หนึ่งในค่ายเกมที่ประสบความสำเร็จตลอดกาล หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการเกมอย่าง Nintendo ที่เชื่อว่าแม้จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องรู้จักกัน ต่อให้ไม่ใช่คอเกมก็ตาม และประวัติยาวนานนับร้อยปี และผ่านร้อนผ่านหนาวมาทุกยุคทุกสมัย แต่ใครจะรู้ว่าค่ายระดับ Top ของโลกผ่านความสำเร็จหนักๆและความล้มเหลวแรง ๆ มาแล้ว ไปดูกันว่าในการเข้าสู่วงการเกมมากว่า 40 ปี นินเทนโดมีอะไรที่เป็นความสำเร็จและล้มเหลวจนกลายเป็นเบอร์สามของวงการเกมไปในช่วงเวลาหนึ่ง

3 ความสำเร็จของนินเทนโด

1. เข้าสู่วงการเกมคอนโซลกับ แฟมิคอม และ มาริโอ

หนึ่งในจุดเปลี่ยนหนักๆของนินเทนโด คือการเข้าสู่วงการเกมคอนโซลในยุค 80s แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกเพราะก่อนหน้านี้นินเทนโดมีเกมต่อทีวี และเครื่องเกมพกพาอย่าง Game&Watch ออกวางขายมาแล้ว แต่มันเปลี่ยนตลับเกมไม่ได้ โดยครั้งแรกที่นินเทนโดวางขายเกมคอนโซลคือในประเทศญี่ปุ่นกับ แฟมิคอม ที่เปิดตัวในปี 1983 โดยในตอนแรกมีการเปิดตัวพร้อมกับเกมแค่ 3 กม และเป็นเกมที่นำมาจากเกมตู้อาเขตง่าย ๆ แต่ด้วยคุณภาพและสเปกที่ดูดีกว่าเกมคอนโซล (ในเวลานั้น) ทำให้มันเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศบ้านเกิด

และหลังจากนั้นในปี 1985 นินเทนโด ได้ส่งแฟมิคอม ไปวางขายในอเมริกาในชื่อ NES และประสบความสำเร็จ สวนทางกับเครื่องเกมอื่นในยุคนั้นที่เพิ่งเจอกับวิกฤตวิดีโอเกมในอเมริกาที่ทำยอดขายตกต่ำลงเพราะคุณภาพตัวเกมที่มีแต่ซ้ำไปซ้ำมา แต่นินเทนโดจัดเต็มด้วยเกมเพลย์ที่สนุกทั้ง มาริโอ และเซลด้า รวมทั้งเกมระดับตำนานที่มีจุดเริ่มต้นในยุค 80s ส่วนใหญ่อยู่บน NES หรือแฟมิคอมทั้งสิ้น ทำให้นินเทนโดแทบจะครองตลาดเกมโฮมคอนโซลในยุค 80s อย่างสิ้นเชิงจนเคยโดนฟ้องคดีผูกขาดตลาดมาแล้ว

มาริโออีกหนึ่งจุดเปลี่ยน

ใครเกิดทันในยุคนั้นเกมจะเรียบง่าย เน้นเกมยานยิง 2D และเกมที่เลียนแบบกันมากกว่า เช่นพอเกมอย่าง Pacman ดังหรือเกมอย่าง Galaga ขายดีก็จะมีเกมแนวเดียวกันออกตามมาอีกเพียบ และแนวเกมก็เรียบง่ายแทบไม่มีเรื่องราวอะไรมากมายและฉากก็ไม่ซับซ้อน แต่การมาของ Super Mario Bros. บนแฟมิคอมในปี 1985 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งเพราะมาพร้อมกับรูปแบบการเล่นที่ละเอียดมีลูกเล่นมากมาย และฉากที่ซับซ้อนมากกว่าเกมในตอนนั้น ทำให้กลายเป็นความสำเร็จมหาศาล และเป็นหนึ่งในเกมเปิดตัวในโลกตะวันตกพร้อมกับเครื่อง NES ในปี 1985 เช่นกัน และผ่านมากว่า 35 ปีแล้ว ยังคงออกภาคต่อและยังขายดีต่อเนื่อง โดยภาคที่ขายได้มากที่สุดก็คือภาคแรกที่ออกบน แฟมิคอม ที่ขายได้ทั้งหมดมากกว่า 30 ล้านตลับ

2. ความสำเร็จของ Wii

ก่อนหน้า Wii ปู่นินทำยอดขายคอนโซลร่วงลงมาอันดับ 3 กับ GameCube ที่แพ้ทั้ง PS2 และ Xbox ทำให้การมาของ Wii โดนดูถูกว่าเป็นคอนโซลตัวสุดท้ายและ นินเทนโดจะกลายเป็นค่าย SEGA ที่ต้องไปทำซอฟต์แวร์ขายอย่างเดียวแล้ว แต่การมาของคอนโซลที่มีลูกเล่นมากกว่ากราฟิกอย่าง Wii กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ของวงการเกมไปเลย ด้วยจอย Wii Mote ที่ใช้ระบบจับการเคลื่อนไหวที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น และการมาพร้อมกับ Wii Sports ถือว่ายิ่งทำให้ Wii โด่งดังอย่างมาก เพราะทำให้เกมเข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าใครก็เล่นได้ ด้วยเกมกีฬาที่ทั้งสนุกและได้ออกกำลังกาย

และด้วยความสดใหม่ทำให้มันประสบความสำเร็จและเจาะตลาดใหม่ที่ไม่เน้นแต่คอเกมเท่านั้น แต่เน้นทุก ๆคนเข้าถึงได้ง่ายจนเป็นที่มาของ Wii ที่ทำยอดขายมากกว่า 100 ล้านเครื่องทั่วโลก และเป็นโฮมคอนโซลที่ขายดีที่สุดของนินเทนโดจนถึงตอนนี้ และ DNA ของ Wii ยังคงมีอยู่ใน Nintendo Switch กับ Joy-con และการเข้าถึงได้ง่าย และเน้นทั้งคอเกมอย่างเดียว แต่เน้นคนที่ไม่ใช่แฟนเกมทำให้นินเทนโดพบกับตลาดใหม่ที่ไม่ต้องไปแย่งกับคู่แข่ง

3. Game Boy และ Pokemon

แม้หลาย ๆ ยุค คอนโซลของนินเทนโด จะไม่ใช่เบอร์ 1 แต่เครื่องเกมพกพาของนินเทนโด ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยหากจะย้อนไปไกลก็เริ่มที่ความสำเร็จของ Game& Watch หรือเกมกดที่ใช้หน้าจอแบบเครื่องคิดเลขกันเลย แต่ความสำเร็จครั้งแรกอย่างเป็นทางการคือคอนโซลแบบพกพาเปลี่ยนตลับเกมได้อย่าง Game Boy ที่วางขายในปี 1989 ที่เป็นต้นแบบของเครื่องพกพาที่เปลี่ยนเกมได้ที่เป็นรูปแบบของปู่นินที่สานต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะนินเทนโดรู้ว่าเกมพกพาแตกต่างจากคอนโซล ทำให้ปู่นินมีการออกแบบเกมให้มีความเข้ากันกับการนำไปเล่นนอกบ้าน และหน้าจอที่เล็กกว่าทีวี ทำให้ผู้เล่นสามารถสนุกไปกับการเล่นได้และแตกต่างจากประสบการณ์เล่นเกมที่บ้าน รวมทั้งการเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องเพื่อแข่งกันอย่างบน Game Boy ที่เล่นกับเพื่อนได้ด้วยระบบสายเชื่อมต่อกัน ทำให้มันเป็นที่นิยมมากเพราะสามารถสนุกไปกับเพื่อน ๆ ได้

และความสำเร็จของเครื่องพกพาของปู่นินอีกส่วนก็ต้องยกให้กับเกม โปเกมอน ที่ภาคแรกวางขายในปี 1996 ในชื่อภาค Pokemon Red and Blue และขายได้ 31 ล้านชุด และเหมือนเป็นที่รู้กันว่าเครื่องเกมพกพาของนินเทนโดทุกรุ่นจะมีเกม โปเกมอน ออกวางขายและทำยอดขายสูงสุดตลอด แม้ว่าทุกวันนี้เครื่องเกมพกพาแท้ ๆ ของนินเทนโดอาจจะไม่มีแล้ว แต่ DNA ของการนำความสนุกออกไปเล่นนอกบ้านได้ยังคงอยู่ใน Nintendo Switch คอนโซลลูกผสมที่กำลังเดินหน้าขายดีในตอนนี้

(อ่าน สามความล้มเหลวของ Nintendo ที่หน้า 2)

3 ความล้มเหลวของ Nintendo

1. ปู่นินแพ้ในสงครามความจุ

ในช่วงต้นถึงกลางยุค 90s ความจุเป็นสิ่งที่เริ่มมีปัญหาของวงการเกม เพราะเครื่องเกมในยุค 16Bit หากไม่นับตัวเชื่อมต่อแล้วส่วนใหญ่เป็นตลับเกม ที่เริ่มจะมีความจุไม่ค่อยพอกับการใช้งานแล้ว เพราะความจุจะมีไม่เกิน 32MB หรือมากกว่าเล็กน้อย และยิ่งความจุมากก็จะมีราคาแพง ทำให้พอเข้าสู่ยุค 32Bit ค่ายเกมเริ่มเอา CD มาเป็นสื่อกลางในการบรรจุเกมลงไปเพราะทั้งถูก และมีความจุมหาศาลกว่าตลับหลายเท่า

แต่นินเทนโดกลับเลือกใช้ ตลับเกม เป็นสื่อบนคอนโซลอย่าง Nintendo 64 แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยร่วมมือกับหลายค่ายรวมทั้งเคยจับมือกับ Sony ในการทำคอนโซลที่ใช้ CD เป็นสื่อหลัก แต่ก็ล้มเลิกไปหมด และได้ตัดสินใจนำตลับเกมแบบเดิม ๆ ที่คุ้นเคยกลับมาขายในเครื่องเกม 64Bit จริงอยู่ที่สเปกของเครื่องคอนโซลของนินเทนโดจะดีกว่าคู่แข่งที่เป็น 32Bit แต่ด้วยความจุที่จำกัดเพราะตลับในตอนแรกก็มีความจุเพียง 32MB สูงสุดแม้ภายหลังจะออกตลับเกมความจุ 64MB เข้ามาขายด้วย ก็ไม่สามารถเทียบได้เลยกับความจุมหาศาลของ CD-rom ทำให้ค่ายเกมอื่นย้ายไปทำเกมให้ PS1 กันเกือบหมดเพราะทำง่าย ราคาประหยัดและไม่มีข้อจำกัดเรื่องความจุ และทำให้นินเทนโดเสียแชมป์เกมคอนโซลให้กับ Sony ในที่สุดด้วยยอดขาย Nintendo 64 ที่ขายได้เพียง 30 ล้านเครื่อง แต่ PS1 ขายได้ 100 ล้านเครื่อง

2. WiiU

หลังจากนินเทนโด กลับมาอีกครั้งกับ Wii ที่ขายได้มากกว่า 100 ล้านเครื่อง ทำให้นินเทนโดตัดสินใจสานต่อความสำเร็จกับชื่อเดิมเพิ่มเติมแค่ตัว U และลูกเล่นใหม่ Game Pad ที่เป็นหน้าจอที่อยู่บนจอยเกม และเน้นการเล่นสองหน้าจอ และการสตรีมภาพไปที่หน้าจอและไม่ใช้ทีวีก็ย่อมได้ และยังรองรับความละเอียดระดับ HD เป็นครั้งแรกของนินเทนโด ฟังดูดีแต่มันคือความล้มเหลวที่แตกต่างจาก Wii อย่างสิ้นเชิง ด้วยยอดขายเพียง 14 ล้านเครื่องแตกต่างจาก Wii มาก และเป็นโฮมคอนโซลต่อทีวีที่ขายได้น้อยที่สุดตลอดกาลของนินเทนโดไป

ทำไม WiiU มันถึงล้มเหลวมากขนาดนี้ อย่างแรกคือการตลาดที่ไม่ชัดเจน เพราะตอนเปิดตัวครั้งแรกคนคิดว่ามันเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมของ Wii มากกว่าจะเป็นรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ และด้วยสเปกที่อ่อนด้อยกว่าคอนโซลที่ออกมาหลังจากนั้นอย่าง PS4 และ Xbox one ทำให้ค่ายเกมอื่นเมินที่จะสร้างเกมลงให้ แม้ว่าบน WiiU จะมีเกมน่าเล่นที่สร้างโดยนินเทนโดเองอยู่หลายเกม แต่ก็ไม่ช่วยให้มันขายดีขึ้นจนต้องออกเครื่องเกมใหม่เพื่อมาแก้เกมอย่างรวดเร็ว และทำให้อายุการวางขาย WiiU มีเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น

3. Virtual Boy

หากคิดว่า WiiU ขายได้น้อยแล้ว แต่จะเชื่อหรือไม่ว่านินเทนโดเคยขายเครื่องเกมได้แค่หลักแสนเครื่องมาแล้ว กับ Virtual Boy เครื่องเกม VR ที่วางขายในปี 1995 มาแล้ว โดยมันเป็นเหมือนแว่น VR มีขาตั้ง และเล่นเกมที่ใช้ระบบการแสดงผลภาพแบบ 3D อาจจะคล้ายกับ PS VR หรือ htc vive ในยุคนี้ แต่ Virtual Boy แสดงผลแค่สีแดงกับดำ เท่านั้นและหลังจากวางขายไม่นานก็ถูกเลิกทำตลาดกับยอดขายเพียง 7 แสนกว่าเครื่องเท่านั้น ถือเป็นเครื่องเกมที่ขายได้น้อยที่สุดของนินเทนโดแม้ว่าจะได้ Gunpei Yokoi ผู้สร้าง Game Boy มาออกแบบให้ก็ตาม

แล้วทำไม Virtual Boy ถึงได้คว่ำไม่เป็นท่าแบบนี้ อย่างแรกคือแม้ไอเดียของเครื่องจะน่าสนใจมาก แต่การแสดงผลสีแดงกับดำ ทำให้เล่นไปนานๆ ก็ปวดตา แถมการตลาดก็ไม่ชัดเจนเพราะบอกเป็นเครื่องพกพาแต่ก็เอาไปเล่นนอกบ้านลำบากแม้จะมีแบตในตัวด้วย แต่ก็ใหญ่เกินที่จะนำไปเล่นนอกบ้านได้แบบสะดวก แถมด้วยเกมที่ออกวางขายเพียง 14 เกมตลอดอายุอันแสนสั้นแถมเกมที่ออกวางขายก็ไม่ค่อยสนใจระบบ 3D เท่าที่ควรมีเพียงไม่กี่เกมที่รองรับระบบ VR แบบเต็มรูปแบบ ทำให้มันถูกมองเมินจากแฟนเกมทั่วโลกจนเป็นความล้มเหลวที่น่าอับอายของยักษ์ใหญ่ของวงการเกมอย่างนินเทนโด ที่เชื่อว่าปู่นินอยากจะลืม ๆ ไปมากที่สุด อย่างไรก็ตามการที่มันขายได้น้อยทำให้ปัจจุบัน Virtual Boy กลายเป็นของหายากและหากมีสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ จะมีราคาแพงกว่าตอนที่เปิดตัวหลายเท่า

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส