เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นข่าวร้อนแรงในโลกธุรกิจ รวมถึงน่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนในประเทศด้วย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) พูดง่าย ๆ คือผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในไทยอย่างทรู (true) และดีแทค (dtac) จะร่วมมือกันนั่นเอง ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้เป็นไปเพื่อ

  • ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของทั้งคู่ให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Tech Company)
  • สร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มกับเหล่าสตาร์ตอัป เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
  • ให้เงินทุนสนับสนุนสตาร์ตอัปไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อก่อตั้งบริษัท Tech Company ขึ้นมาใหม่
  • สนับสนุนคนไทยให้ไปแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ พัฒนาให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคและระดับโลก 

ซึ่งดีลในครั้งนี้ ไม่ใช่การรวมทั้ง 2 ค่ายเข้าด้วยกันซะทีเดียว เพราะทั้งทรูและดีแทคยังคงดำเนินกิจการของตัวเองต่อไป ลูกค้าทรูยังเป็นลูกค้าทรู ลูกค้าดีแทคก็ยังเป็นลูกค้าดีแทค ส่วนบริษัท Tech Company ที่จะก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ทั้งคู่จะถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากัน

ผลกระทบจากดีลนี้

ผลกระทบเรื่องแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยคือหากทรู ที่มีฐานลูกค้า 32 ล้านเลขหมายกับดีแทคที่มีฐานลูกค้า 19.3 ล้านเลขหมาย พอรวมกันแล้วจะกลายเป็นรวม 51.3 ล้านเลขหมาย พลิกขึ้นมามีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่งในแง่ฐานลูกค้าที่จะมากกว่าเอไอเอสที่มีฐานลูกค้าเพียง 43.7 ล้านเลขหมาย แม้ในตลาดปัจจุบันจะยังมีเอ็นที หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ฐานลูกค้าก็ยังห่างมากอยู่ดี

ในด้านผลประกอบการ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ทรูมีรายได้ 103,177 ล้านบาท ส่วนดีแทคมีรายได้ 59,855 ล้านบาท ถ้าเกิดการรวมกันจะมีรายได้รวมกันถึงกว่า 163,032 ล้านบาท ส่วนด้านอื่น ๆ อย่างมาร์เก็ตแคปและอื่น ๆ ก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามกันไปด้วย ทำให้เจ้าตลาดด้านโทรคมนาคมในไทยเปลี่ยนมือทันที

บริการต่าง ๆ ที่ทั้งคู่มี อีกฝ่ายก็จะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วยอีกทาง ยกตัวอย่างเช่นทรูที่มี TrueID แอปด้านความบันเทิงและไลฟ์สไตล์ที่ดีที่สุดแอปหนึ่งในประเทศ ไหนจะมีระบบอีโคซิสเท็มแบบดิจิทัลที่ครบวงจร เพื่อพัฒนาและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจอีกทั้ง TrueMoney, TrueYou, True IDC, True Analytics, TrueDigital Academy, TDPK, True5G World Tech X และอื่น ๆ อีกมากมาย

ด้านโปรโมชันและสิทธิประโยชน์ก็ไม่แพ้กัน ทางทรูมี TruePoint ส่วนดีแทคก็จะมี dtac reward เป็นของตัวเอง ทำให้ทั้งคู่มีโอกาสแชร์โปรโมชันไปหาอีกฝั่งมากขึ้น มีแพ็กเกจเสริมและดีลสุดพิเศษที่ผู้ใช้งานจะได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ

ส่วนด้านจุดให้บริการ ตอนนี้ทรูมีจุดให้บริการมากกว่า 3,000 สาขา ทั่วประเทศ ทั้งในห้างสรรพสินค้าชั้นนํา Community Mall 7-11 Makro และ Lotus’s Go Fresh หากควบรวมกันปุ๊บ มีจุดบริการของดีแทคเพิ่มเข้ามาด้วย นั่นหมายความว่าทางผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะของทรูหรือดีแทค ก็จะสามารถเข้าใช้บริการในจุดให้บริการได้สะดวกมากขึ้นกว่าที่เคย

ซึ่งเชื่อว่าการรวมกันในครั้งนี้ของทรูและดีแทค จะช่วยวางรากฐานให้กับระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในไทยให้ดีและแข็งแรงมากยื่งขึ้น ผ่านการร่วมแรงร่วมใจกันของสองค่ายใหญ่ในไทย ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นตามลำดับ

เป็นศัตรูกัน ทำไมถึงต้องจับมือกัน

ประเด็นที่น่าสนใจของดีลยักษ์ใหญ่ครั้งนี้คือทำไมยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ถึงออกมาแถลงจับมือกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเหมือนกัน

ซึ่งการควบรวมกันของทั้งทรูและดีแทคจะส่งผลอย่างมากต่อตลาดโทรคมนาคม เพราะจะทำให้ทั้งคู่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดนี้เหนือคู่แข่งในหลาย ๆ ด้านและกลายเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีบริการและเทคโนโลยีที่ครบวงจร มีเงินทุนสนับสนุนมากมายเพื่อพัฒนาวงการเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล

ดังนั้น การแปรเปลี่ยนจากศัตรูให้กลายเป็นมิตรแท้จึงส่งผลอย่างมากในแง่ของการทำธุรกิจและการทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย

ปิดจุดอ่อนของกันและกัน

การจับมือกัน ทำให้ทั้งทรูและดีแทคเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าที่ผ่านมามีกระแสข่าวอย่างหนาหูว่าทางเทเลเนอร์ บริษัทแม่ของดีแทคอาจจะถอนการลงทุนจากประเทศไทยไปนั้น บวกกับข่าวแง่ลบที่เกิดขึ้นกับดีแทคเป็นระยะ ทำให้ดีแทคค่อนข้างได้รับคะแนนนิยมถดถอยลงไปพอสมควร ทำให้ดีลจับมือกันในครั้งนี้ ย่อมส่งผลดีให้กับดีแทค ส่วนดีแทคก็ซัปพอร์ตทรูได้ในแง่ของฐานลูกค้าและขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น ทั้งคู่เลยต่างช่วยเหลือกันได้ในสิ่งที่อีกฝ่ายขาด เป็นการเติบโตไปด้วยกันแบบ Equal Partnership สร้างรากฐานโทรคมนาคมในไทยให้แกร่งขึ้นกว่าเดิม

ปิดจุดอ่อนเรื่องสัญญาณของดีแทค ซึ่งในจุดนี้ การจับมือกับทรู น่าจะส่งผลทำให้สัญญาณมือถือของดีแทคมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนทรูก็จะมีโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปิดจุดอ่อนด้าน Financial เพราะการควบรวมน่าจะสามารถควบคุมการเงินได้ง่ายขึ้น เพราะธุรกิจด้านโทรคมนาคมมีต้นทุนที่สูงที่สุดอยู่ที่โครงข่ายและต้องใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้านต่อปี การควบรวมกันจึงเป็นเรื่องดี เพราะผู้ให้บริการก็ประหยัดเงินลงทุน ส่วนในแง่ผู้ถือหุ้นก็ได้ผลดี เพราะมีคำเสนอซื้อที่ราคาสูงกว่าตลาดประมาณ 15-17%

ผลดีในด้านอื่น ๆ เป้าหมายในการร่วมมือกันย่อมย่อมทำให้เกิดผลดีกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับซัพพลายเออร์, ลดต้นทุน รวมถึงทำให้การแข่งขันน้อยลดลงด้วย

สรุปง่าย ๆ คือการควบรวมกันย่อมดีกว่า ด้านทรูที่มีสัญญาณ 4G / 5G แรง สัญญาณเสถียร บริการดี ใช้เน็ตได้ครอบคลุม ก็ย่อมพยุงดีแทคให้ดีขึ้น ซึ่งการควบรวมไม่น่ากระทบเรื่องสัญญาณ และคุณภาพสินค้า/บริการของทั้งคู่

ควบรวมกันเพื่อยกระดับสตาร์ตอัปเมืองไทย พัฒนาประเทศให้เดินต่อในระดับโลก

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการควบรวมของทรูและดีแทคคือการพลิกประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยในอนาคต เพราะมีการตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และจัดตั้งกองทุนสตาร์ตอัปขึ้นมา

ส่วนนี้นับว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะการควบรวมจะมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ตอัปไทย และสตาร์ตอัปต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ยังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

ซึ่งเชื่อว่าการก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้ อีกทั้งจะเป็นส่วนเสริมพลังให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งหมด และสร้างงานด้านเทคโนโลยี ในการเติมเต็มและดึงเอาศักยภาพ ให้เป็นผู้ประกอบการที่ส่งมอบมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมดิจิทัลที่ล้ำสมัยนี้ 

นอกจากจะช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทยแล้ว ยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับ พร้อมแข่งขันในเวทีโลกมากขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแข่งขันในระดับประเทศอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

ซึ่งทางเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ต่างมั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทยได้อย่างแน่นอน

สรุป

จากที่มองเห็นในดีลครั้งนี้คือการเป็นอีโค่พาร์ตเนอร์ชิประหว่างทั้งคู่ย่อมส่งผลดีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะความตั้งใจในการพัฒนาเทคโนโลยีของไทย พร้อมกับสนับสนุนวงการสตาร์ตอัปให้เติบและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าที่เคย เพื่อให้ไทยพร้อมกับการแข่งขันในเวทีระดับโลก ซึ่งสุดท้ายแล้ว น่าจะส่งผลดีกับคุณภาพชีวิตของคนไทยไม่ใช่น้อยเลย

ซึ่งถึงแม้ทั้งคู่จะเป็นคู่แข่งกันในด้านโทรคมนาคม แต่การจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ Tech Company ระดับโลกได้ ย่อมต้องการพาร์ตเนอร์ที่พร้อมลุยไปจนถึงวินาทีสุดท้าย นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อหัวข้อในบทความตัวนี้ “ดีแทค-ทรู ศัตรูที่รัก”