ปัจจุบันสมบัติของเราไม่ได้มีเพียง ที่ดิน เงินทอง อสังหาฯ แล้ว เพราะข้อมูลในบัญชีโซเชียลต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน หากวันหนึ่งที่เราหมดลมหายใจไปแล้ว เราสามารถให้คนที่เราไว้ใจสืบทอดบัญชีของเราต่อไปได้ เพื่อข้อมูลที่สำคัญของเราจะไม่รั่วไหลออกไปด้วย เราไปดูวิธีตั้งค่าผู้สืบทอดบัญชีของเรากันดีกว่าแอปไหนสามารถทำได้บ้าง

iPhone และ Apple Device

ทางแอปเปิ้ลพึ่งอัปเดตฟีเจอร์นี้เมื่อปีที่แล้ว สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ฟีเจอร์นี้จำเป็นจะต้องอัปเดตเป็น iOS 15.2 หรือใหม่กว่าก่อน โดยเข้าไปที่ตั้งค่า > เข้าไปหน้า Apple ID, iCloud+ > รหัสผ่านและความปลอดภัย > ผู้ติดต่อรับมรดก (Legacy Contact)

ผู้ติดต่อที่เรามอบอำนาจไว้นั้นจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราหลังจากที่เราไม่มีลมหายใจแล้ว ข้อมูลนี้รวมถึงสื่อต่าง ๆ เช่น รูปภาพและวิดีโอ ประวัติข้อความ บันทึกย่อ ไฟล์ รายชื่อติดต่อ รายการปฏิทิน แอปฯ ที่ดาวน์โหลดและข้อมูลแอป การสำรองข้อมูลของอุปกรณ์ใด ๆ ที่จัดเก็บไว้ใน iCloud ผู้ที่เรามอบอำนาจไว้จะสามารถลบ Activation Lock ออกจากอุปกรณ์ของเราได้ และถ้าต้องการใช้งานเป็นการส่วนตัว มอบให้ผู้อื่น หรือนำไปขายต่อ คนที่นำไปใช้งานก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือรหัสผ่านที่เก็บไว้ บัญชีอีเมล iCloud ใด ๆ ของเราได้

ซึ่งหลังจากเราเสียชีวิตลง ญาติสนิทมิตรสหายที่เราตั้งไว้ว่าเป็น “ผู้ติดต่อรับมรดก” ก็สามารถนำ “Legacy Contact Access Key” ที่ได้รับจากเราเพื่อเข้าถึงข้อมูลของเราได้

แต่หากไม่ได้เซตเรื่องนี้เอาไว้ ก็สามารถติดต่อแอปเปิ้ลเพื่อขอลบ Apple ID ของผู้วายชนม์ได้ หรือหากต้องการเข้าถึงข้อมูลก็ต้องอาศัยคำสั่งศาล ซึ่งแอปเปิ้ลลงรายละเอียดไว้ตามนี้

บัญชีของ Google และ Android

สำหรับผู้ใช้มือถือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android บัญชี Google ถือเป็นส่วนสำคัญของข้อมูลระบุตัวตนออนไลน์ของเรา เช่นข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ บัญชีโซเชียลที่ผูกกับอีเมล และข้อมูล เอกสารที่บันทึกไว้ใน Gmail หรือ Google Drive ของเรา โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นมีค่ามากและเป็นเรื่องส่วนตัวสุด ๆ

ซึ่งกูเกิลก็มีเครื่องมือ Inactive Account Manager ที่ให้เราเข้าไปกำหนดเงื่อนไขได้ว่า ให้กูเกิลตรวจสอบอย่างไรบ้างถึงรู้ว่าเราไม่ได้ใช้บัญชีนั้นแล้ว และจะให้จัดการกับบัญชีนั้นต่อไปอย่างไร สำหรับวิธีการตั้งค่าทำได้ดังนี้

  • เริ่มต้นด้วยการไปที่ตัวจัดการบัญชี ซึ่งเครื่องมือจัดการบัญชีจะคอยสังเกตสิ่งผิดปกติเพื่อให้แน่ใจว่าเรายังคงใช้บัญชี Google อยู่หรือไม่ ตัวอย่างเช่น การลงชื่อเข้าใช้ครั้งล่าสุด การใช้ Gmail การเข้าถึงแอปบนมือถือ
  • โดยเราสามารถตั้งค่าการสังเกต ได้ตั้งแต่ 3 6 12 หรือ 18 เดือน หากไม่มีการเคลื่อนไหวหรือใช้งานบัญชี จะมีการติดต่อกลับ และหากจะใช้งานครั้งถัดไปจะให้ยืนยันหมายเลขโทรศัพท์แทน
  • เราสามารถแชร์อีเมลที่ต้องการสืบทอดข้อมูลของเราต่อได้ โดยจะมีการแจ้งไปยังอีเมลที่เราตั้งค่าเอาไว้ ให้สามารถเข้าถึงสิ่งใดได้บ้าง เช่น Blogger, Google drive, Google Photos, Youtube เป็นต้น

ทางที่ดีควรเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าถึงบัญชี Google ในระดับหนึ่งโดยใช้ ตัวจัดการบัญชี ที่ไม่ใช้งาน ช่วยให้เราระบุได้เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการจัดการกับข้อมูลดิจิทัลหลังจากที่บัญชีของเราไม่มีการใช้งานตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น หลังจากที่เราเสียชีวิตจะสามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนและจะแบ่งปันข้อมูลใด คุณสามารถเลือกได้ว่าใครจะได้รับการแจ้งเตือน

Facebook

บัญชีเฟซบุ๊กก็สำคัญเช่นเดียวกันเพราะข้อความที่อยู่ใน Messenger ก็ถือเป็นความลับที่หลาย ๆ คนไม่อยากให้ใครทราบ เราสามารถเพิ่มให้เพื่อนที่เราไว้ใจสามารถจัดการบัญชีของเราต่อไปได้ โดยผู้ที่ได้รับการมอบอำนาจสามารถจัดการได้ดังต่อไปนี้

  • เขียนโพสต์ที่ปักหมุดให้กับโปรไฟล์ของเรา (ตัวอย่างเช่น การแชร์ข้อความสุดท้ายในนามของเราหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีศพ)
  • ดูโพสต์ต่าง ๆ แม้ว่าเราเองจะได้ตั้งความเป็นส่วนตัวของคุณเป็น “เฉพาะฉัน” เอาไว้ได้
  • ตัดสินใจว่าใครสามารถดูและใครสามารถโพสต์การรำลึกถึงได้ หากบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์มีพื้นที่สำหรับการรำลึกถึง
  • ลบโพสต์การรำลึกถึง
  • เปลี่ยนแปลงผู้ที่สามารถเห็นโพสต์ที่เราถูกแท็กได้
  • ลบแท็กที่บุคคลอื่นเป็นผู้โพสต์
  • ตอบรับคำขอเป็นเพื่อนรายการใหม่ (เช่น เพื่อนเก่าหรือสมาชิกในครอบครัวที่ยังไม่ได้ใช้งาน Facebook)
  • อัปเดตรูปโปรไฟล์และรูปภาพหน้าปก
  • ส่งคำขอลบบัญชีของเรา
  • ให้ปิดข้อกำหนดเพื่อตรวจสอบโพสต์และแท็กก่อนที่จะปรากฏในส่วนการรำลึกถึง หากได้เปิดการตรวจสอบไทม์ไลน์เอาไว้
  • ดาวน์โหลดสำเนาที่เราแชร์บน Facebook

ผู้สืบทอดบัญชีของเราไม่สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้

  • เข้าสู่ระบบบัญชีผู้ใช้ของเรา
  • อ่านข้อความใน Messenger
  • ลบเพื่อนหรือส่งคำขอเป็นเพื่อน

สำหรับวิธีตั้งค่าผู้สืบทอดบัญชีสามารถทำได้ดังต่อไป

เข้าไปที่เมนู > การตั้งค่า > ข้อมูลส่วนตัวและบัญชีผู้ใช้ > การเป็นเจ้าของและการควบคุมบัญชี จากนั้นก็สามารถเลือกได้ว่าจะจัดการอย่างไรหากเราเสียชีวิต โดยสามารถเลือกได้ 2 ตัวเลือกคือ กำหนดผู้สืบทอดบัญชี และ ลบบัญชีหลังจากเสียชีวิต

Instagram

ถึงแม้จะเป็นเจ้าของโดยบริษัทเดียวกับ Facebook แต่ Instagram ไม่มีให้เราตั้งค่าแบบเดียวกันหลังจากที่ผู้ใช้เสียชีวิต Instagram มี 2 ตัวเลือกสำหรับอนาคตของบัญชีของคุณ – การลบความทรงจำหรือการลบ บัญชี Instagram จะถูกจดจำเมื่อสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนส่ง คำขออย่างเป็นทางการ เมื่อบัญชี Instagram ได้รับการจดจำแล้ว จะไม่มีใครเปลี่ยนแปลงโพสต์ ข้อมูลโปรไฟล์ หรือการตั้งค่าที่ตั้งค่าไว้อยู่แล้ว และไม่มีใครสามารถเข้าสู่ระบบบัญชีที่เป็นอนุสรณ์นั้นได้ ที่สำคัญบัญชีนั้นจะไม่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะของ Instagram เช่น หน้าสำรวจอีกต่อไป และท้ายที่สุดบัญชีนั้นจะระบุหน้าไบโอว่า ‘ด้วยความระลึกถึง’

Twitter

Twitter จะลบบัญชีหลังจากไม่มีการใช้งานหกเดือน หากเราต้องการให้ใครบางคนลบบัญชีหรือเข้าถึงข้อมูลได้หลังจากที่เราเสียชีวิต สามารถให้ครอบครัวหรือผู้จัดการมรดกสามารถขอปิดการใช้งานบัญชี Twitter ทันทีหลังจากการตาย โดยติดต่อไปที่ Twitter เอกสารที่ต้องแสดงมีบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองและผู้ตาย (หรือ ใบขับขี่) รวมทั้งสำเนาใบมรณะบัตรของเจ้าของบัญชี

TIKTOK

TikTok ไม่มีฟีเจอร์สำหรับการร้องขอการลบข้อมูล จากสมาชิกในครอบครัวหรือตัวแทน เฉพาะเจ้าของบัญชีผู้ใช้งานเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการตั้งค่าเพื่อลบบัญชีถาวร

และหากไม่ได้ลงชื่อเข้าใช้บัญชี TikTok เป็นเวลา 180 วัน TikTok จะเปลี่ยนชื่อผู้ใช้โดยสุ่มตัวเลขขึ้นมาแทน หากปล่อยให้บัญชีไม่มีการใช้งาน เนื้อหาที่เคยลงไว้จะยังคงแสดงบนแพลตฟอร์มต่อไปอย่างไม่มีกำหนด แต่จะไม่ถูกระบุแหล่งที่มา

ที่มา howtogeek, Facebook, mobilecorp, theverge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส