แม้จะยังอยู่ในยุคโควิด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าห้วงเวลานี้ก็ถือเป็นยุคทองของเทคโนโลยีและการเรียนรู้เช่นเดียวกัน ความสำเร็จในการนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศโดย SpaceX บริษัทภาคเอกชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เกิดความตื่นตัวไปทั่ว อีกไม่ช้า เรื่องราวดาราศาสตร์และอวกาศจะใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ 

เพื่อเข้าสู่ยุคอวกาศอย่างเท่าทันไปด้วยกัน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) สถาบันเพื่อการวิจัยดาราศาสตร์หนึ่งเดียวของไทย แนะนำคอร์สดาราศาสตร์ออนไลน์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกไว้ถึง 57 คอร์สด้วยกัน แต่เพื่อผู้เริ่มต้นและผู้เริ่มสนใจ เราจึงคัดสรรเฉพาะ 28 คอร์สเรียนดาราศาสตร์ออนไลน์ฟรีที่ผู้ไม่มีพื้นฐานก็สามารถเรียนได้มาแนะนำ โดยคลาสเรียนเหล่านี้ จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

คอร์สเรียนดาราศาสตร์ออนไลน์ฟรีทั้ง 28 คอร์ส แบ่งออกเป็นคอร์สจากเว็บไซต์ OpenLearn FutureLearn EdX และ Coursera โดยเราได้ไล่เรียงตามความเข้มข้นยากง่ายของเนื้อหา ในบทความนี้จะนำเสนอเบื้องต้นก่อน 16 คอร์สแรก และมีภาคต่อเป็นคอร์สที่มีเนื้อหาลึกขึ้นอีก 12 คอร์ส (สำหรับภาคหลัง ไม่ต้องมีพื้นฐานก็เรียนได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องมีความรู้ฟิสิกส์ระดับมัธยมปลายมาบ้าง) 

บางคอร์สเป็นคอร์สเรียนฟรีเท่านั้นไม่มีประกาศนียบัตร  บางคอร์สก็มีใบรับรองให้หากบริจาคหรือลงเรียนแบบเสียค่าใช้จ่ายตามที่กำหนด สำหรับเงื่อนไขของผู้เรียน สนใจแบบไหนลองอ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วนก่อนลงเรียนกันนะครับ

สนใจคอร์สไหน กดที่ชื่อคอร์สได้เลย เราลงลิงก์ไว้ให้แล้ว

7 คอร์สดาราศาสตร์ขั้นต้นจาก OpenLearn

Open Learn เป็นเว็บไซต์เพื่อการศึกษาฟรี เปิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 โดยมหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร (The Open University : OU) มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรในระดับปริญญาตรี โดยเน้นที่การเรียนการสอนทางไกล และปัจจุบันมีนักศึกษามากกว่า 150,000 คน มีรายวิชาที่เปิดสอนหลากหลายทั้งสังคม วิทยาศาสตร์ ภาษา และศิลปะ

สำหรับวิชาดาราศาสตร์ อยู่ในหมวดวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-เทคโนโลยี มีคอร์สน่าสนใจดังนี้

1. กาแล็กซี ดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ (Galaxies, stars and planets)

เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะคอร์สนี้ให้องค์ความรู้ดาราศาสตร์เบื้องต้นอย่างจัดเต็ม ทั้งวัตถุทางดาราศาสตร์ในเอกภพตั้งแต่ในระดับขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ การโคจรและความโน้มถ่วง ระบบสุริยะ ดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ กาแล็กซีและองค์ประกอบของวัตถุทางดาราศาสตร์ ปูทางให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในอวกาศในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี

2. ดวงอาทิตย์ (The Sun)

ดวงอาทิตย์มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา โดยเฉพาะการเป็นตัวกำหนดวัน แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับดวงอาทิตย์อีกมาก แล้วเราล่ะรู้ลึกแค่ไหนกัน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากศึกษาเกี่ยวกับดาวฤกษ์ดวงนี้ในประเด็นต่าง ๆ อย่างโครงสร้างภายใน และกระบวนการต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์ เช่น จุดบนดวงอาทิตย์ เพิ่มเติม คอร์สนี้ก็เหมาะกับคุณสุด ๆ

3. ดวงจันทร์ของโลก (The Moon)

เหล่าสาวกตัวแทนแห่งดวงจันทร์มากันทางนี้ (ใช่หรอ?) เพราะคอร์สนี้เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ชื่นชอบและสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับดวงจันทร์ โดยเฉพาะดวงจันทร์ของโลกของเรา

ดวงจันทร์ถือเป็นเพื่อนบ้านในอวกาศที่ใกล้โลกที่สุด ทั้งยังปรากฏโดดเด่นบนท้องฟ้า จึงมีเสน่ห์ดึงดูดให้มนุษย์หลงใหลมาตั้งแต่อดีต ในคอร์สนี้ ผู้เรียนจะได้ศึกษาหลากแง่มุมเกี่ยวกับดวงจันทร์ ทั้งภารกิจเดินทางสู่ดวงจันทร์ องค์ประกอบของดวงจันทร์ การเกิดหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ และการประทุหรือเอ่อขึ้นมาของลาวาในอดีตจนกลายเป็นพื้นที่ต่ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ เป็นต้น

4. วัตถุน้ำแข็ง : ดวงจันทร์ยูโรปาและที่อื่น ๆ (Icy bodies: Europa and elsewhere)

สาขาใหม่ทางดาราศาสตร์อย่างชีวดาราศาสตร์ เป็นสาขาที่ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสาขาวิชาที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แต่ยังดึงดูดความสนใจและจินตนาการของผู้คนด้วย 

ในคอร์สนี้ ผู้เรียนจะได้ศึกษาวัตถุที่น่าสนใจในทางชีวดาราศาสตร์ ประกอบด้วยดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี และวัตถุน้ำแข็งอื่น ๆ ในระบบสุริยะ ในประเด็นที่น่าสนใจต่าง ๆ เช่น ดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวเคราะห์ชั้นนอกที่อาจมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต หรือหลักจริยศาสตร์ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตตามพื้นที่อื่นในระบบสุริยะ (เช่น ความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนทางชีวภาพบนดาวดวงอื่นจากยานที่ส่งจากโลก) เป็นต้น

5. ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเบื้องต้น (An introduction to exoplanets)

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา นับเป็นสาขาทางดาราศาสตร์ที่มีการค้นพบใหม่ ๆ จำนวนมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 เรื่องราวที่น่าสนใจมีทั้งจำนวนและลักษณะประชากรของดาวเคราะห์เหล่านี้ในกาแล็กซีทางช้างเผือก วิธีการที่นักดาราศาสตร์ใช้ตรวจหาและศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หากใครอยากรู้เรื่องที่ก้าวไกลไปกว่าระบบสุริยะของเราไม่ควรพลาดคอร์สนี้ครับ

6. ดาราศาสตร์กับกล้องโทรทรรศน์ออนไลน์ (Astronomy with an online telescope)

ในคอร์สนี้ ผู้เรียนจะได้ศึกษาวัตถุทางดาราศาสตร์หลากหลายประเภทบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ผ่านการศึกษาในภาคปฏิบัติ ได้สังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมทางไกลบนเกาะเตเนริเฟ ของมหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งเพิ่มพูนความรู้เรื่องวิวัฒนาการของดาวฤกษ์และดาวแปรแสงควบคู่ไปด้วย ใครอยากเรียนไปด้วยส่องดาวผ่านกล้องไปด้วย ตามไปเรียนกันด่วน ๆ เลยครับ 

7. สภาวะความโน้มถ่วงต่ำ : การอยู่อาศัยในสถานีอวกาศนานาชาติ (Microgravity: living on the International Space Station)

เพิ่งเป็นกระแสข่าวไปไม่นานกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ใครอยากรู้จักสถานีอวกาศแห่งนี้เพิ่มเติม มาที่คอร์สนี้เลย 

ประเด็นที่น่าสนใจในคอร์สนี้มีครอบคลุมหลากหลาย พร้อมไขข้อข้องใจในคำถาม อาทิ สถานีอวกาศโคจรรอบโลกได้อย่างไร? เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่เป็นวงกลมหรือไม่? แรงบนสถานีอวกาศเป็นอย่างไร? แรงดังกล่าวจะผลักสถานีอวกาศออกห่างจากโลก หรือดันเข้าหาโลก? จะเกิดอะไรขึ้นกับสถานีอวกาศหากแรงดังกล่าวหายไปอย่างฉับพลัน? จรวดสามารถเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลกได้อย่างไร? การสำรวจอวกาศของมนุษย์มีผลต่อชีวิตประจำวันอย่างไร? 

นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับระบบ GPS การศึกษาทางชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ควอนตัม ดาราศาสตร์ การธนาคารและความมั่นคงบนสถานีอวกาศ ไปจนถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติด้วย

3 คอร์สดาราศาสตร์เสริมความรู้ดาราศาสตร์และการเชื่อมโยง

มาต่อกันที่เว็บ FutureLearn เว็บไซต์นี้เริ่มเปิดตัวในปี พ.ศ. 2555 โดยมหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร (Open University) และบริษัท Seek Limited บางหลักสูตรอาจมีเปิดซ้ำกับเว็บ OpenLearn บ้างเราจึงคัดคอร์สดาราศาสตร์เบื้องต้นที่ไม่ซ้ำและช่วยขยายขอบเขตความรู้ดาราศาสตร์ดังนี้ครับ

1. เหล่าดวงจันทร์บริวาร (Moons)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร

หากคอร์สเรียนรู้เกี่ยวกับดวงจันทร์ของโลกยังไม่จุใจ เราขออัญเชิญให้มาลงเรียนคอร์สนี้ต่อ คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับดวงจันทร์อีกนานาแบบ เพราะระบบสุริยะของเรามีดวงจันทร์บริวารจำนวนมาก มีแค่โลกเท่านั้นที่มีดวงจันทร์เพียงหนึ่ง ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ มีทั้งที่ใหญ่กว่าและเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลก ดวงจันทร์บางดวงมีภูเขาไฟระเบิด บางดวงมีลำธารมีเทนเหลว สภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ที่หลากหลายนี้ ทำให้สันนิษฐานว่า บางดวงอาจเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตแบบดึกดำบรรพ์

นอกจากความหลากหลายของบรรดาดวงจันทร์ คอร์สนี้เราจะได้เรียนรู้ถึงกระบวนการต่าง ๆ บนดวงจันทร์เหล่านี้ และความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ของเราเองด้วย

2. ท้องฟ้ายามค่ำคืน : กลุ่มดาวนายพราน (In the Night Sky: Orion)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเปิดแห่งสหราชอาณาจักร

คอร์สนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ผ่านเนื้อหาดาราศาสตร์เบื้องต้นไปจนถึงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการกำเนิดดาวฤกษ์ โดยเริ่มจากเนบิวลานายพราน ซึ่งเป็นบริเวณก่อตัวของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์เกิดใหม่ ดาวฤกษ์สว่าง 7 ดวงที่เกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มดาวนายพราน รวมถึงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังสนใจในฐานะพื้นที่ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตแห่งอื่นนอกระบบสุริยะ และกาแล็กซีทางช้างเผือก ช่วยให้เราตระหนักว่า ระบบสุริยะของเราเป็นเพียงจุดเล็กจุดหนึ่งในเอกภพอันกว้างใหญ่นี้เท่านั้น

3. เคมีบรรยากาศ : ดาวเคราะห์และสิ่งมีชีวิตนอกโลก (Atmospheric Chemistry: Planets and Life Beyond Earth)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร

บรรยากาศคืออะไร ? ก่อตัวได้อย่างไร ?

คอร์สนี้จะช่วยให้เราเข้าใจบรรยากาศของดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารในระบบสุริยะของเรา รวมถึงบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ รวมถึงเรียนรู้ว่า นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลที่ได้จากยานสำรวจมาศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์ได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังเรียนรู้บรรยากาศในแง่มุมเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต  เชื่อมโยงถึงความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก และการตรวจหาดาวเคราะห์ที่มีสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับเคมีบรรยากาศที่ปรากฏบนสื่อด้วย

ขยับความยากกับ 6 คอร์สดาราศาสตร์ในภาพที่ใหญ่ขึ้น

มาดูคอร์สดาราศาสตร์จากเว็บไซต์ EdX กันบ้าง เว็บนี้เปิดขึ้นเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ของสหรัฐฯ เมื่อปีพ.ศ. 2555 โดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เน้นสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษา และมีวิชาดาราศาสตร์เปิดสอนฟรีจำนวนมาก จากหลากหลายมหาวิทยาลัยทั้งในสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย ซึ่งที่เราคัดสรรมานี้เป็นคอร์สที่ยังมีเปิดสอนอยู่ในช่วงนี้ แต่หากหลังช่วงนี้ไปให้ลองตามเช็กกันดูอีกทีนะครับ

1. สถานที่ของพวกเราในจักรวาล (Our Place in the Universe)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยฮ่องกง

ตั้งแต่ 5,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราเฝ้าติดตามรูปแบบและการเคลื่อนที่ต่าง ๆ ของวัตถุท้องฟ้า จนเกิดการตีความในเชิงศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ จนสามารถเข้าใจถึงปรากฏการณ์ รูปร่าง และโครงสร้างต่าง ๆ ในเอกภพ เมื่อเวลาผ่านไป นักดาราศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยได้เสนอและปรับปรุงทฤษฎีรวมทั้งแบบจำลองสำคัญทางดาราศาสตร์ จนกลายเป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ในปัจจุบัน

เพื่อทำความเข้าใจองค์ความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์โบราณอันนำมาสู่รากฐานดาราศาสตร์ในปัจจุบัน คอร์สนี้จึงรวบรวมแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ฤดูกาล ปฏิทิน รูปร่างของโลก การหาขนาดของโลก-ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์ การหาระยะห่างของดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ และแบบจำลองระบบสุริยะ (แบบที่มีโลกเป็นศูนย์กลาง และแบบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง) มาให้เราได้กระจ่างแจ้งกัน

2. ดาวเคราะห์แบบซูเปอร์เอิร์ธกับชีวิต (Super-Earths and Life)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ มนุษย์รู้จักดาวเคราะห์เพียงแต่ในระบบสุริยะของเราเท่านั้น แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแล้วนับพันกว่าดวง ขณะที่นักชีววิทยาก็ทำความเข้าใจประเด็นที่ว่าสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นบนโลกของเราได้อย่างไร ตั้งแต่ช่วงที่เกิดสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวไม่ซับซ้อนจนวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่นปัจจุบัน

เพื่อทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบที่จะทำให้ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งมีชีวิตได้ และศึกษาประเด็นต่าง ๆ อย่างสิ่งมีชีวิตบนโลก ความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตนอกโลก รวมทั้งการตรวจหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก  คอร์สนี้จึงผสานความรู้ดาราศาสตร์ ชีววิทยา และธรณีวิทยา เข้าด้วยกันเป็นการศึกษาด้านชีวดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน 

3. ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ : สำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Astrophysics : Exploring Exoplanets)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะถือว่าเป็นหนึ่งในการปฏิวัติที่สำคัญที่สุดในฟิสิกส์ดาราศาสตร์สมัยใหม่ เมื่อสองทศวรรษก่อน นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบว่าในบรรดาดาวฤกษ์จำนวนมหาศาล จะมีดาวเคราะห์โคจรอยู่โดยรอบหรือไม่ ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวนมากจนเสมือนว่าดาวฤกษ์ต่าง ๆ ที่มีดาวเคราะห์ถือเป็นเรื่องปกติ จึงเกิดการแบ่งดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นประเภทต่าง ๆ มากมาย เช่น ดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่โคจรใกล้ดาวดวงแม่มาก ดาวเคราะห์ที่หนาวเย็นและล่องลอยอยู่ในอวกาศโดยไม่ได้โคจรรอบดาวดวงแม่ ดาวเคราะห์ที่มีองค์ประกอบเป็นเพชร ดาวเคราะห์ที่มีฝนเป็นแก้ว ดาวเคราะห์หินมวลมาก ไปจนถึงดาวเคราะห์ที่โคจรรอบซากดาวฤกษ์

คอร์สนี้จะทำให้ผู้เรียนได้รู้เกี่ยวกับความน่าตื่นตะลึงของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเหล่านั้น ทั้งยังสร้างความเข้าใจว่า การวิจัยดาวเคราะห์เหล่านี้จะทำเราเข้าใจถึงการก่อตัวของระบบสุริยะได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม คอร์สนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ในระดับมัธยมปลายขึ้นไป

4. ปริศนายิ่งใหญ่ที่ยังไม่ถูกไขในเอกภพ (Greatest Unsolved Mysteries of the Universe)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

แม้ว่าการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์จะคืบหน้าไปมากในปัจจุบัน แต่ยังมีหลายสิ่งที่นักดาราศาสตร์ยังไม่เข้าใจ เช่น ทำไมถึงเกิดบิกแบง? องค์ประกอบส่วนใหญ่ของเอกภพคืออะไร? จะมีสิ่งมีชีวิตอื่นในเอกภพหรือไม่? ดาวเคราะห์ก่อตัวได้อย่างไร? หลุมดำส่วนหนึ่งมีขนาดใหญ่ได้อย่างไร? หรือดาวฤกษ์รุ่นแรกของเอกภพไปอยู่ที่ใด?

เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่า ยังมีปริศนาทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์อีกมากที่ยังไม่มีคำตอบ คอร์สนี้จึงมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่นักดาราศาสตร์ทราบและยังไม่ทราบ ณ ปัจจุบัน รวมถึงงานวิจัยในประเด็นนั้น

5. จากอะตอมถึงดวงดาว : ฟิสิกส์ใช้อธิบายโลกของเราได้อย่างไร (From Atoms to Stars: How Physics Explains Our World)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยวิจัยนิวเคลียร์แห่งชาติรัสเซีย สถาบันฟิสิกส์วิศวกรรมศาสตร์มอสโก

เพื่อเข้าใจเอกภพของเราตั้งแต่รากฐาน คอร์สนี้จึงจัดเต็มให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและกระบวนการต่าง ๆ ในเอกภพของเรา จากสเกลที่เล็กมากในระดับควอนตัมและอะตอม ไปจนถึงสเกลใหญ่ระดับดาวฤกษ์และกาแล็กซี รวมถึงกฎและ วิธีการต่าง ๆ ทางฟิสิกส์ แม้จะมีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ไม่มากนักก็สามารถเรียนได้ครับ

6. ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ : จักรวาลวิทยา (Astrophysics : Cosmology)

หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

จักรวาลวิทยาคืออะไร ? 

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับจักรวาลในประเด็นต่าง ๆ เช่น เอกภพมาจากที่ใด? เอกภพจะมีจุดจบอย่างไร? ธรรมชาติของกาลอวกาศคืออะไร? นั่นแหละแสดงว่าคุณกำลังสนใจในจักรวาลวิทยาเข้าซะแล้ว

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบของคำถามเหล่านั้นโดยอาศัยองค์ความรู้และการค้นพบใหม่ ๆ ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แม้จะยังมีหลายคำถามที่ยังเป็นปริศนาอยู่ แต่คอร์สนี้ก็จะตีแผ่ผลการศึกษาและการสังเกตการณ์ล่าสุดทางจักรวาลวิทยา รวมไปถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังจักรวาลวิทยาสมัยใหม่ ค่อย ๆ เผยไต๋ให้คุณเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษาด้านนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้าใจและเข้าถึง ผู้เรียนคอร์สนี้ควรมีความรู้พื้นฐานดาราศาสตร์ระดับมัธยมปลายมาก่อนครับ

เอาละครับ ผ่านพ้นไปแล้วถึง 16 คอร์สบางอันก็ดูง่ายระดับพื้นฐานมาก ๆ บางอันอาจอาศัยความรู้สมัยมัธยมปลายกันบ้าง แต่รับรองว่าไม่ว่าลงคอร์สไหน ความรู้ดาราศาสตร์ของคุณจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งยังช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นด้วย หากใครยังไม่เข้าใจว่า มันจะเชื่อมโยงได้อย่างไร แนะนำว่า ลองลงเรียนคอร์สที่สนใจสักคอร์สดู อย่างน้อย ๆ ก็ใช้ตามข่าวดาราศาสตร์ที่มีเพิ่มขึ้นทุกวันได้มันส์ขึ้นแน่นอนครับ

อ่านต่อตอนที่ 2

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก:

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) และ พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

อ้างอิง:

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส