ธุรกิจสื่อ เป็นธุรกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมานะครับ จึงทำให้หลายคนก็อยากรู้ว่าบริษัทสื่อรายใหญ่อย่าง “ช่อง 3” กำลังจะทำอะไรในปีนี้ ซึ่งทีมงานแบไต๋ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) หลังจากร่วมทีมบริหารช่อง 3 มานาน 9 เดือน ในประเด็นทิศทางช่อง 3 ของปี 2020 ในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง ว่าปีนี้ช่อง 3 มีแผนอย่างไรบ้าง ซึ่งจุดที่เราคิดว่าน่าสนใจคือการสร้างข้อมูลที่เจาะตรงถึงลูกค้าของช่อง 3 ซึ่งถ้าทำสำเร็จ คุณอริยะบอกว่าน่าจะทำให้ลดการพึ่งพาระบบเรตติ้งทีวีได้!

จุดเริ่มต้นของความเสี่ยงในอุตสาหกรรมสื่อ

คุณอริยะสรุปภาพเหตุการณ์ Disrupt สื่อโทรทัศน์ให้ฟังสั้น ๆ ว่าเกิดจากการ Disrupt ธุรกิจ 2 ครั้งในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน

การเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

การเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

  • ลูกแรก ปี 2014 ประเทศไทยเริ่มยุคช่องทีวีดิจิทัล เพิ่มช่องโทรทัศน์จาก 6 ช่อง กลายเป็น 20 ช่อง ที่ผู้เล่นในวงการทีวีมากขึ้น แต่เงินโฆษณาไม่ได้เติบโตตาม
  • ลูกต่อมา หลังจากนั้น จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยดีดขึ้นเท่าตัวในเวลาแค่ 4 ปี และผู้ใช้ทั้งประเทศไทยกำลังจะมีอินเทอร์เน็ตใช้

ซึ่งตอนนี้ในไทยมี 3 แพลตฟอร์มหลักคือ

  • Google โดยไทยมีผู้ชม Youtube สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
  • Facebook ซึ่งไทยมีจำนวนผู้ใช้เป็นอันดับ 8 ของโลก
  • LINE อันนี้ผู้ใช้ในไทยเยอะเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น

ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยคือประเทศผู้ใช้แพลตฟอร์มดิจิตอลเยอะติดระดับโลก ซึ่งตอนนี้ทุกคนกำลังแย่งเวลาของผู้บริโภค และแย่งเวลาการชมทีวีไปด้วย คุณอริยะเลยไม่ได้มองแต่ธุรกิจทีวีที่เป็นคู่แข่ง แต่ทุกอย่างที่แย่งเวลาผู้บริโภคก็เป็นคู่แข่งด้วย

เทคโนโลยีช่วยเพิ่มเวลาให้ผู้บริโภคดูได้มากขึ้นไม่ได้ เลยต้องแย่งกัน

ปี 2019 ที่ผ่านมา ช่อง 3 ทำอะไรได้ดีบ้าง

คุณอริยะขอเริ่มต้นจากเนื้อหาข่าวก่อน เพราะรายการข่าวสามารถปรับได้เร็ว ไม่ต้องรอผลิตเหมือนละคร ซึ่งทิศทางของช่อง 3 คือปรับเนื้อหาข่าวให้เป็นที่พึ่งของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นเน้นให้เป็นข่าวจริง เพราะจุดเด่นของช่องทีวีที่ต่างจากโซเซียลคือความน่าเชื่อถือ ซึ่งรายการของหนุ่ม กรรชัย, รายการคลินิกหมอความ, รายการจับข่าวลวง ก็สื่อสารด้านนี้และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ดี

การส่งเนื้อหาไปต่างประเทศของช่อง 3

การส่งเนื้อหาไปต่างประเทศของช่อง 3

นอกจากนี้ปี 2019 ช่อง 3 ยังบุกตลาดต่างประเทศโดยเน้นเจาะ ประเทศจีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย (หรือเจาะที่จีนและกลุ่มประเทศอินโดจีน) ซึ่งช่อง 3 ก็มีการแถลงข่าวร่วมมือกับ Tencent (WeTV) การนำเนื้อหาไปฉายในจีน แน่นอนว่าช่อง 3 ต้องการรายได้จากการขายเนื้อหาไปต่างประเทศ และเป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศด้วย

และในเดือนธันวาคม 2019 รายการของช่อง 3 ก็เข้าชิง Asian Academy Creative Awards 9 รางวัล แม้ปีนี้จะยังไม่ได้ แต่ก็ถือเป็นก้าวที่ภูมิใจ

ผลตอบรับจากการนำเนื้อหาไปลงแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่าง Netflix นั้นดีมาก ได้เจาะกลุ่มคนใหม่ ๆ ที่เดิมเข้าไม่ถึง

วิสัยทัศน์ใหม่ในปี 2020 ของ BEC

“ผู้นำทางด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย” (Thailand Leading content and entertainment platform)

วิสัยทัศน์ใหม่ของ BEC หรือช่อง 3 นั้นบอกอะไรเรา คุณอริยะชี้ชัด ๆ ว่า เรามองธุรกิจทีวีเป็นธุรกิจหลักอย่างเดียว แต่เป็นธุรกิจหลักของช่อง 3 คือ “เนื้อหา” ซึ่งออกมาเป็น “พันธกิจ 2023” ที่เขียนภาพรวมว่าภายใน 4 ปีจะ…

“ปรับเปลี่ยน BEC World ให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวและมีความคิดไปข้างหน้า โดยยกระดับดีเอ็นเอความคิดสร้างสรรค์ของช่อง 3 เพื่อส่งมอบความสดใหม่ด้วยคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับผู้ชมในปัจจุบันและใช้เทตโนโลยีกับการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพ ผ่านทุกช่องทางหน้าจอ ทั้งไทยและต่างประเทศ”

ปี 2020 ช่อง 3 จะทำอะไรบ้าง

ก้าวต่อไป 6 ข้อของช่อง 3

ก้าวต่อไป 6 ข้อของช่อง 3

ประเด็นหลักในการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือแผน 6 ด้านที่ช่อง 3 จะเน้นในปี 2020 นี้ครับ ซึ่งคุณอริยะเชื่อว่าช่อง 3 จะกลับมามีกำไรจากแผนทั้ง 6 ข้อนี้

  1. New Media หรือสื่อใหม่ที่จะเน้นไปที่ D2C (Direct to consumer) หรือเจาะเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น เพราะปัญหาของแบรนด์ยุคก่อนคือไม่ได้มีข้อมูลของลูกค้าตัวเอง ข้อมูลก็อยู่ที่ตัวกลางเช่นค้าปลีก หรือในยุคออนไลน์เอง ข้อมูลลูกค้าก็ไปอยู่กับหน้าร้านออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้ช่อง 3 เริ่มแผน D2C กับ 7-11 เพื่อให้ผู้ชมสามารถสแกน QR ระหว่างชมรายการแล้วไปรับส่วนลดที่ 7-11 ซึ่งในอนาคตก็จะมีรูปแบบ D2C นี้ที่ช่อง 3 จะร่วมกับอีกหลาย ๆ บริษัท ซึ่งทำทั้งผ่านทีวีและออนไลน์
  2. Go Inter เน้นขยายเนื้อหาไปที่จีนและภูมิภาคอินโดจีน โดยตั้งเป้าปี 2020 เติบโต 2 เท่า
  3. Digital ช่อง 3 กำลังยุบแอปช่อง 3 เดิมอย่าง Ch3 หรือ Mello ให้รวมเป็นแอปเดียวกันคือแอป 3+ ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อความเป็นช่อง 3 ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่าง LINE TV, Youtube เพราะผู้บริโภคอยู่ไหน เนื้อหาก็ต้องตามไปรองรับ ซึ่งตัวแอป 3+ จะเปิดตัวสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ และอนาคตอาจมีรูปแบบการสมัครสมาชิก แต่ยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้
  4. New Content คุณอริยะเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนช่วงพีคของช่อง 3 คือเวลาไพรม์ไทม์ช่วง 2 ทุ่ม แต่ตอนนี้ 18.00 – 22.00 น. โดยเป็นช่วงที่คนเลิกงานกลับบ้าน และช่วงพีคสุดคือ 19.00 – 20.00 น. ซึ่งช่วงเวลานี้ช่อง 3 จะวางเนื้อหาใหม่ๆ ให้เหมาะสมคือ
    1. 18.00 – 19.00 น. ช่วงที่คนกำลังกลับบ้าน ช่อง 3 จะเปิดตัวรายการใหม่เข้ามา เน้นกลุ่มครอบครัว
    2. 19.00 – 20.00 น. ช่วงเวลากินข้าวของครอบครัว ทั้งคนตามหัวเมืองและคนต่างจังหวัด เนื้อหาก็ต้องเป็นกลุ่ม mass ซึ่งปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นละครที่ไปได้สวยในช่วงนี้
    3. ช่วงเวลา 20.20 น. เป็นต้นไป เป็นช่วงของกลุ่มคนในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งตอนนี้เนื้อหาของช่อง 3 คือละคร ที่ปรับการเล่าเรื่องให้กระชับ และสนุก เช่นละคร “ซ่อนเงารัก” ที่ผู้ชมบอกว่าไม่กล้าเข้าห้องน้ำ เพราะออกมาแล้วจะไม่รู้เรื่องแล้ว เรื่องมันไปเร็ว ซึ่งเป็นผลตอบรับที่ดี
  5. Artist เพราะจุดเด่นของช่อง 3 คือมีศิลปินกว่า 200 คน แต่คนก็ไม่ได้อยากรอดูแค่ในละคร ทำให้ช่อง 3 สร้างรายการใหม่ ๆ เพื่อดีงศิลปินเข้ามาใช้อย่าง The Brother ซึ่งช่อง 3 ก็จะดึงความสามารถอื่น ๆ ของดาราออกมาใช้ และจะพยายามผลักดันไปที่จีนด้วย
  6. Data จากแผน D2C ช่อง 3 จะมีข้อมูลมากขึ้น และจะเพิ่มการเข้าถึงสินค้าจากหน้าจอต่าง ๆ เช่นสั่งได้ผ่านแอป หรือสแกน QR จากจอทีวี ซึ่งอนาคตช่อง 3 อาจสร้างระบบโกดังและจัดส่งของตัวเองด้วย
แผน D2C ของช่อง 3

แผน D2C ของช่อง 3

การเริ่มต้น D2C ทำให้ช่องทีวีผูกชะตากับระบบเรตติ้งน้อยลง เพราะลูกค้าดูผลที่เกิดจริงมากขึ้น

มองช่อง 3 ให้ไกลกว่าปี 2020

อนาคตอีก 4 ปีของช่อง 3

อนาคตอีก 4 ปีของช่อง 3

คุณอริยะเล่าว่า ตอนนี้รายได้ 83% ของช่อง 3 มาจากหน้าจอทีวีที่ขายนาทีโฆษณาอยู่ และอีก 17% มาจากธุรกิจอื่น ๆ เช่นสื่อดิจิทัล, ต่างประเทศ, Home shopping, OTT หรือสื่อสตรีมมิงต่าง ๆ แต่ภายใน 4 ปีนี้ คือในปี 2023 ทีมบริหารของช่อง 3 ตั้งใจจะทำให้รายได้จากจอทีวีเหลือ 65% และดันรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ให้โตขึ้นเป็น 35% ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะแนวโน้มตอนนี้ธุรกิจ TV กำลังหดตัว จึงต้องสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะสร้างรายได้ให้ BEC อย่างยั่งยืน และตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี

มองว่าอุตสาหกรรมสื่อมีความเสี่ยง จึงต้องกระจายความเสี่ยง และยังอยากให้วัฒนธรรมองค์กรของช่อง 3 เร็วกว่านี้ ปรับตัวไวกว่านี้อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน)

คนไทยไม่ดูทีวีกันแล้วจริงหรือ?

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน)

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน)

หนึ่งในคำถามที่ทีมงานแบไต๋ถามคุณอริยะคือ “เราได้ยินเยอะว่าคนไม่เปิดทีวีดูแล้ว แต่ข้อมูลจริง ๆ จากช่อง 3 คนยังดูทีวีอยู่เยอะไหน?” ซึ่งคุณอริยะให้คำตอบมาว่า

ถ้าเทียบกับสมัยก่อนคือคนดูทีวีลดลงอยู่แล้ว แต่ตอนนี้จะขอแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  1. กลุ่มผู้ใหญ่ 35-40 ขึ้นไป กลุ่มนี้คือโตมากับทีวี และยังเป็นคอทีวีอยู่
  2. กลุ่มอายุ 30-35 ปี กลุ่มนี้ยังก่ำกึ่ง ระหว่างดูออนไลน์และทีวี
  3. เด็กที่ต่ำกว่านี้ คือดูทีวีน้อย และอยู่บนออนไลน์เป็นหลักเลย

ซึ่งแอป 3+ ที่กำลังจะออกก็หวังว่าจะดูดดึงคนในกลุ่มที่ 2 และ 3 ด้วย โดยเราไม่ได้มองว่าตัวแอปเป็นช่องทางดิจิทัลอย่างเดียว (คือดูเนื้อหาของช่อง 3 ในแอปนี้ได้) แต่มองให้เป็นตัวเชื่อมต่อกับจอทีวีด้วย ซึ่งจะทำให้ดูทีวีและออนไลน์ไปด้วยกัน

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน)

แต่คุณอริยะก็ยังเชื่อว่าจอทีวีไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ต้องมองให้ทะลุว่าจอทีวีจะไปในทิศทางไหน ซึ่งตอนนี้ก็พอมีภาพของการชมทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตจากสมาร์ตทีวี หรือกล่องอย่าง Apple TV แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วอนาคตจะเป็นแบบไหน แต่เราก็คอยไม่ได้ ต้องไปให้ทัน และต้องล้างความคิดว่าจะไม่เกิด ไม่เป็นแบบนั้นหรอก เพราะจะทำให้ไม่เตรียมตัว

ละคร เน้นความกระชับ เพราะคนอดทนน้อยลง สมาธิสั้นลง ต้องทำให้อยากดูต่อ และมีเนื้อหาที่เรียลขึ้น เข้าใกล้ชีวิตจริงมากขึ้น

การปิดทีวีแอนะล็อก กระทบช่อง 3 ไหม?

คุณอริยะตอบในประเด็นนี้ว่า การปิดทีวีแอนะล็อกในวันที่ 25 มีนาคมเวลา 24.00 น. นี้ ส่งผลกระทบไม่มากกับช่อง 3 คือในเชิงเศรษฐกิจก็ทำให้ช่อง 3 ลดต้นทุนที่ต้องจัดการได้นิดหน่อย แต่ไม่ได้มากเท่าการปิด 2 ช่องดิจิทัลก่อนหน้านี้ เพียงแต่พนักงานเทคนิคที่เกี่ยวกับระบบแอนะล็อก หรือการดูแลเสาสัญญาณอาจจะถูกปลดบ้าง

ส่วนพื้นที่ของช่อง 3 ที่หนองแขม ซึ่งต้องคืนให้กับ อสมท. ตามสัญญาสัมปทาน ก็เป็นเรื่องที่กำลังพูดคุยกันอยู่ว่าจะเช่าต่อ หรือใช้ใช้สถานที่อื่น ยังไม่มีคำตอบตอนนี้ครับ

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส