ก่อนหน้านี้ การส่งยาน Crew Dragon พร้อมสองนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นประเด็นร้อนแรงในวงการดาราศาสตร์ เพราะหลังจากยุคของกระสวยอวกาศที่มี Endeavour เป็นยานบรรทุกผู้โดยสารสัญชาติอเมริกาเป็นลำสุดท้าย สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ใช้ยานอวกาศของตนส่งนักบินอวกาศขึ้นไปอีกเลย แต่ก็ใช่ว่าการเดินทางไปอวกาศจะยุติลงแค่นั้น เพราะก่อนจะส่งยาน Crew Dragon ขึ้นไป สหรัฐฯ ได้หันไปใช้บริการการขนส่งอวกาศ ‘โซยุส’ (Soyuz) จากรัสเซียแทน 

Soyuz! ชื่อนี้คือยานหรือจรวดหรืออะไรกันแน่

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา อเมริกาได้ส่งนักบินอวกาศและสิ่งของหลายอย่างขึ้นไปด้วยบริการของ Soyuz ซึ่งมีจุดมุ่งหมายไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ว่าแต่ Crew Dragon ยังเป็นแค่ชื่อยานโคจร ที่ถูกส่งไปด้วยจรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ในโครงการนำส่งนักบินอวกาศโดยภาคเอกชน (Commercial Crew Program) แล้ว Soyuz ล่ะ มันคือชื่อของอะไรกันแน่

ความหมายของคำว่า Soyuz (หรือ Союз ในภาษารัสเซีย) แปลตรง ๆ ได้ว่า Union หรือ การรวมเป็นหนึ่ง แค่นี้ก็เริ่มใบ้มาแล้วใช่ไหมว่าความหมายน่าจะครอบคลุมกว้างใหญ่กว่าที่เราคิด 

Soyuz Programme = Commercial Crew Program

แรกเริ่มเดิมทีนั้น Soyuz คือโครงการอันใหญ่ยิ่งของโซเวียตที่มีเป้าหมายนำนักบินอวกาศของตนไปเยือนดวงจันทร์ ภารกิจนี้เริ่มขึ้นในยุค 1960 ถือเป็นภารกิจลำดับสามในการนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศของโซเวียต ถัดจากโครงการ Vostok และ Voskhod แถมโครงการนี้ยังเคยมีภารกิจร่วมกับโครงการอะพอลโลด้วย (เป็นโครงการร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นครั้งแรก และเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของยานอวกาศอะพอลโล ซึ่งนับเป็นการลดความตึงเครียดและสิ้นสุดการแข่งขันอวกาศระหว่างสองประเทศ)

ตราสัญลักษณ์โครงการทดสอบอะพอลโล–โซยุซ (ASTP) 

แต่พอโซเวียตล่มสลายกลายเป็นรัสเซียในช่วงยุค 1990 โครงการนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือนานาชาติ เพื่อส่งมนุษย์ไปยังวงโคจรต่ำ ณ สถานนีอวกาศนานาชาติ และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย หรือรอสคอสมอส  (Roscosmos หรือ Роскосмос ในภาษารัสเซีย) 

โครงการนี้ประกอบด้วยยาน Soyuz และจรวด Soyuz และเมื่อสิ้นยุคกระสวยอวกาศของอเมริกา ในปี ค.ศ. 2011 สหรัฐก็ได้ใช้บริการของโครงการดังกล่าวขนส่งทั้งคนและสิ่งของเรื่อยมา จนกระทั่งมีการส่งยาน Crew Dragon ของบริษัท SpaceX สหรัฐจึงได้ยุติการใช้บริการดังกล่าวไป

Soyuz Spacecraft = Crew Dragon

นอกจากชื่อโครงการ Soyuz ยังเป็นชื่อของบรรดายานอวกาศ Soyuz (Soyuz Spacecraft) ด้วย โดยถัดจากคำว่า Soyuz จะมีการระบุชื่อรุ่นของยาน (ตามอ่านลิสต์รายชื่อของยาน Soyuz ได้ที่นี่ ) ยาน Soyuz ลำแรกถูกออกแบบขึ้นในยุคของโซเวียต โดยหน่วยงาน Korolev Design Bureau (ปัจจุบันคือ RKK Energia หรือในชื่อยาว ๆ คือ บริษัท S. P. Korolev Rocket and Space Corporation Energia (Ракетно-космическая корпорация ‘Энергия’) หรือ OKB-1 ชื่อเยอะมาก ๆ เถอะให้ตาย) เพื่อใช้ในโครงการไปดวงจันทร์ 

ยานอวกาศ Soyuz (TMA version)

ยาน Soyuz ทุกลำจะเดินทางด้วยจรวด Soyuz และจะถูกปล่อยออกจากฐานที่ Baikonur Cosmodrome ในคาซัคสถานทั้งหมด หลังจาก Endeavour ยาน Soyuz ได้เข้ามารับ-ส่งนักบินอวกาศอเมริกาเรื่อยมา และถือเป็นเพียงช่องทางโดยสารเดียวของนักบินอวกาศอเมริกานับตั้งแต่นั้นจนกระทั่งปี ค.ศ. 2020  

ฐานปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศ (BAIKONUR Space Center) ในคาซัคสถาน

Soyuz Rocket = Falcon 9 

จรวดของรัสเซียที่นำพานักบินอวกาศหลายชีวิตไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาล้วนมีนามว่า Soyuz ทั้งสิ้น เพื่อป้องกันความสับสน มันจึงถูกเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Soyuz Vehicles หรือ Soyuz Rocket

และเพราะจรวด Soyuz ไม่ได้มีเพียงแค่ลำเดียว ถัดจากคำว่า Soyuz จะมีการระบุชื่อรุ่นต่อท้ายเช่นเดียวกับยาน แต่รหัสของทั้งยานและจรวดนั้นจะแตกต่างกันออกไป (ตามไปดูรวมลิสต์จรวด Soyuz ได้ที่นี่

เพราะฉะนั้น เราอาจจะเรียกได้ว่า Soyuz เป็นชื่อของบรรดาจรวดในตระกูลระบบการปล่อยยานของโซเวียต (Soviet Expendable Launch Systems) ด้วย และเช่นเดียวกันกับยาน จรวด Soyuz ได้รับการพัฒนาและออกแบบโดยบริษัท OKB-1 หรือ RKK Energia เช่นกัน จากนั้น จึงถูกส่งต่อไปผลิตที่ศูนย์พัฒนาจรวดอวกาศ (Progress Rocket Space Centre/ Ракетно-космический центр ‘Прогресс’) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้สังกัดรอสคอสมอส โดยบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ที่ซามารา เมืองทางตอนใต้ของรัสเซีย 

ความน่าสนใจของจรวด Soyuz คือ มันมีต้นแบบจากจรวดที่ใช้ในโครงการ Vostok ซึ่งจริง ๆ แล้วมีที่มาจาก  8K74 หรือ R-7A Semyorka ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปของโซเวียตอีกที

จรวด Soyuz เกือบทุกลำใช้เชื้อเพลง RP-1 และเชื้อเพลิงที่เป็นออกซิเจนเหลว (Liquid oxygen; LOX) ยกเว้นเพียงจรวด Soyuz-U2 ที่ใช้ซินทิน (Syntin) ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนลูกผสมระหว่าง RP-1 กับ LOX  

และไม่ใช่แค่เพียงใช้ขนส่งคนและของไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในภารกิจของอเมริกาหรือนาซาเท่านั้น จรวด Soyuz ยังถูกใช้ในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคเอกชนอย่างบริษัท Starsem และ Arianespace เพื่อให้บริการด้านการขนส่งสิ่งต่าง ๆ อาทิ ดาวเทียม ขึ้นไปยังอวกาศอีกด้วย 

จรวด Soyuz-FG บรรทุกยาน Soyuz TMA ทะยานออกจากฐานที่ Baikonur Cosmodrome ในคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 2006

ด้วยเที่ยวบินกว่า 1,700 เที่ยว นับตั้งแต่การเปิดตัวภารกิจของ Soyuz ในปี ค.ศ. 1966 ทำให้ Soyuz เป็นจรวดขับเคลื่อนที่มีเสถียรภาพ และถูกใช้งานมากที่สุดในโลก  

อเมริกายุติการใช้บริการ Soyuz แล้วนั่นมันหยุดยั้งการใช้ Soyuz ด้วยไหม

หากพูดถึงค่าใช้จ่ายแล้ว นาซาได้ออกมาชี้แจงว่า การให้ SpaceX ผลิตยานให้นั้นสามารถประหยัดได้มากกว่า เพราะการเดินทางไปสถานีอวกาศโดย Crew Dragon ตกที่นั่งละ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ ที่นั่งของ Soyuz มีมูลค่าถึงที่ละ 90 ดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งแพงกว่าเห็น ๆ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ว่า ยาน Crew Dragon มีน้ำหนักมากกว่า Soyuz เกินสองเท่า แต่เพิ่มที่นั่งมาได้แค่ที่เดียว ส่งผลให้ต้องใช้จรวดรุ่นใหญ่ส่งยานขึ้นไป ต่างกับ Soyuz ที่ใช้จรวดขนาดกลางเท่านั้น ซึ่งหากนำค่าใช้จ่ายตรงนี้มาคำนวณด้วย ทางฟากรัสเซียก็ยืนยันว่า ราคามันก็พอ ๆ กันนั่นแหละ และเผลอ ๆ บริการขนส่งของรัสเซียอาจจะต่ำกว่าด้วยซ้ำ

ดังนั้น ด้วยผลงานอันทรงเสถียรภาพและประสิทธิภาพ 173 ภารกิจที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนความสำเร็จอย่างที่ยังไม่มีชาติใดเทียบได้ ทำให้รัสเซียเองก็มีความมั่นใจในการให้บริการด้วย Soyuz ต่อไป และมองว่า การที่อเมริกาหันไปใช้บริการของบริษัทเอกชนสัญชาติตนเองเป็นเรื่องรักษาเกียรติ และการแข่งขันภายในประเทศตนเองเท่านั้น

นอกจากจะยังให้บริการการขนส่งคนและสิ่งของต่าง ๆ ด้วย Soyuz แล้ว รัสเซียยังมีแผนพัฒนายานอวกาศ Oryol (หรือ Орёл ที่แปลว่า เหยี่ยว) ที่เป็นโมเดลใหม่ที่นำกลับมาใช้ได้ ซึ่งจะมาแทนที่ยาน Soyuz ในอนาคต โดยคาดว่าจะเริ่มการทดสอบยานลำนี้ในปี ค.ศ. 2023 และจะใช้ส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในปี ค.ศ. 2025 โดยยานจะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโดยจรวดความเร็วสูงพิเศษรุ่นใหม่ที่พัฒนาจากจรวดต้นแบบอย่าง Soyuz-5 และ Soyuz-6 อีกด้วย

ยาน Oryol ยานอวกาศลำใหม่ของรัสเซียที่กำลังพัฒนาอยู่

นอกจากนี้ รัสเซียกำลังพัฒนาจรวด Angara ซึ่งเป็นจรวดตระกูลใหม่รุ่นใหญ่บรรทุกน้ำหนักได้มาก ใช้เทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาจรวดในตระกูล Soyuz ด้วย ทั้งยังมีท่าทีว่าจะลงทุนกับการพัฒนาด้านนี้อย่างไม่หยุดยั้ง และพัฒนาอย่างครบวงจรเลยทีเดียว 

แม้จะไม่ได้แข่งขันหน้าตั้งหวังผลทางการเมืองแบบช่วงส่งคนขึ้นไปดวงจันทร์แล้ว แต่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศสม่ำเสมอไม่หยุดยั้งของรัสเซีย ก็อาจจะทำให้เกิด ‘ตลาด’ และ ‘การแข่งขัน’ การให้บริการขนส่งไปยังอวกาศ ซึ่งก็ถือเป็นการเปิดศักราชเข้าสู่ยุคอวกาศอย่างแท้จริงในอนาคต ซึ่งไม่ว่าชาติใด จะพัฒนาล้ำหน้ากว่าชาติใด ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น เพราะความสำเร็จของทั้งสองก็ทำประโยชน์ให้มวลมนุษย์ชาติได้เฉกเช่นเดียวกัน

ขอขอบคุณ
การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย: ธนกร อังค์วัฒนะ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส