หลังจากซุ่มพัฒนาแอป K PLUS รุ่นใหม่กันมาเป็นปี ในที่สุดกสิกรไทยก็ได้เปิดตัวแอป K PLUS ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องใหม่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น” เปลี่ยนโลโก้และหน้าตาใหม่ พร้อมเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ๆ ที่ทุกคนรอคอยแถมยังปลอดภัยเชื่อใจได้ ไม่ว่าจะเป็นถอนเงินจากตู้ ATM โดยไม่ใช้บัตรใช้แค่แอป หรือการ Beyond ความต้องการของผู้ใช้ เช่นการใช้ e-Slip แบบใหม่ที่มี QR Code เพื่อยืนยันว่าเป็นสลิปจากธุรกรรมนั้นจริงๆ ป้องกันปัญหาสลิปปลอม ที่สำคัญคือเพิ่มฟังก์ชันไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งานเป็นรายบุคคล ด้วยการประยุกต์ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กสิกรไทยพัฒนาในชื่อ “เกด” (KADE) เข้าสู่แอปตัวหลักของธนาคารตัวนี้ เพื่อสนับสนุนการใช้งานของแอปให้ตรงใจผู้ใช้มากขึ้น

คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีของกสิกรไทยได้เผยเบื้องหลังการพัฒนา K PLUS รุ่นล่าสุดเวอร์ชั่น 5 ให้เราฟังว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือ “K PLUS ตัวใหม่จะเป็นอะไร” ซึ่งเราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นช่องทาง แต่มันคือธนาคารดิจิตอลเต็มตัว ที่จะอยู่รอดได้โดยไม่ถูก Disrupt อย่างน้อยก็เร็วๆ นี้ โดยคิดแบบรื้อใหม่เลย

“K PLUS ตัวใหม่จะเป็นอะไร”

สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

โดย Codename ในการพัฒนาแอปตัวใหม่ที่เป็นความลับมานานหลายเดือนคือ “Victoria Project” ซึ่ง V ก็คือ 5 ซึ่งหมายถึงเวอร์ชั่น 5 และหมายรวมถึงชัยชนะที่รอดจากการถูก Disrupt โดยเฉพาะจากบริษัทใหญ่ๆ ที่อาจจะไม่อยู่ในวงการแบงค์ (นึกถึงภาพบริษัทอย่าง Google หรือ Alibaba) ที่เมื่อขยับตัว รุกผลิตภัณฑ์ด้านการเงินมากขึ้น อาจทำให้เรามีปัญหาได้

ซึ่งสิ่งที่ทำให้บริษัทนอกวงการแบงค์เหล่านี้น่ากลัวคือมัน “ถูกกว่า เร็วกว่า ดีกว่า” เพราะด้วยความที่เป็นบริษัทสมัยใหม่ ทีมงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละเรื่องจะมีไม่เยอะ แล้วตัดสินใจเร็วกว่าองค์กรเก่าๆ การทำงานก็ทำด้วยวิธี Agile ที่วางแผนสั้นๆ ทำไปแก้ไป แล้ววางแผนใหม่ ทำให้ทำงานเร็วมาก นอกจากนี้คุณสมคิดยังมองว่า บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเหล่านี้อยู่รอบตัวลูกค้าอยู่แล้ว (คิดง่ายๆ ก็ Google ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว) ซึ่งไม่ได้มีแค่บริการทางการเงินอย่างเดียว แต่ให้บริการหลากหลาย นั่งรออยู่หน้าประตูบ้านลูกค้าแล้ว แถมยังมี AI ช่วยสนับสนุนจึงทำให้น่ากลัวมาก

จุดสำคัญคือเป็น Open Platform และมี AI ช่วยสนับสนุน

คุณสมคิด วางภาพของ K PLUS ตัวใหม่ว่าจะเป็น Open Platform พร้อมระบบนิเวศน์สำหรับพาร์ทเนอร์เพื่อให้เข้ามาใช้บริการได้ เช่นระบบ K PLUS Identity เพื่อยืนยันตัวครั้งเดียวก็เข้าใช้บริการของพาร์ทเนอร์ใน K PLUS ได้ แล้วมองภาพไปถึงการสนับสนุนให้ชาวต่างชาติใช้งานได้ เพื่อให้มีผู้ใช้ระดับร้อยล้านคนได้ ซึ่งน่าจะเป็นประเทศในภูมิภาคนี้ก่อน

แนวทางการพัฒนาแอป K PLUS ตัวใหม่

แนวคิดการพัฒนา K PLUS ขยายจากการเป็นแอปมาสู่ “K PLUS Intelligence Platform” ที่นำเสนอประสบการณ์ที่ตรงใจกับลูกค้าเป็นรายบุคคล พร้อมทั้งรองรับการเติบโตในอนาคต ทั้งความเสถียร ความปลอดภัย และความง่ายในประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า รวมถึงการขยายเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจต่างๆสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)
  1. K PLUS ตัวใหม่ไม่ใช่แค่ธนาคาร แต่สามารถมีบริการจากพาร์ทเนอร์อื่นได้ด้วย
  2. K PLUS ตัวใหม่ต้องง่าย ใช้ง่าย หาง่าย และปลอดภัย ซึ่งปรับปรุงให้สามารถใช้กับ Wifi ได้ตลอด ไม่ต้องยืนยันตัวผู้ใช้กับซิมตลอดเวลาเหมือนเดิมแล้ว แต่ก็ยังปลอดภัยอยู่
  3. ต้องมี AI เพื่อให้มีผู้ช่วยส่วนตัว ซึ่งในแอปเวอร์ชั่นใหม่ก็มี KADE ช่วยเหลืออยู่ โดย “เกด” (KADE: K PLUS AI-Driven Experience) จะเป็นหัวใจสำคัญในพัฒนาศักยภาพของ K PLUS โดยมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นระบบหลังบ้าน ด้วยการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน รู้จัก รู้ใจคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นำเสนอประสบการณ์ที่ตรงใจกับลูกค้าเป็นรายคนได้ เช่น

  • ฟังก์ชัน K PLUS Today สามารถแจ้งเตือนธุรกรรมการเงินที่สำคัญที่ลูกค้าใช้เป็นประจำ และแนะนำผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชั่นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า
  • เทคโนโลยีแมชชีน เลนดิ้ง (Machine Lending) ที่อยู่ใน K PLUS ทำให้ธนาคารนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล (K-Personal Loan) สินเชื่อธุรกิจ ที่เหมาะสมกับความสามารถในการกู้และตรงกับความต้องการของลูกค้าผ่านแอปฯ K PLUS และในอนาคตยังสามารถแนะนำการใช้จ่ายและการลงทุน (Investment) ที่จะเพิ่มศักยภาพทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้า

เป้าหมายของ K PLUS นำแอปธนาคารให้เจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์ นำเสนอบริการให้ง่ายขึ้น

Play video

แพลทฟอร์มของ K PLUS ใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งาน K PLUS มากกว่า 61% ของลูกค้าธนาคารทั้งหมด 15 ล้านราย มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนลูกค้าและปริมาณธุรกรรม ธนาคารจึงพัฒนาศักยภาพของ K PLUS ใหม่ พร้อมกับนำเสนอฟังก์ชันด้านไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งานเป็นรายบุคคล (Personalization) ด้วยคอนเซปต์ “เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น” ทุกอย่างทำได้จบในแอปเดียว ทำให้เป็นแอปที่ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ใช้จ่ายและเพลิดเพลิน (Pay & Play) กับบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง พร้อมได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากแบรนด์ดังมากมายที่จะมารวมตัวอยู่บนแพลทฟอร์มของ K PLUSพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทยวางกลยุทธ์และเป้าหมายของ K PLUS ไว้ 3 ด้าน คือ

1. เพิ่มสัดส่วนการใช้งานฟังก์ชันไลฟ์สไตล์ของ K PLUS อีก 5-10% ภายใน 1 ปี

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

แน่นอนว่าเป็นแอปธนาคาร ฟังก์ชันที่ลูกค้านิยมใช้มากที่สุดคือ รายการโอน-เติม-จ่าย คิดเป็น 125 ล้านรายการต่อเดือน ในขณะที่ฟังก์ชั่นเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่มีตั้งแต่ K PLUS เวอร์ชั่นที่แล้ว มีปริมาณการทำธุรกรรมที่น้อยกว่าที่คาดหมาย มีราว 1% ของรายการทั้งหมดหรือราวรวม 500,000 รายการต่อเดือนเท่านั้น

ในแอป K PLUS เวอร์ชั่นใหม่ กสิกรไทยจึงออกแบบฟังก์ชั่นไลฟ์สไตล์อย่าง K+ Market ให้เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย ให้ลูกค้าเข้าใจว่าแอป K PLUS ทำได้มากกว่าการโอนเติมจ่าย และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้น และเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 5-10% ภายใน 1 ปี

2. K PLUS เป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงบริการผลิตภัณฑ์ด้านการเงินของธนาคารได้ง่ายขึ้น

หลายบริการด้านการเงินนั้นมีอยู่ตั้งแต่ K PLUS เวอร์ชั่นที่แล้ว แต่อาจจะเข้าถึงยาก หรือไม่โดดเด่น ในแอปเวอร์ชั่นใหม่กสิกรไทยจึงออกแบบให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการด้านการเงินต่างๆ ผ่าน K PLUS ได้ง่ายและสะดวกขึ้น เช่น ฟังก์ชันถอนเงินโดยไม่ใช่บัตร ซื้อกองทุน

โดยเฉพาะบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เปิดให้บริการมา 8 เดือน ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก (Micro Finance) ให้กับลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย มีส่วนผลักดันให้ภาพรวมยอดสินเชื่อคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลสะสมเติบโตกว่า 4% มียอดสินเชื่อใหม่จนถึงเดือนสิงหาคมประมาณ 16,300 ล้านบาท เทียบกับปลายปีก่อนที่มีมูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลคงค้างที่ 15,700 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในปีนี้ปล่อยสินเชื่อคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท หรือคิดรวมเป็น 22,700 ล้านบาท​

3. มุ่งเพิ่มฐานลูกค้ารวมของธนาคารให้ได้ 20 ล้านบัญชีภายใน 3 ปี

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีฐานลูกค้าใหม่เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบัญชี ปัจจุบันธนาคารมีจำนวนบัญชีลูกค้ารวม 15 ล้านบัญชี และเชื่อมั่นว่า ภายใน 3 ปี ฐานลูกค้าใหม่ของธนาคารให้เพิ่มเป็นปีละ 2 ล้านบัญชี และทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้ารวมเป็น 20 ล้านบัญชี

โดยที่จำนวนลูกค้า K PLUS ส่วนหนึ่งจะมาจากการเติบโตของฐานลูกค้ารวมของธนาคาร และอีกส่วนที่สำคัญจะมาจากกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าที่ไม่ได้มีบัญชีของธนาคาร เช่น ลูกค้าที่ใช้ อี-วอลเล็ต รวมถึงการเปิดให้ธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ โดยเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค เพิ่มช่องทางการชำระเงินให้แก่ลูกค้าได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น