สำหรับคนที่คิดอยากจะเริ่มต้นถ่ายภาพแต่ยังไม่มีพื้นฐานใด ๆ เลย ชัตเตอร์สปีดคืออะไร รูรับแสงมีความสำคัญอย่างไร ISO ควรปรับแค่ไหน ค่าอะไรเยอะแยะไปหมดไม่เข้าใจ เลนส์มีกี่ประเภทแบบไหนบ้าง วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังกันครับ

ซึ่งพื้นฐานหลัก ๆ ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบใหญ่ คือ ApertureShutter Speed และ ISO

 1. Aperture

Aperture รูรับแสงหรือที่บางคนเรียกว่า ค่า F ถ้าจะให้เปรียบก็เหมือนรูม่านตาของเรานั้นเองครับ รูรับแสงมีหน้าที่หลัก ๆ คือ ควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าไปยังภาพ และเป็นตัวกำหนดระยะชัดลึกชัดตื้นอีกด้วย

ยิ่งรูรับแสงกว้าง (ค่า F น้อย) แสงก็จะเข้าได้มากถ่ายละลายฉากหลังได้ดี แต่ถ้ายิ่งรูรับแสงแคบ (ค่า F มาก) แสงก็จะเข้าไปได้น้อย ภาพก็จะมืดลงแต่มีความชัดลึกที่สูงขึ้นหรือสรุปง่าย ๆ ได้ดังนี้ครับ

รูรับแสงกว้าง (ค่า f น้อย)

  • แสงเข้าได้มากภาพสว่างขึ้น
  • ละลายฉากหลังได้ดี หรือที่เราเรียกกันว่าถ่ายหน้าชัดหลังเบลอหรือโบเก้นั้นเอง
  • ถ่ายในที่แสงน้อยได้ดี
ภาพที่ใช้ F กว้าง (ชัดตื้น)
ภาพที่ใช้ F กว้าง (ชัดตื้น)

รูรับแสงแคบ (ค่า f มาก)

  • แสงเข้าได้น้อย ภาพมืดลง
  • มีความชัดลึกสูงขึ้น
  • เหมาะกับถ่ายภาพแนว landscape
  • ถ่ายในที่แสงน้อยได้ยาก
ภาพที่ใช้ F แคบ (ชัดทั้งภาพ)
ภาพที่ใช้ F แคบ (ชัดลึก)

2. Shutter Speed

Shutter Speed หรือความเร็วชัตเตอร์ ความเร็วชัตเตอร์เป็นตัวกำหนดระยะเวลารับแสงของกล้อง ยิ่งความเร็วชัตเตอร์สูงก็จะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวในภาพได้ดีทำให้ภาพคมชัดได้ง่าย ยกตัวอย่าง เช่น คนกำลังวิ่งอยู่หรือถ่ายนกบิน ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ เราก็จะสามารถจับภาพพวกนี้ให้ชัดได้ง่ายแต่ยิ่งความเร็วชัตเตอร์สูงสิ่งที่ต้องแลกมาก็คือภาพจะมืดลงด้วยเช่นกัน

แต่ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวก็จะทำให้ภาพคมชัดได้ยากขึ้นหรืออาจจะเบลอไปเลย และสปีดยิ่งช้าสิ่งที่ได้มาก็คือภาพจะสว่างขึ้นตรงกันข้ามกับสปีดสูง

Shutter Speed สูง

  • สามารถใช้จับภาพสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งได้
  • ยิ่งสปีดสูงภาพยิ่งมืดลง
Shutter Speed สูง
ใช้ Shutter Speed สูง ทำให้สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของเม็ดฝนที่กำลังตกลงมาได้

Shutter Speed ต่ำ

  • ถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ยาก อาจจจะทำให้ภาพสั่นไหวได้ถ้าสปีดต่ำเกินไป
  • นิยมใช้ถ่าย Landscape ที่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง, ถ่ายไฟรถวิ่งให้เป็นเส้น ๆ หรือ ถ่ายภาพน้ำให้ดูฟุ้ง
  • ยิ่งสปีดช้า ปริมาณแสงยิ่งเข้ามาก ภาพสว่างขึ้น
Shutter Speed ต่ำ
ใช้ Shutter Speed ต่ำ ทำให้ก้อนเมฆ และ น้ำดูฟุ้งสวยงาม (ใช้ขาตั้งกล้อง)

Tips : ชัตเตอร์สปีดขั้นต่ำที่เราสามารถถือถ่ายได้จะเทียบเท่ากับระยะเลนส์ที่ใช้ เช่น ถ้าใช้เลนส์ 50mm สปีดขั้นต่ำก็คือ 1/50 หรือถ้าใช้เลนส์ 200mm สปีดขั้นต่ำก็ต้องอยู่ที่ 1/200 หรือสูงกว่าภาพจะได้ไม่เบลอ

3. ISO

ISO หรือค่าความไวแสง บางคนก็เรียกไอโซ บางคนเรียกก็ไอเอสโอ ผมอยากจะให้คิดว่า ISO เป็นตัวเลือกสุดท้ายหลังจากที่เราปรับ Shutter speed และ ค่า F เสร็จแล้วครับ

ถ้าถามว่าทำไมต้องคิดแบบนั้น สมมติว่าเราต้องการถ่ายภาพคนในที่แสงน้อย เราเลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่เราถือถ่ายได้กับค่ารูรับแสงกว้างสุดแล้วแต่ภาพยังมืดอยู่ ISO จะมาช่วยชดเชยเราตรงนี้ได้ครับ ยิ่งค่า ISO สูงขึ้นภาพก็ยิ่งสว่างขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ Noise หรือสัญญานรบกวนในภาพนั้นเอง ที่ ISO 100 ภาพก็จะเนียนใส แต่ถ้าปรับไปที่ ISO 3200 ภาพก็จะเริ่มหยาบมี Noise ขึ้นมาในภาพแทน

ISO
เปรียบเทียบระหว่าง ISO ต่ำ และ ISO สูง

4. ความสัมพันธ์ระหว่าง Shutter Speed, Aperture และ ISO

The EXPOSURE TRIANGLE
Picture Source : mizabbyharris.com

ทั้งสามค่าที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ล้วนสัมพันธ์กันหมด ในภาพประกอบข้างบนได้สรุปทั้งสามค่าอย่างง่ายไว้ให้แล้ว แต่ผมจะสมมติโจทย์ให้เราได้ลองคิดกันดูก่อนนะครับ ซึ่งโจทย์แรกของเราก็คือถ่ายคนให้หน้าชัดหลังเบลอ

ขั้นแรกในการถ่ายคนหน้าชัดหลังเบลอเราก็ต้องใช้ค่ารูรับแสงที่กว้างเพื่อทำละลายฉากหลังใช่ไหมครับ จากนั้นก็เลือกใช้สปีดที่สามารถหยุดแบบที่ยืนอยู่ให้คมชัดได้ ซึ่งอาจจะอยู่ที่ประมาณ 1/60 ขึ้นไป พอเราเลือกค่ารูรับแสง และความไวชัตเตอร์เรียบร้อยแล้วเราก็มาดูว่าภาพของเรามืดไปหรือสว่างไปไหม ถ้าสว่างไปก็ปรับสปีดให้สูงขึ้น ถ้ามืดไปก็ดัน ISO ช่วย แค่นี้ก็จะสามารถทำให้เราได้ภาพที่คมชัด และตรงตามโจทย์ที่ต้องการแล้วครับ

มาลองกันอีกโจทย์หนึ่งนะครับ สมมติเราอยากจะถ่ายรถที่วิ่งอยู่ให้หยุดนิ่ง และชัดทั้งคัน ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องใช้สปีดสูง ๆ เพื่อที่จะหยุดรถให้ได้ใช่ไหมครับ แล้วถ้าอยากให้รถชัดทั้งคันด้วยก็ต้องใช้รูรับแสงที่แคบขึ้นมาหน่อย ทีนี้เราก็มาดูเหมือนเดิมว่าภาพของเรายังมืดไปหรือสว่างไปไหม ถ้าสว่างไปก็ดันสปีดให้สูงขึ้นหรือปรับค่ารูรับแสงให้แคบลงได้ แต่ถ้ามืดไปก็ใช้วิธีดัน ISO ช่วยเอาเหมือนเดิมครับ

ในตอนที่ฝึกใหม่ ๆ อาจจะยากสักนิดหนึ่งนะครับ พยายามลองถ่ายลองคิดบ่อย ๆ ว่าเราต้องการที่จะถ่ายอะไรอยากได้ภาพแบบไหน การทำแบบนี้จะช่วยให้เราเก่งขึ้นได้ครับ

5. เลนส์

เลนส์แบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่

  • Prime Lens หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘เลนส์ฟิกซ์’ เลนส์ประเภทนี้มีระยะคงที่ซูมไม่ได้แต่มีรูรับแสงที่กว้าง
  • Zoom Lens หรือเลนส์ซูม เลนส์ประเภทนี้สามารถเปลี่ยนระยะหรือซูมได้นั้นเอง แต่มีข้อเสียคือรูรับแสงไม่กว้างเท่าเลนส์ฟิกซ์ บางตัวยิ่งซูมระยะไกลขึ้นรูรับแสงก็ยิ่งแคบลงอีกด้วย
Zeiss Batis 85 f1.8
ภาพตัวอย่างเลนส์ฟิกซ์
FE 70-200 f/2.9 GM
ภาพตัวอย่างเลนส์ซูม

นอกจากนี้เลนส์ยังแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ หลัก ๆ คือ

  • Normal Lens เลนส์อเนกประสงค์ที่มีมุมภาพใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์ มีระยะประมาณ 50mm
  • Wide Angle Lens เลนส์มุมกว้าง หรือเลนส์ที่มีระยะต่ำกว่า 50mm เช่น 16mm, 24mm, 35mm นิยมใช้ถ่ายภาพวิว
  • Telephoto Lens เลนส์เทเลโฟโต้หรือเลนส์ที่มีระยะสูงกว่า 50mm เช่น 85mm, 135mm, 200mm นิยมเอาไปถ่ายอะไรที่อยู่ไกล ๆ เช่น ถ่ายนก, ถ่ายรถในสนามแข่งหรือถ่าย Portrait
FE 551.8
ภาพตัวอย่างจากเลนส์ Normal
Firin 20 f2
ภาพตัวอย่างจากเลนส์ Wide
tele lens
ภาพตัวอย่างจากเลนส์ Telephoto

สรุป

ก็จบกันไปแล้วนะครับสำหรับพื้นฐานการถ่ายภาพเบื้องต้น ในการฝึกปรับค่ากล้องเบื้องต้นนั้นอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวกันสักพักหนึ่ง การที่หยิบกล้องออกไปถ่ายบ่อย ๆ จะช่วยให้เราเก่งขึ้นได้ และ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดครับ ในบทความต่อไปเราจะมาศึกษาเรื่องโหมดของกล้องกัน โหมดไหนเหมาะกับการถ่ายอะไร ใช้ในสถานการณ์แบบไหน ฝากติดตามรออ่านกันด้วยนะครับ

ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ 🙂

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส