5G จะมาเมื่อไหร่?, ตอนนี้เน็ต 4G ก็เร็วมากแล้ว แล้ว 5G จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรอีก?

หลากคำถามที่วนเวียนอยู่ในใจผู้ใช้เกี่ยวกับเรื่อง 5G เทคโนโลยีการเชื่อมต่อยุคใหม่ที่กำลังจะเข้ามาแทน 4G เร็วๆ นี้ เพื่อเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับ 4G, 5G ให้ถึงแก่น แบไต๋ได้พูดคุยกับ คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ถึงเรื่องวุ่นๆ ของ 4G และ 5G เพื่อเรียบเรียงให้อ่านกันครับ

ว่าด้วยเรื่อง AIS-T ก่อน มันคือ 4G ใช่ไหม?

ช่วงตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการ AIS อาจแปลกใจว่าบางครั้งเครือข่ายที่โทรศัพท์ตัวเองจับได้นั้นไม่ได้ขึ้นชื่อ AIS แต่ขึ้นเป็น AIS-T ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง AIS กับ TOT เพื่อใช้คลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz (15 MHz x 2) มาให้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนถามกันเยอะว่าขึ้น AIS-T แล้วสัญญาณแรงเท่าสัญญาณที่เป็น AIS ไหม? จับได้แค่ 3G ไหม?

 

ซึ่งคุณวสิษฐ์ให้ข้อมูลว่า AIS-T ให้ความแรงสัญญาณเท่ากับ สัญญาณที่เป็น AIS แน่นอน เนื่องจาก AIS-T ก็คือ การที่ AIS นำคลื่น 2100MHz(TOT) มากระจายสัญญาณอยู่บนเสาสัญญาณเดิมของ AIS ที่มีอยู่แล้ว จึงทำให้ไม่ต้องกังวล เรื่องสัญญาณว่าจะแรงไม่เท่ากัน

และวันนี้ AIS ได้มีการปรับคลื่น 2100 MHz (TOT) จากการให้บริการ 3G อย่างเดียว จำนวน 30 MHz (15 MHz x 2) เปลี่ยนมาเป็น 4G จำนวน 20 MHz (10 MHz x 2) และ 3G จำนวน 10 MHz (5 MHz x 2) โดยดูจากพื้นที่การให้บริการ ถ้าพื้นที่ไหนใช้ 3G อยู่เยอะ ก็จะเก็บ 2100 MHz (TOT) ไว้ใช้สำหรับ 3G ก่อน ยังไม่ได้ทำ 4G ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน แต่ถ้าพื้นที่ไหนใช้ 4G อยู่เยอะ เช่นในเมือง ส่วนใหญ่ก็ถูกปรับให้เป็น 4G แล้ว

ทำให้ตอนนี้ AIS เป็นค่ายที่มีคลื่นให้บริการ 4G มากที่สุด มีคลื่นใช้งาน 4G (900MHz+1800MHz+2100MHz) ถึง 100 MHz (50 MHz x 2) เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20 MHz ซึ่งจะทำให้ความเร็วโดยรวมเพิ่มขึ้น 20-30% และรองรับผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้นอีกราว 25%

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยเติบโตขึ้นมาก AIS ก็ปรับปรุงเครือข่ายตลอด ตอนนี้ AIS เป็นผู้นำเรื่องคลื่นในไทย มีมากกว่าทุกเจ้า

ว่าด้วยเรื่อง 5G บ้าง มันดีกว่า 4G อย่างไร?

คุณวสิษฐ์เล่าเรื่อง 5G ให้เราฟังว่า การออกแบบมาตรฐาน 5G นี้คำนึงถึง 3 แกนที่จะต้องดีกว่า 4G คือ

3 แกนที่ปลาย 3 มุมของ 5G

  1. ความเร็วที่สูงขึ้น ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Massive MIMO ซึ่งปัจจุบัน AIS ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีความเร็วสูง 4G Massive MIMO 32T 32R อยู่แล้วเพื่อรองรับการใช้บริการความเร็วสูงและผู้ใช้จำนวนมาก
  2. Low Latency เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญเลยที่การเชื่อมต่อระหว่างกันจะต้องไม่แลค มีความหน่วงระหว่างต้นทางกับปลายทางน้อยลง ซึ่งจะมีประโยชน์มากสำหรับงานที่ต้องเชื่อมต่อตลอดเวลา ซึ่ง AIS ก็ปรับปรุงเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา แม้จะยังอยู่ในยุค 4G ก็เถอะ ซึ่งลูกค้าจะได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น เมื่อมี Latency ลดลงด้วย เช่นถ้า Latency ลดลง 10 ms ประสิทธิภาพ Thoughput จะเพิ่มขึ้นถึง 20-30%
    1. เรื่องที่ใกล้ตัวหน่อยก็การเล่นเกมที่จะทำได้ลื่นไหลขึ้น โดนยิงหัวโดยไม่รู้ตัวน้อยลง
    2. ถ้ายกตัวอย่างงานสเกลใหญ่ๆ อย่างการควบคุมระบบขนส่งมวลชนที่ทุกเสี้ยววินาทีก็สำคัญต่อความปลอดภัย เมื่อสั่งหยุดรถไฟก็ต้องหยุดได้ทันที
    3. หรืองานอันตรายเช่นการควบคุมหุ่นยนต์กู้ภัย หรือการควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัด ที่ระบบต้องทำงาน Real-time จากระยะไกลจริงๆ ซึ่งก็จะเป็นจริงได้ในยุค 5G
  3. รองรับ machine type communication (eMTC) หรือการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทำได้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเมื่อเครือข่าย 5G รองรับ MTC เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ก็ทำให้เก็บข้อมูลจาก IoT ได้เยอะขึ้น เพราะเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้พร้อมกันมากขึ้น (พูดแบบกีกๆ คือรองรับ Endpoint สูงขึ้น) ซึ่ง NB-IoT และ eMTC ที่ AIS ลงทุนพัฒนาอยู่ตอนนี้ก็สามารถเข้าสู่ระบบ 5G ได้ทันทีเมื่อเริ่มใช้

คุณวสิษฐ์ย้ำว่าแม้ 5G จะยังไม่ได้เริ่มให้บริการจริงๆ แต่ผู้ใช้ก็สามารถใช้เทคโนโลยีส่วนหนึ่งของ 5G ได้บนเครือข่าย 4.5G ของ AIS ได้ในตอนนี้เลย และเมื่อ 5G มาถึงจริงๆ ก็จะยิ่งดีกว่านี้อีก

5G ต้องใช้คลื่นอะไรในการให้บริการ?

(คนกลาง ยืดกอดอก) วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

คุณวสิษฐ์อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า ความต้องการใน 3 เรื่องของ 5G คือ 1. ความเร็วที่สูงขึ้น 2. Low Latency และ 3. รองรับ mMTC ทั้ง 3 เรื่องนี้ ต้องการคลื่นที่แตกต่างกันในการทำงานเพื่อให้ได้ผลที่ดี เช่นถ้าต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อที่สูงขึ้นก็ต้องใช้คลื่นความถี่สูงและ Bandwidth ที่มีขนาดใหญ่ แต่การใช้งานกับระบบขนส่งมวลชน หรือรถยนต์ไร้คนขับก็ต้องการคลื่นความถี่ต่ำเพื่อให้ครอบคลุมระยะทางกว้างกว่าคลื่นความถี่สูงหรือการทำ Low latency ก็ต้องใช้ความถี่กลางๆ เพื่อให้ได้ทั้งความเร็วและระยะทาง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะออกแบบเครือข่ายและรูปแบบการใช้คลื่นให้เหมาะกับงานและบริเวณที่นำไปใช้ แต่ที่บอกได้คือผู้ให้บริการก็ต้องมีคลื่นทั้งความถี่ต่ำ กลาง สูงเพื่อให้บริการได้ครอบคลุม

ซึ่งการเริ่มใช้ 5G ผู้ให้บริการน่าจะมุ่งไปที่คลื่นความถี่ใหม่ๆ ก่อน เพื่อทำความเร็วในการส่งผ่านข้อมูล จึงจะยังไม่ได้ดึงคลื่นเดิมที่ใช้กับบริการเก่าๆ อย่าง 3G มาใช้ จึงทำให้มีเวลาพักหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 5G ที่ต้องรอความพร้อมของหลายๆ ด้านด้วย

การจะไปถึง 5G ได้ก็ต้องมีการปรับปรุงสถาปัตยกรรมของเครือข่ายใหม่ ซึ่ง AIS ได้นำสถาปัตยกรรมของ 5G มาใส่ใน 4.5G แล้ว ตัวแกนของเครือข่ายคือพร้อมสำหรับใช้งาน 5G แล้ว

5G จะได้ใช้กันเมื่อไหร่ แล้ว AIS พร้อมแค่ไหนในตอนนี้?

คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

สำหรับประเด็นนี้คุณวสิษฐ์เล่าย้อนไปถ้า Roadmap ของ 3GPP (3rd Generation Partnership Project) ที่กำหนดความเป็นไปของโทรคมนาคมโลก โดยแผนของ 3GPP ระบุว่าปีหน้าในปี 2019 เครือข่าย 5G จะเกิดแน่นอนในโลก โดยเฉพาะในประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง จีน อเมริกา หรือญี่ปุ่น-เกาหลี แต่อย่างญี่ปุ่นคือมีแผนชัดอยู่แล้วว่าปี 2020 จะต้องมี 5G ใช้เต็มตัว เพื่อรับกีฬาโอลิมปิก

การมาของ 5G นั้นแตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่เมื่อครั้ง 3G คือในอดีตตอนที่ทำ 3G เป็นเครือข่ายที่พัฒนาไปรอก่อน แต่อุปกรณ์ต่างๆ รองรับ 3G ช้า การเปลี่ยนผ่านเลยต้องใช้เวลารอคนซื้ออุปกรณ์ใหม่ (อันนี้ทีมงานแบไต๋เสริมว่าเฉพาะในต่างประเทศนะ เพราะในไทย 3G เกิดค่อนข้างช้าจนอุปกรณ์พร้อมใช้กันไปหมดแล้ว เมื่อเกิด 3G คนไทยเลยใช้งานได้ทันที) แต่ในรอบ 5G นี้สมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงต่างๆ ก็เริ่มใส่เทคโนโลยีเพื่อให้พร้อมรองรับ 5G กันแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีสมาร์ทโฟนแบบ plug-in ที่ใช้อุปกรณ์เสริมทำให้ใช้ 5G ได้ สำหรับใครที่ไม่อยากเปลี่ยนมือถือ หรือแบบที่รองรับ 5G ในตัวก็น่าจะออกสู่ท้องตลาดเร็วๆ นี้ ทำให้เมื่อ 5G พร้อม คนส่วนหนึ่งก็จะใช้งานได้ทันที

ส่วนในไทย 5G จะมาเมื่อไหร่ ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ เพราะกสทช. ก็กำลังวางแผนการใช้คลื่นความถี่กันอยู่ แต่ AIS ก็ไม่ได้รอ ทำ 4.5G ที่พร้อมสำหรับ 5G เมื่อ 5G เกิดก็พร้อมให้บริการได้ทันที

สถาปัตยกรรมเครือข่ายของ AIS พร้อมแล้วสำหรับ 5G เพราะมาตรฐานโลกฟรีซแล้ว เมื่อถึงเวลาของ 5G ก็ใช้งาน AIS 5G ได้ทันที

เอไอเอสก็ได้เริ่มศึกษาและเป็นรายแรกที่เริ่มต้นปรับโครงสร้างเครือข่ายหลักที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค (AIS Core Network Architecture Ready for 5G) ให้สามารถสื่อสารตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์บริการต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องย้อนกลับมาผ่านศูนย์กลางเครือข่ายในส่วนกลางซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้อัตราการตอบสนองได้เร็วขึ้น เพราะค่า Latency ต่ำ ทำให้เมื่อประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ทุกครั้งที่โลกการสื่อสารเปลี่ยนยุค ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไปมาก อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน เช่น ตอนเข้าสู่ยุค 2G เรามี SMS ใช้ ก็ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ เมื่อเข้าสู่ยุค 3G เราเริ่มใช้ Video Call ได้ การสื่อสารก็เปลี่ยนไป ชีวิตเปลี่ยนไป ส่วน SMS ก็ค่อยๆ ตายในยุคนี้ และในยุค 4G เราทำไลฟ์ได้ ก็ทำให้รูปแบบธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนไปอีก ซึ่งธุรกิจก็ต้องตามความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน ซึ่ง 5G น่าจะกระทบกับอุตสาหกรรมมากกว่าผู้ใช้ทั่วไปอีกวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส

และพบกับ 5G the First LIVE in Thailand by AIS” การแสดง 5G ครั้งแรกของไทย วันที่ 22 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2561 ที่ AIS DC ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม เข้าไปดูความล้ำของ 5G ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย