เมื่อพูดถึงวงการเกมเรามักจะคิดถึงเกมที่กำลังเป็นกระแสกับเกมใหม่ ๆ มากกว่าจะพูดถึงเกมเก่าหรืออุปกรณ์เกมต่าง ๆ ที่เคยวางจำหน่ายในอดีต เพราะเมื่อไปค้นหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในวงการเกมนั้นก็มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย รวมถึงอุปกรณ์เกมหลายชิ้นในอดีตที่เราไม่เคยรู้มาก่อน นั้น อาจจะเป็นต้นแบบผู้มาก่อนกาล และเป็นแรงบันดาลใจให้มีคนเอาตรงนั้นมาพัฒนาต่อ หรืออาจจะมีความคิดคล้ายกันโดยบังเอิญ จนมันไปคล้ายกับอุปกรณ์ในยุคนี้ ที่เรียกว่าเป็นบรรพบุรุษในเรื่องนั้น ๆ ก็ได้ วันนี้เราเลยไปค้นหาอุปกรณ์หรือระบบเกมที่เหมือนเป็นต้นแบบของเกมยุคนี้มานำเสนอ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่เอามานำเสนอนั้นไม่ใช่ครั้งแรกในวงการเกม แต่เป็นสิ่งที่มีในอดีตซึ่งคล้ายกับสิ่งที่มีตอนนี้เท่านั้น มาดูกันว่ามีอุปกรณ์อะไรที่เป็นบรรพบุรุษผู้มาก่อนกาลในวงการเกมยุคนี้บ้างมาย้อนอดีตไปดูพร้อมกันเลย

Sega Channel ผู้มาก่อน PlayStation Plus Extra และ Xbox Game Pass

Sega Channel

เริ่มต้นเรื่องแรกกับบริการจ่ายเงินรายเดือนแล้วเล่นเกมแบบไม่อั้น ที่เรากำลังใช้อยู่ตอนนี้บน ‘Xbox Game Pass’ กับ ‘PlayStation Plus Extra’ ที่เราเพียงแค่จ่ายค่าบริการรายเดือนหรือนายปี เราก็สามารถเล่นเกมที่ให้บริการแบบไม่อั้นแถมจะมีเกมใหม่ ๆ มาให้เราได้เล่นทุกเดือน ที่ดูแล้วเหมือนจะเป็นบริการใหม่ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่จริง ๆ แล้วบริการนี้เคยถูกทาง ‘Sega’ ทำมาก่อนกับบริการ ‘Sega Channel’ ที่ให้บริการในปี 1988 เมื่อเราซื้อตัวต่อแบบพิเศษที่เรียกว่า ‘Mega Modem’ มาสวมบนเครื่อง ‘Mega Drive’ เราก็จะสามารถโหลดเกมต่าง ๆ แบบออนไลน์มาเล่นได้ รวมถึงสามารถเล่น ‘Demo’ เกมแถมยังรับรหัสโกงเกมผ่านทางเคเบิลทีวีที่ส่งเนื้อหาถึงเครื่อง

โดยการเล่นเกมนั้นจะมีข้อเสียตรงที่เราต้องเชื่อมต่อออนไลน์ตลอดเวลา ไม่สามารถเก็บเกมไว้เล่นได้แถมราคาสมัครกับตัวอุปกรณ์ก็สูงมาก ๆ แต่เห็นแบบนั้นก็มีคนไปสมัครใช้งานสูงถึง 250,000 ราย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการหักปากกาเซียนในยุคนั้น ที่บอกว่าบริการนี้จะต้องเจ๊งแน่ ๆ เพราะค่าบริการที่แพงกับเครื่องเกมที่กำลังตกยุคแบบนี้ใครจะใช้บริการ แต่กลายเป็นว่ามันได้รับความนิยมจนได้รับรางวัล ‘Best of What’s New’ จาก ‘Popular Science’ ประจำปี 1994 และค่อย ๆ เสื่อมลงเพราะทาง ‘Sega’ ออกเครื่องเกมใหม่คนจึงทยอยออกจากการใช้บริการนี้ นี่จึงถือว่าเป็นบริการเกมรายเดือนครั้งแรก ๆ ที่หลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อน

Sega Channel

Famicom 1000 in 1 การ MOD เกมครั้งแรก ๆ ในวงการเกม

Famicom

คราวนี้มาดูการ ‘MOD’ เกมครั้งแรก ๆ ในวงการเกมกันบ้าง ซึ่งสำหรับคนที่ไม่รู้จัก การ ‘MOD’ เกมคือการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในเกมให้ต่างออกไปจากเดิม ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวละครให้เป็นไปตามที่คนสร้าง ‘Mod’ ต้องการ รวมไปถึงการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของเกมเดิมให้ต่างออกไป ที่เราจะเห็นได้ในเกมดัง ๆ ทั่วไปบนเครื่อง ‘PC’ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปในอดีตก็เคยมีการ ‘MOD’ เกิดขึ้นมาแล้วบนเครื่อง ‘Famicom’ ที่เป็นตลับเกมแบบผิดลิขสิทธิ์อย่างพวกตลับ 1,000 in 1 หรือที่มักจะเป็นเกมเดิมแต่เปลี่ยนตัวละครเป็นอีกแบบ หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเพิ่มความยากไปจนถึงสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้มีเกมครบ 1,000 เกมตามหน้าปกที่คนในยุคนั้นจะทราบดี ซึ่งนี่อาจจะเป็นการ ‘MOD’ เกมครั้งแรก ๆ ในวงการเกมก็ได้ใครจะรู้

Famicom

Game Genie การโกงเกมครั้งแรก ๆ ในวงการเกม

Game Genie

ถ้าคุณคิดว่าการ ‘MOD’ เกมเก่าแก่แล้วคราวนี้มาดูการโกงเกมกันบ้าง ที่ถ้าถามคนรุ่นเก่าเกี่ยวกับการโกงเกมที่ไม่ได้มาจากผู้พัฒนาเกม แต่เป็นการเปลี่ยนตัวโปรแกรมเกมอย่างกระสุนไม่จำกัดเป็นอมตะไม่ตายหรือข้ามด่านต่าง ๆ ได้ หลายคนคงคิดถึง ‘Action Replay’ ของเครื่อง ‘Playstation 1’ แต่ถ้าเราจะบอกว่ามันมีตัวโกงเกมที่เก่ากว่านั้นอย่างสมัยเครื่อง ‘Famicom’ กับตัว ‘Game Genie’ ที่วางจำหน่ายในปี 1990 ที่มาในรูปแบบของอุปกรณ์เสริมที่ต่อกับตลับเกมเพื่อเข้าไปแก้รหัสต่าง ๆ เหมือนที่ ‘Action Replay’ ทำ เพียงแค่เราเสียบตลับ ‘Game Genie’ บนตลับเกมและต่อเข้าเครื่องก็สามารถกดเลือกสูตรได้เลย แต่ถ้าเกมไหนไม่มีในตลับก็สามารถใส่รหัสจากหนังสือที่แถมมาให้ได้ด้วย ซึ่งตัวอุปกรณ์นี้ได้รับความนิยมมาก ๆ จนออกรุ่นต่าง ๆ มามากมายทั้ง ‘Super Famicom’, ‘Game Boy’, ‘Mega Drive’ และ ‘Game Gear’ ที่เรียกว่าเป็นต้นแบบการโกงเกมในยุคนี้ก็ว่าได้

Game Genie

Game Boy Camera ต้นแบบอุปกรณ์ถ่ายตกแต่งรูปในยุคนี้

Game Boy Camera

ในยุคที่เราสามารถถ่ายรูปได้ทุกที่ทุกเวลาตอนไหนก็ได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ ย้อนกลับไปในอดีตสิ่งเหล่านี้คือความฝันที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะกว่าที่เราจะได้เห็นรูปที่ถ่ายออกมาต้องผ่านการล้างฟิล์มจากร้านเป็นอาทิตย์ แต่ในวงการเกมเรากลับไปไกลกว่านั้นเพียงแค่คุณมีเครื่อง ‘Game Boy’ กับ ‘Game Boy Camera’ คุณก็สามารถถ่ายรูปต่าง ๆ ได้แล้ว แถมยังสามารถตกแต่งรูปจะให้ดูตลกน่ากลัวไปจนถึงสวยหล่อได้ตามที่เราต้องการ และคุณยังสามารถเอารูปที่ถ่ายออกมาเป็นกระดาษได้ด้วยอุปกรณ์เสริม ‘Game Boy Pocket Printer’ ที่เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยสุด ๆ ในยุคนั้น แต่ข้อเสียก็มีคือรูปที่ถ่ายจะเป็นภาพขาวดำและไม่ค่อยมีความละเอียด แต่มันก็มากพอที่จะทำให้คนยุคนั้นอยากได้ ซึ่งมันก็คือหนึ่งในย่างก้าวของการถ่ายรูปบนมือถือในยุคนี้นั่นเอง

Game Boy Camera

Family Computer Network System เครื่องเกมคอนโซลที่ต่อออนไลน์เพื่อความบันเทิงที่นอกจากการเล่นเกม

Family Computer Network System

คราวนี้มาดูฝั่ง ‘Nintendo’ กันบ้าง ซึ่งถ้าทาง ‘Sega’ เป็นผู้ให้บริการเกมแบบจ่ายรายเดือนไปแล้ว ทาง ‘nintendo’ ก็เป็นเครื่องคอนโซลที่ต่อออนไลน์เพื่อความบันเทิงเกมแรก ๆ ของโลก ที่ให้บริการในชื่อ ‘Family Computer Network System’ ในปี 1988 ปีเดียวกับ ‘Sega Channel’ ที่น่าจะทำออกมาเพื่อแข่งขันกันในตลาด แต่การให้บริการรวมถึงระบบนั้นจะต่างกันชัดเจน โดยฝ่าย ‘Family Computer Network System’ นั้นจะเป็นการบริการข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ ที่ผู้ใช้บริการสามารถรับสูตรโกงเกมอ่านเรื่องตลกการพยากรณ์อากาศ ไปจนถึงการรายงานผลการพนันการแข่งม้า (ในญี่ปุ่นสิ่งนี้ถูกกฎหมาย) ที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับเกมเลย ซึ่งผู้ใช้บริการต้องซื้ออุปกรณ์ต่อแบบพิเศษเพื่อเชื่อมสายโทรศัพท์เข้ากับเครื่อง ‘Famicom’ ที่ข้อมูลไม่ได้บอกว่าต้องเสียค่าบริการเท่าใดหรือจะเป็นบริการฟรีก็ไม่มีการบันทึกไว้ แต่จากข้อมูลบอกว่าตัวอุปกรณ์ขายได้สูงถึง 130,000 ชุด นับเป็นก้าวแรก ๆ อีกหนึ่งอย่างในวงการเกมกับการพยายามเชื่อมต่อออนไลน์ในอดีตที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

Family Computer Network System

Rumble Pak Controller ผู้เป็นต้นแบบจอยสั่นในยุคนี้

Rumble Pak Controller

มาก่อนสนุกก่อนนั่นคือคำจำกัดความของวงการเกมในยุคก่อน ที่มีการแข่งขันกันที่สูงมาก ๆ เพราะแต่ละค่ายต่างก็พยายามงัดไม้เด็ดต่าง ๆ ออกมาแข่งขันกัน เพื่อดึงผู้เล่นให้มาสนใจเครื่องเกมของตน ที่นอกจากตัวเกมที่มาจากค่ายเกมอื่น ๆ ที่มาลงแล้ว ทางตัวค่ายเกมเจ้าของเครื่องเกมเองก็ต้องหาอะไรมาดึงดูดลูกค้า นั่นคืออุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความสนุกในการเล่น หนึ่งในนั้นคือระบบสั่นของ ‘Controller’ ที่ในยุคนั้นมันคือความน่าตื่นเต้นที่เราจะได้รับการสั่นของ ‘Controller’ จากตัวควบคุมตามในเกม ทาง ‘Nintendo’ จึงออกตัว ‘Rumble Pak’ อุปกรณ์เสริมแบบถอดได้เพื่อต่อกับ ‘Controller’ ของเครื่อง ‘Nintendo 64’ ในเดือนตุลาคม 1997 ซึ่งการใช้งานค่อนข้างยุ่งยากเล็กน้อย ตรงที่ตัว ‘Rumble Pak’ ต้องใส่ถ่าน ‘AA’ 2 ก้อนจึงจะสามารถทำงานได้ พร้อมกับน้ำหนักที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่ตัวเกมก็สั่นได้สะใจสมการเล่นของหลายคน พร้อมเกมที่ออกมารองรับมากมายจนได้เสียงตอบรับในแง่บวกทั้งจากคนเล่นเกมและสื่อต่าง ๆ ที่ยกย่องให้ ‘Rumble Pak’ คืออุปกรณ์ต่อพ่วงที่ดีที่สุด ซึ่งต่อมาระบบการสั่นนี้ก็กลายเป็นมาตรฐานให้กับ ‘Controller’ ในยุคต่อมา

Rumble Pak Controller

GameLine Atari 2600 การเล่นเกมออนไลน์บนคอนโซล

GameLine Atari 2600

ถ้า ‘Sega Channel’ คือบริการรายเดือนเพื่อเล่นเกมไม่อั้น ‘Family Computer Network System’ คือการต่อออนไลน์ของเครื่องคอนโซลเพื่อความบันเทิง แต่ทั้งสองบริการนี้ก็ไม่ใช่การต่อเล่นเกมออนไลน์บนเครื่องคอนโซลอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับ ‘GameLine’ บนเครื่อง ‘Atari 2600’ ที่ถือว่าเป็นเครื่องเล่นเกมออนไลน์เกมแรก ๆ ของโลกในปี 1983 โดยตัว ‘GameLine’ จะเป็นดาวน์โหลดเกมผ่านสายโทรศัพท์ไว้ในเครื่อง 1 ตลับต่อ 1 เกม โดยที่ไม่ต้องเชื่อมต่อระบบตลอดเวลาแต่ตัวเกมจะมีอายุแค่ 1 อาทิตย์ก่อนถูกลบออกไป ถ้าจะเล่นต่อก็ไปโหลดมาใหม่ที่คล้าย ๆ ของ ‘Sega Channel’ แต่ ‘GameLine’ จะคิดราคา 1 เกมต่อ 1 ดอลลาร์รวมถึงค่าบริการรายเดือนต่างหาก ซึ่งความพิเศษที่ ‘GameLine’ มีคือการแจกเกมฟรีในวันเกิดของสมาชิกพร้อมกับนิตยสารรายเดือน และที่บอกว่าอุปกรณ์นี้คือต้นแบบเกมออนไลน์ คือการเชื่อมต่อสถิติที่ตัวเองเล่นได้ลงไปในระบบของ ‘GameLine’ เพื่อแข่งกันว่าใครมีคะแนนที่มากสุดในเกมต่าง ๆ ของภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันออนไลน์ครั้งแรก ๆ ในวงการเกม โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในตอนนั้นจะได้เสื้อ ‘GameLine’ เป็นของรางวัล นับเป็นการเชื่อมต่อออนไลน์ในวงการเกมที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน

GameLine Atari 2600

Virtual Boy แว่น VR ยุคบุกเบิก

Virtual Boy

ปิดท้ายกับต้นแบบเครื่องเล่น ‘VR’ และเกม ‘3D’ ของ ‘Nintendo’ ที่มาก่อนกาล และล้มไม่เป็นท่ากับเครื่องเกมที่แสนจะผิดพลาดอย่าง ‘Virtual Boy’ เกมที่มาในรูปแบบของแว่นตาที่ผู้เล่นต้องก้มตัวเองลงไปในแว่นที่มาในรูปแบบขาตั้งบนโต๊ะ (รูปประกอบด้านล่าง) เพื่อส่องดูเกมที่อยู่ในนั้น ที่มาในรูปแบบ ‘3D’ สีแดงกับดำที่ดูแล้วชวนปวดตาแบบสุด ๆ จนเครื่องขายแทบไม่ออก และยังถูกด่ายับจากทั้งคนเล่นและสื่อที่ต่างยกย่องให้เป็นเครื่องเกมที่เลวร้ายที่สุดในวงการเกมยุคนั้น (รวมถึงยุคนี้) แต่เห็นแบบนี้ตัวเครื่อง ‘Virtual Boy’ ก็ถือเป็นต้นแบบเครื่อง ‘VR’ และเกม ‘3D’ ในยุคนี้ ที่ถ้าไม่มีเครื่องที่ผิดพลาดในวันนั้นอาจจะไม่มีเครื่อง ‘VR’ ในวันนี้ก็ได้ใครจะรู้

Virtual Boy

ก็จบกันไปแล้วกับ 8 อุปกรณ์เกมยุคเก่าที่เป็นต้นแบบสิ่งต่าง ๆ ในยุคนี้ ที่เรียกว่าเป็นก้าวแรก ๆ ของความพยายามของนักพัฒนาในยุคนั้น ที่ต้องการก้าวสู่สิ่งใหม่ ๆ มากกว่าที่จะย่ำอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ จนวงการเกมเราไม่พัฒนาจนมีวันนี้ ซึ่งต้องบอกอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกในวงการเกม แต่มันคือยุคบุกเบิกที่หลายอย่างก็เหมือนกับสิ่งที่มีตอนนี้ ซึ่งมันน่าสนใจดีเราเลยไปหยิบมานำเสนอหวังว่าจะถูกใจกัน ถือว่าอ่านเป็นความรู้ว่าครั้งหนึ่งในอดีตเคยมีเรื่องราวแบบนี้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นการพูดถึงเรื่องราวอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว รับรองว่าคุณจะได้พบเนื้อหาบทความที่ไม่ซ้ำใครจากที่นี่แน่นอน ยังไงก็ติดตามกันไว้ได้เลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส