หมายเหตุ : สรุปไฮไลต์จาก Session “From a day To The Standard” How To make brand love 2.0″ โดย “โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Standard จากงาน iCREATOR CONFERENCE 2020 วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2563

“โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ผู้ก่อตั้งนิตยสารขวัญใจเด็กแนว a day และผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Standard กับเรื่องราวของการผ่านความเปลี่ยนแปลงหลายระลอก และเรื่องราวของเขาในฐานะหนึ่งในผู้สร้างแบรนด์สื่อให้เป็นที่รู้จักและรักของผู้ที่ติดตามและแฟนคลับ

นับ ตั้งแต่การที่นิตยสารเล่มแรกที่เขาเป็นบรรณาธิการอย่าง Trendy Man ต้องปิดตัวลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ การก่อตั้งนิตยสาร a day ด้วยการลงขัน ในรูปแบบ Crownfunding ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน การขยับขยายสู่การทำสำนักพิมพ์ a book เริ่มต้นความล้มเหลวจากการทำนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ a day weekly การเริ่มต้นใหม่กับ Free Copy อย่าง a day Bulletin การเปลี่ยนผ่านสู่การทำสื่อออนไลน์ The Momentum และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการก้าวออกจากบ้านที่ตัวเองสร้าง และเริ่มสร้างบ้านใหม่ในชื่อ The Standard ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่เติบโตและมาแรงในชั่วระยะเวลาไม่นาน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้หลายคนมองเขาว่า เป็นคนที่ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ

“ผมคิดว่าความเข้าใจผิดของคนจำนวนมากที่มีต่อผมอย่างหนึ่งคือ การที่ผมทำอะไรก็สำเร็จ ถ้าเอามาแผ่ดู สิ่งที่ผมทำสำเร็จก็มีเยอะนะครับ แต่สิ่งที่ทำแล้วล้มเหลว พ่ายแพ้ ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

ถ้าจะไล่ดู ผมล้มเหลวมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมทำผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตคือ ผมลอกข้อสอบ เพราะผมอยากได้เกียรตินิยม ปรากฏว่าถูกจับได้ ก็เลยถูกพักการเรียน เชื่อไหมว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตผมเลย มันทำให้ผมรื้อสร้างความคิดของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา และการใช้ชีวิต”

หลังจากที่เขาได้เริ่มทำงานแรกในชีวิต นั่นก็คืองานนิตยสารอย่างที่เขาเชื่อและชอบ เขาก็มีความคิดที่ว่า อยากจะเป็นบรรณาธิการสักครั้งในชีวิต และเขาก็ได้เป็นจริง ๆ ในฐานะบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Trendy Man ในวัยเพียง 26 ปี ก่อนจะต้องปิดตัวลงเนื่องจากภาวะฟองสบู่แตก นับเป็นอีกความล้มเหลวหนึ่งในชีวิตการทำงานของเขา

ผมคิดว่าคุณสมบัติที่คนยุคนี้ต้องมีคือคำว่า “Resilience” (ความยืดหยุ่น,ความสามารถในการกลับสู่สภาวะปกติ) สำหรับผม ผมแปลมันว่า “การเกิดใหม่” (Reborn) ซึ่งหลายคนเวลาที่เจออุปสรรค เราจะเหมือนเจอก้อนอะไรดำ ๆ มากระแทกตรงหน้าเรา หลาย ๆ คนก็จะตกใจ เสียสติ ทำอะไรไม่ถูก วิ่งหนี ร้องให้คนช่วย

สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำคือ ถอยออกมาดูสักก้าวหนึ่งก่อน ไม่ใช่หนีนะครับ แต่เป็นการถอยมาตั้งสติใหม่ ลองจ้องมองมันว่า อุปสรรคที่เราเจอมันคืออะไร จับตามองมันว่ารูปร่างหน้าตามันเป็นอย่างไร เชื่อไหมครับว่า ก้อนใหญ่ ๆ ดำ ๆ ที่ว่าน่ากลัว มันอาจจะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คุณคิด”

ในที่สุดแล้ว ถ้าคุณใช้สติปัญญา ใช้ความอึด อดทน ในการต่อสู้กับอุปสรรค คุณจะผ่านมันไปได้

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาได้ก่อตั้งนิตยสารในตำนานอย่าง a day ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีฉายาว่า “ขวัญใจเด็กแนว” เขาเริ่มต้นก่อตั้งนิตยสารเล่มนี้ด้วยแนวคิดการระดมทุนด้วยการเปิดขายหุ้น หรือที่เขาเรียกว่า “ลงขัน” ให้กับคนที่สนใจ จนกลายเป็นนิตยสารที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วหลังวางแผงไม่นาน ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว แต่แฟน ๆ นิตยสาร a day เป็นประจำก็ยังคงที่จะรอที่จะซื้อนิตยสารเล่มนี้เมื่อวางแผง เป็นแบรนด์ที่หลายคนรัก และเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบัน

ผมเจอสิ่งที่ผมรัก สิ่งที่ผมชอบแล้ว ผมตั้งใจว่าจะปักหลักกับวงการนี้ไปตลอด ใจผมคิดว่าผมจะทำงานนี้ไปตลอด ซึ่งในที่สุดมันก็คลี่คลายไปเป็น การทำเป็นสื่อสารมวลชนไปตลอดชีวิต

หลังจากประสบความสำเร็จจากนิตยสาร a day เขาเริ่มต้นสร้างแบรนด์ใหม่ด้วยการแตก Segment ใหม่ ๆ ด้วยการทำนิตยสารบันเทิงอย่าง Hamburger นิตยสารวัยรุ่น KNOCK KNOCK! และเริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์ a book อันมีแนวคิดแบบเดียวกับนิตยสาร a day

และด้วยความที่เขาสนใจและมองเห็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ในสังคม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มก้าวไปสู่การทำนิตยสารข่าวสังคมการเมืองรายสัปดาห์ในชื่อว่า a day weekly โดยหวังจะให้กลายเป็นนิตยสาร TIMES เมืองไทย อันกลายเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เนื่องจากในช่วงหลัง ๆ ที่นิตยสารเริ่มขายไม่ดี และไม่มีโฆษณาเข้า รวมทั้งภาพของความสนุก สร้างสรรค์ที่ติดมากับนิตยสาร a day กับเรื่ิองสังคมการเมืองนั้นยังห่างไกลจากความเชื่อของผู้คนในขณะนั้นมาก ความล้มเหลวครั้งนั้นทำให้เขาขาดทุนนับร้อยล้านบาท

หลังจากนั้น เขาได้เริ่มต้นทำนิตยสารแจกฟรี a day Bulletin ที่ได้แรงบันดาลใจจากนิตยสารแจกฟรีในต่างประเทศ ซึ่งเวลานั้นในเมืองไทยเริ่มมีนิตยสารแจกฟรีบ้างแล้ว แต่ก็ยังเล่นประเด็นเนื้อหาเบา ๆ แต่ a day Bulletin มีความแตกต่างตรงที่มักจะหยิบเอาเนื้อหาประเด็นร้อนประจำสัปดาห์มานำเสนอ รวมถึงกลยุทธการแจกฟรีในสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ a day Bulletin กลายเป็นนิตยสารแจกฟรีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนกลายเป็นตัวทำเงินหลักของบริษัทในขณะนั้น

และเขาได้เริ่มต้นก่อตั้งสื่อออนไลน์อย่าง The Momentum ขึ้น ซึ่งเขาถือว่านี่เป็นการ “ซ้อมทำ” สื่อออนไลน์ ก่อนที่เขาจะเกิดเหตุที่เป็นข่าวใหญ่ และตัดสินใจลาออกไปก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ที่ชื่อว่า The Standard ในที่สุด

ตอนนั้นที่ผมออกจากบริษัท ด้วยเหตุผลที่ว่า ผมต้องการที่จะยืนยันความถูกต้องไว้ก่อน ผมคิดว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต ขอให้คุณยืนยันความถูกต้องไว้ก่อน ความถูกต้องมันจะปกป้องคุ้มครองคุณไปตลอด

(อ่านต่อหน้า 2 กับ The 7 Keys to Success : เจ็ดเคล็ดลับความสำเร็จของ The Standard)

The 7 Keys to Success : เจ็ดเคล็ดลับความสำเร็จของ The Standard

ผมเพิ่งพูดในการประชุม Townhall กับพนักงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าคุณจะทำอะไร ให้คุณนึกถึงว่าสิ่งที่คุณทำเป็น “แบรนด์” คุณชอบของยี่ห้ออะไร ซื้อแบรนด์ไหนมาใช้ เป็นแฟนของแบรนด์ไหน นี่คือสิ่งที่คุณทำได้ เพื่อให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจคน

1. Creativity

การใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้าง Solution และสร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดมูลค่า และประสบความสำเร็จได้ ตั้งแต่นิตยสาร a day จนถึง The Standard

2. Design

การออกแบบมักเป็นสิ่งที่คนสร้างแบรนด์มักมองข้าม แต่การออกแบบที่ดี สามารถที่จะสร้างคุณค่าและดึงดูดคนได้เป็นอย่างดี

3. Self-improving contents

The Standard ยึดหลักที่ว่า คอนเทนต์เป็นหัวใจสำคัญของทุกอย่าง และยึดในหลักของการทำคอนเทนต์ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถพัฒนาตัวเองทั้งด้านความคิด จิตใจ การทำงาน สุขภาพ ภาษา ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น The Standard Podcast

4. Audience centricity

ต้องให้สมดุลระหว่างการสื่อสารระหว่างผู้สื่อสารและผู้อ่าน ไม่เอาใจผู้อ่านหรือลูกค้ามากเกินไป โดยต้องมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ หรือแม้แต่คอนเทนต์โฆษณา ก็ต้องทำให้มีคุณค่า ถ้าอันไหนที่เป็นโฆษณา ก็ต้องระบุตรง ๆ ว่าเป็นโฆษณา โดยไม่มีการปิดบังแอบแฝง

5. Innovation maintenance

6. Trust

การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ และความเชื่อใจระหว่างกัน

7. Team spirit

การสร้างทีมสปิริตให้แก่ทีมงานประมาณ 100 ชีวิต โดยยึดหลัก 4 ข้อ คือ

  1. Empathy ความเข้าอกเข้าใจ
  2. Agile ความยืดหยุ่น คล่องตัว คิดเร็วทำเร็ว
  3. Passion พลังที่ช่วยให้ตื่นขึ้นมาทำงานในสิ่งที่ชอบ และ
  4. Mission สร้างจุดยืนให้กับตัวเอง โดยจุดยืนหลักของ The Standard คือ “ Stand up for the People”

ผมว่า Resilence เป็นทักษะที่ฝึกกันได้นะครับ ความสามารถในการฟื้นคืนชีพเนี่ย ถ้าจะให้ผมแนะนำแบบตรงไปตรงมาสักข้อหนึ่ง ผมอยากแนะนำในสิ่งที่อาจจะดูประหลาดนะครับ แต่ผมขอแนะนำให้คุณลองไปเจอความล้มเหลวดูบ้าง ถ้าคุณเกิดมาไม่เคยได้แผลอะไรเลย คุณเซฟตัวเองอยู่ตลอด คุณจะไม่ได้อะไรเท่าไหร่ ผมอยากให้คุณไปท่องเลยว่า

“ชีวิตเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ชีวิตคุณเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน”

ประเด็นน่าสนใจอื่นๆ จากงาน iCreator Conference 2020

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส