กลายเป็นกระแสร้อนแรงในอินเทอร์เน็ตหลังรายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้องจบลงในคืนวันที่ 23 มีนาคม ทั้งปรากฏการณ์ออนไลน์ที่มีผู้รอชมการถ่ายทอดสดครั้งนี้มหาศาล และกระแสดราม่าหลังจากจบรายการ แต่นี่ก็เป็นบทพิสูจน์สำคัญ เป็นกรณีศึกษาของการทำสื่อโทรทัศน์ยุคใหม่ที่ออกจากขนบทีวีแบบดั่งเดิม จนได้รับความสำเร็จ

คิดกันทำไม The Mask Singer ถึงประสบความสำเร็จ

  • ผู้คนชอบความลับ เรื่องลับๆ เมื่อนักร้องมาอยู่ภายใต้หน้ากาก จึงเพิ่มความใคร่รู้แก่ผู้ชม ให้คิดตามและสงสัย
  • หน้ากากช่วยให้ผู้ชมเปิดใจรับเนื้อหาใหม่ๆ ที่คนดังปกติไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ชมติดติดภาพผลงานอยู่ สุดท้ายผู้ชมจึงได้ความประหลาดใจเมื่อนักร้องถอดหน้ากาก
  • ผู้ชมเบื่อรายการร้องเพลงแบบมือสมัครเล่น ทำไมจะต้องเสียเวลาดูคนร้องเพลงไม่เพราะ ซึ่ง The Mask Singer ลงทุนในเรื่องดนตรีและนักร้องจนผู้ชมประทับใจ
  • จังหวะของรายการที่มีทั้งโชว์ร้องเพลง และช่วงถามตอบที่สนุกสนานตรงจริตคนไทย ช่วยสร้างอารมณ์ร่วม
  • งานโปรดักชั่นอลังการ คอสตูมนักร้องสร้างมาเป็นอย่างดี น่าจดจำ
  • ช่องทางออกอากาศหลากหลายทั้งโทรทัศน์ปกติ และออนไลน์สตรีมมิ่ง

ซึ่งการถ่ายทอดสดเมื่อวันที่ 23 มีนาคมทั้ง 2 ช่องทางออนไลน์คือ Youtube Live และ facebook Live สามารถดึงคนมาดูพร้อมกันออนไลน์สูงสุดราว 1.7 ล้านคน คิดเป็นราวๆ 4.5 % ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย 38 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมกับช่องทางทีวีปกติ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก แม้รายการในวันนั้นจะจบด้วยประเด็นดราม่าที่คนไทยเหมือนโดนหลอกให้ชมรายการที่ยาวกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่หวังก็เถอะ

ความเห็นเรื่องหน้ากากนักร้องจากหนุ่ย-พงศ์สุขและทอม เครือโสภณ

ทีวีนั้นไม่เคยตาย แต่รายการทีวีต่างหากที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลังจากกระแสของทีวีดิจิทัลเริ่มเสื่อมมนต์ลง ผู้คนเริ่มรู้แล้วว่าการต้องมานั่งดูรายการตามข้อจำกัดของทีวีดั้งเดิม ทั้งเรื่องสถานที่ ที่ต้องดูจากจอทีวีในบ้าน และเรื่องเวลาที่ต้องดูในเวลากำหนดนั้นมันไม่เวิร์คสำหรับวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบันอีกต่อไป จนกลายมาเป็นคำพูดติดปากของใครหลายๆ คนว่าทีวีนั้นกำลังจะตาย เพราะคนกำลังดูน้อยลงเรื่อยๆ

แต่หน้ากากนักร้องก็ทำให้เห็นภาพชัดว่าไม่ใช่ เนื้อหาที่ดียังขายได้เสมอ

แม้ว่าตอนนี้เราจะคิดว่าคนจ้องมือถือกันมากกว่าจอทีวีใหญ่ๆ จนห้างนั้นขายทีวีรุ่นใหม่กันไม่ออก แต่จริงๆ แล้วยอดขายทีวีนั้นเติบโตขึ้นทุกปี และทีวีที่จอใหญ่ขึ้นก็ขายดีมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากผู้ผลิตระบุว่าปัจจุบันคนเริ่มมองทีวีที่ใหญ่กว่า 40 นิ้วกันเป็นหลักแล้ว แล้วคนเอาทีวีจอใหญ่ไปใช้ทำอะไร ในเมื่อเรทติ้งช่องทีวีไทยไม่ได้มีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเลย

คำตอบนั้นอาจอยู่ที่ประโยชน์ของทีวีจอใหญ่ แถมมีระบบปฏิบัติการเป็น Smart TV ในยุคปัจจุบันนั้นไม่ได้จบที่การรับชมทีวีอย่างเดียวแล้ว ผู้ใช้ต่างต้องการทีวีรุ่นใหม่เพื่องานหลายอย่าง ตั้งแต่เล่นเกมความละเอียดสูง ที่ในไทยมีเครื่อง PlayStation 4 เป็นหัวหอก หรือใช้รับชมเนื้อหาแบบสตรีมมิ่งที่มีอุปกรณ์ตัวสำคัญอย่าง Google Chromecast เป็นตัวกลาง ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น สามารถรับชมเนื้อหาได้แทบทุกอย่างที่ต้องการโดยไม่ต้องอาศัยช่องโทรทัศน์แบบเดิมเลย

ตัวอย่างเนื้อหาออนไลน์สตรีมมิ่งที่ชมได้ในไทย

  1. iflix – คลังภาพยนตร์และซีรีส์ทั้งไทย ฝรั่ง และเกาหลี ค้นหาและเลือกดูได้ง่ายๆ เด่นที่ค่าบริการแค่ 100 บาท/เดือน
  2. Netflix – คลังภาพยนตร์และซีรีส์ชื่อดังจากอเมริกา เด่นที่ซีรีส์เฉพาะตัวที่สร้างเอง ฉายเอง ไม่มีที่อื่น
  3. doonee – คลังซีรีส์ตะวันตกโดยเฉพาะ เด่นที่เนื้อหามีพากย์ไทยและซับไทยให้เลือก ในขณะที่บริการอื่นๆ มักมีแค่ซับ
  4. Hollywood HD – คลังภาพยนตร์ ที่เด่นตรงมีภาพยนตร์ใหม่ชนิดออกพร้อมแผ่นให้ซื้อหรือเช่าเป็นเรื่องๆ ในราคาไม่แพงมาก
  5. iTunes Store – คลังภาพยนตร์ ซื้อหรือเช่าเป็นรายเรื่องจาก Apple เด่นที่มีหนังให้เลือกครบ และหนังใหม่มาก แต่ราคาค่อนข้างสูง และดูได้บนอุปกรณ์ของแอปเปิ้ลเป็นหลัก เช่น Apple TV
  6. Google Play Store – คลังภาพยนตร์คล้ายๆ iTunes Store หนังใกล้เคียงกัน ราคาใกล้ๆ กัน ดูบน Android หรือ Chromecast ได้
  7. beIN Sports Connect – บริการชมกีฬาสดที่ beIN เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในไทย เช่นพรีเมียร์ลีค
  8. Youtube – คลิปมีสาระ และไร้สาระจากทั่วโลก เมื่อรวมกับระบบแนะนำเนื้อหาที่ถูกจริตกับเรา ทำให้ Youtube ตอนนี้ดูเพลินมาก มีอะไรให้กดดูได้เรื่อยๆ
  9. LINE TV – ละครไทย รายการไทย ดูฟรี แต่เปิดขึ้นจอทีวีได้ยากเย็น
  10. Facebook live – มีรายการสดให้ชมเรื่อยๆ หลังผู้ผลิตเริ่มมองเห็นว่าช่องทางนี้ก็เข้าถึงผู้ชมจำนวนมากได้

นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป Online Streaming รวมถึงการไลฟ์สดต่างๆ จะกลายเป็นพรมแดนใหม่ของวงการโทรทัศน์บ้านเรา ที่ผู้ชมมีโอกาสเลือกเวลา เลือกสถานที่ เลือกวิธีการรับชมมากขึ้น ผู้ผลิตรายการจึงต้องพบกับความท้าทายใหม่ๆ เพราะผู้ชมมีอำนาจมากขึ้น ปิดรายการหรือเปลี่ยนไปดูอย่างอื่นได้ง่ายขึ้น มันจึงเป็นศาสตร์ของการสร้างสรรค์รายการที่ดี และศาสตร์ของการขายที่ผู้ชมรับได้ เพื่อที่จะยังไม่เปลี่ยนหนีไปไหน