เศรษฐกิจแบบใช้ร่วมกันหรือ Sharing Economy นั้นเป็นเทรนด์โลกมาสักระยะแล้วนะครับ เพราะเราอยู่ในโลกที่ทรัพยากรที่มีค่านั้นหายากมากขึ้นทุกวัน อะไรที่สามารถแชร์กันได้ ใช้ร่วมกันได้ จึงได้รับความสนใจจากผู้ใช้เรื่อยมา แล้วยิ่งตอนนี้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ใช้สามารถหาสิ่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น คนที่มีทรัพยากรก็สามารถแชร์ถึงตัวคนที่ต้องการได้ง่ายขึ้น คนในยุคนี้จึง “รวมพลังหาร 2” แชร์กันใช้ได้ง่ายกว่าเดิมมาก ใครที่ยังคิดไม่ออกว่าการแชร์ทรัพยากรเพื่อใช้ร่วมกันนั้นเป็นอย่างไร เราขอแนะนำให้รับชมวิดีโอ “ยิ่งใช้ร่วมกัน ยิ่งประหยัดชัวร์” แนวคิดดีๆ ที่จะช่วยกันประหยัดพลังงาน

จากกระแสการแบ่งปันนี้ เราขอแนะนำบริการ “แชร์กันใช้” จากทั่วโลกรวมถึงบริการที่เปิดในไทยให้รู้จักกันนะครับ เริ่มที่…

Car Pool คือการใช้รถร่วมกัน

หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน” ยกตัวอย่างเช่นถ้าเพื่อนที่ทำงานที่เดียวกัน บ้านใกล้กัน เดินทางโดยใช้เส้นทางเดียวกันเราก็สามารถใช้วิธีแชร์รถคันเดียวกันเพื่อไปทำงานด้วยกัน รถยนต์ 1500 ซีซี 1 คัน ใช้น้ำมันประมาณ 1 ลิตร/12 กม. ถ้าคน 4 คน ขับรถคนละคันจากจุดเริ่มต้นเดียวกันไปสู่จุดหมายเดียวกันด้วยระยะทาง 24 กม. จะต้องใช้น้ำมันถึง 8 ลิตร แต่ถ้าคน 4 คนใช้รถร่วมกันเดินทางไปด้วยกัน จะใช้รถเพียงคันเดียวและใช้น้ำมัน 2.5 – 3 ลิตรเท่านั้น ลดการสิ้นเปลืองน้ำมันได้ถึง 5 ลิตร

ลดการใช้รถยนต์ และน้ำมัน “วัฒนธรรมทางเดียวกันไปด้วยกัน” ในไทยต้องแอปฯ “Liluna”

ในทุกวันที่เราต้องเดินทางออกไปทำงานหรือธุระต่างๆ การใช้รถยนต์ 1 คันต่อ 1 คน นั้นเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำมันที่ค่อนข้างสูงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมาก็เยอะไม่ว่าจะเป็นค่าทางด่วน, ค่าที่จอดรถ สารพัดค่าใช้จ่าย มันน่าจะดีกว่าไหมหากรถคัน 1 สามารถใช้เดินทางพร้อมกันได้ทีละหลายคนแชร์การใช้ทรัพยากรร่วมกันช่วยประหยัดน้ำมัน แถมยังลดค่าใช้จ่ายของคุณได้ด้วยเราขอแนะนำแอปพลิเคชันที่เป็นตัวช่วยให้เราสามารถหาเพื่อนร่วมทางด้วย “Liluna”

ขอบคุณภาพ : www.liluna.info

จุดเด่นของแอปฯ คือเปิดให้คนทั่วไปที่ใช้รถยนต์ของตัวเองเดินทางในเส้นทางต่างๆ แจ้งจุดหมายเริ่มเดินทางและปลายทางเพื่อให้คนที่สนใจและใช้เส้นทางเดียวกันสามารถใช้รถร่วมกันในการเดินทางโดยคนที่จะขอร่วมทางไปด้วยกันผ่านแอปฯ สามารถแชร์ค่าเดินทางกับเจ้าของรถได้ซึ่งเจ้าของรถจะเป็นผู้กำหนดค่าใช้จ่ายการเดินทางเองหรืออาจจะไม่คิดก็ได้

หากใครกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ Liluna นั้น ในการสมัครใช้แอปพลิเคชันต้องมีการยืนยันตัวบุคคลผ่านรหัส OTP โดยจะส่งมาทางโทรศัพท์ ซึ่งตอนนี้ได้มีการบังคับลงทะเบียนเบอร์โทรด้วยบัตรประชาชนจึงถือได้ว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ในฝั่งเจ้าของรถทางทีมงานจะมีการตรวจสอบเอกสารใบขับขี่และ พรบ. เพื่อยืนยันตัวตน สำหรับคนที่มาร่วมทางก็ต้องมีการลงทะเบียนโดยใช้รูปแทนตัวเองที่ชัดเจน แอปฯ นี้นอกจากจะช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายของทั้ง 2 ฝ่ายแล้วยังเป็นโอกาสที่เราจะได้พบปะผู้คนใหม่ๆ หรืออาจจะเป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกันที่อยู่ในเส้นทางเดียวกันด้วยนะครับ

Uber ตัวอย่างระดับโลกของการใช้รถร่วมกัน

แม้ว่าในประเทศไทย Uber จะถอนทัพออกไปแล้วไปร่วมลงทุนใน Grab แทน แต่โมเดลธุรกิจการแชร์รถที่มีเพื่อรับรายได้เสริมก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งปกติแล้วผู้ใช้ชาวไทยจะคุ้นเคยกับ UberX ที่นำรถส่วนตัวออกมาแชร์ให้บริการ หรือ Uber Black ที่ใช้รถลิมูซีนหรูมารับส่งคน แต่ในบางเมือง Uber ก็มีบริการรถที่แชร์การใช้งานจริงๆ คือ UberPool ที่ระบบจะจัดการนำทางให้คนขับรถรับผู้โดยสารจากหลายจุด ไปส่งยังหลายๆ จุดที่อยู่ในทางผ่านเดียวกัน ซึ่ง UberPool จะมีค่าบริการที่ถูกกว่า Uber ปกติ แต่ก็ต้องแลกกับระยะเวลาเดินทางที่มากขึ้นเพราะคนขับรถต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางเพื่อรับผู้โดยสารคนอื่นๆ ด้วย

ซึ่งการจะทำระบบแบบ Uber Pool ได้ ก็ต้องเป็นเมืองที่มีคนเรียกรถมากพอ และระบบก็ต้องมีอัลกอริทึ่มดีที่พอในการแนะนำเส้นทางที่เหมาะสม ก็น่าเสียดายที่ Uber ยุติการให้บริการในไทยไปแล้ว

“ใช้จักรยานสาธารณะ”เดินทางในระยะสั้นๆ ที่ใช้ง่ายสะดวกสบายแค่คลิกและสแกนผ่านแอปฯ

การเดินทางในบางสถานที่ ที่ระยะทางไม่ไกลนักหากจะต้องสตาร์ทรถหนึ่งคันเพื่อเดินทางระยะใกล้ๆ ดูจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่ และถ้าเป็นเส้นทางที่รถติดหรือหาที่จอดรถยาก ช่องทางเดินรถไม่ได้สะดวกสบายแล้ว ทางเลือกอีกทาง คือการใช้รถจักรยานน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าซึ่งในปัจจุบันได้มีบริการ “Bike Sharing” แบ่งปันการใช้จักรยานสาธารณะแบบง่ายๆ ผ่านแอปฯ ที่ให้บริการและในประเทศไทยก็เริ่มมีการให้บริการกันแล้วในบางสถานที่ซึ่งมีผู้ให้บริการอยู่หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น

โอโฟ (ofo)

ขอบคุณภาพ : www.ofo.com/th

ในประเทศจีน โมเดลแบ่งบันสิ่งของในชีวิตประจำวันผ่านแอปนั้นได้รับความนิยมมากครับ มีของหลายอย่างมากที่สามารถใช้งานแล้วก็คืนผ่านแอปได้ในจีน เช่น ร่ม รถยนต์ ลูกบาส (หรือจะเรียกว่าการเช่าก็ได้นะ) แต่ตัวท็อปยอดฮิตที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันคือการแบ่งบันจักรยานครับ ซึ่งในประเทศไทยก็มีบริการอย่าง ofo ให้ได้ใช้กันแล้ว

รูปแบบการใช้งาน ofo ง่ายๆ เลยคือแค่เดินไปหาจักรยานสีเหลืองของ ofo ที่จอดอยู่ตามข้างถนน จะเดินสุ่มๆ ไปเจอ หรือเปิดแอปหาดูว่ามีจักรยานอยู่แถวไหนบ้างก็ได้ เสร็จแล้วเปิดแอป ofo ในมือถือแล้วสแกน QR Code ด้านหลังจักรยาน ระบบก็จะปลดล็อกรถให้ พอขี่ไปถึงจุดหมายเรียบร้อยก็แค่จอดในบริเวณที่จอดได้ ไม่กีดขวางทางจราจร แล้วกดล็อกรถจักรยาน แอปฯ ofo ก็จะสรุปออกมาว่าค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ซึ่งไม่แพงเลยครับ

ข้อดีของ ofo คือความสะดวกของผู้ใช้ ที่ไม่ต้องตามหาจักรยานตามจุดจอด แถมไม่ต้องหาที่จอดด้วย เพราะสามารถจอดตรงไหนก็ได้ที่ควรจอด แต่ก็อาจมีปัญหาบ้างถ้ามีคนใช้งานผิดๆ เอาไปจอดไว้หน้าบ้าน หน้าร้านที่เค้าห้ามจอดครับ ซึ่งตอนนี้จักรยาน ofo ก็มีวางหลายพื้นที่ในไทยแล้ว เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และที่จังหวัดภูเก็ตในละเเวกตัวเมืองและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

  • จุดเด่น: ตัวจักรยานใช้ GPS ติดตามตำแหน่งกรณีที่เกิดปัญหาหรือต้องการซ่อมบำรุง ยางล้อใช้เป็นยางตันเพื่อตัดปัญหาการดูแลลมยางแถมยังใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อเป็นไฟส่องนำทางแบบตรวจจับการเคลื่อนไหวและติดสว่างโดยอัตโนมัติ
  • เทคโนโลยี: บริการของ ofo เป็นแบบ IoT (Internet of Things) ปลดล็อคจักรยานด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและสแกน QR Code บนตัวจักรยาน
  • อัตราค่าบริการ: 5 บาท / 30 นาที มีค่ามัดจำการใช้บริการ 99 บาท (ขอเงินคืนได้เมื่อยกเลิกการใช้บริการ) ชำระค่าบริการได้ผ่านบัตรเครดิต เดบิต และ BluePay

ขอบคุณภาพ : www.ofo.com/th

ประโยชน์ของการปั่นจักรยานนอกจากจะได้ร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังสามารถประหยัดพลังงาน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกได้อีกด้วย ปัจจุบัน ofo มีจักรยานมากกว่า 14 ล้านคันใน 250 เมือง 22 ประเทศทั่วโลก และมียอดการใช้งาน 35 ล้านครั้งต่อวัน จากผู้ใช้งานทั้งหมด 250 ล้านคนทั่วโลก จากยอดการใช้นี้ ofo สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3.78 ล้านตัน หรือเทียบเป็นน้ำมันเบนซินได้ 1.07 พันล้านลิตรเลยทีเดียว จากสถิติล่าสุดของ Tomtom Traffic Index กล่าวไว้ว่าชาวกรุงเทพฯ ใช้เวลากว่า 240 ชั่วโมงต่อปีบนท้องถนนนั้น ofo ก็สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ ยกตัวอย่างหลังจากเปิดทำการจักรยาน ofo ในประเทศจีนสถิติการใช้รถยนต์เดินทางระยะสั้น 5 กิโลเมตร ลดลงไปถึง 44% เลยทีเดียว

ทุกคนสามารถร่วมกันประหยัดพลังงานได้ง่ายๆ เพียงหันมาปั่นจักรยานในระยะทางใกล้ๆ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวและยังสามารถลดปัญหารถติดได้อีกด้วย อย่าปล่อยให้โลกเราร้อนขึ้นเพียงเพราะคำว่า “ใกล้แค่นี้ขับรถไปก็ได้” เลย

โมไบค์ (Mobike)

ขอบคุณภาพ : mobike.com และภาพจาก P R K U

ให้บริการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนเป็นที่แรก ตามด้วยห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และกำลังจะขยายพื้นที่ให้บริการในวงกว้างตามเมืองต่างๆ รวมถึงละเเวกห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัลในอนาคต

  • จุดเด่น: ของโมไบค์คือ บริการที่เน้นความสบายของผู้บริโภคเป็นหลัก ผู้ใช้จะสามารถใช้จักรยานได้เมื่อ ปลดล็อกจักรยานด้วยบลูทูธ (Bluetooth) และการสแกน QR Code ที่อยู่บนจักรยานแต่ละคันด้วยแอปฯ ในสมาร์ทโฟน
  • เทคโนโลยี: ส่วนตัวจักรยานใช้เทคโนโลยี GPS ติดตามตำแหน่งของจักรยานแต่ละคันมีนวัตกรรมยาง ไร้ลมแบน, เฟรมอะลูมิเนียมกันสนิม, ระบบการขับเคลื่อนไร้โซ่
  • อัตราค่าบริการ: 10 บาท / 30 นาที โดยชำระผ่าน mPay ได้

โอไบค์ (oBike)

ขอบคุณภาพ : Facebook.com/BikeThailand

นำร่องเปิดให้บริการตามจุดสัญจรอย่างแนวสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ในกรุงเทพฯ ก่อนขยายขอบเขตพื้นที่ให้บริการตามสถานศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เเละล่าสุดในจังหวัดภูเก็ต

  • จุดเด่นและเทคโนโลยี: ใช้บริการด้วยการจองผ่านแอปพลิเคชันและปลดล็อคด้วยการสแกน QR Code เช่นเดียวกับ ofo และโมไบค์ และใช้เทคโนโลยีการติดตาม GPS เหมือนๆ กัน
  • อัตราค่าบริการ: 10 บาท / 15 นาที

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงของแต่ละที่เกี่ยวกับเรื่อง Bike Sharing
 โดยแต่ละเจ้าของผู้ให้บริการก็มีจุดเด่นและลักษณะการใช้งานต่างกันแต่จุดประสงค์เดียวกันคือ “ลดการใช้พลังงาน” ใครที่ได้ไปตามสถานที่ต่างๆ ที่มีบริการ Bike Sharing อย่าลืม!! ลองใช้กันนะครับ ประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ แล้วยังถือเป็นการออกกำลังทางอ้อม ดีต่อสุขภาพเรานะครับ

ค้นหาที่พักในการท่องเที่ยว “พักร่วมกัน” แบบโฮสเทล ผ่านแอปฯ 
ลดค่าใช้จ่ายและช่วยลดการใช้พลังงาน

ปัจจุบันที่พักสำหรับการท่องเที่ยวในรูปแบบ Hostel มีให้บริการในไทยเพิ่มมากขึ้นโดยประเทศที่เป็นผู้นำ “ที่พักแบบแชร์กัน” อย่าง ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เยอรมนี นั้นมีการให้บริการที่พักแบบ Hostel กันอย่างแพร่หลาย โดย Hostel จะมีทั้งห้องพักแบบที่เป็นห้องรวมมีเตียงแยกให้เป็นบุคคลหรือเป็นแบบห้องส่วนตัว

ในเรื่องการบริการจะเน้นให้ตัวผู้เข้าพักต้องดูแลตัวเอง โดยจะมีพื้นที่และของใช้ส่วนกลางให้ผู้ที่มาพักได้ใช้ร่วมกันเพื่อประหยัดพลังงาน เช่น ห้องน้ำ, กาน้ำร้อน, ตู้เย็น หรือไมโครเวฟ การใช้บริการที่พักแบบแชร์กันเป็นการช่วยประหยัดพลังงานสบายเงินในกระเป๋าแถมยังมีโอกาสได้สร้างมิตรภาพรู้จักกับเพื่อนใหม่จากการท่องเที่ยวอีกด้วย

ขอบคุณภาพ : hostelworld.com

ส่วนแอปฯ ที่ให้บริการในการหาที่พักแบบ Hostel นั้นก็มีอยู่หลายตัวครับ แอปฯ ที่จะช่วยให้คุณสามารถหาที่พักแบบ Hostel ได้จากทั่วโลกที่ดูโดดเด่นก็จะมี Hostelworld แอปฯ ที่เน้นการหาห้องพักลักษณะห้องรวมข้อดีของการพักห้องรวมคือราคาที่พักต่อคืนไม่สูงมากนักเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่เป็น Backpacker หรือนักท่องเที่ยวที่ชอบเที่ยวคนเดียวแอปฯ ใช้งานง่ายมีรายละเอียดห้องพัก พร้อมรีวิว ที่ชัดเจน

สำหรับคนเดินทาง Backpacker ซึ่งนับวันก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยความที่ปัจจุบันการเดินทางสะดวกมากขึ้น และเส้นทางในการเดินทางที่หลากหลายทำให้ตัดสินใจออกเดินทางกลุ่มเล็กๆ กันเยอะขึ้นโฮสเทลเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและตอบโจทย์มากสำหรับคนกลุ่มนี้ที่เดินทางแต่ละครั้ง 3 – 5 วัน ขึ้นไปเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

โฮสเทลยังตอบโจทย์มากๆ เนื่องจากที่พักโรงแรมทั่วไปส่วนใหญ่จะต้องจองกันเป็นห้องจำกัดจำนวนคนเข้าพักแต่ละห้อง แต่โฮสเทลเช่ากันเป็นเตียง 1 ห้องนอนอาจจะพักรวมกันตั้งแต่ 4 เตียง 8 เตียง 10 เตียง บางที่มากถึง 20 เตียงราคาถูกที่สุดที่ Search เจอข้อมูลคือ 150 – 200 บาท ต่อคืน  Backpacker ก็จัดการค่าใช้จ่ายได้และอาจจะมีเงินเหลือเอาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้เต็มที่มากขึ้นอีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเพื่อนหลายคนจากที่พักโฮสเทลเพราะมีโอกาสเจอผู้คนที่หลากหลายแน่นอนว่าผู้คนที่หลากหลายเหล่านั้นจึงเต็มไปด้วยความแตกต่างทั้งวัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ ความชอบ เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วจึงมีโอกาสพูดคุยกันและเรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : Smile Bell

นี่เป็นเพียงบางเรื่องที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมประหยัดพลังงาน “วัฒนธรรมหาร 2 วัฒนธรรมใช้ร่วมกัน” ยังมีอีกหลายเรื่องมากมายที่เรานั้นทำได้ ลองเริ่มที่ตัวเราและส่งต่อวัฒนธรรมนี้ไปถึงเพื่อน ครอบครัว ที่ทำงาน และเราจะได้มีสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นลดความเป็นสังคมปัจเจกมาเป็นสังคมที่ใช้ร่วมกัน แชร์ร่วมกัน เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าพลังงานที่มีให้เราใช้กันอยู่ในทุกวันจะมีเพียงพอให้เราใช้ไปได้ถึงเมื่อไหร่ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตระหนักในการลด และ แชร์ การใช้พลังงานร่วมกันให้มากขึ้น