เป็นกระแสร้อนแรงมากกับกรณี “การเรียน Coding ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์” ของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้กล่าวไว้ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในโลกออนไลน์มากมาย และหลายคนก็ดูยังไม่เข้าใจคำว่า Coding เท่าไรนัก วันนี้ #beartai จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับ Coding เอง

Coding คืออะไร?

Coding คือการเขียนคำสั่ง เพื่อสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการ โดยคำสั่งมักเรียกทับศัพท์กันว่า โค้ด (Code) โดยภาษาที่เขียนคำสั่งนั้นเรียกว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีหลากหลายภาษา เช่น C++ , Java , PHP , Python คล้ายกับภาษาของมนุษย์ที่มีหลากหลายภาษาเช่นกัน

ทำไมต้องเรียน Coding?

ถ้าคุณลองหันซ้ายหันขวาแล้วไม่เจอเทคโนโลยีอะไรเลย นั่นก็แปลว่า คุณไม่จำเป็นต้องเรียน Coding แต่ถ้าคุณกำลังอ่านบทความนี้ผ่านสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ขับรถยนต์โดยใช้ระบบนำทาง กดโอนเงินจากตู้ ATM  รับบัตรคิวจากตู้ที่หน้าร้านอาหาร หรือแม้แต่ทานอาหารตามสั่งสักจาน คุณก็อาจจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ Coding แล้วก็เป็นได้

เพราะเทคโนโลยีได้เข้าไปแทรกซึมเกือบทุกวงการแล้ว ทั้ง Food Tech , Medic Tech , Sport Tech ฯลฯ แต่ก็เป็นไปในทางที่ดีนะ เพราะเทคโนโลยีช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้พัฒนามากขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ต้นทุนน้อยลง เรียกได้ว่าอยู่ทุกวงการขนาดนี้ ก็จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากที่มีทักษะการ Coding ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อยและไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

การใช้โดรนในภาคการเกษตร / Pixabay

วิดีโอนี้คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของ Steve Jobs เมื่อปี 1995 หรือกว่า 24 ปีมาแล้ว โดยเขากล่าวว่า “ทุก ๆ คนในประเทศนี้ ควรเรียนรู้ที่จะสั่งการคอมพิวเตอร์ เรียนภาษาคอมพิวเตอร์ เพราะว่ามันจะสอนให้คุณคิดเป็น”

Play video

มุมมองนี้ของ Steve Jobs น่าสนใจมาก เพราะเขามองเห็นความสำคัญของ Coding ตั้งแต่เมื่อ 24 ปีก่อน ก่อนที่จะมีสมาร์ตโฟนเสียด้วยซ้ำ ซึ่งคำกล่าวของเขาสอดคล้องกับงานที่ต้องการทักษะ Coding ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีในสหรัฐอเมริกา แค่เฉพาะปี 2017-2018 มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ Coding เพิ่มขึ้นกว่า 33% โดยในปี 2017 มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ Coding 1,600,000 ตำแหน่ง และในปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 2,200,000 ตำแหน่ง

ผลสำรวจความต้องการจ้างงานตำแหน่งด้านไอทีที่มีทักษะ Coding / Burning Glass Labor Insights

จากตัวเลขดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า คนที่มีทักษะ Coding จะมีโอกาสได้งานมากกว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่มีทักษะนี้ ประกอบกับเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง จึงเป็นการการรันตีความมั่นคงในอาชีพโปรแกรมเมอร์ได้ในระดับหนึ่ง

ญี่ปุ่นเปิดวิชาเขียนโปรแกรมให้เด็ก ป.5

ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 เป็นต้นไป นักเรียนระดับประถมศึกษาของญี่ปุ่น (เริ่มที่ชั้น ป.5) จะมีวิชาบังคับใหม่คือ วิชาการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น (Computer programming) ซึ่งหนังสือเรียนของวิชาดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว

โดยเนื้อหาของวิชาการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นประกอบไปด้วย การสอนให้นักเรียนวาดรูปทรงเหลี่ยมต่าง ๆ ด้วยระบบดิจิทัล หรือเขียนคำสั่งง่าย ๆ ให้หลอดไฟ LED กระพริบ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการบรรจุให้วิชาการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นเป็นวิชาบังคับของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษานั้น มีที่มาจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยเมื่อปี 2016 มีการคาดการณ์ว่า หากการเติบโตของตลาดไอทียังเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ ในปี 2020 ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานด้านไอทีกว่า 290,000 ตำแหน่ง และภายในปี 2030 จะขาดแคลนเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 ตำแหน่ง การบรรจุให้วิชาการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นเป็นวิชาบังคับของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจึงเกิดขึ้น เพื่อเร่งสร้างบุคลากรด้านไอทีที่มีทักษะ Coding

Coding กับแรงงานไทย

ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น ที่มีปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานไอที แต่นี่เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยเองก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน โดย JobThai ได้เปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2562 ตำแหน่งงานด้านคอมพิวเตอร์และไอที เป็น 1 ใน 3 ประเภทงานที่มีความต้องการแรงงานเติบโตมากที่สุด

ผลสำรวจจาก JobThai

สอดคล้องกับผลสำรวจจาก เอ็กซ์พีริส (ประเทศไทย) ที่พบว่า ตำแหน่งงานด้าน Programmer & Developer เป็นที่ต้องการมากที่สุดในสายงานด้านไอที ซึ่งเกิดจากความต้องการขององค์กรที่กำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ทั้งการวางระบบต่าง ๆ พัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน สายนี้จึงกลายเป็นแรงงานที่สำคัญ ส่งผลให้มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 25,000-135,000 บาทต่อเดือน จัดว่าเป็นตำแหน่งงานที่มีรายได้ดีทีเดียว

ซึ่งเหตุผลที่ตำแหน่งด้านโปรแกรมเมอร์มีรายได้สูงขนาดนี้ก็มาจากการที่ตำแหน่งงานนี้ขาดแคลนนั่นเอง การเร่งเพิ่มแรงงานด้านไอที หรือถ้าให้ดีก็คือแรงงานที่มีทักษะการ Coding จัดเป็นเรื่องเร่งด่วนของการศึกษาไทย เนื่องจากการจะปั้นคนไอทีสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เริ่มวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะช้าเกินไปแล้ว

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส