เมื่อโลกหมุนเวียนไปตามกาลเวลาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนทำให้สตาร์ทอัปได้กลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองชิ้นสำคัญบนโลกธุรกิจ “ด้วยเหตุนี้เอง KATALYST (แคททะลิสต์) โครงการจากธนาคารกสิกรไทย จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างคุณค่าทางธุรกิจ เป็นที่ปรึกษา ร่วมแชร์ประสบการณ์ และให้โอกาสด้านเงินทุนแก่สตาร์ทอัปทั้งหลาย” 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดเผยว่า ในปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ให้ความสำคัญและสนใจทำธุรกิจด้วยตนเองเป็นอย่างมาก และเหล่า “สตาร์ทอัป” ก็สามารถทำได้ทั้งการสร้างนวัตกรรม แนวคิด และเครื่องมือใหม่ ๆ มาตอบโจทย์ลูกค้า แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังไม่สามารถนำพาธุรกิจให้อยู่รอดหรือเติบโตต่อไปได้ด้วยตนเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ KATALYST จะเข้ามาช่วยเหลือเหล่าสตาร์ทอัป ด้วยการจับจุดแข็งของสตาร์ทอัปและกสิกรไทยมาร่วมมือกัน

ทางด้านของนายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ก็ได้กล่าวว่า ปัญหาที่สตาร์ทอัปทั่วโลกรวมทั้งไทยประสบพบเจอเหมือนกันส่วนใหญ่นั้น คือ การที่ไม่มีตลาดมารองรับโปรดักส์, ขาดเงินทุน, การจัดการต้นทุนและราคา ฯลฯ ซึ่งโครงการ KATALYST จะมีผู้รู้ระดับมืออาชีพทั้งจากธนาคารกสิกรไทยและพันธมิตรของธนาคารที่สามารถแนะนำในเรื่องต่าง ๆ , ช่วยแก้ปัญหาด้านการตลาด นำเสนอโมเดลธุรกิจ และองค์ความรู้ที่สำคัญ อาทิ ด้านกฎหมายและสวัสดิการพนักงาน เป็นต้น

“สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ KATALYST” คือโครงการที่ว่าด้วยการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัปทั้งให้โอกาสในด้านเงินทุน, การเชื่อมต่อต่อระบบ (Open API), องค์ความรู้ที่สำคัญของธุรกิจต่าง ๆ (กฎหมายและข้อจำกัดของกฎหมายที่มีต่อโปรดักส์ของแต่ละสตาร์ทอัป, สวัสดิการพนักงาน), แชร์ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในโลกของธุรกิจ, เป็นที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ และตัวกลางระหว่างสตาร์ทอัปกับลูกค้า และโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับแต่ละสตาร์ทอัป

สตาร์ทอัปที่ได้เข้าร่วมโครงการ KATALYST จะได้จัดทำแคมเปญกับทางธนาคารที่มีฐานลูกค้ากว่า 14.5 ล้านราย ขยายเงินทุนผ่านบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บริษัทเงินร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย) และมีโอกาสขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศผ่าน โอกาสในการหาโซลูชั่นด้านการชำระเงินร่วมกัน รวมถึงการได้ทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากทางธนาคาร และกสิกรไทย บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เช่น โซลูชั่น FastPay ระบบส่งยอดค้างจ่ายในระบบ FlowAccount ไปยังแอปพลิเคชัน K PLUS SME ของธนาคาร เพื่อชำระยอดค้างจ่ายที่ทำให้การจ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย รวมถึงโอกาสในการเดินทางไปศึกษาดูงานกับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้พร้อมขยายฐานธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ การรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก Baker McKenzie และร่วมพบปะผู้บริหารจากธนาคารและบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจของสตาร์ทอัป

และทางกสิกรไทย ก็ยังได้นำสตาร์ทอัปทั้ง 4 ที่อยู่ในโครงการ KATALYST มาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้ได้รับทราบกัน โดยเจ้าแรก คือ Shippop บริการส่งของและจองขนส่งพัสดุออนไลน์ที่ได้เผยว่าทาง KBank เข้ามาเสริมโมเดลธุรกิจ ความรู้ด้านการตลาด และเป็นที่ปรึกษาในทีมให้คำแนะนำว่าควรแก้ไขอย่างไร และยังมีการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องของภาษี

ในขณะที่สตาร์ทอัปเจ้าถัดมาอย่าง FlowAccount ที่ว่าด้วยโปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ได้เข้าร่วมโครงการ KATALYST เป็นเวลากว่า 2 ปีนั้น ก็ได้แชร์ความรู้ที่มีว่า KBank ได้มีการแชร์ความรู้ด้านต่าง ๆ พร้อมยังให้ Open API และ Sandbox (พื้นที่ทดลองอย่างอิสระ) ในการลองผิดลองถูกอย่างเต็มที่

BUILK ONE GROUP สตาร์ทอัปที่ได้เข้าร่วมโครงการ KBank มาแล้วกว่า 5 ปี ก็ได้เผยว่า KฺBank ช่วยเหลือในเรื่องของโมเดลธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาเห็นได้ชัดเจนจากโครงการ KATALYST เลย คือความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารกันที่ทันรูปแบบองค์กรสตาร์ทอัป

Horganice สตาร์ทอัปที่ว่าด้วยแอปบริหารงาน หอพัก อพาร์ทเม้นท์ ฯลฯ ก็ได้กล่าวว่าเงินทุนกับคู่ค้า คือสิ่งที่ KBank มอบให้กับพวกเขาทั้งการนำผู้ใหญ่มาพูดคุยกับโปรดักส์ของเรา, บริษัทของเรามีความต้องการให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายเข้าสู่ดิจิทัลได้ และ KBank ก็ตอบโจทย์พวกเราได้อย่างดีเยี่ยม ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลายทาง ทั้งเปิดงานสัมมนาให้ บรีฟความรู้ ฯลฯ

ปัจจุบัน KBank ได้ทำการลงทุนไปแล้วทั้งหมด 7 บริษัท ได้แก่ FlowAccount, Ookbee, Eventpop, Grab, InstaReM, Jitta และ Horganice และคาดว่าจะมีโอกาสได้ลงทุนในสตาร์ทอัปจากโครงการ KATALYST ปีละ 2-3 ราย

สำหรับสตาร์ทอัปเจ้าไหนที่สนใจต้องการจะเข้าร่วมโครงการ KATALYST ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการติดต่อเข้ามาที่เว็บไซต์ https://katalyst.kasikornbank.com คลิก Let’s Meet และแนะนำโปรดักส์ของตัวเองให้กับทาง KBank ได้รู้จัก และจากนั้นทีมงานจะติดต่อกลับไปหา