หลังจากเต็มอิ่มไปกับคอร์สดาราศาสตร์ออนไลน์ถึง 16 คอร์สในบทความภาคแรก ก็ถึงคราวขยับเนื้อหาดาราศาสตร์ให้ยากขึ้นเชื่อมโยงไปยังศาสตร์และองค์ความรู้อื่น ๆ กันบ้าง ใครที่พอมีพื้นฐานบ้างแล้ว และรู้สึกว่าคอร์สก่อนหน้าง่ายเกินไป มาลองดูรายละเอียดของ 12 คอร์สที่เหลือในครั้งนี้ จากเว็บไซต์ Coursera กันบ้างครับ 

Coursera เป็นเว็บไซต์เรียนออนไลน์ของสหรัฐฯ ริเริ่มโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในปี พ.ศ. 2555 และได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันครับ

1. ดาราศาสตร์: การสำรวจเวลาและอวกาศ (ASTRONOMY: Exploring Time and Space)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐฯ

คอร์สนี้ออกแบบมาให้ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ได้สามารถเรียนได้ เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับดาราศาสตร์พื้นฐาน ดาราศาสตร์สมัยใหม่ เรียนรู้เกี่ยวกับการค้นหาและพบทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน 

2. เผชิญหน้ากับคำถามสำคัญ ในประเด็นเด่นของดาราศาสตร์สมัยใหม่ (CONFRONTING THE BIG QUESTIONS: Highlights of Modern Astronomy)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ สหรัฐฯ

ใครสนใจ ดาราศาสตร์ในประเด็นทั้ง 4 นี้ – ดาวเคราะห์กับสิ่งมีชีวิตในเอกภพ วัฏจักรชีวิตของดาวฤกษ์ กาแล็กซีและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ประวัติความเป็นมาของเอกภพ คอร์สนี้ก็เหมาะกับคุณครับ

3. เอกภพที่กำลังวิวัฒนาการ (THE EVOLVING UNIVERSE)

หน่วยงาน – สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (Caltech) สหรัฐฯ

ใครอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับเอกภพของเราต้องคอร์สนี้เลยครับ ได้ความรู้ทั้งเรื่องระบบดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กาแล็กซี หลุมดำ ควอซาร์ ไปจนถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ของเอกภพ เรียกได้ว่าเป็นความรู้เกี่ยวกับเอกภพทั้งมวลที่มนุษย์ทราบในตอนนี้

4. เทคโนโลยีดาราศาสตร์: วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเบื้องหลังการค้นพบทางดาราศาสตร์ (ASTROTECH: The Science and Technology behind Astronomical Discovery)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สหราชอาณาจักร

คอร์สนี้ว่าด้วย ‘นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาและค้นพบความรู้ทางดาราศาสตร์ได้อย่างไร ?’

ดาราศาสตร์สมัยใหม่ค้นพบเรื่องราวน่าสนใจมากมายทั้ง ปฏิกิริยานิวเคลียร์ในดาวฤกษ์ การก่อตัวของหลุมดำ กาแล็กซีที่อยู่ไกลนับหลายพันล้านปีแสง การก่อตัวของธาตุต่าง ๆ ในเอกภพ และการขยายตัวของเอกภพด้วยอัตราเร่ง เป็นต้น การจะค้นพบสิ่งเหล่านี้ได้ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกพัฒนาขึ้น และในขณะเดียวกันความก้าวหน้าในวิชาดาราศาสตร์ก็ย้อนกลับมาพัฒนาเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

เพื่อให้ดาราศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกลไปด้วยกัน คอร์สนี้จึงให้องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ควบคู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ในการสังเกตการณ์ ศึกษา ตลอดจนรวบรวมวิเคราะห์ตีความข้อมูลทางดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับนักดาราศาสตร์ในปัจจุบัน 

5. ดาราศาสตร์โบราณคดี (ARCHAEOASTRONOMY)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคมิลาน อิตาลี

เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจทั้งดาราศาสตร์และโบราณคดี สาขาดาราศาสตร์โบราณคดีเป็นสาขาทางวิทยาศาสตร์ “ที่ว่าด้วยดวงดาวและก้อนหิน” โดยอาศัยองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมศาสตร์ โบราณคดี และดาราศาสตร์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานกับท้องฟ้า เพื่อทำความเข้าใจแนวความคิดของสถาปนิก แนวความคิดเชิงศาสนาและเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับจักรวาลและท้องฟ้าในสมัยก่อน 

เนื้อหาที่กล่าวถึงในคอร์สนี้ ได้แก่

– โบราณสถานทางดาราศาสตร์โบราณคดี เช่น สโตนเฮนจ์ในอังกฤษ พีระมิดกีซาและมหาวิหารคาร์นัคในอียิปต์ พีระมิดชิเชนอิตซาบนคาบสมุทรยูกาตันในเม็กซิโก มาชูปิกชูในเปรู และวิหารแพนธีอันในกรุงโรม อิตาลี

– ความสัมพันธ์ของโบราณสถานดังกล่าวกับตำแหน่งวัตถุท้องฟ้าเฉพาะวันในรอบปี เช่น ครีษมายัน-เหมายัน (วันที่กลางวันยาวที่สุดและกลางคืนสั้นที่สุดในซีกโลกเหนือ) วสันตวิษุวัต-ศารทวิษุวัต (วันที่เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน) หรือวันก่อตั้งกรุงโรม

– การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยตาเปล่า

– บทบาทของดาราศาสตร์ต่อศาสนา ความเชื่อ และอิทธิพลต่อการปกครองในวัฒนธรรมโบราณ

6. ดวงอาทิตย์กับสุริยุปราคาเต็มดวง เดือนสิงหาคม ค.ศ.2017 (THE SUN AND THE TOTAL ECLIPSE OF AUGUST 2017)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ สหรัฐฯ

สุริยุปราคาเต็มดวงถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ในช่วงเวลานั้นจะเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น เงาดำที่เกิดจากดวงจันทร์ทำให้เราสามารถสังเกตเห็น บรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้ ทั้งเปลวสุริยะสีชมพู หรือโคโรนาซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดที่กระจายตัวเป็นแฉกหรือมีรูปร่างเหยียดยาว สภาพอากาศที่เย็นลง พฤติกรรมสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

ในเชิงวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์นี้ ศึกษาบรรยากาศของดวงอาทิตย์ รวมถึงการสังเกตการณ์ตำแหน่งดาวฤกษ์ด้านหลังดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไป (ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ มวลมหาศาลของดวงอาทิตย์เบี่ยงทางเดินของแสงจากดาวฉากหลัง ทำให้เราสังเกตเห็นแสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์ได้) 

สุริยุปราคาเต็มดวงในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.2017 นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐฯ ในรอบ 40 ปี แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว แต่คอร์สนี้ยังคงเปิดให้ได้เรียนรู้เรื่องราวของดวงอาทิตย์และสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนั้นอย่างเต็มที่

7. ชีวดาราศาสตร์และการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก (ASTROBIOLOGY AND THE SEARCH FOR EXTRATERRESTRIAL LIFE)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สหราชอาณาจักร

UFO หรือเอเลี่ยน มีจริงไหม? และเราจะค้นหาพวกเขาได้อย่างไร ? 

หากคุณมีคำถามนี้ค้างคาอยู่ในใจจนหงุดหงิด เราขอแนะนำให้ลงเรียนคอร์สนี้เพื่อหาคำตอบดู คอร์สนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับการกำเนิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต รวมถึงการสำรวจหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความเข้าใจในเรื่องสิ่งมีชีวิตนอกโลกกระจ่างขึ้นครับ

8. ชีวดาราศาสตร์ : การสำรวจโลกใบอื่น (ASTROBIOLOGY: Exploring Other Worlds)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐฯ

นักดาราศาสตร์ตรวจหาสิ่งมีชีวิตในเอกภพได้อย่างไร? 

พวกเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวนมาก? 

เป็นไปได้ไหมที่โลกจะไม่ได้เป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตในเอกภพ? 

คอร์สนี้จะช่วยทำให้ผู้เรียนค้นพบคำตอบของคำถามดังกล่าวด้วยชีวดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ใช้องค์ความรู้อย่างเคมี ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา และชีววิทยา ร่วมกัน

หัวข้อต่าง ๆ ในคอร์สนี้มีทั้งวิทยาศาสตร์ของการตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ไปจนถึงเรื่องสารเคมีอินทรีย์ที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตและมีอยู่ทั่วไปในเอกภพ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำให้ดาวเคราะห์มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตคืออะไร ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสิ่งมีชีวิตในดาวเคราะห์แบบต่าง ๆ

9. จินตนาการถึงโลกใบอื่น (IMAGINING OTHER EARTHS)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐฯ

โลกของเราเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวในเอกภพที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่? 

คอร์สนี้จะใช้หลักดาราศาสตร์ ชีววิทยา และวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจและตั้งคำถามนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์ เรียกว่าช่วยให้จินตนาการถึงโลกอื่นได้อย่างสมเหตุสมผล มีที่มาที่ไปนั่นเองครับ

10. จุดกำเนิด การก่อตัวของเอกภพ ระบบสุริยะ โลก และสิ่งมีชีวิต (ORIGINS – Formation of the Universe, Solar System, Earth, and Life)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

เป็นคอร์สที่เหมาะอย่างยิ่งกับผู้มีคำถามเกี่ยวกับ ‘จุดกำเนิดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่างในเอกภพ’ ตั้งแต่บิกแบงไปจนถึงการกำเนิดระบบสุริยะและโลก รวมถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ ทางธรณีวิทยาจนถึงรูปแบบสิ่งมีชีวิตบนโลกในปัจจุบัน 

11. จากบิกแบงถึงพลังงานมืด (FROM THE BIG BANG TO DARK ENERGY)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยโตเกียว ญี่ปุ่น

คอร์สดาราศาสตร์ส่งตรงจากญี่ปุ่น เหมาะสำหรับผู้สนใจเรื่องบิกแบงและพลังงานมืด 

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ประเมินจากการวิวัฒนาการของเอกภพในช่วงเกือบ 14,000 ล้านปี นับตั้งแต่การเกิดบิกแบงว่า ในเอกภพมีสสารมืดอยู่เกือบ 80% ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของดวงดาวและกาแล็กซี 

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่สามารถเข้าใจในหลายประเด็น เช่น มีสสารปกติ (อะตอมต่าง ๆ) หลงเหลือจากการสลายตัวเมื่อสสารกับปฏิสสารรวมตัวกันได้อย่างไร การขยายตัวของเอกภพด้วยอัตราเร่งที่เริ่มขึ้นเมื่อ 7 พันล้านปีก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจเป็นเพราะพลังงานมืด คอร์สนี้ จะให้ผู้เรียนได้ประจักษ์ถึงหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการค้นพบทางจักรวาลวิทยาเหล่านี้ รวมถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อาจได้เรียนรู้ในอนาคตอันใกล้

12. ดาราศาสตร์ 101 : หลุมดำ (ASTRO 101 : Black Holes)

หน่วยงาน – มหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตา แคนาดา

หลุมดำคืออะไร? มีจริงหรือไม่? เกิดขึ้นได้อย่างไร? เกี่ยวข้องกับดวงดาวอย่างไร? หลุมดำกับดาวที่ริบหรี่แตกต่างกันอย่างไร? เครื่องเร่งอนุภาคทำให้เกิดหลุมดำขึ้นได้ไหม? ที่จริงแล้วหลุมดำเป็น “รูหนอน” หรือ “ตัวย้อนเวลา” หรือไม่? 

คอร์สนี้จะให้ผู้เรียนไขคำตอบเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ ด้วยการเรียนรู้หลักการต่าง ๆ ของหลุมดำ ผ่านเนื้อหาดาราศาสตร์เบื้องต้น ทฤษฎีสัมพัทธภาพ และฟิสิกส์ควอนตัม

เป็นยังไงกันบ้างครับกับ 12 คอร์สดาราศาสตร์ออนไลน์ที่เราแนะนำกัน น่าจะทำให้ผู้ที่อยากเข้าใจดาราศาสตร์เพิ่มขึ้น ได้ไปค้นหาคำตอบของคำถามที่สงสัยกันอย่างจุใจ และรับรองว่าครั้งต่อไปที่ติดตามความคืบหน้าด้านอวกาศ ทุกท่านจะอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้สนุกขึ้นแน่นอนครับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก:

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) และ พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

อ้างอิง: