BMW i ซีรีส์ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่และรุ่นแรกของ BMW, BMW i8 เปิดตัวไปครั้งแรกเมื่อปี 2013 และจัดแสดงที่ประเทศไทยในงานมอเตอร์โชว์ 2014, BMW i ซีรีส์มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลกที่ทำให้คุณต้องหลงไหลและอยากได้มันอย่างแน่นอน

BMW i: เกิดมาเพื่อยุคของไฟฟ้า

ในยุคที่ทุกอย่างกำลังดำเนินการด้วยความเร่งรีบ การเดินทางมีความก้าวหน้า ไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะมีการค้นพบน้ำมันและพลังงานฟอสซิล ถึงแม้ว่าพลังงานเหล่านี้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ทำให้เกิดโทษเช่นเดียวกัน การเผาผลาญน้ำมันหรือพลังงานฟอสซิลจะได้ก๊าซพิษคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

เราต้องคิดให้ไกลกว่าแค่รถยนต์ – BMW

โปรเจค i คือเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่จะนำเสนอนวัตกรรมของ BMW ทั้งในด้านเทคโนโลยี กระบวนการ และแนวคิดของรถยนต์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยั่งยืนเพื่ออนาคต ไม่ใช่เพียงแค่เอารถแบบเก่ามาใส่เครื่องทำให้ใช้ระบบไฟฟ้าได้ แต่คิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด ทำให้ BMW เริ่มโปรเจค i ซีรีส์ขึ้นมาเพื่อลดการสร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

ปัญหาอย่างหนึ่งของรถในปัจจุบันคือเรื่องของ น้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักมาก ยิ่งมีการใช้งานเชื้อเพลิงมาก รถพลังงานไฟฟ้าจึงต้องถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาประกอบกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า BMW จึงเลือกใช้ CFRP หรือ Carbon Fiber Reinforced Plastic น้ำหนักเบากว่าอลูมิเนียมที่ใช้ในรถทั่วไปถึง 50% นอกจากนี้ CFRP ยังถูกใช้ในรถแข่ง F1 การใช้วัสดุดังกล่าวใน BMW i ยังสามารถชดเชยกับน้ำหนักของแบตเตอรี่จึงทำให้รถเบาขึ้นอีกถึง 300 กิโลกรัมเลยทีเดียวครับ

Carbon Fibre: รถมายากล!

BMW i ถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรม LifeDrive ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อการออกแบบรถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ Life Module คือส่วนของคนขับและผู้โดยสาร ใช้วัสดุ Carbon Fiber และส่วนของห้องเครื่องหรือ Drive Module สำหรับเก็บแบตเตอรี่

P90080251

สถาปัตยกรรม LifeDrive นอกจากจะช่วยชดเชยในส่วนของน้ำหนัก โดยทำให้ตัวรถเบาลงเพื่อเก็บแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ได้มากขึ้น ยังช่วยทำให้ศูนย์โน้มถ่วงของตัวรถอยู่ต่ำลงทำให้การขับรถคล่องตัวมากขึ้น

คุณสมบัติของ Carbon Fiber Reinforced Polymer (CFRP) ที่จะขอเรียกย่อๆ ว่า Carbon Fiber นั้นมีน้ำหนักเบากว่าเหล็กกล้าถึง 50 % เบากว่าอลูมิเนียมทั่วไปถึง 30% และมีความแข็งแรงมากกว่าอลูมิเนียมที่ใช้กับรถทั่วไปถึง 5 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้ Carbon Fiber ยังออกแบบได้ง่ายกว่าในแง่ของการรับแรงกระแทกและการปรับแต่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของความแข็งแรง โดย BMW i ซีรีส์ใช้เทคโนโลยี Resin Transfer Moulding หรือ RTM ซึ่งถูกใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในการตัดขอบคาร์บอนนั่นเอง

เดิมที Carbon Fiber ถูกใช้ในรถแข่ง Formula 1 หรือ F1 และเครื่องบินรบ ส่วนในรถทั่วไปนั้นไม่เคยมีมาก่อน แต่ BMW สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เรียกได้ว่า BMW เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีวัสดุ Carbon Fiber อย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่คิดค้นประยุกต์ใช้งาน แต่คิดค้นวิธีผลิตใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ราคาลดลงมาในระดับที่สามารถใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้

Creating Clean Cars, Cleanly.

จริตแห่งศิลปินของ BMW ทำอะไรทำถึงที่สุด

BMW i ซีรีส์เป็นรถที่แหวกแนว ไม่ใช่เพราะแค่ ดีไซน์หรือเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย การผลิต BMW i ซีรีส์นั้นใช้พลังงานเพียง 50% และใช้น้ำน้อยกว่าการผลิตปกติถึง 70% พลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้สำหรับผลิต BMW i นั้นได้มาจากพลังงานลมซึ่งเป็นพลังงานธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ เรียกว่า BMW i ซีรีส์ ปัจจุบันได้แก่BMW  i3 และ BMW i8 นั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่สุด

eDrive: เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

ประวัติของ i ซีรีส์

จริงๆ แนวคิดเรื่องรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของ BMW ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เกิดขึ้นมาถึง 40 ปีแล้วย้อนไปเมื่อปี 1972 มีรถชื่อ Orange 1602 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้าของ BMW ในสมัยนั้นยังใช้แบตเตอรี่แบตเตอรี่ธรรมดา 12 วัตต์ถึง 12 ก้อนแต่ถูกดัดแปลงให้ทำงานเป็นหนึ่งเดียว แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีในสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้าพอ ทำให้ Orange 1602 นั้นวิ่งไปได้ไกลสุดเพียง 37 ไมล์หรือประมาณ 60 กิโลเมตรเท่านั้น ต่อด้วย Mini E1 ซึ่งเป็นโปรเจคช่วงแรก เริ่มทดสอบในมิถุนายน ปี 2009 หลังจากนั้นจึงมีการทดสอบในเดือนมกราคมของปี 2012 กับ BMW ActiveE ซึ่งเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคัน และมีการพัฒนาต่อสุดท้ายจึงมาเป็น BMW i3 และ BMW i8 ที่เป็นรถไฟฟ้าพร้อมวิ่งบนถนนแล้วครับ

จะเห็นว่าการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้านั้นมีมาเนิ่นนานแล้ว แบรนด์อื่นๆ ก็มีเช่นเดียวกันอย่าง

  • LaFerrari: ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดขนาด 6.3 ลิตร (6262 ซีซี) มีกำลัง 800 PS (588 kW; 789 bhp) ที่ 9,000 rpm แรงบิดสูงสุดได้ที่ 700 N·m (516 lb·ft) ที่ 6,750 rpm ขับเคลื่อนด้วย 2 ล้อหลัง ใช้เกียร์กึ่งอัตโนมัติ 7 จังหวะ ในระบบคลัทช์คู่ สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 350 กม./ชม. (220 ไมล์/ชม.) โดยที่อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. (62 ไมล์/ชม.) สามารถทำได้ในเวลาเพียง 3 วินาที, 200 กม./ชม. (120 ไมล์/ชม.) ใช้เวลาเพียง 7 วินาที และ เมื่อแตะไปถึง 300 กม./ชม. (190 ไมล์/ชม.) ภายในเวลาเพียง 15 วินาที
  • McLaren P1: ใช้เครื่องยนต์ McLaren M838TQ twin-turbo 3.8 ลิตร V8 ซึ่งสามารถให้กำลังได้ถึง 727 แรงม้า (542 kW) และแรงบิดที่ 719 นิวตัน/เมตร (531 lb ft) ส่วนเครื่องยนต์ไฟฟ้า สามารถทำกำลังได้ที่ 176 แรงม้า (131 kW) และแรงบิดที่ 260 นิวตัน/เมตร (192 lb ft) เมื่อรวมกันแล้วสามารถทำกำลังได้มากถึง 903 แรงม้า และแรงบิดที่ 978 นิวตัน/เมตร สำหรับในเรื่องของอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. สามารถทำได้ที่ 2.8 วินาที 0-200 กม./ชม. ได้ที่ 6.8 วินาที และ 0-300 กม./ชม. ได้ที่ 16.5 วินาที ความเร็วสูงสุดของเครื่องยนตร์ไฟฟ้า สามารถทำได้ที่ 349 กม./ชม.
  • Porsche 918: ใช้เครื่องยนตร์ขนาด 4.6 ลิตร V8 สามารถกำลังได้ถึง 608 แรงม้า (453 kW) พร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวที่ให้พลังงานเพิ่มอีก 279 แรงม้า (208 kW) รวมเป็น 887 แรงม้า (661 kW) รถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 340 กม./ชม.
  • BMW i8: ใช้เครื่องยนต์ eDrive (iPerformance) ให้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ขับเคลื่อนได้เป็นระยะทางถึง 37 กม. โดยปราศจากการปล่อยไอเสีย  และหากปรับเป็นโหมดสปอร์ตสามารถเร่งความเร็วจาก 80-120 กม./ชม. ได้ภายในเวลาเพียง 2.6 วินาที ทำความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม.

เทคโนโลยีสุดเจ๋งจาก BMW คือ eDrive หรือปลั๊กอิน ไฮบริดซึ่งถูกเปิดตัวในปี 2013 ใช้กับ BMW X5 ผสานการขับเคลื่อนระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร TwinPower Turbo กับมอเตอร์ไฟฟ้า โดย X5 กับเทคโนโลยี eDrive ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 2015 ที่ผ่านมาถูกขายในชื่อ X5 xDrive40e ซึ่งเทคโนโลยี eDrive นั้นนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนแล้วยังช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ

edrive

จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016 ที่ผ่าน BMW เองได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ iPerformance เป็นชื่อใหม่ของเทคโนโลยีปลั๊กอิน ไฮบริดที่พัฒนามาจาก eDrive ซึ่งประกอบไปด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และการควบคุมเครื่องยนต์ด้วยกัน ซึ่งถูกใช้ใน BMW i3 และ BMW i8 และหลังจากเดือนมีนาคมเป็นต้นไป BMW ก็จะหยิบ iPerformance มาใช้กับหลายซีรีส์ได้แก่ซีรีส์ 3 และซีรีส์ 7 ในปลายปี

ประสิทธิภาพทีเหนือกว่า

มอเตอร์ไฟฟ้าของ BMW I ซีรีส์นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่ามอเตอร์รุ่นเก่ารวมถึงคู่แข่งหลายๆ ราย เพราะมันสามารถแปลงไฟฟ้าไปเป็นพลังขับเคลื่อนได้ถึง 96% มีส่วนที่เสียไปเพียง 4% เท่านั้น เทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลหรือดีเซลเดิมมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานน้ำมันเป็นพลังขับเคลื่อนเพียง 40% เท่านั้น ที่เหลือสูญเสียเป็นความร้อนทั้งหมด

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ายุคสมัยกำลังจะเปลี่ยนไปเนื่องจากปริมาณทรัพยากรที่โลกมีนั้นน้อยลง ทำให้คนต้องเปลี่ยนแหล่งพลังงาน เช่น พลังงานทดแทนที่สามารถใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด เช่นพลังงานลมนำมาปั่นไฟฟ้าเป็นต้น

BMW iPerformance ถือว่าตอบโจทย์ในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และตัวรถในยุคที่กำลังจะเปลี่ยนอย่างเต็มตัว

bmw i8

ข้อมูลเพิ่มเติม: Gizmag, Autocar, BMW