู้การทำธุรกรรมทุกครั้งไม่ว่าการทำธุรกรรมนั้นจะอยู่ที่ใดในโลก ด้วยการทำงานของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบกระจายหรือ “decentralized” ที่มีการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างกันโดยไม่ผ่านศูนย์กลาง ดังนั้นคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลกที่รันโปรแกรม Bitcoin อยู่ จะรับทราบการทำธุรกรรมแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นร่วมกันทั้งหมด และมีการตรวจสอบการใช้ Bitcoin ผ่านการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ และมีการบันทึกไว้โดยคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายทุกเครื่อง ทำให้เครือข่ายแบบกระจายศูนย์นี้สามารถรักษาข้อมูลการทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรายการธุรกรรมแต่ละรายการที่ทำทุกๆครั้ง ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้เรียกว่า “Blockchain”

การทำธุรกรรม Bitcoin ทั้งหมด จะถูกตรวจสอบกับ Blockchain เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการจ่ายเงินซ้ำซ้อน กระบวนการตรวจสอบบนเครือข่ายนี้ จะยอมให้บุคคลสามารถทำธุรกรรมเงินดิจิทัลได้โดยตรงระหว่างกัน (peer-to-peer) โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง เช่น ธนาคาร หรือ PayPal

ทำไม Bitcoin ถึงมีมูลค่า

หากเปรียบเทียบกระบวนการตรวจสอบของระบบ Bitcoin ก็สามารถเทียบได้กับการทำเหมืองแร่ หรือ mining ที่สามารถสร้าง Bitcoin ใหม่ๆ ขึ้นมา ส่วนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่เข้าร่วมในระบบเครือข่ายที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรมนั้นๆ และบันทึกรายการดังกล่าวจะเรียกว่า Miner หรือ “นักขุด” ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเป็น Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงทำให้มีผู้สนใจเข้ามาเป็น “นักขุด” ในระบบ Bitcoin เป็นการหารายได้เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

การทำเหมืองนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อผลิต Bitcoin ได้น้อยลงเรื่อยๆ

ขั้นตอนการทำเหมืองนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อผลิต Bitcoin ใหม่ๆ ได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะ Bitcoin ถูกกำหนดมาตั้งแต่เริ่มต้นว่าให้มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านหน่วยเท่านั้น ซึ่งการใช้ทรัพยากรในการสร้าง Bitcoin ใหม่ๆขึ้นมา เปรียบได้กับการสกัดแร่โลหะที่มีค่าจากพื้นโลก หรือที่เราเรียกว่าการทำเหมือง (Mining) โดยในระหว่างการทำธุรกรรมใดๆ นักขุดที่สามารถคำนวณ และถอดรหัสคณิตศาสตร์ได้คนแรกว่าการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นนั้นๆ เป็นการทำธุรกรรมที่ถูกต้องเชื่อถือได้หรือไม่ ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไป จำนวน Bitcoin ที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่ก็จะมีน้อยลงเรื่อยๆ (เพราะ Bitcoin มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านหน่วยเท่านั้น) นอกจากนี้ ในปัจจุบัน Bitcoin มีมูลค่าพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล จึงทำให้คนหันมาเป็นนักขุด Bitcoin กันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โอกาสที่จะได้รับ Bitcoin ก็จะยากขึ้นด้วย

เราสามารถตรวจสอบค่าของ Bitcoin ในหน่วยดอลล่าร์สหรัฐได้จาก coindesk.com

ใครเป็นคนคิด Bitcoin ?

ในปี 1998 นักคอมพิวเตอร์ลึกลับคนหนึ่งได้เสนอแนวคิดสกุลเงินดิจิทัลขึ้น เพื่อใช้เป็นเงินในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ต่อมานักพัฒนานิรนามที่ใช้ชื่อว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น บุคคลปริศนาซึ่งเชื่อว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้ง “BitCoin” โดยผลงานวิจัยของ Satoshi Nakamoto ที่ตีพิมพ์ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อปี 2008 ได้กล่าวถึงการสร้างโครงร่างของสกุลเงินดิจิทัล ที่มีการหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการผลิต และมีการตรวจสอบแบบ peer-to-peer ซึ่งข้อเสนอจากงานวิจัยนั้น ภายหลังได้ถูกปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมาะสมขึ้น จนกลายเป็นเงินสกุล Bitcoin โดยใช้ซอฟท์แวร์แบบ open-source และเป็นกระบวนการแบบเปิด (open protocol) ซึ่งทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึง source code หลักได้ และสามารถนำ source code นั้นมาพัฒนาเป็นเงินดิจิทัลสกุลใหม่ได้เอง ดังนั้นจึงไม่มีบุคคลหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีพื้นฐานของ Bitcoin อย่างแท้จริง

วิธีการใช้ Bitcoin

ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดซอฟท์แวร์ Bitcoin มายังเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งโปรแกรมนี้เรียกว่าเป็น กระเป๋าเงิน (Wallet) ที่มาเชื่อมต่อกับผู้ใช้กับเครือข่ายแบบกระจายไปยังผู้ใช้ Bitcoin ทุกคน ผ่านอินเทอร์เน็ต และซอฟท์แวร์จะอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์ สร้างรหัสหรือคีย์ (key) ที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นมาไม่ซ้ำกัน เป็นคีย์สาธารณะ 1 key และคีย์ส่วนบุคคลอีก 1 key ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องมีคีย์ทั้งสอง เพื่อใช้ในการโอน Bitcoin ซึ่งทุกคนสามารถได้รับ Bitcoin จากการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ หรือใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนเงินตรา ทั้งคีย์สาธารณะและคีย์ส่วนบุคคลมีความสำคัญในกระบวนการเข้ารหัสและเพื่อให้แน่ใจว่าการทำธุรกรรมนั้นถูกต้อง ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมนั้นเสร็จสมบูรณ์ได้ เนื่องจากมีการใช้การเข้ารหัส จึงสามารถเรียก Bitcoin หรือเงินในลักษณะที่คล้ายๆ กันนี้ว่าเงินดิจิทัล (cryptocurrencies)

1280px-Bitcoin_Transaction_Visual.svg

Bitcoin สามารถซื้อขายได้ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา คล้ายๆกับการซื้อขายหุ้น ผู้ที่เป็นเจ้าของ Bitcoin สามารถนำมาขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินเหมือนกับเงินดอลลาร์ ผู้ที่ต้องการเงิน Bitcoin ก็สามารถแลกเปลี่ยนเงินและรอรับเงิน Bitcoin โอนเข้าสู่กระเป๋าเงินได้เลย ซึ่งกระเป๋าเงินนี้จะยอมให้ผู้ใช้รับส่ง Bitcoin และติดตามการทำธุรกรรมของพวกเขาได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นกระเป๋าเงิน แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เก็บ Bitcoin แต่กระเป๋าเงินดิจิทัลดังกล่าวเป็นเหมือนโปรแกรม spreadsheet ที่ใช้เก็บและติดตามข้อมูลธุรกรรม โดยธุรกรรมต่างๆของ Bitcoin จะอยู่ในระบบ Blockchain เท่านั้น

Blockchain คืออะไร?

Blockchain เป็นฐานข้อมูลที่บันทึกการทำธุรกรรม Bitcoin ทั้งหมด แต่ละ Bitcoin จะมีต้องอาศัยคีย์สาธารณะ (รหัส) และผู้ใช้ Bitcoin แต่ละคนจะมีคีย์ส่วนบุคคล (รหัส) เพื่อให้เข้าถึงเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเท่านั้น โดย Blockchain เป็นฐานข้อมูลที่บันทึกการทำธุรกรรม Bitcoin ไว้ทุกรายการ ในแต่ละครั้งของธุรกรรมเก็บไว้ใน “Block” และทุกๆครั้งจะนำมาร้อยต่อกันเป็น “Chain” เพื่อเห็นการทำธุรกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อการตรวจสอบที่โปร่งใส

การทำธุรกรรมทุกครั้งจะเก็บไว้ใน “Block” และจะนำมาร้อยต่อกันเป็น “Chain” เพื่อเห็นการทำธุรกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ระบบการทำงานแบบกระจายศูนย์ของ Bitcoin ที่สร้างการทำธุรกรรมโดยใช้คีย์สาธารณะและคีย์ส่วนบุคคล เมื่อผู้ใช้ตัดสินใจที่จะส่งเงิน Bitcoin ให้บุคคลอื่น ผู้ใช้จะสร้างข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถรับรองความถูกต้องจากคีย์ (key หรือกุญแจ)

ตัวอย่างเช่น หากนายแดง ต้องการโอนเงิน Bitcoin ไปให้นายดำ จะต้องสร้างข้อความ (message) รวมทั้งที่อยู่ (address) ของนายแดงเองว่าเป็นผู้ต้องการโอนเงิน และที่อยู่ของนายดำว่าเป็นผู้รับ โดยนายแดงจะลงนามในการทำธุรกรรมด้วยคีย์ส่วนบุคคล (รหัส) และใช้คีย์สาธารณะ (รหัส)ในการตรวจสอบว่านายแดงได้ลงนามแล้ว การทำธุรกรรมของนายแดงจะถูกส่งไปยังทุกๆเครื่องในเครือข่าย Bitcoin โดย Miner จะสามารถตรวจสอบว่าที่อยู่ของนายแดงนี้มีเงิน Bitcoin อยู่และเป็นรายการธุรกรรมที่ถูกต้อง การทำธุรกรรมจะถูกนำมารวมไว้ในบล็อก บล็อกหนึ่งใน Blockchain โดยที่นายแดงจะไม่สามารถใช้ Bitcoin ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่นั้นได้อีก มีเพียงนายดำเท่านั้นที่สามารถใช้ Bitcoin นั้นได้ (เพราะถูกโอนมาให้นายดำแล้ว) ซึ่ง Miner ที่เป็นผู้รับรองว่าการทำธุรกรรมถูกต้อง จะได้รับรางวัลเป็น bitcoin

Bitcoin_paper_wallet_generated_at_bitaddress

ถ้าผู้ใช้ทำคีย์ส่วนตัวสูญหาย เท่ากับว่าทำ Bitcoin หายไปด้วย หรือหากโดนขโมยคีย์ส่วนตัวไป ผู้ขโมยก็จะสามารถโอน Bitcoin ไปยังที่อยู่อื่นได้ ซึ่งไม่มีกลไกในการโอน Bitcoin กลับไปยังที่อยู่เดิม หากผู้ใช้ทำ Bitcoin หรือคีย์ส่วนบุคคลสูญหาย ก็เหมือนกับการทำเงินหายเนื่องจากโดนขโมยกระเป๋าเงิน แต่อย่างไรก็ตาม รายการธุรกรรม Bitcoin ทุกรายการ จะสามารถตรวจสอบติดตามได้ด้วยที่อยู่ (Address) หรือกล่าวได้ว่านายแดงและคนอื่นๆ จะสามารถค้นหาที่อยู่ที่นายแดงใช้โอน Bitcoin ได้อย่างง่ายดาย และหากที่อยู่นั้นสามารถเชื่อมโยงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในโลกได้ ก็จะทำให้สามารถตามหาขโมยได้ นอกจากนี้ที่อยู่ในการทำธุรกรรมทั้งหมดของผู้ที่ขโมยก็จะถูกตามหาได้ง่าย เพราะจะถูกบันทึกไว้บนเครือข่ายของ Miner นั่นเอง ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ Bitcoin เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ด้วยตัวระบบของมันเอง

จากจุดแข็งในด้านความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ของ Bitcoin จึงทำให้ปัญหาการฟอกเงิน การปลอมเงิน ไปจนถึงการปล้นธนาคาร อาจจะหมดไปในโลกอนาคต

เศรษฐพงค์.com